สถาบัน
บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: พระเยซูคริสต์: องค์พระผู้ไถ่ของเรา


“บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: พระเยซูคริสต์: องค์พระผู้ไถ่ของเรา” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)

“บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 9 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

พระเยซูคริสต์: องค์พระผู้ไถ่ของเรา

ส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูคือโจเซฟ สมิธและวิสุทธิชนได้รับการสอนอย่างถูกต้องมากขึ้นเกี่ยวกับพระอุปนิสัยและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ ในบทนี้นักเรียนจะมีโอกาสทำให้ศรัทธาของพวกเขาในพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ลึกซึ้งขึ้น และคิดหาวิธีอัญเชิญเดชานุภาพของพระองค์เข้ามาในชีวิตพวกเขาให้สมบูรณ์มากขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธเรียนรู้เกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์

ภาพ
นิมิตแรก โดย วอลเตอร์ เรน

ให้ดูภาพนิมิตแรก เตือนความจำนักเรียนว่าจุดประสงค์ประการหนึ่งของโจเซฟ สมิธสำหรับการสวดอ้อนวอนครั้งนี้คือทูลถามพระผู้เป็นเจ้าว่าท่านควรนับถือนิกายใด (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:13–19) แต่ในเรื่องราวปี 1832 เกี่ยวกับนิมิต โจเซฟกล่าวถึงเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ท่านเข้าไปสวดอ้อนวอนในป่าวันนั้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าแรกของ หัวข้อ 1 ใน สื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียม

ให้เวลานักเรียนหนึ่งนาทีคิดถึงช่วงเวลาในชีวิตพวกเขาเมื่อพวกเขารู้สึกหดหู่เพราะบาปและความอ่อนแอของตน จากนั้นขอให้นักเรียนอ่านย่อหน้าสองและสามใน หัวข้อ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมในใจ

  • โจเซฟเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์? (พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาและทรงให้อภัย)

อธิบายว่าโจเซฟกับวิสุทธิชนยังคงเรียนรู้เกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเยซูคริสต์ผ่านการเปิดเผยของพระองค์ ให้ดูอ้างอิงต่อไปนี้ หรือเขียนไว้บนกระดาน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:10; 38:14; 58:42; 61:2; 62:1; 64:2–4 ให้เวลานักเรียนอ่านสองสามข้อ และขอให้พวกเขาอ่านประหนึ่งพระเจ้ากำลังตรัสกับพวกเขาโดยตรง ขอให้พวกเขาพิจารณาว่าพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ทำให้พวกเขาเข้าใจพระอุปนิสัยอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาและการให้อภัยของพระองค์ลึกซึ้งขึ้นอย่างไร หลังจากอ่านแล้ว ให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญยิ่งที่เราต้องเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาและทรงให้อภัย?

อธิบายว่านิมิตแรกของโจเซฟ สมิธเป็นหนึ่งในประสบการณ์มากมายที่เตรียมโจเซฟให้ยืนเป็นพยานอันทรงพลังของพระเยซูคริสต์ เตือนความจำนักเรียนว่าตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง โจเซฟ สมิธเป็น “ผู้เปิดเผยที่โดดเด่นถึงพระเยซูคริสต์ใน พระอุปนิสัยแท้จริง ของพระองค์ในฐานะองค์พระผู้ไถ่” (ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน “การเกิดใหม่เลียโฮนา พ.ค. 2008 หน้า 95; เน้นตัวเอน)

  • โจเซฟ สมิธและการฟื้นฟูมีอิทธิพลอย่างไรต่อความเข้าใจและความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ไม่มีทั้งขอบเขตและเป็นส่วนตัว

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธทำให้โลกเข้าใจพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์อย่างที่ไม่เคยเข้าใจมานานหลายศตวรรษ ในบรรดาข้อความมากมายที่สอนเราเกี่ยวกับการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อมนุษยชาติคือคำสอนของแอลมาและอมิวเล็ค เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน แอลมา 34:10, 12 และ 14 ในใจโดยดูว่าอมิวเล็คอธิบายถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ

วาดหรือให้ดูแผนภาพต่อไปนี้:

ภาพ
แผนภาพ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ส่วนที่ 1
  • การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด “ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์” ในด้านใดบ้าง? (กระตุ้นให้นักเรียนใช้สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก หัวข้อ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียม)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เซซิล โอ. แซมูเอลสัน จูเนียร์ผู้รับใช้ในฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบ และขอให้ชั้นเรียนฟังคำที่ท่านใช้อธิบายการชดใช้ของพระเจ้า

การชดใช้ของพระองค์ครอบคลุมทั้งโลกและทุกคนตั้งแต่เริ่มต้นจนวาระสุดท้าย อย่างไรก็ดี ขอเราอย่าลืมว่าในความกว้างขวางและความสมบูรณ์นั้น การชดใช้เป็นเรื่องส่วนตัวมากและสลักเสลาไว้เป็นพิเศษให้เหมาะเจาะพอดีกับสภาพการณ์ส่วนตัวของเราแต่ละคน พระบิดาและพระบุตรทรงรู้จักเราแต่ละคนดีกว่าที่เรารู้จักตนเอง และทรงเตรียมการชดใช้ให้เราตามความต้องการ ความท้าทาย และความเป็นไปได้ของเรา

ขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้าสำหรับของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์ และขอบพระทัยพระผู้ช่วยให้รอดสำหรับการชดใช้ของพระองค์ การชดใช้เป็นจริงและมีผล และจะนำเราไปยังสถานที่ที่เราต้องไปและอยากไป (เซซิล โอ. แซมูเอลสัน จูเนียร์ “การชดใช้มีความหมายต่อท่านอย่างไรเลียโฮนา เม.ย. 2009 หน้า 19)

  • เอ็ลเดอร์แซมูเอลสันใช้คำใดอธิบายการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด?

