คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 4: ความช่วยเหลือจากเบื้องบน


บทที่ 4

ความช่วยเหลือจากเบื้องบน

“บางทีอาจไม่มีสัญญาใดในชีวิตแน่นอนกว่าสัญญาเรื่องความช่วยเหลือจากเบื้องบนและการทรงนำทางวิญญาณในยามต้องการ”

จากชีวิตของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เรียนรู้การสวดอ้อนวอนเมื่อท่านเป็นเด็ก “คุณแม่สอนให้ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนและขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับ” ท่านกล่าว “ข้าพเจ้าขอบพระทัยพระองค์บ่อยครั้งสำหรับความสวยงามของแผ่นดินโลกและสำหรับเวลาอันแสนวิเศษที่ข้าพเจ้ามีในฟาร์มปศุสัตว์ ริมแม่น้ำ และกับลูกเสือ ข้าพเจ้าเรียนรู้ที่จะทูลขอพระองค์เช่นกันในสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการหรือจำเป็น … ข้าพเจ้าทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักข้าพเจ้าและทรงฟังข้าพเจ้า”1

ตลอดชีวิตท่าน ประธานฮันเตอร์หันไปพึ่งการสวดอ้อนวอนเสมือนเป็นแหล่งความช่วยเหลือจากเบื้องบน และท่านสอนคนอื่นๆ ให้ทำเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านกำลังรับใช้เป็นอธิการ ชายคนหนึ่งในวอร์ดแสดงความเคียดแค้นชายอีกคนหนึ่ง คำแนะนำของประธานฮันเตอร์สะท้อนประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ท่านได้รับโดยผ่านการสวดอ้อนวอน

“ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ‘บราเดอร์ครับ ถ้าคุณจะกลับบ้านไปสวดอ้อนวอนให้เขาทุกเช้าและทุกค่ำ ผมจะพบคุณอีกสองอาทิตย์นับจากวันนี้เวลาเดิมแล้วเราค่อยตัดสินใจว่าจะทำอะไร’”

หลังจากทำตามคำแนะนำนี้ ชายคนนั้นกลับมาและพูดถึงชายอีกคนอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนว่า “เขาต้องการความช่วยเหลือบางอย่าง”

“คุณเต็มใจจะช่วยเขาไหม” ประธานฮันเตอร์ถาม

“แน่นอนครับ” ชายคนนั้นตอบ

“ความโกรธแค้นหายไปและความเคียดแค้นหายไป” ประธานฮันเตอร์เล่าในเวลาต่อมา “จะเป็นแบบนี้เมื่อเราสวดอ้อนวอนให้กัน”2

ภาพ
สตรีกำลังสวดอ้อนวอน

“พระเจ้าทรงสัญญาว่าถ้าเราจะถ่อมตนใน … ยามต้องการและหันไปขอความช่วยเหลือจากพระองค์ พระองค์จะทรง ‘ทำให้ [เรา] แข็งแกร่ง, และได้รับพรจากเบื้องบน’” (คพ. 1:28)

คำสอนของฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

1

พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงสัญญาจะประทานความช่วยเหลือและการนำทางในยามต้องการ

เราทุกคนพบเผชิญกับช่วงเวลาในชีวิตเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือจากสวรรค์ในวิธีพิเศษและเร่งด่วน เราทุกคนมีช่วงเวลาที่สภาวการณ์ทำให้เรายุ่งยากใจหรือคำแนะนำที่เราได้รับจากผู้อื่นทำให้เราสับสน และเรารู้สึกว่าต้องได้รับการนำทางทางวิญญาณอย่างเร่งด่วน ต้องพบเส้นทางที่ถูกต้องและทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างเร่งด่วน ในคำนำพระคัมภีร์ของสมัยการประทานยุคสุดท้ายนี้ พระเจ้าทรงสัญญาว่าถ้าเราจะถ่อมตนในยามต้องการเช่นนั้นและหันไปขอความช่วยเหลือจากพระองค์ เราจะได้รับการ “ทำให้แข็งแกร่ง, และได้รับพรจากเบื้องบน,และได้รับความรู้เป็นครั้งคราว.” (คพ. 1:28) ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นของเราถ้าเราจะเพียงแสวงหา วางใจ และทำตามสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินในพระคัมภีร์มอรมอนเรียกว่า “การชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” (โมไซ-ยาห์ 3:19)

บางทีอาจไม่มีสัญญาใดในชีวิตแน่นอนไปกว่าสัญญาเรื่องความช่วยเหลือจากเบื้องบนและการทรงนำทางวิญญาณในยามต้องการ สิ่งนั้นเป็นของประทานได้เปล่าจากสวรรค์ ของประทานที่เราต้องการตั้งแต่เราอายุเยาว์ที่สุดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเรา …

ในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เรามีความช่วยเหลือจากเบื้องบน “จงรื่นเริงเถิด” พระเจ้าตรัส “เพราะเราจะนำทางเจ้าไป” (คพ. 78:18) “เราจะเผยพระวิญญาณของเราส่วนหนึ่งให้เจ้า, ซึ่งจะให้ความสว่างแก่ความคิดเจ้า, ซึ่งจะทำให้จิตวิญญาณเจ้าเปี่ยมด้วยปีติ” (คพ. 11:13)

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ พระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์และประทานพระวิญญาณของพระองค์แก่เรา ในการเผชิญปัญหาของชีวิตและทำภารกิจของชีวิตให้บรรลุผลสำเร็จ ขอให้เราทุกคนเรียกร้องของประทานนั้นจากพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาของเรา และพบปีติทางวิญญาณ3

2

เฉกเช่นโจเซฟ สมิธ เราสามารถหันไปพึ่งพระคัมภีร์และการสวดอ้อนวอนเพื่อรับการสอนจากเบื้องบน

ศาสดาพยากรณ์หนุ่มโจเซฟ สมิธ … หมายมั่นจะรู้พระดำริและพระประสงค์ของพระเจ้าในช่วงของความสับสนและความกังวลในชีวิตเขา … สถานที่ใกล้กับพอลไม-รา นิวยอร์ก บริเวณนั้นเกิด “ความระส่ำระสายผิดธรรมดาเกี่ยวกับเรื่องของศาสนา” ในช่วงวัยเด็กของโจเซฟ แท้จริงแล้วเหตุดังกล่าวดูเหมือนจะมีผลกระทบทั่วเขตนั้น เนื่องด้วย “ชนหมู่มาก” ท่านเขียน รวมตัวกันเข้ากับกลุ่มศาสนาต่างๆ และก่อให้เกิด “ความวุ่นวายและความแตกแยก” ไม่น้อยในบรรดาผู้คน [โจเซฟ สมิธ-ประวัติ 1:5)

สำหรับเด็กหนุ่มที่เพิ่งอายุสิบสี่ปี การแสวงหาความจริงของเขายากและสับสนยิ่งกว่าเดิมเพราะเวลานั้นสมาชิกในครอบครัวสมิธนับถือศาสนาต่างกัน

ตอนนี้ ด้วยภูมิหลังและสภาวะแวดล้อมที่คุ้นเคยดังกล่าว ข้าพเจ้าขอเชื้อเชิญให้ท่านพิจารณาความคิดและความรู้สึกที่น่าทึ่งพอสมควรจากเด็กหนุ่มวัยอ่อนเยาว์คนนั้น เขาเขียนว่า

“ระหว่างเวลาแห่งความระส่ำระสายอย่างรุนแรงนี้จิตใจข้าพเจ้าว้าวุ่นครุ่นคิดหนักและกังวลใจมาก; แต่แม้ว่าความรู้สึกของข้าพเจ้าจะลึกซึ้งและมักจะแรงกล้า, ทว่าข้าพเจ้ายังคงเก็บตัวห่างจาก [กลุ่มทั้งหลายทั้งปวง] เหล่านี้ … , ความสับสนและความขัดแย้งในบรรดากลุ่มที่แตกต่างนั้นมีมากยิ่งนัก, จนสุดวิสัยที่ผู้อ่อนวัยอย่างข้าพเจ้า, และไม่ประสาต่อมนุษย์และเรื่องต่างๆ, จะสรุปได้แน่ชัดว่าใครถูกและใครผิด.

“จิตใจข้าพเจ้าบางเวลาสับสนวุ่นวายมาก, เสียงป่าวร้องและความแตกตื่นมีอยู่มากมายไม่หยุดหย่อน …

“ท่ามกลางสงครามคารมและความแตกตื่นอันเกิดจากความคิดเห็นทั้งหลายนี้, ข้าพเจ้ามักกล่าวแก่ตนเอง: จะให้ทำอย่างไรเล่า? จากกลุ่มทั้งหมดนี้ใครเล่าถูก; หรือ, ผิดด้วยกันทั้งหมด? หากมีกลุ่มหนึ่งในนั้นถูกต้อง, แล้วจะเป็นกลุ่มใดเล่า, และข้าพเจ้าจะรู้ได้อย่างไรเล่า?

“ขณะที่ข้าพเจ้าหนักอึ้งอยู่ด้วยความลำบากใจแสนสาหัสอันเกิดจากการแข่งขันของกลุ่มนักศาสนาเหล่านี้, วันหนึ่งข้าพเจ้าอ่านสาส์นของยากอบ, บทที่หนึ่งและข้อที่ห้า, ซึ่งอ่านว่า : ถ้าผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา, ก็ให้ผู้นั้นทูลขอจากพระเจ้า, ผู้ทรงโปรดประทานให้แก่คนทั้งปวงด้วยพระกรุณา, และมิได้ทรงตำหนิ; แล้วผู้นั้นก็จะได้รับสิ่งที่ทูลขอ.

“ไม่เคยมีข้อความใดในพระคัมภีร์มาสู่จิตใจมนุษย์ด้วยพลังได้มากไปกว่าข้อความนี้ที่ขณะนั้นมาสู่จิตใจข้าพเจ้า. ดูเหมือนจะเข้าถึงความรู้สึกทุกอย่างของจิตใจข้าพเจ้าด้วยพลังอันแรงกล้า ข้าพเจ้าครุ่นคิดถึงข้อความนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า, โดยรู้ว่าหากมีผู้ใดต้องการปัญญาจากพระผู้เป็นเจ้า, ผู้นั้นคือข้าพเจ้า; เพราะจะกระทำอย่างไรข้าพเจ้าไม่ทราบ, และเว้นแต่ข้าพเจ้าจะได้ปัญญามากกว่าที่ข้าพเจ้ามีอยู่เวลานั้น, ข้าพเจ้าก็ไม่อาจรู้ได้เลย” [โจเซฟ สมิธ-ประวัติ 1:8-12]

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นเปลี่ยนวิถีของประวัติศาสตร์มนุษย์ เด็กหนุ่มโจเซฟตั้งใจจะ “ทูลขอจากพระผู้เป็นเจ้า” จึงปลีกตัวเข้าไปในป่าใกล้บ้านในชนบทของเขา ที่นั่น ในการตอบคำสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าของเขา พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ และพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ เสด็จมาเยือนโจเซฟและแนะนำเขา ปรากฏการณ์ครั้งใหญ่นั้น ซึ่งข้าพเจ้าเป็นพยานอย่างนอบน้อม ได้ตอบคำถามมากมายสำหรับสมัยการประทานของเรามากกว่าเพียงตอบว่าเด็กหนุ่มโจเซฟควรหรือไม่ควรเข้าร่วมกับศาสนจักรใด

แต่จุดประสงค์ของข้าพเจ้า … ไม่ใช่เพื่อสรุปช่วงเวลาแรกของการฟื้นฟู แม้ว่าการฟื้นฟูจะเป็นเรื่องราวศักดิ์สิทธิ์เรื่องหนึ่งในพระคัมภีร์ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าประสงค์จะเน้นย้ำความละเอียดอ่อนทางวิญญาณอันน่าประทับใจที่เด็กหนุ่มด้อยการศึกษาและอายุน้อยมากคนนี้แสดงให้เห็น

มีพวกเราวัยสิบสี่หรือราวๆ นั้นสักกี่คนจะมีสติและทำใจให้สงบนิ่งได้ทั้งที่มีอิทธิพลมากมายพยายามชักจูงเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสำคัญเช่นนั้นอันเกี่ยวเนื่องกับความรอดนิรันดร์ของเรา มีพวกเราสักกี่คนสามารถต้านความขัดแย้งทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อบิดามารดามีข้อคิดเห็นทางศาสนาต่างจากเรา มีพวกเราวัยสิบสี่หรือห้าสิบสักกี่คนจะแสวงหาจิตวิญญาณของเราและแสวงหางานเขียนศักดิ์สิทธิ์เพื่อหาคำตอบของสิ่งที่อัครสาวกเปาโลเรียกว่า “ความล้ำลึกของพระเจ้า” (1 โครินธ์ 2:10)

น่าทึ่งยิ่งนัก … ที่เด็กหนุ่มคนนี้หันไปพึ่งพระคัมภีร์อย่างลึกซึ้งจากนั้นจึงพึ่งการสวดอ้อนวอนเป็นส่วนตัว บางทีอาจเป็นแหล่งช่วยที่สำคัญที่สุดสองแหล่งของความเข้าใจลึกซึ้งทางวิญญาณและความประทับใจทางวิญญาณซึ่งมีอยู่ทั่วไปแก่มวลมนุษย์ แน่นอนว่าเขาถูกชักจูงจากความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่เขาตั้งใจจะทำสิ่งถูกต้องและตั้งใจจะหาหนทางที่ถูกต้อง โจเซฟเชื่อ เช่นเดียวกับที่ท่านและข้าพเจ้าต้องเชื่อว่า เขาจะได้รับการสอนและได้รับพรจากเบื้องบนเช่นเดียวกับที่เขาได้รับ

แต่เราอาจจะพูดว่า โจเซฟ สมิธเป็นดวงวิญญาณพิเศษมาก และกรณีของเขาเป็นกรณีพิเศษ ส่วนพวกเราที่เหลือเล่า ตอนนี้เราอาจจะอายุมากกว่า—อย่างน้อยก็เกินสิบสี่ปี—และไม่ได้ถูกกำหนดให้เปิดสมัยการประทานของพระกิตติคุณ เราต้องตัดสินใจ จัดการกับความสับสน และแยกแยะความจริงจากสงครามคารมในเรื่องทั้งหมดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราเช่นกัน โลกเต็มไปด้วยการตัดสินใจที่ยากลำบากเช่นนั้น และบางครั้งขณะที่เราเผชิญการตัดสินใจเหล่านั้น เราอาจรู้สึกถึงวัยหรือความอ่อนแอของเรา

บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าความเฉียบแหลมทางวิญญาณของเราทื่อลง ในวันที่ยากลำบากบางวัน เราอาจรู้สึกกระทั่งว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงลืมเรา ทรงทิ้งเราไว้ตามลำพังให้อยู่ในความสับสนและความกังวล แต่พวกเราที่อายุมากกว่าไม่ควรรู้สึกเช่นนั้น คนที่อายุน้อยกว่าและมีประสบการณ์น้อยกว่าก็ไม่ควรรู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักและทรงรักเราทุกคน เรา เราทุกคน เป็นธิดาและบุตรของพระองค์ไม่ว่าเราจะได้รับบทเรียนอะไรในชีวิต สัญญายังคงเป็นจริง “ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวางและไม่ทรงตำหนิ แล้วเขาก็จะได้รับตามที่ทูลขอ” (ยากอบ 1:5)4

ภาพ
โจเซฟ สมิธในป่า

เราสามารถทำตามแบบอย่างของโจเซฟ สมิธในการทูลขอสติปัญญาจากพระผู้เป็นเจ้า

3

การสวดอ้อนวอนเป็นวิธีหนึ่งที่จะได้รับความรู้และการทรงนำทางวิญญาณ

ความรู้และปัญญาของโลกตลอดจนทุกอย่างที่เป็นของโลกนี้ เราจะสัมผัสได้ทางร่างกายซึ่งเป็นวิธีทางโลก เราสัมผัส เราเห็น เราได้ยิน ลิ้มรส ดมกลิ่น และเรียนรู้ แต่ความรู้ทางวิญญาณ ตามที่เปาโลกล่าว มาถึงเราในวิธีทางวิญญาณจากแหล่งทางวิญญาณของความรู้นั้น เปาโลกล่าวต่อไปว่า

“แต่คนทั่วไปจะไม่รับสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นของพระวิญญาณแห่งพระเจ้า เพราะว่าเขาเห็นว่าเป็นเรื่องโง่ และเขาไม่สามารถเข้าใจ เพราะจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต้องวินิจฉัยโดยพึ่งพระวิญญาณ” (1 โครินธ์ 2:14)

เราพบ และรู้ว่าวิธีเดียวที่เราจะได้ความรู้ทางวิญญาณคือ ทูลขอพระบิดาในสวรรค์ผ่านพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เมื่อเราทำเช่นนี้ และถ้าเราพร้อมทางวิญญาณ เราจะเห็นสิ่งที่ดวงตาของเราไม่เคยเห็นมาก่อน และเราได้ยินสิ่งที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน— “สิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้” ตามคำพูดของเปาโล (1 โค-รินธ์ 2:9) เราได้รับสิ่งเหล่านี้ผ่านพระวิญญาณ

เราเชื่อ และเป็นพยานต่อโลกว่าการสื่อสารกับพระบิดาในสวรรค์และแนวทางจากพระเจ้ามีอยู่ในปัจจุบัน เราเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับมนุษย์เช่นเดียวกับที่ตรัสในสมัยของพระผู้ช่วยให้รอดและในสมัยพันธสัญญาเดิม5

4

เราสวดอ้อนวอนได้ตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่ในเวลาสิ้นหวัง

ยุคปัจจุบันของเราดูเหมือนจะบอกว่าความภักดีร่วมกับการสวดอ้อนวอนและความคารวะต่อเรื่องศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องไร้เหตุผลหรือไม่พึงปรารถนา หรือทั้งสองอย่าง แต่กระนั้น คน “ยุคปัจจุบัน” ที่ช่างสงสัยก็ยังต้องสวดอ้อนวอน ช่วงเวลาอันตราย ความรับผิดชอบใหญ่หลวง ความวิตกกังวลลึกๆ ความทุกข์ระทมแสนสาหัส—ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เราออกจากความพึงพอใจเดิมๆ และกิจวัตรที่กำหนดไว้จะทำให้นิสัยตามธรรมชาติของเราปรากฏ ถ้าเรายอม ความท้าทายเหล่านี้จะทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยนลง และทำให้เราหันไปพึ่งการสวดอ้อนวอนด้วยความเคารพ

ถ้าการสวดอ้อนวอนเป็นเพียงการร้องทูลในช่วงเวลาวิกฤติ แสดงว่าเราเห็นแก่ตัวที่สุด และเราจะคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นช่างซ่อมหรือหน่วยบริการที่ช่วยเราเฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เราควรระลึกถึงองค์พระผู้สูงสุดทั้งวันคืน—ตลอดเวลา—ไม่เฉพาะเวลาที่เราไร้ซึ่งความช่วยเหลืออื่นใดและเราต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่ง ถ้ามีสิ่งใดในชีวิตมนุษย์ซึ่งเรามีบันทึกถึงความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์และมีค่าสุดประมาณต่อจิตวิญญาณมนุษย์ สิ่งนั้นคือการสื่อสารกับพระบิดาบนสวรรค์ของเราด้วยความภักดี ความคารวะ และการสวดอ้อนวอน

“ข้าแต่พระยาเวห์ ขอเอียงพระโสตสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ ขอทรงฟังเสียงคร่ำครวญของข้าพระองค์” ผู้เขียนสดุดีกล่าว

“ข้าแต่พระเจ้า พระมหากษัตริย์ของข้าพระองค์ ขอทรงฟังเสียงร้องทูลของข้าพระองค์ เพราะข้าพระองค์อธิษฐานต่อพระองค์

“ข้าแต่พระยาห์เวห์ ยามเช้าพระองค์ทรงสดับเสียงข้าพระองค์ ยามเช้าข้าพระองค์เตรียมคำอธิษฐานแด่พระองค์ และเฝ้าคอยอยู่” (สดุดี 5:1-3)

บางทีสิ่งที่โลกนี้ต้องการมากเท่ากับสิ่งอื่นคือ “เฝ้าคอยอยู่” ตามที่ผู้เขียนสดุดีกล่าว—เฝ้าคอยในปีติของเราและความทุกข์ของเรา ในความอุดมสมบูรณ์ของเราและความขัดสนของเรา เราต้องเฝ้าคอยตลอดเวลาและยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้ให้สิ่งดีทุกอย่างและเป็นบ่อเกิดแห่งความรอดของเรา …

วิญญาณของการสวดอ้อนวอน ความคารวะ และการนมัสการหายไปจากสังคมเราของเราเสียเป็นส่วนใหญ่ ชายหญิงในแวดวงต่างๆ ฉลาด น่าสนใจ หรือปราดเปรื่อง แต่พวกเขาขาดองค์ประกอบสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในชีวิตที่สมบูรณ์ พวกเขาไม่เฝ้าคอยอยู่ พวกเขาไม่ถวายคำปฏิญาณในความชอบธรรม [ดู คพ. 59:11] การสนทนาของพวกเขามีชีวิตชีวา แต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ คำพูดของพวกเขาเต็มไปด้วยความรอบรู้ แต่ขาดปัญญา ไม่ว่าจะอยู่ในห้องทำงาน ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือห้องทดลอง พวกเขาลดระดับความสูงค่าของตนลงอย่างมากเมื่อพวกเขาโอ้อวดพลังความสามารถอันมีขีดจำกัดของตนเองแล้วรู้สึกว่าต้องสบประมาทพลังความสามารถอันไร้ขีดจำกัดเหล่านั้นที่มาจากเบื้องบน

