เซมินารี
ทบทวนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน 23


ทบทวนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน 23

เข้าใจและอธิบาย

ภาพ
A young woman studying the scriptures.

จุดประสงค์หนึ่งของผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนคือเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจหลักคำสอนที่อยู่ในข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนและสามารถอธิบายหลักคำสอนเหล่านี้ได้ด้วยคำพูดของท่านเอง บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านมีโอกาสในการเพิ่มพูนความเข้าใจและอธิบายความจริงที่พบในข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน 13 ข้อจากครึ่งหลังของพันธสัญญาใหม่

การกระตุ้นให้ศึกษาเป็นประจำและทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน การท่องจำ การทำความเข้าใจ การอธิบายและการประยุกต์ใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนต้องอาศัยการศึกษาและการฝึกฝน สอนบทเรียนเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนเป็นประจำทุกสัปดาห์ และกระตุ้นให้นักเรียนทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โปรดจำไว้ว่าแอปพลิเคชันผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนเป็นแหล่งช่วยอันมีค่าที่สามารถช่วยให้นักเรียนศึกษาข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนต่อไปได้

การเตรียมของนักเรียน: เชิญนักเรียนทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน 13 ข้อจากครึ่งหลังของพันธสัญญาใหม่ แล้วเลือกมาหนึ่งข้อที่นักเรียนต้องการทำความเข้าใจให้ดีขึ้น

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

อาจจำเป็นต้องสอนบทเรียนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนแทนบทเรียนทบทวนนี้ โปรดดูตารางบทเรียนที่จัดทำโดยผู้อำนวยการหรือผู้ประสานงานระดับภาคหรือเขตเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการสอนบทเรียนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนแต่ละบทระหว่างเปิดสอนเซมินารี

การถามคำถาม

  • เมื่อใดที่ท่านเคยรู้สึกขอบคุณที่ได้ถามคำถามใครสักคน? (ตัวอย่างเช่น บางทีท่านอาจได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการถามคำถาม หรือบางทีท่านอาจได้รับคำแนะนำที่มีค่าหลังจากขอคำแนะนำจากเพื่อนหรือผู้ปกครอง)

ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเช่นกันเพื่อช่วยให้นักเรียนนึกถึงประสบการณ์ของตนเอง

  • อะไรคือเหตุผลบางประการที่ทำให้การถามคำถามเป็นสิ่งสำคัญเมื่อเรียนรู้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์?

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า: “การถามและการตอบคำถามเป็นหัวใจของการเรียนรู้ทั้งหมดและการสอนทั้งหมด” (“The Lord Will Multiply the Harvest” [ยามค่ำกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่, 6 ก.พ. 1998], 5–6, ใน Teaching Seminary: Preservice Readings [2004], 98)

การถามคำถามเกี่ยวกับข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนจะช่วยให้เราเข้าใจนักเรียนได้ดียิ่งขึ้นและเชื้อเชิญความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอดมาสู่ชีวิตเราได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

ท่านอาจแสดงข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนทั้งหมด 13 ข้อ หรือแสดงให้นักเรียนเห็นว่าจะสามารถมองหาได้จากที่ใด หากต้องการ ให้ใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนทั้งหมด 24 ข้อของพันธสัญญาใหม่สำหรับการทบทวนครั้งนี้ หรือเลือกเพียงไม่กี่ข้อ โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของชั้นเรียน

ผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนในพันธสัญญาใหม่: 1 โครินธ์–วิวรณ์

1 โครินธ์ 6:19–20

“ร่างกายของพวกท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์”

1 โครินธ์ 11:11

“ในองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ชายก็ขาดผู้หญิงไม่ได้ และผู้หญิงก็ขาดผู้ชายไม่ได้”

1 โครินธ์ 15:20–22

“เช่นเดียวกันกับที่ทุกคนต้องตายโดยเกี่ยวเนื่องกับอาดัม ทุกคนก็จะได้รับชีวิตโดยเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์”

1 โครินธ์ 15:40–42

ในการฟื้นคืนพระชนม์ มีรัศมีภาพสามระดับ

เอเฟซัส 1:10

“เมื่อเวลาครบบริบูรณ์แล้ว (สมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา) คือที่จะทรงรวบรวมทุกสิ่ง … ให้อยู่ในพระคริสต์”

เอเฟซัส 2:19–20

ศาสนจักร “ก่อ‍ร่างสร้างขึ้นบนราก‍ฐานของบรร‌ดาอัคร‌ทูตและบรร‌ดาผู้‍เผย‍พระ‍วจนะ มีพระ‍เยซู‍คริสต์เป็นศิลาหัว‍มุม”

2 เธสะโลนิกา 2:1–3

“วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า … จะไม่มาถึงจนกว่าจะมีการกบฏเสียก่อน”

2 ทิโมธี 3:15–17

“พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ … สามารถให้ปัญญาแก่ท่านในเรื่องความรอด”

ฮีบรู 12:9

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งจิตวิญญาณ”

ยากอบ 1:5–6

“ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้า”