เพิ่ม เป็นเรื่องส่วนตัว และคำอื่นที่นักเรียนระบุเข้าไปในแผนภาพ:

ภาพ
แผนภาพ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ส่วนที่ 2
  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องจดจำว่าแม้การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเผื่อแผ่ไปถึงผู้คนและโลกนับไม่ถ้วน แต่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเช่นกัน?

เตือนความจำนักเรียนว่าใน หัวข้อ 2 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียม ครูเชื้อเชิญให้พวกเขาทำเครื่องหมายความจริงที่พวกเขาประทับใจ หากจำเป็น ให้เวลานักเรียนทบทวนข้อพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่พวกเขาทำเครื่องหมายไว้ในหัวข้อนี้

  • ท่านประทับใจความจริงใดบ้าง และเพราะเหตุใด? (ให้ดูความจริงเหล่านี้หรือเขียนไว้บนกระดาน)

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจจะขอให้พวกเขาเรียบเรียงคำพูด (และเขียน) หลักธรรมเหล่านี้ใหม่โดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเช่น ฉัน และ ของฉัน ความจริงอาจจะอ่านได้ทำนองนี้: พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาป ความทุกข์ ความเจ็บปวด และการล่อลวง ของฉัน ไว้กับพระองค์เพื่อพระองค์จะทรงรู้วิธีช่วยเหลือ ฉัน ค่าของจิตวิญญาณ ของฉัน ยิ่งใหญ่มากจนพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อ ฉัน จะได้กลับใจ พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อบาป ของฉัน เพื่อ ฉัน จะได้กลับใจและไม่ทนทุกข์เช่นพระองค์

  • การเข้าใจและเชื่อความจริงเหล่านี้จะช่วยให้ท่านมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์มากขึ้นได้อย่างไร?

  • ท่านมีความคิดและความรู้สึกอย่างไรบ้างขณะพิจารณาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพื่อท่านและสาเหตุที่ทรงทำเช่นนั้น?

ให้ดูคำถามต่อไปนี้: ฉันจะทำอะไรเพื่อเชื้อเชิญเดชานุภาพของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตฉันอย่างสมบูรณ์มากขึ้น?

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ร่วมกับการสวดอ้อนวอนและเขียนคำตอบลงในบันทึกส่วนตัวหรือสมุดจดของพวกเขา ขณะพวกเขาไตร่ตรอง ท่านอาจจะให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาคำแนะนำที่สามารถช่วยพวกเขาเชื้อเชิญเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดเข้ามาในชีวิตพวกเขา

เราเริ่มโดยการเรียนรู้เกี่ยวกับ [พระเยซูคริสต์] “เป็นไปไม่ได้ที่ [เรา] จะรอดในความเขลา” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:6] ยิ่งเรารู้เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจและพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดมากเท่าใด [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:40–41—เรายิ่งเข้าใจหลักคำสอน [ดู 2 นีไฟ 31:2–21] และสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อเรามากเท่านั้น—เรายิ่งรู้ว่าพระองค์ประทานพลังที่เราต้องการในชีวิตเราได้ …

เมื่อเราใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ ความรู้นั้นจะดึงเราไปยังองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเข้าถึงพลังของพระองค์ นั่นคือ เราเลือกมีศรัทธาในพระองค์และทำตามพระองค์ …

เราเพิ่มพลังของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเราเช่นกันเมื่อเราทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์และรักษาพันธสัญญาเหล่านั้นอย่างเที่ยงตรง พันธสัญญาของเราผูกมัดเรากับพระองค์และให้พลังอำนาจแห่งพระผู้เป็นเจ้าแก่เรา …

เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงทราบว่าท่านต้องการเอื้อมไปหาพระองค์อย่างแท้จริง—เมื่อพระองค์ทรงสัมผัสได้ว่าสิ่งที่ใจท่านปรารถนาที่สุดคือการดึงพลังของพระองค์เข้ามาในชีวิตท่าน—พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนำทางให้ท่านรู้แน่ชัดว่าท่านควรทำสิ่งใด [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:63] (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา” เลียโฮนา พ.ค. 2017 หน้า 39–42)

สรุปโดยเป็นพยานว่าเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์จึงทรงมีเดชานุภาพในการเพิ่มพลัง ปลอบโยน เยียวยา แสดงพระเมตตาและให้อภัยเรา

สำหรับครั้งต่อไป

เชื้อเชิญให้นักเรียนตรึกตรองว่าชีวิตพวกเขาจะต่างจากนี้อย่างไรหากไม่มีศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ ขอให้นักเรียนศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมบทต่อไปและพร้อมมาสนทนาถึงพรของการมีศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่นำเรา