เซมินารี
ฟีลิปปีและโคโลสี


ฟีลิปปีและโคโลสี

พบความเข้มแข็งในพระเยซูคริสต์

ภาพ
สหกิจกรรม เยาวชนหญิงในวอร์ดของเราช่วยกันไปให้ถึงยอดเขาที่มองลงมาเห็นหุบเขายูทาห์

ท่านและคนรอบข้างประสบปัญหาหรือความท้าทายอะไรบ้าง? อะไรทำให้ความท้าทายเหล่านี้ยาก? ท่านเคยสงสัยไหมว่าท่านจะได้รับความช่วยเหลือที่ต้องการเพื่อเอาชนะความท้าทายของท่านหรือไม่? เปาโลประสบความท้าทายยากๆ มากมายในชีวิต รวมถึงถูกกักบริเวณในบ้านที่กรุงโรมหลายปี ขณะอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ เขาเขียนสาส์นถึงวิสุทธิชนในฟีลิปปีและโคโลสี แล้วสอนคนเหล่านั้นให้หันมาขอพลังจากพระเยซูคริสต์ บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านตระหนักว่าท่านสามารถพบพลังเผชิญความท้าทายผ่านพระเยซูคริสต์

การช่วยนักเรียนสอนการให้โอกาสนักเรียนสอนกันเองจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ดีขึ้นและประยุกต์ใช้ความจริงที่พวกเขาเรียนรู้

การเตรียมของนักเรียน: เชิญนักเรียนท่องจำ ฟีลิปปี 4:13

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ความท้าทายและปัญหาที่เยาวชนประสบ

ท่านอาจให้นักเรียนเขียนคำตอบของคำถามข้อแรกด้านล่างไว้บนกระดานเพื่อใช้อ้างอิงตลอดบทเรียน

  • เยาวชนในพื้นที่ของท่านประสบปัญหาหรือความท้าทายอะไรบ้าง?

  • ท่านคิดว่าปัญหาหรือความท้าทายเหล่านี้มีสิ่งใดที่เยาวชนเอาชนะด้วยตนเองไม่ได้? เพราะเหตุใด?

ในสมุดบันทึกการศึกษา ให้ระบุความท้าทายและปัญหาของท่านเอง พร้อมอธิบายว่าทำไมจึงยากสำหรับท่าน รวมความคิดไว้ด้วยว่าเหตุใดท่านต้องมีคนช่วยให้เอาชนะ

ในบทเรียนนี้ท่านจะมีโอกาสเตรียมและสอนบทเรียนสั้นๆ โดยใช้สาส์นของเปาโลถึงชาวฟีลิปปีและชาวโคโลสี ขณะศึกษาสาส์นเหล่านี้ ให้หาดูว่าคำพูดของเปาโลจะช่วยให้ท่านและคนอื่นๆ พึ่งพาพระเยซูคริสต์ระหว่างประสบความท้าทายได้อย่างไร

ท่านอาจเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงหรือสรุปย่อหน้าต่อไปนี้เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจบริบทของฟีลิปปีและโคโลสี

อัครสาวกเปาโลประสบปัญหาและความท้าทายมากมาย “เปาโลอาจเขียนทั้งฟิลิปปีและโคโลสีขณะอยู่ภายใต้การจับกุมในกรุงโรม แต่ที่น่าทึ่งคือในช่วงเวลายากๆ นี้ เปาโลยังเขียนเกี่ยวกับ ‘สันติสุขของพระผู้เป็นเจ้าที่เกินความเข้าใจ’ ( ฟีลิปปี 4:7) สาส์นทั้งสองเป็นเชิงบวกและมองโลกในแง่ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ประกอบด้วยคำสอนที่ชัดเจนที่สุดและจริงจังที่สุดของเปาโลเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เปาโลสอนว่าถ้าเราดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาและความกตัญญู พระเจ้าจะทรงส่งเสริมอุดมการณ์พระกิตติคุณผ่านเรา—ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาวการณ์ใดก็ตาม—และโดยการสร้างบนรากฐานของพระเยซูคริสต์เราจะไม่ถูกปรัชญาและประเพณีทางโลกชักนำไปผิดทาง” (New Testament Student Manual [2014], 433; และดู Bible Dictionary, “ Pauline Epistles ” และคู่มือพระคัมภีร์, “ สาส์นถึงฟีลิปปี ” และ “ สาส์นถึงโคโลสี,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org)

ถ้าท่านเชื้อเชิญให้นักเรียนท่องจำ ฟีลิปปี 4:13 อันเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมมาเรียนบทนี้ ให้เชิญนักเรียนอย่างน้อยหนึ่งคนท่องตอนนี้

อ่าน ฟีลิปปี 4:13 โดยมองหาสิ่งที่เปาโลเปิดเผยเกี่ยวกับความสำคัญของพระเยซูคริสต์ในชีวิตเขา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดข้อนี้จึงเป็นคำสอนสำคัญที่ควรรู้?

