เซมินารี
ยอห์น 14:15–31; 15:10–14


ยอห์น 14:15–31; 15:10–14

“ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา”

ภาพ
Jesus teaches about forgiveness to Peter.

ขณะพระผู้ช่วยให้รอดและอัครสาวกของพระองค์ถือปฏิบัติเทศกาลปัสกาในห้องชั้นบน พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนความจริงที่สำคัญแก่อัครสาวก ด้วยความทุกข์ทรมานของพระองค์ในเกทเสมนีและคัลวารีที่จะเกิดขึ้น พระเยซูทรงแนะนำบุรุษเหล่านี้ที่ทรงรักมากว่า “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” (ยอห์น 14:15) บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านแสดงความรักที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์โดยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ทั้งสอง

สังเกตและเล็งเห็น ให้เวลากับการสังเกตนักเรียนและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณในการเล็งเห็นความต้องการของพวกเขาเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนบทเรียนได้ตามความต้องการนั้น อย่าใช้เวลามากเกินไปกับการครอบคลุมเนื้อหาบทเรียนหรือว่าจะต้องพูดอะไรต่อไป สิ่งนี้จะบดบังความต้องการของนักเรียนและการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนดู “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” คำปราศรัยจากการประชุมใหญ่สามัญ ตุลาคม 2015 โดยแคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ อดีตฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ จากช่วงเวลา 0:00 ถึง 4:31 ขอให้นักเรียนคิดว่าเรื่องราวนี้สามารถสอนอะไรเราถึงเหตุผลที่พระเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เรา

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ท่านอาจเริ่มชั้นเรียนโดยแบ่งปันตัวอย่างส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัวที่แสดงความรักต่อกัน หรือเพื่อเป็นทางเลือก เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้

ท่านแสดงความรักอย่างไร?

  • ท่านรู้ได้อย่างไรว่ามีคนรักท่าน? คำพูด การกระทำ หรือเจตคติใดบ่งบอกความรักของพวกเขา?

  • ท่านแสดงความรักที่มีให้ผู้อื่นอย่างไร?

  • จะเกิดอะไรขึ้นหากท่านรักใครบางคนแต่เจตคติหรือการกระทำของท่านไม่ได้แสดงถึงความรักนั้นเสมอไป? ท่านอาจทำอะไรได้บ้าง?

ขณะพระผู้ช่วยให้รอดยังคงสอนอัครสาวกของพระองค์ระหว่างพระกระยาหารมื้อสุดท้าย พระองค์ทรงสอนถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราและสอนวิธีที่เราสามารถแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์

โดยขึ้นอยู่กับความต้องการและความสามารถของนักเรียน นักเรียนแต่ละคนอาจจะอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ทั้งหมดหรืออาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองกลุ่มและมอบหมายข้อความหนึ่งข้อให้แต่ละกลุ่ม

ศึกษา ยอห์น 14:15, 21, 23–24 และ ยอห์น 15:10–14 โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราอาจทำอะไรเพื่อแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์และพระบิดาบนสวรรค์

หลังจากนักเรียนอ่านจบแล้ว กระตุ้นให้พวกเขาถามคำถามหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอ่าน ขณะพวกเขาทำเช่นนั้น ช่วยพวกเขาระบุวิธีที่เราสามารถแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและช่วยพวกเขาสังเกตถ้อยคำหรือวลีที่แสดงถึงความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเน้นอะไรในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราจะแสดงความรักที่เรามีต่อพระองค์ได้?

ท่านอาจเขียนบนกระดานถึงความจริงต่อไปนี้หรือความจริงที่คล้ายกันซึ่งนักเรียนระบุ: เราแสดงความรักที่เรามีต่อพระเยซูคริสต์โดยการรักษาพระบัญญัติของพระองค์

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อท่าน?

  • สถานการณ์ใดบ้างที่ความจริงซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนในข้อเหล่านี้จะเป็นประโยชน์?

ถ้าเชื้อเชิญให้นักเรียนดูวีดิทัศน์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียม ให้พวกเขาสนทนาสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เรา แทนที่จะดูวีดิทัศน์ในชั้นเรียนอีกครั้ง หรือนักเรียนอาจดูวีดิทัศน์ “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” จากช่วงเวลา 0:00 ถึง 4:31 มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org หรืออ่านข้อความด้านล่าง

ซิสเตอร์แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ อดีตฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนเกี่ยวกับแรงจูงใจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เราและแรงจูงใจของเราที่เชื่อฟังพระบัญญัติเหล่านั้น

หากเป็นไปได้ ดูวีดิทัศน์ “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” จากช่วงเวลา 0:00 ถึง 4:31 มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org ในวีดิทัศน์นี้ซิสเตอร์แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์ อดีตฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ แบ่งปันประสบการณ์ของเธอกับโคลอี้ หลานสาว

ภาพ
Official portrait of Carole M. Stephens, sustained at the April 2012 general conference as first counselor in the Relief Society general presidency, October 2012. Released April 2017 General Conference.

บางครั้งเราอาจรู้สึกว่ากฎของพระผู้เป็นเจ้าจำกัดเสรีภาพของเรา นำสิทธิ์เสรีไปจากเรา และจำกัดการเติบโตของเรา แต่เมื่อเราพยายามเข้าใจมากขึ้น เมื่อเรายอมให้พระบิดาทรงสอนเรา เราจะเริ่มเห็นว่ากฎของพระองค์คือการที่พระองค์แสดงความรักต่อเรา และการเชื่อฟังกฎของพระองค์คือการที่เราแสดงความรักต่อพระองค์

(แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์, “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 119)

ท่านอาจขอให้นักเรียนสองสามคนช่วยสร้างรายการต่อไปนี้ด้วยการเขียนคำตอบของเพื่อนบนกระดาน

เขียนกฎและพระบัญญัติบางข้อที่ท่านรู้สึกว่าแสดงถึงความรักที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีให้ท่าน เพื่อช่วยให้ท่านนึกถึงพระบัญญัติบางข้อ ท่านอาจทบทวนพระบัญญัติสิบประการ (ดู อพยพ 20:3–17) หรือ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011]

  • พระบัญญัติที่ท่านทำรายการไว้เป็น “การแสดงให้ประจักษ์ถึงความรักที่ [พระผู้เป็นเจ้า] ทรงมีให้เรา” อย่างไร?

  • การเชื่อฟังของท่านต่อพระบัญญัติเหล่านี้จะเป็น “การแสดงออกถึงความรักที่ [ท่าน] มีต่อพระองค์” ได้อย่างไร?

เลือกพระบัญญัติหนึ่งข้อจากรายการของท่าน อาจจะเป็นข้อที่ท่านพยายามรักษาหรือเป็นข้อที่ท่านถูกล่อลวงให้ละเมิดแต่เลือกที่จะเชื่อฟัง

ตรวจสอบความพยายามของนักเรียนที่จะเชื่อฟังโดยระบุพระบัญญัติบางข้อที่พวกเขารักษาและช่วยพวกเขาประเมินแรงจูงใจของตนในการรักษาพระบัญญัติเหล่านั้น

ท่านอาจให้ดูคำถามต่อไปนี้และให้เวลานักเรียนอย่างเพียงพอเพื่อครุ่นคิดไตร่ตรองและเขียนคำตอบลงในสมุดบันทึกการศึกษาของพวกเขา โปรดระวังลักษณะที่ละเอียดอ่อนของคำถามเหล่านี้

คำถามต่อไปนี้จะช่วยท่านประเมินแรงจูงใจของท่านเพื่อรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ขณะท่านนึกถึงคำตอบของท่าน สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ ท่านอาจมีเหตุผลหลายประการในการรักษาพระบัญญัติ ไม่ว่าแรงจูงใจของท่านในเวลานี้จะเป็นอย่างไร ขอให้เชื่อฟังต่อไปและเมื่อเวลาผ่านไปความปรารถนาของท่านที่จะเชื่อฟังอันเกิดจากความรักจะเพิ่มขึ้นได้

  • อะไรเป็นแรงจูงใจให้ท่านรักษาพระบัญญัติข้อนี้?

  • ท่านรู้สึกอย่างไรกับเหตุผลของท่านในการรักษาพระบัญญัติเมื่อเปรียบเทียบกับแบบอย่างของพระเจ้าที่ทรงเชื่อฟังเพราะความรัก?

  • เพราะเหตุใดเหตุผลเบื้องหลังการเชื่อฟังของท่าน (แรงจูงใจของท่าน) จึงสำคัญ?

  • ท่านจะให้คำแนะนำใดแก่บางคนที่ต้องการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเพราะความรัก?

แบบอย่างความรักของพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

พระเยซูคริสต์ประทานแบบอย่างอันดีพร้อมของวิธีเชื่อฟังกฎและพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเพราะความรักอันบริสุทธิ์ หลังพระกระยาหารมื้อสุดท้าย พระองค์ตรัสว่า “แต่เราทำตามที่พระบิดาทรงบัญชาเรา เพื่อโลกจะได้รู้ว่าเรารักพระบิดา” ( ยอห์น 14:31) จากนั้นพระเยซูเสด็จไปเพื่อทนทุกข์ทรมานสำหรับบาปและ “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง” ของเรา ( แอลมา 7:11) ในสวนเกทเสมนีและอีกครั้งบนกางเขน

  • เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยที่จะเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์? (ดู ยอห์น 15:13 ; ฮีบรู 12:2)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเชื้อเชิญให้เราพิจารณาอย่างรอบคอบว่าความรักของพระเยซูคริสต์จะมีแรงจูงใจให้เราทำอะไรได้บ้าง ท่านอาจต้องการชมวีดิทัศน์ “ติดสนิทอยู่กับความรักของเรา” มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org ตั้งแต่ช่วงเวลา 14:27 ถึง 14:50 หรืออ่านข้อความต่อไปนี้

ภาพ
Official portrait of Carole M. Stephens, sustained at the April 2012 general conference as first counselor in the Relief Society general presidency, October 2012. Released April 2017 General Conference.

ท่านจะไม่รักพระองค์ผู้ที่ทรงรักท่านก่อนหรือ? [ดู 1 ยอห์น 4:19 ] ถ้าเช่นนั้นจงรักษาพระบัญญัติของพระองค์ [ดู ยอห์น 14:15 ] ท่านจะไม่เป็นเพื่อนกับพระองค์ผู้สละพระชนม์ชีพเพื่อมิตรสหายของพระองค์หรือ? [ดู ยอห์น 15:13 ] ถ้าเช่นนั้นจงรักษาพระบัญญัติของพระองค์ [ดู ยอห์น 15:14 ] ท่านจะไม่ติดสนิทอยู่กับความรักของพระองค์และรับทุกสิ่งที่พระองค์ประทานให้อย่างปรานีหรือ? ถ้าเช่นนั้นจงรักษาพระบัญญัติของพระองค์ [ดู ยอห์น 15:10 ]

(ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ติดสนิทอยู่กับความรักของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 51)

  • คำมั่นสัญญาของท่านที่จะเชื่อฟังให้ดียิ่งขึ้น บนพื้นฐานของความรัก จะมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร? (ดู โมไซยาห์ 5:13)

ขณะท่านพยายามรักษาพระบัญญัติเพราะความรักที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ ท่านจะรู้สึกถึงความรักที่เพิ่มขึ้นของพระองค์ทั้งสองในชีวิตท่าน (ดู ยอห์น 14:21) หากยากสำหรับท่านที่จะเชื่อฟัง หรือแม้แต่ปรารถนาที่จะเชื่อฟัง พระบิดาบนสวรรค์จะทรงช่วยท่านได้หากท่านทูลขอพระองค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ จำไว้ด้วยว่าพระบัญญัติข้อหนึ่งคือให้กลับใจและเราจะรักษาพระบัญญัติข้อนี้ได้ขณะพยายามเอาชนะความอ่อนแอของเรา

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

เพราะเหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์?

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า

ภาพ
Official Portrait of President Dallin H. Oaks taken March 2018.

พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องให้เราเชื่อฟังพระบัญญัติ เพราะโดยการเชื่อฟังเท่านั้น รวมทั้งการกลับใจ เราจึงจะสามารถกลับไปอยู่ในที่ประทับของพระองค์และดีพร้อมเช่นพระองค์

(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พระบัญญัติสำคัญ สองข้อ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 74)

เป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ว่าเหตุใดฉันจึงเชื่อฟังพระบัญญัติ?

เราทุกคนควรถามตนเองว่าเหตุใดเราจึงเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เพราะเรากลัวการลงโทษใช่หรือไม่? เพราะเราต้องการรางวัลสำหรับการดำเนินชีวิตที่ดีใช่หรือไม่? เพราะเรารักพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์และต้องการรับใช้พระองค์ทั้งสองใช่หรือไม่?

การเชื่อฟังพระบัญญัติเพราะเรากลัวจะถูกลงโทษดีกว่าการไม่เชื่อฟังพระบัญญัติเลย แต่เราจะมีความสุขมากกว่าถ้าเราเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าเพราะเรารักพระองค์และต้องการเชื่อฟังพระองค์ เมื่อเราเชื่อฟังพระองค์โดยเสรี พระองค์จะประทานพรเราได้โดยเสรี พระองค์ตรัสว่า “เรา, พระเจ้า, … ยินดีจะยกย่องคนเหล่านั้นที่รับใช้เราในความชอบธรรมและในความแน่วแน่จนกว่าชีวิตจะหาไม่” [ หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:5 ] การเชื่อฟังช่วยให้เราก้าวหน้าและเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ของเรามากขึ้นอีกด้วย แต่ผู้ที่ไม่ทำอะไรเลยจนกว่าจะได้รับคำบัญชาและจากนั้นจึงรักษาพระบัญญัติอย่างไม่เต็มใจ [จะ] สูญเสียรางวัลของตน [ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:26–29 ]

(Gospel Principles [2009], 201–202)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

ยอห์น 15:18–25 “ถ้าโลกนี้เกลียดชังพวกท่าน”

ถ้ายากสำหรับนักเรียนที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติเนื่องจากอิทธิพลหรือการข่มเหงทางโลก ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้อาจช่วยให้พวกเขามีความกล้าหรือได้รับมุมมองที่ดี

เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าพระเยซูคริสต์จะได้รับการต้อนรับอย่างไรหากการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์บนแผ่นดินโลกเกิดขึ้นในสมัยของเรา

นักเรียนสามารถศึกษา ยอห์น 15:18–25 โดยค้นหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงสิ่งใดเกี่ยวกับโลกและเหตุผลที่ผู้คนของพระองค์ทนทุกข์ทรมานจากการต่อต้านและการข่มเหงจากโลกมาตลอด ในข่าวสารของพระองค์เราจะพบการปลอบโยนและความเข้มแข็งอะไรได้บ้างเพื่อที่จะเชื่อฟัง?

เราสามารถรักษาพระบัญญัติแม้เราจะไม่เข้าใจเหตุผลที่เราได้รับพระบัญญัติเหล่านี้

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจึงตั้งกฎให้ตนเองว่า เมื่อพระเจ้าทรงบัญชา จงทำ” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2011], 172) พระคัมภีร์และประวัติศาสนจักรประกอบด้วยเรื่องราวมากมายของผู้คนที่เลือกจะเชื่อฟังแม้ในเวลาที่พวกเขาไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเหตุใดพระองค์ประทานพระบัญญัติหรือคำแนะนำนั้น ข้อความต่อไปนี้ประกอบด้วยตัวอย่างการเชื่อฟังด้วยศรัทธาและพรบางอย่างที่บุคคลเหล่านี้ได้รับเพราะพวกเขาเชื่อฟัง:

อาดัมกับเอวา: โมเสส 5:5–12

ซีโมนเปโตรและสหายของเขา: ลูกา 5:4–11

นีไฟ: 1 นีไฟ 9:5–6

นักเรียนอาจได้รับเชิญให้ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้: มีพระบัญญัติข้อใดบ้างที่ท่านไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้? ความรักที่ท่านมีต่อพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยให้ท่านซื่อสัตย์และเชื่อฟังจนกว่าจะมีความเข้าใจมากขึ้นได้อย่างไร?

ทบทวนคำมั่นสัญญาของท่าน

เชิญนักเรียนทบทวนแผนหรือคำมั่นสัญญาที่พวกเขาทำเมื่อไม่นานมานี้เพื่อเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น พวกเขาอาจทำสิ่งนี้แล้วในบทเรียนเซมินารีก่อนหน้านี้หรือโดยเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายสำหรับโปรแกรมเด็กและเยาวชน ถ้าพวกเขายังไม่มีเป้าหมายหรือแผนที่จะเชื่อฟังมากขึ้น พวกเขาอาจคิดเกี่ยวกับพระบัญญัติหนึ่งข้อที่ทำรายการไว้ในบทเรียนนี้