ยากอบ 2:17–18

“ความเชื่อถ้าไม่มีการปฏิบัติก็เป็นสิ่งที่ตายแล้ว”

1 เปโตร 4:6

“ข่าวประเสริฐจึงได้ประกาศแม้แก่คนตาย”

วิวรณ์ 20:12

“คนตายก็ถูกพิพากษาตามการกระทำของเขาทั้งหลาย”

ภาพ
Doctrinal Mastery

ท่านอาจทำกิจกรรมต่อไปนี้ด้วยกันเป็นชั้นเรียนโดยใช้หนึ่งในข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน แล้วเชิญชวนให้นักเรียนทำกิจกรรมซ้ำโดยใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนที่แตกต่างกันตามที่นักเรียนเลือก นักเรียนสามารถทำงานเป็นกลุ่ม เป็นคู่ หรือเป็นรายบุคคลโดยขึ้นอยู่กับความต้องการของชั้นเรียนนั้นๆ

&#160

เลือกข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนหนึ่งข้อจาก 13 ข้อที่ท่านต้องการทำความเข้าใจให้มากขึ้น อ่านอย่างละเอียดถี่ถ้วน วิเคราะห์ถ้อยคำและวลีต่างๆ จากข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน แล้วสังเกตสิ่งที่ท่านเข้าใจเกี่ยวกับข้อนั้นและคำถามที่ท่านหรือผู้อื่นอาจมีเกี่ยวกับข้อนั้น ตัวอย่างสิ่งที่ท่านอาจถามเกี่ยวกับ เอเฟซัส 2:19–20 คือ “ศิลาหัวมุมคืออะไรและเหตุใดจึงเปรียบพระเยซูคริสต์ว่าเป็นศิลาหัวมุม?” หรือท่านอาจสงสัยวลีที่ว่า “การกบฏ” ใน 2 เธสะโลนิกา 2:1–3 หมายความว่าอย่างไร

เขียนคำถามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นักเรียนสามารถเขียนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนที่นักเรียนเลือกลงในสมุดบันทึกการศึกษาหรือบนกระดาษหนึ่งแผ่น แล้วเขียนคำถามของนักเรียนเกี่ยวกับข้อนั้น

เมื่อท่านเขียนคำถามให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ให้เลือกคำถามบางข้อที่ท่านคิดว่ามีความสำคัญที่สุดที่จะต้องทำความเข้าใจ และตอบคำถามเหล่านั้นโดยใช้เครื่องมือการศึกษาพระคัมภีร์ที่มี โดยเครื่องมือเหล่านี้ประกอบด้วยคู่มือพระคัมภีร์ เชิงอรรถในพระคัมภีร์ แอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณหรือคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญ ท่านอาจเลือกใช้กลยุทธ์การศึกษาพระคัมภีร์บางประการที่ท่านเรียนรู้ในปีนี้ เช่น การอ่านข้ออื่นที่อยู่ใกล้เคียงหรือการพยายามทำความเข้าใจบริบทของพระคัมภีร์ บันทึกคำตอบของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

โปรดจำไว้ว่าบางคำถามอาจไม่สามารถตอบได้ง่ายนัก และบางคำถามอาจต้องการเวลา การศึกษาร่วมกับการสวดอ้อนวอน และการไตร่ตรองเพิ่มเติม

เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมและสร้างความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น ท่านอาจขอให้นักเรียนเขียนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนที่ตนเลือกและคำถามของตนลงบนกระดาษแผ่นหนึ่งที่แยกกันโดยเขียนชื่อไว้บนกระดาษ จากนั้นเชิญนักเรียนมาแลกเปลี่ยนกระดาษกับนักเรียนอีกคน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง เชื้อเชิญให้นักเรียนส่งกระดาษมาที่ด้านหน้าเพื่อให้สามารถสลับกระดาษและแจกจ่ายให้กับนักเรียนคนอื่นๆ ได้

ให้เวลานักเรียนสักครู่ในการใช้เครื่องมือและกลยุทธ์ในการศึกษาพระคัมภีร์ที่มีเพื่อค้นหาคำตอบสำหรับคำถามในกระดาษที่นักเรียนได้รับและเพื่อบันทึกคำตอบเหล่านั้นลงในกระดาษ หลังจากเวลาผ่านไปพอสมควรแล้ว เชิญนักเรียนให้ส่งกระดาษกลับไปให้นักเรียนที่มีชื่ออยู่บนกระดาษ

เชิญนักเรียนหลายๆ คนมาร่วมแบ่งปันข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนที่ตนเลือก รวมทั้งคำถามบางข้อที่นักเรียนเขียนไว้ และคำตอบที่นักเรียนหรือเพื่อนร่วมชั้นค้นพบ นอกจากนี้ท่านอาจถามนักเรียนว่า ข้อพระคัมภีร์ช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งใดเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดหรือพระกิตติคุณของพระองค์

หากมีเวลา (หรือในวันอื่น) ให้เชิญนักเรียนมาทำกิจกรรมนี้ซ้ำโดยใช้ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนข้ออื่น