เซมินารี
มัทธิว 26:36–46; ลูกา 22:39–46 ภาค 2


มัทธิว 26:36–46; ลูกา 22:39–46 ภาค 2

ความทุกข์ทรมานของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีจะมีอิทธิพลต่อชีวิตฉันได้อย่างไร?

ภาพ
Painting portraying Jesus Christ lying on the ground in the garden of Gethsemane. A ray of light is coming through the trees.

นี่คือบทเรียนที่สองจากบทเรียนสองส่วนเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีและความสำคัญทางหลักคำสอนของเหตุการณ์นี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด ความเจ็บไข้ และความทุพพลภาพของเราไว้กับพระองค์ เนื่องจากการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ พระองค์ทรงสามารถช่วยเราเมื่อเราเผชิญความท้าทายในความเป็นมรรตัย บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความจำเป็นมากขึ้นสำหรับความเข้มแข็งและความช่วยเหลือที่พระเยซูคริสต์จะประทานแก่ท่านโดยผ่านการชดใช้ของพระองค์

การพูดเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “หลักคำสอนจะไม่สมบูรณ์เมื่อพูดถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเจ้าด้วยวลีสั้นๆ เช่น ‘การชดใช้’ หรือ ‘พระเดชานุภาพแห่งการชดใช้อันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถ’ หรือ ‘การประยุกต์ใช้การชดใช้’ หรือ ‘ได้รับกำลังจากการชดใช้’ … ไม่มีสัตภาวะซึ่งเป็นอรูปที่เรียกว่า ‘การชดใช้’ ซึ่งเราสามารถขอความช่วยเหลือ การเยียวยา การให้อภัย หรือพลังอำนาจ … การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด—การกระทำอันเป็นศูนย์กลางประวัติศาสตร์มวลมนุษย์—เป็นที่เข้าใจและซาบซึ้งใจได้ดีที่สุดเมื่อเราเชื่อมโยงกับพระองค์อย่างชัดเจน” (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา,” เลียโฮนา พ.ค. 2017, 40)

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าพระเยซูคริสต์จะประทานพรพวกเขาเนื่องจากการชดใช้ของพระองค์ได้อย่างไร

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

บทเรียนนี้เป็นบทเรียนที่สองจากสองบทเรียนเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนี ถ้ามีเวลาเพียงพอที่จะสอนเนื้อหาของทั้งสองบทเรียนในคาบเรียนเดียวเท่านั้น ให้ดูที่บทเรียนก่อนหน้านี้ (“มัทธิว 26:36–46; ลูกา 22:39–46 ภาค 1”) สำหรับแนวคิดที่อาจต้องนำมารวมไว้ในบทเรียนนี้

เหตุใดพระเยซูคริสต์ต้องทรงทนทุกข์ทรมานถึงเพียงนี้?

ให้จินตนาการตามเหตุการณ์สมมุติต่อไปนี้

แชนด์เลอร์ เพื่อนของท่านสนใจเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับศาสนจักรในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เขาใช้เวลามากมายที่บ้านท่านในการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระกิตติคุณและยังเข้าร่วมศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวของท่านสองสามครั้ง เย็นวันหนึ่งหลังจากศึกษาเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ทรมานของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนี แชนด์เลอร์ถามว่า “ทำไมพระเยซูคริสต์ต้องทรงทนทุกข์ทรมานถึงเพียงนี้?”

ท่านอาจแบ่งนักเรียนเป็นคู่เพื่อสนทนาคำถามต่อไปนี้

  • ท่านจะตอบคำถามของแชนด์เลอร์อย่างไร?

นึกถึงความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ เมื่อท่านนึกถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ ท่านมีคำถามอะไรบ้าง? การรู้ว่าพระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านมีผลต่อความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระองค์อย่างไร?บทเรียนก่อนหน้านี้ (“มัทธิว 26:36–46; ลูกา 22:39–46 ภาค 1”) เน้นรายละเอียดมากมายของความทุกข์ทรมานของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนี ใช้เวลาสักครู่เพื่อศึกษา มัทธิว 26:36–39 และ ลูกา 22:41–44 อีกครั้ง ค้นหาคำหรือวลีเฉพาะ รวมถึงคำหรือวลีที่ท่านอาจขีดเส้นใต้ไว้แล้วซึ่งมีความหมายต่อท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและอธิบายถึงสิ่งที่พระองค์ทรงประสบในเกทเสมนี

เปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ วิธีหนึ่งที่จะทำเช่นนี้คือ เชื้อเชิญให้นักเรียนมาที่กระดานและเขียนคำหรือวลีจากข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาศึกษาซึ่งโดดเด่นสำหรับพวกเขาเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์ในเกทเสมนี

ใช้การเปิดเผยสมัยปัจจุบันเพื่อเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นถึงความทุกข์ทรมานของพระผู้ช่วยให้รอด

หากไม่มีพรของการเปิดเผยสมัยปัจจุบันที่ท่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์ เราจะไม่เข้าใจหลายอย่างเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์ ทั้งในเกทเสมนีและบนกางเขน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ของพระองค์ ตลอดจนสาเหตุที่พระองค์ทรงทุกข์ทรมานจากสิ่งเหล่านี้

อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19 โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของพระองค์

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจอะไรเกี่ยวกับสาเหตุที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ทรมานถึงเพียงนี้?

  • ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจอะไรเกี่ยวกับความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีต่อท่าน?

อ่าน แอลมา 7:11–13 และกรอกข้อความลงในตารางต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน อาจเป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่าคำว่า ช่วย ในข้อ 12 หมายถึง “บรรเทาทุกข์หรือช่วยเหลือ” (ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 61)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์ทรมานหรือรับสิ่งใดไว้กับพระองค์เอง?

พระเยซูคริสต์ทรงสามารถทำอะไรให้เราเนื่องจากการชดใช้ของพระองค์?

อาจเป็นประโยชน์ที่จะคัดลอกตารางก่อนหน้านี้ไปที่กระดานและเขียนคำตอบของนักเรียนลงในคอลัมน์ที่เหมาะสมหลังจากขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบ

คำตอบสำหรับคอลัมน์แรกมีดังต่อไปนี้

  • “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง” (แอลมา 7:11)

  • “ความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์” (แอลมา 7:11)

  • “ความตาย” (แอลมา 7:12)

  • “ความทุพพลภาพ” (แอลมา 7:12)

  • “บาปของผู้คนของพระองค์” (แอลมา 7:13)

คำตอบสำหรับคอลัมน์ที่สองมีดังต่อไปนี้

  • “ทรงทำให้สายรัดแห่งความตายหลุดออก” (แอลมา 7:12)

  • “เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา” (แอลมา 7:12)

  • “ทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขา” (แอลมา 7:12)

  • “ทรงลบการล่วงละเมิดของพวกเขาตามพระพลานุภาพแห่ง การปลดปล่อยของพระองค์” (แอลมา 7:13)

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ทรมานและเหตุใดพระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานกับสิ่งเหล่านี้?

  • การทนทุกข์ทรมานของพระเจ้าในเกทเสมนีเป็นพรแก่เราแต่ละคนอย่างไร?

ความจริงข้อหนึ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จาก แอลมา 7:11–13 คือ พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อช่วยเราให้รอดจากบาปและความตายและเพื่อช่วยเราผ่านพ้นความท้าทายของความเป็นมรรตัย ท่านอาจต้องการเขียนความจริงนี้ในพระคัมภีร์ของท่าน ท่านอาจเขียนความจริงนี้และคำตอบของท่านสำหรับคำถามต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

  • พรใดในคอลัมน์ที่สองของตารางของท่านจะมีความหมายมากที่สุดสำหรับท่านที่จะได้รับเดี๋ยวนี้? เพราะเหตุใด?

  • เมื่อใดที่ท่านประสบกับความหวัง สันติสุข การปลอบโยน หรือความเข้มแข็งที่จะมาสู่ท่านได้โดยผ่านความทุกข์ทรมานเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์?

ดูหมวด “กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม” ที่ตอนท้ายของบทเรียนนี้สำหรับแนวคิดหรือวีดิทัศน์อื่นๆ ที่อาจนำไปใช้เพื่อแสดงถึงความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าที่เราสามารถได้รับเนื่องจากการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

เพื่อเรียนรู้มากขึ้นว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะประทานพรแก่ชีวิตเราได้อย่างไรเนื่องจากการชดใช้ของพระองค์ ให้ศึกษาคำสอนของผู้นำศาสนจักรของเราในหมวด “ทางเลือก: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมใช่หรือไม่?” ที่อยู่ท้ายบทเรียนนี้

  • ท่านเรียนรู้หรือรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่ท่านต้องการจดจำ?

  • ท่านจะทำอะไรที่แตกต่างออกไปเพราะสิ่งที่ท่านเรียนรู้หรือรู้สึกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดจะมีผลต่อชีวิตเราได้ในทางใดบ้าง?

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า

ภาพ
Official Portrait of President Dallin H. Oaks taken March 2018.

โอกาสได้รับการอภัยบาปเป็นความหมายหลักของการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ …

พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเราทรงอดทนต่อความทุกข์ที่เกินความเข้าใจเพื่อเป็นเครื่องพลีบูชาลบล้างบาปของมนุษย์ทุกคนที่จะกลับใจ การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้นี้ถวายสิ่งที่ดีสูงสุด ลูกแกะบริสุทธิ์ปราศจากตำหนิ แทนสิ่งที่ชั่วปริมาณสูงสุด ซึ่งคือบาปของคนทั้งโลก เปิดประตูให้เราแต่ละคนได้รับการชำระล้างบาปส่วนตัวจนเราสามารถกลับไปที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ของเราได้ ประตูนี้เปิดให้บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า

(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อเราบ้าง?,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 76)

เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า

ภาพ
Official portrait of Elder Dale G. Renlund of the Quorum of the Twelve Apostles, January 2016.