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “I Can Do All Things” (1:17) เพื่อดูตัวอย่างว่าพระผู้ช่วยให้รอดช่วยท่านได้อย่างไร ดูวีดิทัศน์เรื่องนี้ได้ที่ ComeUntoChrist.org

พระเยซูคริสต์ทรงสามารถช่วยเหลือเมื่อเรามีความท้าทาย

นึกถึงปัญหาและความท้าทายที่เยาวชนในพื้นที่ของท่านประสบ และความท้าทายของท่านเอง ใช้ขั้นตอน ก ข และ ค ด้านล่างเพื่อเตรียมบทเรียนห้านาที มุ่งเน้นสิ่งที่ท่านจะสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ซึ่งจะช่วยให้ท่านและคนอื่นๆ เอาชนะความท้าทายได้

ให้ดูโครงร่างบทเรียนและคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อช่วยนักเรียนเตรียมบทเรียน ขณะนักเรียนเตรียม ให้เดินดูและช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ให้เวลาพวกเขาเตรียมมากพอ

ท่านอาจให้นักเรียนเตรียมบทเรียนนี้ด้วยตนเองหรือเตรียมกับคู่ นักเรียนแต่ละคนในคู่จะศึกษาพระคัมภีร์คนละครึ่ง แล้วสนทนากับคู่ จากนั้นคู่จะเตรียมและสอนบทเรียนด้วยกัน

ก. ศึกษาข้อต่อไปนี้ โดยมองหาความจริงที่ท่านรู้สึกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านและผู้อื่น:

ฟีลิปปี 2:5–8 ; 3:20–21 ; 4:6–7

โคโลสี 1:12–18 ; 3:1–2, 12–17, 23–24

ข. เลือกพระคัมภีร์หนึ่งข้อหรือหนึ่งกลุ่ม แล้วระบุความจริงที่ท่านใช้สอนเกี่ยวกับพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดได้ ตัวอย่างเช่น ความจริงข้อหนึ่งที่พบใน โคโลสี 1:12–14 คือ พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อปลดปล่อยเราจากความมืดและให้อภัยบาป

ค. รวมองค์ประกอบต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งอย่างไว้ในบทเรียนของท่าน:

  • แบ่งปันประสบการณ์ที่ท่านหรือคนอื่นเคยมีเพื่ออธิบายความจริง เชิญคนที่ท่านสอนแบ่งปันประสบการณ์ด้วย ท่านอาจจะยกตัวอย่างหรือประสบการณ์จากพระคัมภีร์ หรือคำปราศรัยจากการประชุมใหญ่สามัญด้วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ประสบการณ์เกี่ยวกับความจริงที่เป็นตัวหนาข้างต้นจะเน้นที่พระผู้ช่วยให้รอดหรือการปลดปล่อยพวกเขาจากความมืด

  • หาข้ออ้างโยงที่เป็นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น สำหรับความจริงที่เป็นตัวหนาข้างต้น ท่านอาจแบ่งปัน โมไซยาห์ 16:9 หรือ 2 เปโตร 2:9 เชิญคนที่ท่านสอนให้ค้นหาข้ออ้างโยงโดยใช้แหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น คู่มือพระคัมภีร์หรือ Topical Guide

  • หาข้อความที่เป็นประโยชน์จากผู้นำศาสนจักร ตัวอย่างเช่น อธิบายความจริงที่เป็นตัวหนาโดยใช้ข้อความต่อไปนี้ของซิสเตอร์เรย์นา ไอ. อะบูร์โตจากฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของซิสเตอร์เรย์นา อะบูร์โต ถ่ายเมื่อปี 2017

ถ้า “หมอกแห่งความมืด” [ 1 นีไฟ 8:23 ] ห้อมล้อมตัวท่านตลอดเวลา จงหันไปพึ่งพระบิดาบนสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดที่ท่านประสบจะเปลี่ยนความจริงนิรันดร์ที่ว่าท่านเป็นบุตรธิดาของพระองค์และพระองค์ทรงรักท่าน พึงจำไว้ว่าพระคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของท่าน พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของท่าน พระองค์เข้าพระทัย ให้นึกภาพว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ท่าน ทรงกำลังฟังและให้กำลังใจท่านอยู่ “[พระองค์] จะทรงปลอบประโลมท่านในความทุกข์ของท่าน” [ เจคอบ 3:1 ] จงทำทุกอย่างที่ทำได้และวางใจพระคุณแห่งการชดใช้ของพระเจ้า

(เรย์นา ไอ. อะบูร์โต, “ยามทุกข์หรือสุข โปรดทรงสถิตกับข้า! เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 58–59)

เชิญนักเรียนที่เต็มใจออกมาสอนชั้นเรียน หรือเชิญนักเรียนกลุ่มเล็กสอนบทเรียนของตนให้กัน

กระตุ้นให้นักเรียนจริงใจและพยายามสุดความสามารถขณะสอนและรับการสอน เชื้อเชิญให้พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือเรื่องความท้าทายของตนเองขณะตั้งใจฟังบทเรียนของเพื่อนร่วมชั้น

เมื่อเราสอนและเรียนรู้โดยพระวิญญาณ เราเข้มแข็งขึ้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:22–23) เขียนในบันทึกการศึกษาของท่านว่าท่านเรียนรู้อะไรและรู้สึกอย่างไรที่ช่วยให้ท่านได้รับพลังจากพระเยซูคริสต์ขณะเผชิญความท้าทาย แสวงหาความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อให้ทราบว่าพระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านทำอะไรเพื่อรับพลังจากพระผู้ช่วยให้รอด ทำตามการกระตุ้นเตือนที่ท่านได้รับ

กระตุ้นให้นักเรียนสอนบทเรียนของตนกับครอบครัวที่บ้าน อาจเป็นประโยชน์ถ้าส่งข้อความบอกบิดามารดาเรื่องบทเรียนนี้เพื่อพวกเขาจะได้กระตุ้นให้นักเรียนสอนบทเรียนที่บ้าน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฟีลิปปี 2:12–13 เปาโลสอนหรือไม่ว่าเราต้องได้รับความรอดด้วยตัวเราเอง?

ถึงแม้การกระทำที่แสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์จะจำเป็น แต่สำคัญที่ต้องรับรู้ว่าเราจะ “ได้รับ” ความรอดด้วยตนเองไม่ได้ (ดู 2 นีไฟ 2:8 ; โมไซยาห์ 2:24 ; แอลมา 22:14) ฟีลิปปี 2:13 อธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานในเราเพื่อช่วยให้เราทำสิ่งที่เราทำด้วยตนเองไม่ได้ (ดูคู่มือพระคัมภีร์, “ พระคุณ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org; Bible Dictionary, “ Grace ”) ความช่วยเหลือและพลังนี้มักจะเรียกกันว่าพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอด และเป็นเดชานุภาพที่พระองค์ทรงใช้ช่วยเราให้รอด (ดู เอเฟซัส 2:8)

ดูเอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองในวีดิทัศน์เรื่อง “Abound with Blessings” ตั้งแต่รหัสเวลา 0:00 ถึง 5:39 หรือประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์จากฝ่ายประธานสูงสุดในวีดิทัศน์เรื่อง “What Think Ye of Christ?” ตั้งแต่รหัสเวลา 8:58 ถึง 12:50 เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้

ฟีลิปปี 4:13 “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระคริสต์” หมายความว่าอย่างไร?

ซิสเตอร์มิเชลล์ ดี. เครกจากฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญอธิบายว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของมิเชลล์ ดี. เครก

แน่นอน เราทุกคนจะไปไม่ถึงศักยภาพแห่งสวรรค์ของเรา และมีความจริงในการตระหนักได้ว่าเราไม่ดีพร้อมหากเราทำ คนเดียว แต่ข่าวประเสริฐของพระกิตติคุณคือว่าด้วยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า เรา จะ ดีพอ ด้วยความช่วยเหลือของพระคริสต์ เราจะทำทุกสิ่งได้ [ ฟีลิปปี 4:13 ] พระคัมภีร์สัญญาว่าเราจะ “พบพระคุณที่ช่วยเราในยามต้องการ” [ ฮีบรู 4:16 ]

(มิเชลล์ ดี. เครก, “ความไม่พอใจอย่างพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 54)

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม 2018

อัครสาวกเปาโลพูดถึงความท้าทายบางอย่างในชีวิตมรรตัยของท่านเอง ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” ( ฟีลิปปี 4:13)

และดังนั้นเราจึงเห็นว่าเนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีฤทธานุภาพที่จะช่วย—บรรเทา—ความเจ็บปวดและความทุกข์ในมรรตัยทุกอย่าง บางครั้งฤทธานุภาพของพระองค์เยียวยาความทุพพลภาพ แต่พระคัมภีร์และประสบการณ์ของเราสอนว่าบางครั้งพระองค์ทรงช่วยโดยประทานกำลังหรือความอดทนแก่เราเพื่อให้ทนต่อความทุพพลภาพของเรา

(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 62)

กิจกรรมเสริมการเรียนรู้

ฟีลิปปี 2:12–13 การลงมือทำ พระคุณ และความรอด

ฟีลิปปี 2:12–13 จะเป็นข้อที่ท้าทาย เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาอย่างตั้งใจ และระบุว่าเปาโลสอนอะไร ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาศึกษาข้อมูลในหมวด “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” เกี่ยวกับ ฟีลิปปี 2:12–13 และข้อมูลสำหรับพระคัมภีร์ข้อนี้ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและ ครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 ขอให้พวกเขาอธิบายว่าพบอะไรที่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักคำสอนสำคัญเรื่องการลงมือทำ พระคุณ และความรอดได้ดีขึ้น เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าความรู้นี้ช่วยเสริมสร้างศรัทธาและความรักต่อพระเยซูคริสต์อย่างไร

โคโลสี 1:9–18 บทบาทของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นหาพระนาม พระสมัญญานาม และบทบาทของพระเยซูคริสต์จากข้อเหล่านี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันตัวอย่างจากพระคัมภีร์ ชีวิตของตนเอง หรือของคนที่รู้จักซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของชื่อ บทบาท หรือสมัญญานามเหล่านี้ ให้นักเรียนบอกบทบาทที่มีความหมายต่อพวกเขามากที่สุด และบทบาทนั้นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกที่พวกเขามีต่อพระเยซูคริสต์อย่างไร

โคโลสี 2:6 การดำเนินชีวิตในพระคริสต์

เชิญนักเรียนแบ่งปันว่า “ดำเนิน… ใน [พระคริสต์]” ( โคโลสี2:6) หมายความว่าอย่างไร ให้พวกเขาศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ โดยหาดูว่าการดำเนินชีวิตในพระคริสต์หมายความว่าอย่างไร: โคโลสี 1:9–18 ; โคโลสี 2:6 ; โคโลสี 3:1–11 พวกเขาอาจศึกษาข้อความนี้โดยประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ด้วย:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเฮนรีย์ บี. อายริงก์

การเดินกับพระองค์หมายถึงอะไรหรือ? หมายถึงการทำสิ่งที่พระองค์ทรงทำ รับใช้ในวิธีที่พระองค์ทรงรับใช้ พระองค์ทรงสละความสุขสบายเพื่อเป็นพรแก่ผู้ขัดสน และนั่นคือสิ่งที่เราต้องพยายามทำ พระองค์สนพระทัยเป็นพิเศษกับคนที่สังคมมองข้ามและรังเกียจเดียดฉันท์ เราจึงควรทำอย่างนั้นเช่นกัน พระองค์ทรงเป็นพยานอย่างห้าวหาญแต่เปี่ยมด้วยความรักถึงหลักคำสอนแท้ที่ทรงรับมาจากพระบิดา ถึงแม้จะไม่เป็นที่นิยม แต่เราต้องรับเช่นกัน พระองค์ตรัสแก่คนทั้งปวงว่า “จงมาหาเรา” ( มัทธิว 11:28) เรากล่าวแก่คนทั้งหลายว่า “จงมาหาพระองค์”

(เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “จงเดินกับเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 84)

เชิญนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบและทูลขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์เพื่อวางแผนว่าพวกเขาจะดำเนินชีวิตในพระคริสต์ให้เต็มที่มากขึ้นได้อย่างไร