น่าเสียดายที่บางครั้งเราเห็นการขาดความคารวะเช่นนี้แม้กระทั่งในศาสนจักร บางครั้งเราคุยกันเสียงดังมาก เข้าออกการประชุมอย่างไม่เคารพในชั่วโมงที่ควรเป็นเวลาของการสวดอ้อนวอนและการนมัสการที่ทำให้เราบริสุทธิ์ ความคารวะเป็นบรรยากาศของสวรรค์ การสวดอ้อนวอนเป็นการเอ่ยความในใจต่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา เราจะเป็นเหมือนพระบิดาของเรามากขึ้นโดยเฝ้าคอยพระองค์ ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา สนใจโลกและงานของพระองค์ให้มาก6

ภาพ
สตรีกำลังสวดอ้อนวอน

“การสวดอ้อนวอนเป็นการเอ่ยความในใจต่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา”

5

เราพัฒนาความสามารถในการรับความรู้ทางวิญญาณขณะที่เราใช้เวลาพินิจไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และสวดอ้อนวอน

การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณและดำเนินชีวิตสอดคล้องกับอิทธิพลสูงสุดของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาและมักจะเกี่ยวข้องกับความพยายาม สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่บรรลุผลสำเร็จผ่านความพยายามอย่างรอบคอบ โดยเรียกหาพระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์เท่านั้น …

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ … ได้ให้ถ้อยแถลงที่อาจจะชัดเจนที่สุดในบรรดาถ้อยแถลงทั้งหมดเกี่ยวกับความจำเป็นของความเข้มแข็งทางวิญญาณ รวมถึงเวลาและความอดทนซึ่งเราพึงยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ [ท่าน] กล่าวว่า “เราถือว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์พร้อมจิตใจที่สามารถรับคำแนะนำสั่งสอนได้ และสติปัญญาซึ่งขยายได้ตามสัดส่วนความเอาใจใส่และความพากเพียรที่ให้แก่ความสว่างซึ่งถ่ายทอดจากสวรรค์ให้ผู้มีปัญญา และยิ่งมนุษย์เข้าใกล้ความดีพร้อมมากเท่าใด การมองเห็นของเขาจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น และความปลื้มปีติของเขาจะมากขึ้น จนกว่าเขาจะเอาชนะความชั่วร้ายของชีวิตเขาและสูญสิ้นความปรารถนาที่จะทำบาป และเช่นเดียวกับคนสมัยโบราณ เขาจะมาถึงจุดนั้นของศรัทธาซึ่งห่อหุ้มเขาไว้ในเดชานุภาพและพระสิริของพระผู้รังสรรค์และได้อยู่กับพระองค์ แต่เราถือว่านี่เป็นสถานะที่ไม่มีมนุษย์คนใดไปถึงได้ในทันที” [คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 226]7

เราต้องใช้เวลาเตรียมจิตใจเราให้พร้อมรับเรื่องทางวิญญาณ การพัฒนาความสามารถทางวิญญาณไม่ได้มากับการประสาทสิทธิอำนาจ จะต้องมีความปรารถนา ความพยายาม และการเตรียมตัว แน่นอนว่าสิ่งนี้เรียกร้อง … การอดอาหาร การสวดอ้อนวอน การค้นคว้าพระคัมภีร์ ประสบการณ์ การพินิจไตร่ตรอง และการหิวกระหายชีวิตที่ชอบธรรม

ข้าพเจ้าพบว่าการทบทวนคำตักเตือนต่อไปนี้จากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพจะช่วยได้

“หากเจ้าจะถาม, เจ้าจะได้รับการเปิดเผยมาเติมการเปิดเผย, ความรู้มาเติมความรู้, เพื่อเจ้าจะรู้ความลี้ลับและสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุข—สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งปีติ, สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งนิรันดรแห่งชีวิต” (คพ. 42:61)

“จงทูลขอพระบิดาในนามของเรา, ด้วยศรัทธาเชื่อมั่นว่าเจ้าจะได้รับ, และเจ้าจะมีพระวิญญาณบริสุทธิ์, ซึ่งแสดงทุกสิ่งที่สมควรให้ประจักษ์แก่ลูกหลานมนุษย์” (คพ. 18:18)

“ให้สัจธรรมแห่งนิรันดรสถิตอยู่ในจิตใจเจ้า” (คพ. 43:34)

“จงสั่งสมถ้อยคำแห่งชีวิตไว้ในความคิดเจ้าเสมอไป, และจะให้มันแก่เจ้าในโมงนั้นเอง ส่วนนั้นที่จะแบ่งสรรให้แก่มนุษย์ทุกคน” (คพ. 84:85)

“จงค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียร, สวดอ้อนวอนเสมอ, และจงเชื่อ, และสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเจ้า, หากเจ้าดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรง และจดจำพันธสัญญาซึ่งด้วยพันธสัญญานั้นเจ้าได้ทำพันธสัญญาไว้แก่กัน” (คพ. 90:24)

“พระผู้เป็นเจ้าจะประทานความรู้แก่เจ้าโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์, แท้จริงแล้ว, โดยของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งไม่อาจพูดถึงได้” (คพ. 121:26)

นี่คือสัญญาที่พระเจ้าจะทรงทำให้เกิดสัมฤทธิผลแน่นอนถ้าเราเตรียมตัว

จงใช้เวลาพินิจไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับเรื่องทางวิญญาณ8

6

พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยให้เราก้าวหน้าทางวิญญาณทีละขั้น

ส่วนหนึ่งของความยากลำบากขณะที่เราพยายามให้มีความเข้มแข็งทางวิญญาณคือความรู้สึกว่ามีมากมายให้ทำและเรากำลังทำไม่เพียงนิดเดียว ความดีพร้อมอยู่ข้างหน้าเราทุกคน แต่เราสามารถใช้ความเข้มแข็งของเราให้เป็นประโยชน์ เริ่มตรงที่เราอยู่ และแสวงหาความสุขที่พบได้ในความพยายามติดตามเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า เราควรจดจำคำแนะนำของพระเจ้าที่ว่า

“ดังนั้น, อย่าเบื่อหน่ายในการทำดี, เพราะเจ้ากำลังวางรากฐานของงานอันสำคัญยิ่ง. และจากสิ่งเล็กน้อยบังเกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่.

“ดูเถิด, พระเจ้าทรงเรียกร้องใจและความคิดที่เต็มใจ; และคนเต็มใจและคนเชื่อฟังจะกินสิ่งดีของแผ่นดินแห่งไซอันในวันเวลาสุดท้ายนี้.” (คพ. 64:33-34)

ข้าพเจ้ามีกำลังใจเสมอที่พระเจ้าตรัสว่า “คนเต็มใจและคนเชื่อฟังจะกินสิ่งดีของแผ่นดินแห่งไซอันในวันเวลาสุดท้ายนี้.” เราทุกคนสามารถเต็มใจและเชื่อฟัง ถ้าพระเจ้าตรัสว่าคนดีพร้อมจะได้กินสิ่งดีของแผ่นดินแห่งไซอันในวันเวลาสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าพวกเราบางคนจะท้อแท้และยอมแพ้ …

จุดเริ่มต้นคือที่นี่ เวลาเริ่มต้นคือเดี๋ยวนี้ ความยาวในการก้าวเดินของเราคือต้องเดินไปทีละก้าว พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรง “ออกแบบความสุขของเรา” จะทรงนำเราไปตลอดทางแม้เหมือนเด็กเล็กๆ และเราจะเข้าใกล้ความดีพร้อมโดยกระบวนการนั้น

ไม่มีใครในพวกเราบรรลุความดีพร้อมหรือถึงจุดสูงสุดของการเติบโตทางวิญญาณอันอาจเกิดขึ้นได้ในความเป็นมรรตัย ทุกคนสามารถและต้องเจริญก้าวหน้าทางวิญญาณ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นแผนอันสูงส่งสำหรับการเติบโตทางวิญญาณชั่วนิรันดร์ เป็นมากกว่าประมวลจริยธรรม เป็นมากกว่าระเบียบสังคมที่ดีเลิศ เป็นมากกว่าความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับการปรับปรุงตนเองและความตั้งใจแน่วแน่ พระกิตติคุณเป็นเดชานุภาพในการช่วยให้รอดของพระเจ้าพระเยซูคริสต์กับฐานะปุโรหิตและการค้ำจุนของพระองค์และกับพระวิญาณศักดิ์สิทธิ์ ด้วยศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และการเชื่อฟังพระกิตติคุณของพระองค์ โดยปรับปรุงทีละก้าวขณะเดินไป ทูลขอพลัง ปรับปรุงเจตคติและความใฝ่ฝันของเรา เราจะพบตนเองประสบความสำเร็จในฝูงของพระเมษ-บาลผู้ประเสริฐ สิ่งนั้นจะเรียกร้องวินัย การฝึกฝน ความพยายามอย่างเต็มที่ และความเข้มแข็ง แต่ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าว “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” (ฟีลิปปี 4:13)

การเปิดเผยยุคปัจจุบันสัญญาดังนี้ “จงวางใจในพระวิญญาณองค์นั้นซึ่งนำให้ทำดี—แท้จริงแล้ว, ให้ทำอย่างเที่ยงธรรม, ให้เดินอย่างถ่อมตน, ให้พิพากษาอย่างชอบธรรม; และนี่คือพระวิญญาณของเรา.

“ตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้ว, เรากล่าวแก่เจ้า, เราจะเผยพระวิญญาณของเราส่วนหนึ่งให้เจ้า, ซึ่งจะให้ความสว่างแก่ความคิดเจ้า, ซึ่งจะทำให้จิตวิญญาณเจ้าเปี่ยมด้วยปีติ;

“และเมื่อนั้นเจ้าจะรู้, หรือโดยสิ่งนี้เจ้าจะรู้, สิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่เจ้าปรารถนาจากเรา, ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของความชอบธรรม, ด้วยศรัทธาโดยเชื่อในเราว่าเจ้าจะได้รับ.” (คพ. 11:12-14)9

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • หลังจากอ่านหัวข้อ 1 ให้นึกถึงเวลาที่ท่านเคยต้องการความช่วยเหลือจากสวรรค์ สัญญาเรื่องความช่วยเหลือจากเบื้องบนในยามต้องการเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร

  • ในหัวข้อ 2 เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากแบบอย่างของโจเซฟ สมิธที่จะช่วยเราได้เมื่อเราเกิดความสับสน เราจะพัฒนาความละเอียดอ่อนทางวิญญาณเหมือนโจเซฟได้อย่างไร

  • ไตร่ตรองคำสอนของประธานฮันเตอร์เกี่ยวกับวิธีที่เราได้รับความรู้ทางวิญญาณ (ดู หัวข้อ 3) เราสามารถเพิ่มพูนความปรารถนาและความสามารถในการได้ความรู้ทางวิญญาณอย่างไร ความรู้ทางวิญญาณช่วยท่านในทางใดบ้าง

  • อะไรคืออันตรายของการมองว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็น “ช่างซ่อมหรือหน่วยบริการที่ช่วยเราเฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น” (ดู หัวข้อ 4) การสวดอ้อนวอนเป็นพรแก่ท่านอย่างไร

  • ในหัวข้อ 5 ประธานฮันเตอร์สอนวิธีพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณ เหตุใดความพยายามจึงจำเป็นต่อการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิญญาณ เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อพระคัมภีร์ที่ประธานฮันเตอร์อ้างในหัวข้อนี้

  • ทบทวนคำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อ 6 เกี่ยวกับการเติบโตทางวิญญาณ การเติบโตทางวิญญาณเป็นกระบวนการทีละขั้นสำหรับท่านอย่างไร คำสอนของประธานฮันเตอร์ในหัวข้อนี้จะช่วยได้อย่างไรถ้าท่านรู้สึกว่าการเติบโตทางวิญญาณของท่านไม่เป็นไปตามที่หวัง

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

สดุดี 25:5; สุภาษิต 3:6; 2 นีไฟ 32:8–9; แอลมา 5:46; 34:17–27; 37:36–37; คพ. 8:2–3; 88:63; 112:10; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:13–17

ความช่วยเหลือด้านการสอน

เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนค้นคว้าบทนี้โดยมองหาประโยคหรือย่อหน้าที่สำคัญต่อพวกเขา ขอให้พวกเขาแบ่งปันประโยคหรือย่อหน้าเหล่านี้และอธิบายว่าเหตุใดจึงมีความหมาย

อ้างอิง

  1. ใน Kellene Ricks, “Friend to Friend: From an Interview with Howard W. Hunter, President of the Quorum of the Twelve Apostles,” Friend, Apr. 1990, 6.

  2. The Teachings of Howard W. Hunter, ed. Clyde J. Williams (1997), 39-40.

  3. “Blessed from on High,” Ensign, Nov. 1988, 59, 61.

  4. “Blessed from on High,” 59–60.

  5. “Conference Time,” Ensign, Nov. 1981, 13.

  6. “Hallowed Be Thy Name,” Ensign, Nov. 1977, 52–53.

  7. “Developing Spirituality,” Ensign, May 1979, 25.

  8. The Teachings of Howard W. Hunter, 36–37.

  9. “Developing Spirituality,” 25–26.