ในสถานการณ์อยุติธรรม ภารกิจหนึ่งของเราคือวางใจว่า “ความอยุติธรรมทั้งหลายในชีวิตจะได้รับการแก้ไขผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์” [สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2018), 52] พระเยซูคริสต์ทรงชนะโลกและทรง “ดูดซับ” ความอยุติธรรมทั้งหมด เพราะพระองค์ เราจึงมีสันติสุขในโลกนี้และมีใจกล้าได้ ถ้าเรายอม พระเยซูคริสต์จะทรงอุทิศความอยุติธรรมนั้นให้เป็นพรของเรา พระองค์จะไม่เพียงปลอบประโลมเราและนำสิ่งที่สูญเสียไปคืนมา แต่จะทรงใช้ความอยุติธรรมนั้นเพื่อประโยชน์ของเราด้วย

(เดล จี. เรนลันด์, “ความอยุติธรรมอันน่าเดือดดาล,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 43)

เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรสแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า

ภาพ
Elder Ulisses Soares, Quorum of the Twelve Apostles official portrait.

ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อท่านว่าเมื่อเรากลับใจจากบาปของเราด้วยใจจริง เรายอมให้การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระคริสต์มีผลสมบูรณ์ในชีวิตเรา เราจะเป็นอิสระจากพันธนาการของบาป พบปีติในการเดินทางบนโลกนี้ และมีสิทธิ์ได้รับความรอดนิรันดร์ซึ่งเตรียมไว้นับจากการวางรากฐานของโลกให้แก่ทุกคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์และมาหาพระองค์

(ยูลิซีส ซวาเรส, “พระเยซูคริสต์: พระผู้ทรงดูแลจิตวิญญาณเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 83)

เอ็ลเดอร์ไมเคิล จอห์น ยู. เทห์แห่งสาวกเจ็ดสิบกล่าวว่า

ภาพ
Official Portrait of Elder Michael John U. Teh. Photographed in 2015. Background replaced in March 2017.

การเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ประยุกต์ใช้กับเราเป็นส่วนตัวและเป็นรายบุคคลจะช่วยให้เรารู้จักพระองค์ บ่อยครั้งเรานึกถึงและพูดถึงการชดใช้ของพระคริสต์ด้วยคำพูดทั่วไปได้ง่ายกว่าการรับรู้ความสำคัญส่วนตัวของการชดใช้ในชีวิตเรา การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ ครอบคลุมทั้งความกว้างและความลึก แต่มีผลส่วนตัวเป็นรายบุคคลอย่างเต็มที่ เพราะการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ พระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงมีเดชานุภาพในการชำระล้าง เยียวยา และเพิ่มพลังให้เราทีละคน

(ไมเคิล จอห์น ยู. เทห์, “พระผู้ช่วยให้รอดส่วนตัวของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 99)

ซิสเตอร์เรย์นา ไอ. อะบูร์โต อดีตที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าวว่า

ภาพ
Official Portrait of Sister Reyna Aburto. Photographed in 2017.

โดยผ่านการชดใช้แห่งการไถ่และการฟื้นคืนพระชนม์อันรุ่งโรจน์ของพระเยซูคริสต์ ใจที่สลายสามารถเยียวยาได้ ความเจ็บปวดรวดร้าวกลับกลายเป็นสันติสุขได้ และความทุกข์ตรมกลับกลายเป็นความหวังได้ พระองค์ทรงโอบเราไว้ในอ้อมพระพาหุแห่งความเมตตา คอยปลอบโยน มอบพลัง และเยียวยาเราแต่ละคน

(เรย์นา ไอ. อะบูร์โต, “หลุมศพไม่มีชัยชนะ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 86)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

การแสดงบทบาทสมมุติของผู้สอนศาสนา

แนวคิดต่อไปนี้อาจนำมาใช้เพื่อช่วยให้นักเรียนฝึกการสอนผู้อื่นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์

ท่านอาจแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละสามคน ในแต่ละกลุ่ม นักเรียนสองคนอาจแสดงเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาและนักเรียนคนที่สามอาจเป็นคนที่พวกเขาสอน ให้ผู้สอนศาสนาสอนบทเรียนห้านาทีเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พวกเขาอาจจะอ่าน แอลมา 7:11–13 กับคนที่พวกเขาสอนและอธิบายข้อพระคัมภีร์ คนที่เป็นผู้เรียนอาจถามคำถาม และผู้สอนศาสนาอาจสรุปด้วยประจักษ์พยานว่าการพลีพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดมีผลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร