คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 12: คำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต


บทที่ 12

คำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต

“พรของพระเจ้ามีไว้ให้วิสุทธิชนและชาวโลกโดยผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของคนเหล่านั้นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นตัวแทนพระองค์”

จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

วันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1951 หลังจากรับใช้เป็นอัครสาวกนาน 41 ปี โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธได้รับการสนับสนุนเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง ไม่นานหลังจากการออกเสียงสนับสนุน ประธานสมิธกล่าวคำปราศรัยในที่ประชุม ท่านแบ่งปันความรู้สึกสั้นๆ เกี่ยวกับการเรียกของท่าน ดังนี้

“ข้าพเจ้าตระหนักว่าตำแหน่งที่ได้รับเรียกให้ทำเป็นงานสำคัญมากงานหนึ่ง งานนี้ทำให้ข้าพเจ้านอบน้อม …

“ข้าพเจ้าขอบพระทัยพระเจ้าสำหรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ สำหรับการเป็นสมาชิกในศาสนจักร สำหรับโอกาสที่มาหาข้าพเจ้าเพื่อรับใช้ ข้าพเจ้าปรารถนาเพียงสิ่งเดียว แม้อ่อนแอดังข้าพเจ้า นั่นคือขยายการเรียกซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอย่างสุดความสามารถ”1

ประธานสมิธมักจะกระตุ้นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตให้ขยายการเรียกของพวกเขา ถึงแม้ท่านจะบอกเล่าความปรารถนาของท่านเองโดยรวมถึงการขยายการเรียกในฐานะปุโรหิตของท่าน2 แต่ท่านแทบจะไม่กล่าวถึงความพยายามของท่านที่จะทำเช่นนั้นเลย อย่างไรก็ดี มีครั้งหนึ่งที่ท่านไตร่ตรองถึงการรับใช้ฐานะปุโรหิตที่ท่านทำร่วมกับจอร์จ เอฟ. ริชาร์ดส์ เพื่อนของท่าน ซึ่งเป็นประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองก่อนหน้านี้

“เป็นเวลาสี่สิบปีที่ข้าพเจ้านั่งในสภานี้ เข้าการประชุมใหญ่ และรับใช้ในหลายๆ ตำแหน่งร่วมกับประธานจอร์จ เอฟ. ริชาร์ดส์ …

“เราเดินทางด้วยกันจากสเตคของไซอันแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ในสมัยแรกๆ เรา พี่น้องชายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเยี่ยมสเตคของไซอันเป็นคู่ๆ บางแห่งทางรถไฟไปไม่ถึง และสถานที่ดังกล่าวก็มีอยู่จำนวนมาก เรามักจะเดินทางด้วยยานพาหนะรู้จักกันในนาม ‘ไวท์ท็อป’ ซึ่งคือเกวียนที่ใช้ในฤดูใบไม้ผลิ โดยปกติการเดินทางไกลหมายถึงการนัดหมายสองสเตค บ่อยครั้งที่เป็นสามหรือสี่เสตค

“การเดินทางไปประชุมเช่นนั้น จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างการประชุมใหญ่สเตคในหลายพื้นที่ หรือวอร์ดของสเตค การเดินทางเช่นนั้นต้องไปตามเส้นทางขรุขระ บางครั้งทางแคบมาก ผ่านฝุ่นคลุ้งในฤดูร้อนและอากาศเย็นยะเยือกในฤดูหนาว บ่อยครั้ง ผ่านโคลนหนาหรือหิมะตกหนัก”3

เอ็ลเดอร์ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์ ผู้ที่รับใช้เป็นเลขานุการในฝ่ายประธานสูงสุด แบ่งปันข้อคิดเกี่ยวกับวิธีที่ประธานสมิธขยายการเรียกของท่านในฐานะปุโรหิตว่า “ถึงแม้ [ท่าน] จะตระหนักรู้อย่างเต็มที่ในสิทธิอำนาจของท่าน แต่ท่านใช้สิทธิอำนาจนั้นด้วยความสุภาพอ่อนโยนเสมอ ท่านไม่เคยมีท่าทีหยิ่งจองหอง วางมาด หรือทะนงตน ท่านไม่เคยยกตนข่มท่าน ไม่เคยอวดอ้างอภิสิทธิ์ในตำแหน่งของท่านเลย”4

ภาพ
Joseph Fielding Smith at Manchester Conference 1971

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ คำปราศรัย ณ การประชุมใหญ่ภาคบริเตน สิงหาคม 1971 แถวนั่งจากซ้ายไปขวา: เอ็ลเดอร์แมเรียน จี. รอมนีย์, ริชาร์ด แอล. เอแวน และฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

ในฐานะประธานศาสนจักร โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ ปราศรัยในการประชุมใหญ่สามัญภาคฐานะปุโรหิตห้าครั้ง โดยกระตุ้นพวกเขาให้ขยายการเรียกในฐานะปุโรหิต คำสอนบทนี้หยิบยกมาจากโอวาทสี่ครั้ง โดยเน้นเป็นพิเศษสำหรับคำปราศรัยวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1970 เพราะเป็นโอวาทที่กล่าวในการประชุมฐานะปุโรหิต ถ้อยคำในบทนี้จึงกล่าวกับผู้ชายโดยตรง อย่างไรก็ดี ถ้อยคำเหล่านี้รวมถึงความเข้าใจที่ว่าอำนาจฐานะปุโรหิตเป็นพรอันยิ่งใหญ่แก่สมาชิกศาสนจักรทุกคน หนึ่งในโอวาทเหล่านั้น ประธานสมิธกล่าวว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าเราทุกคนทราบว่าพรฐานะปุโรหิตมิได้จำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่พรเหล่านี้หลั่งลงมาที่ภรรยา บุตรสาว และสตรีที่ซื่อสัตย์ทุกคนของศาสนจักรเช่นกัน สตรีที่ดีเหล่านี้สามารถเตรียมรับพรจากพระนิเวศน์ของพระเจ้า โดยการรักษาพระบัญญัติและรับใช้ในศาสนจักร พระเจ้าทรงมอบของประทานฝ่ายวิญญาณและพรทุกประการที่บุตรชายของพระองค์รับได้ให้บุตรสาวของพระองค์เช่นกัน เพราะผู้ชายก็ขาดผู้หญิงไม่ได้ และผู้หญิงก็ขาดผู้ชายในพระเจ้าไม่ได้ [ดู 1 โครินธ์ 11:11]”5

คำสอนของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

1

ผู้ชายควรมีความเข้าใจถ่องแท้ถึงพันธสัญญาที่พวกเขาทำเมื่อพวกเขารับตำแหน่งในฐานะปุโรหิต

ข้าพเจ้าอยากให้ท่านสนใจคำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ข้าพเจ้าคิดว่าหากเรามีความเข้าใจถ่องแท้ถึงพันธสัญญาที่เราทำเมื่อเรารับตำแหน่งในฐานะปุโรหิต และสัญญาที่พระเจ้าประทานไว้ หากเราขยายการเรียกของเรา เราจะมีแรงจูงใจมากขึ้นในการทำทุกสิ่งที่เราต้องทำเพื่อรับชีวิตนิรันดร์

ข้าพเจ้าขอกล่าวเพิ่มเติมว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับฐานะปุโรหิตระดับสูงกว่านี้ออกแบบไว้และมีเจตนาจะเตรียมเราให้ได้รับชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

ในการเปิดเผยเรื่องฐานะปุโรหิต ที่ประทานแก่โจเซฟ สมิธ เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1832 พระเจ้าตรัสว่าฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคดำรงอยู่เป็นนิจ ฐานะปุโรหิตนี้ปฏิบัติพระกิตติคุณ มีอยู่ในศาสนจักรที่แท้จริงทุกชั่วอายุ และถือกุญแจแห่งความรู้เรื่องพระผู้เป็นเจ้า ท่านกล่าวว่าสิ่งนี้ทำให้ผู้คนของพระเจ้าได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ เพื่อจะมองเห็นพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า และเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้าได้ “ซึ่งสถานพักผ่อนนั้นคือความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระองค์” (ดู คพ. 84:17–24)

จากนั้น กล่าวถึงทั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตเมลคีเซเดค พระเจ้าตรัสว่า “เพราะผู้ใดที่ซื่อสัตย์ต่อการได้รับฐานะปุโรหิตทั้งสองอย่างนี้ซึ่งเราพูดถึง, และการขยายการเรียกของพวกเขา, ย่อมถูกพระวิญญาณชำระให้บริสุทธิ์จนถึงการทำให้ร่างกายของพวกเขาใหม่อีกครั้ง.

“พวกเขากลายเป็นบุตรทั้งหลายของโมเสสและของอาโรนและพงศ์พันธุ์ของอับราฮัม, และศาสนจักรและอาณาจักร, และผู้ที่ทรงเลือกไว้ของพระผู้เป็นเจ้า.

“และคนเหล่านั้นทั้งปวงด้วยที่ได้รับฐานะปุโรหิตนี้ย่อมรับเรา, พระเจ้าตรัส;

“เพราะคนที่รับผู้รับใช้ทั้งหลายของเราย่อมรับเรา;

“และคนที่รับเราย่อมรับพระบิดาของเรา;

“และคนที่รับพระบิดาของเราย่อมรับอาณาจักรแห่งพระบิดาของเรา; ฉะนั้นทุกสิ่งที่พระบิดาของเรามีย่อมจะประทานแก่เขา.

“และนี่เป็นไปตามคำปฏิญาณและพันธสัญญาซึ่งเป็นของฐานะปุโรหิต.

“ฉะนั้น, คนเหล่านั้นทั้งปวงที่ได้รับฐานะปุโรหิต, ย่อมรับคำปฏิญาณและพันธสัญญานี้แห่งพระบิดาของเรา, ซึ่งเขาจะฝ่าฝืนไม่ได้, ทั้งจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ด้วย.”

โทษของการฝ่าฝืนพันธสัญญา และหันหลังให้โดยสิ้นเชิงได้ให้ไว้ พร้อมกับพระบัญญัตินี้ “… ระวังเกี่ยวกับตัวเจ้า, ที่จะใส่ใจอย่างเข้มงวดกวดขันต่อถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์.

“เพราะเจ้าพึงดำเนินชีวิตตามพระคำทุกคำที่ออกจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า.” ( คพ. 84:33–44)6

ท่านทั้งหลายที่ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนยังไม่ได้รับคำปฏิญาณและพันธสัญญานี้ ซึ่งเป็นของฐานะปุโรหิตระดับสูงกว่า แต่ท่านมีพลังอำนาจและสิทธิอำนาจอันสำคัญยิ่งที่พระเจ้าประทานให้ ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนเป็นฐานะปุโรหิตขั้นเตรียมที่สอนและอบรมเราให้คู่ควรกับพรอันยิ่งใหญ่อื่นๆ ที่มาหลังจากนี้

หากท่านรับใช้อย่างซื่อสัตย์ในฐานะมัคนายก ผู้สอน และปุโรหิต ท่านจะได้รับประสบการณ์ ความสามารถและสมรรถภาพ ซึ่งทำให้ท่านสามารถรับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและขยายการเรียกในนั้นได้7

2

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตสัญญาว่าจะขยายการเรียกของพวกเขาในฐานะปุโรหิตและดำเนินชีวิตตามพระคำทุกคำที่ออกจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า

ดังที่เราทราบ พันธสัญญาคือสัญญาและข้อตกลงระหว่างบุคคลอย่างน้อยที่สุดสองฝ่าย ในกรณีพันธสัญญาพระกิตติคุณ บุคคลสองฝ่ายคือพระเจ้าในสวรรค์กับมนุษย์บนแผ่นดินโลก มนุษย์ตกลงว่าจะรักษาพระบัญญัติและพระเจ้าทรงสัญญาจะประทานรางวัลพวกเขาตามนั้น พระกิตติคุณเป็นพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจในตัวเองครอบคลุมข้อตกลง สัญญา และรางวัลทุกประการซึ่งพระเจ้าประทานแก่ผู้คนของพระองค์

เมื่อเรารับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเรากระทำโดยพันธสัญญา เราสัญญาอย่างจริงจังที่จะรับฐานะปุโรหิต ขยายการเรียกในนั้น และดำเนินชีวิตตามพระคำทุกคำที่ออกจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า ในส่วนของพระเจ้าพระองค์เอง ทรงสัญญากับเราว่าหากเรารักษาพันธสัญญา เราจะได้รับทุกสิ่งที่พระบิดาทรงมี ซึ่งได้แก่ชีวิตนิรันดร์ มีใครในบรรดาพวกเราที่พอจะนึกออกได้ว่ามีข้อตกลงใดบ้างที่จะสูงส่งหรือสำคัญไปกว่านี้

บางครั้ง เราพูดคลุมเครือเกี่ยวกับการขยายฐานะปุโรหิตของเรา แต่สิ่งที่การเปิดเผยกล่าวถึงเป็นการขยายการเรียกของเราในฐานะปุโรหิต ในฐานะเอ็ลเดอร์ สาวกเจ็ดสิบ มหาปุโรหิต ผู้ประสาทพร และอัครสาวก

ฐานะปุโรหิตที่มนุษย์ดำรงอยู่คือพลังอำนาจและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์บนแผ่นดินโลกให้กระทำทุกสิ่งเพื่อความรอดของมนุษยชาติ ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหรือการเรียกเป็นงานมอบหมายให้ปฏิบัติศาสนกิจพื่อดำเนินงานรับใช้ที่ได้รับมอบหมายพิเศษในฐานะปุโรหิต และวิธีขยายการเรียกเหล่านี้คือให้ทำงานตามรูปแบบที่วางไว้ให้ปฏิบัติโดยบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ

ไม่สำคัญว่าเราดำรงตำแหน่งอะไร ตราบใดที่เรายังคงแน่วแน่และซื่อสัตย์ต่อพันธรับผิดชอบของเรา ตำแหน่งหนึ่งก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าอีกตำแหน่งหนึ่ง ถึงแม้ว่า ด้วยเหตุผลในการบริหาร ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตคนหนึ่งอาจได้รับเรียกให้ควบคุมและกำกับดูแลงานของอีกตำแหน่งหนึ่งก็ตาม

ประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ บิดาข้าพเจ้า กล่าวว่า “ไม่มีตำแหน่งใดที่มาจากฐานะปุโรหิตนี้แล้วจะหรือสามารถยิ่งใหญ่ไปกว่าฐานะปุโรหิตเอง ตำแหน่งมาจากฐานะปุโรหิตซึ่งให้พลังอำนาจและสิทธิอำนาจแก่ตำแหน่ง ไม่มีตำแหน่งใดมอบสิทธิอำนาจให้ฐานะปุโรหิต ไม่มีตำแหน่งใดเพิ่มเติมพลังอำนาจให้ฐานะปุโรหิตได้ แต่ทุกตำแหน่งในศาสนจักรได้รับพลังอำนาจ คุณธรรม และสิทธิอำนาจจากฐานะปุโรหิตได้”

เราได้รับเรียกให้ขยายการเรียกของเราในฐานะปุโรหิต และทำงานตามตำแหน่งที่ได้รับ พระเจ้ารับสั่งเช่นเดียวกันนี้ในการเปิดเผยเรื่องฐานะปุโรหิตว่า “ฉะนั้น, ให้มนุษย์ทุกคนยืนอยู่ในหน้าที่ของตนเอง, และทำงานในการเรียกของตนเอง; … เพื่อจะรักษาระบบให้สมบูรณ์” (คพ. 84:109–110)

นี่คือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เป้าหมายหนึ่งต่อสิ่งที่เราทำในโปรแกรมฐานะปุโรหิตของศาสนจักร ให้เอ็ลเดอร์ทำงานของเอ็ลเดอร์ สาวกเจ็ดสิบทำงานของสาวกเจ็ดสิบ มหาปุโรหิตทำงานของมหาปุโรหิต และอื่นๆ เพื่อผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทั้งหมดจะขยายการเรียกของตนเองและเก็บเกี่ยวพรอันอุดมที่สัญญาไว้จากการปฏิบัติเช่นนั้น8

เราเป็นทูตของพระเจ้า พระเยซูคริสต์ หน้าที่เราคือเป็นตัวแทนของพระองค์ เราได้รับบัญชาให้สั่งสอนพระกิตติคุณ ปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอด เป็นพรแก่มนุษยชาติ รักษาคนป่วย และบางครั้งทำปาฏิหาริย์ ทำสิ่งที่พระองค์จะทรงทำหากพระองค์ประทับอยู่ที่นี่—และทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราดำรงฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์

ในฐานะตัวแทนพระเจ้า เราถูกผูกมัดโดยกฎของพระองค์ ให้ทำสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการให้เราทำโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกส่วนตัวหรือสิ่งล่อใจทางโลก โดยตัวเราเองแล้ว เราไม่มีข่าวสารแห่งความรอด ไม่มีหลักคำสอนที่ต้องยอมรับ ไม่มีอำนาจให้บัพติศมาหรือแต่งตั้งหรือแต่งงานเพื่อนิรันดร สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้มาจากพระเจ้า และทุกสิ่งใดที่เราทำเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้คือผลของสิทธิอำนาจที่มอบหมายแล้ว9

3

สัญญาแห่งความสูงส่งมอบให้ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ผู้แน่วแน่ต่อคำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต

บัดนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวสักเล็กน้อยเกี่ยวกับคำปฏิญาณซึ่งมาพร้อมกับการรับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

การกล่าวคำปฏิญาณเป็นรูปแบบถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ที่สุดและผูกมัดในภาษามนุษย์ รูปแบบภาษานี้เองที่พระบิดาทรงเลือกใช้ในการพยากรณ์เกี่ยวกับพระคริสต์ในฐานะพระเมสสิยาห์ผู้ยิ่งใหญ่และฐานะปุโรหิต ข้อความที่กล่าวถึงพระองค์อ่านว่า “[พระเจ้า] ทรงปฏิญาณแล้ว และจะไม่เปลี่ยนพระทัยของพระองค์ เจ้าเป็นปุโรหิตเป็นนิตย์ตามอย่างเมลคีเซเดค”(สดุดี 110:4)

ในคำอธิบายการพยากรณ์ความเป็นพระเมสสิยาห์นี้ เปาโลกล่าวว่าพระเยซูทรงมี “ฐานะปุโรหิตตลอดกาล” และโดยฐานะนี้นำมาซึ่ง “ชีวิตอันไม่สามารถทำลายได้” (ดู ฮีบรู 7:24, 16) โจเซฟ สมิธกล่าวว่า “คนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตนี้จะเป็นเหมือนพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า โดยยังอยู่เป็นปุโรหิตสืบไป” นั่นคือ หากพวกเขาซื่อสัตย์และแน่วแน่ [ดู Joseph Smith Translation, ฮีบรู 7:3]

ฉะนั้น พระคริสต์จึงทรงเป็นต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับฐานะปุโรหิต ดังที่ทรงเป็นในเรื่องบัพติศมาและสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ ขณะที่พระบิดารับสั่งคำปฏิญญาณว่าพระบุตรของพระองค์จะทรงได้รับทุกสิ่งเป็นมรดกโดยผ่านฐานะปุโรหิต พระองค์ทรงปฏิญาณเช่นกันว่าเราทุกคนที่ขยายการเรียกในฐานะปุโรหิตเดียวกันนี้จะได้รับทุกสิ่งที่พระบิดาทรงมี

นี่คือสัญญาแห่งความสูงส่งที่มอบให้ชายทุกคนที่ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไข สัญญาที่มีเงื่อนไขตามการขยายการเรียกของเราในฐานะปุโรหิตและการดำเนินชีวิตตามพระคำทุกคำที่ออกจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า

เป็นความแจ้งชัดโดยสมบูรณ์ว่าไม่มีสัญญาใดที่มีหรือสามารถทำได้ล้ำเลิศกว่าสัญญาเหล่านั้นที่มาสู่เราเมื่อเรายอมรับสิทธิพิเศษและทำหน้าที่รับผิดชอบของการดำรงฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์และการเป็นผู้ปฏิบัติศาสนกิจของพระคริสต์

ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนเป็นฐานะปุโรหิตขั้นเตรียมเพื่อทำให้เรามีคุณสมบัติพร้อมทำพันธสัญญาและรับคำปฏิญาณที่จะเข้าร่วมฐานะปุโรหิตระดับสูงกว่านี้10

4

พรของพระเจ้าประทานแก่คนทั้งปวงโดยผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้สำคัญต่อเราแต่ละคนเท่ากับการให้เรื่องอาณาจักรพระผู้เป็นเจ้ามาก่อนในชีวิตเรา การรักษาพระบัญญัติ การขยายการเรียกของเราในฐานะปุโรหิต การไปพระนิเวศน์ของพระเจ้าและรับความบริบูรณ์ของพรแห่งอาณาจักรพระบิดาของเรา11

ภาพ
Two Fijian men administering to a young girl lying in a bed.

“ฐานะปุโรหิต … คือพลังอำนาจและสิทธิอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่มอบให้มนุษย์บนแผ่นดินโลกในการกระทำสิ่งทั้งปวงเพื่อความรอดของมนุษยชาติ”

พรของพระเจ้ามีให้วิสุทธิชนและชาวโลกโดยผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ผู้เป็นตัวแทนพระองค์ ผู้ที่ตามข้อเท็จจริงคือผู้รับใช้และตัวแทนพระองค์ ซึ่งเต็มใจรับใช้และรักษาบัญญัติของพระองค์

บัดนี้ คำวิงวอนของข้าพเจ้าต่อพี่น้องชายทั้งหลายของฐานะปุโรหิตคือ ให้พวกเขาใช้สิทธิอำนาจที่ได้รับเป็นพรแก่ตนเองเป็นอันดับแรก จากนั้นให้เป็นพรแก่มิตรสหาย—โดยกระทำให้สอดคล้องกับระเบียบที่ศาสนจักรสถาปนาไว้เสมอ12

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่า ขอให้เราทุกคนที่ได้รับเรียกเป็นตัวแทนพระเจ้าและดำรงสิทธิอำนาจของพระองค์พึงระลึกว่าเราเป็นใครและประพฤติตนตามนั้น

… ข้าพเจ้าหมายมั่นตลอดวันเวลาของข้าพเจ้าที่จะขยายการเรียกในฐานะปุโรหิต ข้าพเจ้าหวังว่าจะอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในชีวิตนี้และมีความสุขกับการผูกมิตรของวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ในชีวิตที่จะมาถึง13

ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้พรคนเหล่านั้น ทั้งวัยหนุ่มและสูงวัย ผู้กำลังขยายการเรียกของพวกเขาในฐานะปุโรหิต ขอพระเจ้าทรงหลั่งรินสิ่งดีงามของพระวิญญาณในชีวิตนี้มาให้พวกเขาและทำให้พวกเขามั่นใจถึงความบริบูรณ์ของนิรันดรในชีวิตที่จะมาถึง …

นับเป็นสิ่งประเสริฐที่ได้ทราบว่าพระเจ้าประทานความสมบูรณ์ของฐานะปุโรหิตแก่เราทุกคน และทรงสัญญากับเราว่าหากเราจะรับฐานะปุโรหิตนี้และขยายการเรียกของเรา เราจะได้รับมรดกอันเป็นนิจร่วมกับพระองค์ในอาณาจักรของพระองค์!14

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ประธานสมิธสอนว่าโดยผ่านฐานะปุโรหิต “พระเจ้าทรงมอบของประทานฝ่ายวิญญาณและพรที่มาจากบุตรทั้งหลายของพระองค์ให้แก่ธิดาของพระองค์” (“จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ”) ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรขณะไตร่ตรองข้อความนี้

  • ประธานสมิธกล่าวว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะพากเพียรเพื่อชีวิตนิรันดร์เมื่อพวกเขาเข้าใจพันธสัญญาของตนเองและสัญญาของพระเจ้า (ดู หัวข้อที่ 1) คำกล่าวนี้เป็นจริงอย่างไรสำหรับสมาชิกทุกคนของศาสนจักร

  • คำอธิบายของประธานสมิธเรื่องการขยายการเรียก (ดูหัวข้อ 2) แตกต่างจากการใช้คำว่าขยายในด้านอื่นอย่างไร ท่านได้รับพรโดยผ่านการรับใช้ของสมาชิกศาสนจักรที่ขยายการเรียกของพวกเขาอย่างไร

  • ประธานสมิธสอนว่า “พระคริสต์ทรงเป็นต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับฐานะปุโรหิต” (ดู หัวข้อที่ 3) เราทำอะไรได้บ้างเพื่อทำตามแบบอย่างพระเยซูคริสต์ในการรับใช้ผู้อื่น

  • ในหัวข้อที่ 4 ให้ทบทวนถ้อยคำของประธานสมิธเกี่ยวกับพรที่มอบให้ในพระวิหาร บิดามารดาจะช่วยบุตรธิดาเตรียมตัวรับพรของฐานะปุโรหิตในพระวิหารได้อย่างไรบ้าง

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

ฮีบรู 5:4; แอลมา 13:1–2, 6; คพ. 20:38–60; 84:19–22; 107:99–100; หลักแห่งความเชื่อ 1:5

ความช่วยเหลือด้านการสอน

“ครูที่ชำนาญจะไม่คิดว่า ‘วันนี้ฉันจะทำอะไรดีในชั้นเรียน?’ แต่ถามว่า ‘วันนี้จะให้นักเรียนของฉันทำอะไรดี?’ ไม่ถามว่า “วันนี้ฉันจะสอนอะไรดี?’ แต่ถามว่า ‘ฉันจะช่วยให้นักเรียนค้นพบสิ่งที่เขาต้องการรู้ได้อย่างไร?’” (เวอร์จิเนีย เอช. เพียร์ซ, “The Ordinary Classroom—A Powerful Place for Steady and Continued Growth,” เลียโฮนา, ม.ค. 1992 หน้า 12; ดู ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999] หน้า 61 ด้วย)

อ้างอิง

  1. ใน Conference Report, เม.ย. 1951 หน้า 152

  2. ดู Conference Report, เม.ย. 1951 หน้า 152; Conference Report, ต.ค. 1970 หน้า 92

  3. “President George F. Richards: A Tribute,” Relief Society Magazine, Oct. 1950, 661

  4. ฟรานซิส เอ็ม. กิ๊บบอนส์, Joseph Fielding Smith: Gospel Scholar, Prophet of God (1992), 352

  5. ใน Conference Report, เม.ย. 1970 หน้า 59

  6. ใน Conference Report, ต.ค. 1970 หน้า 90–91

  7. ใน Conference Report, เม.ย. 1970 หน้า 59

  8. ใน Conference Report, ต.ค. 1970 หน้า 91–92; ดู โจเซฟ เอฟ. สมิธ, ใน Conference Report, ต.ค. 1903 หน้า 87 ด้วย

  9. “Our Responsibilities as Priesthood Holders,” Ensign, มิ.ย. 1971 หน้า 49

  10. ใน Conference Report, ต.ค. 1970 หน้า 92

  11. ใน Conference Report, เม.ย. 1970 หน้า 59

  12. “Blessings of the Priesthood,” Ensign, ธ.ค. 1971 หน้า 98

  13. ใน Conference Report, ต.ค. 1970 หน้า 92

  14. ใน Conference Report, เม.ย. 1970 หน้า 58