คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 25: การประสูติของพระเยซูคริสต์: ‘ข่าวประเสริฐแห่งปีติอันใหญ่หลวง’


บทที่ 25

การประสูติของพระเยซูคริสต์: “ข่าวประเสริฐแห่งปีติอันใหญ่หลวง”

“เหตุใดเรื่องราวอัศจรรย์นี้จึงสำคัญ เราให้เรื่องราวนี้ซึมซาบและมีอิทธิพลต่อชีวิตเราไหม เรายอมรับความหมายที่แท้จริงโดยไม่มีข้อแม้หรือไม่”

จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสปี 1971 นักข่าวหนังสือพิมพ์มีโอกาสพบปะสนทนากับประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธและสมาชิกครอบครัวของท่าน นักข่าวแบ่งปันข้อสังเกตในชีวิตศาสดาพยากรณ์ดังนี้

“คริสต์มาสคือช่วงเวลาพิเศษสำหรับประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ เป็นวันสำหรับครอบครัวและวันแห่งความทรงจำ แต่ที่สำคัญที่สุดสำหรับประธานสมิธ คริสต์มาสคือวันสำหรับเด็กๆ

“‘ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าชื่นชอบที่สุดเกี่ยวกับคริสต์มาสคือเด็กๆ’ ประธานสมิธกล่าว ขณะโอบเด็กหญิงซึ่งเป็นเหลนของท่านเข้ามาใกล้

“มีหนังสือภาพพระคัมภีร์ไบเบิลเล่มใหญ่วางที่ตักของท่าน ประธานสมิธกับเหลนอีกสองคน แชนนา แมคคองกี วัย 4 ขวบ และเชอร์รี วัย 2 ขวบ เปิดหน้าที่เล่าถึงการประสูติพระกุมารพระคริสต์ พวกเธอจดจ่อเป็นเวลานานตรงหน้าที่มีภาพฉากในรางหญ้า มีความสนิทสนมเกิดขึ้นระหว่างประธานสมิธกับเด็กหญิงทั้งสอง …

“ประธานสมิธมีความสุขกับผู้มาเยี่ยมครอบครัวหลายคนในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ‘คริสต์มาสเป็นเวลาสำหรับครอบครัวที่จะอยู่ด้วยกัน’ ท่านกล่าว”1

สำหรับประธานสมิธ ประเพณีคริสต์มาสมุ่งเน้นไปที่การประสูติ การปฏิบัติศาสนกิจ และการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ในการตอบรับคำอวยพรคริสต์มาสที่ท่านได้รับจากสมาชิกศาสนจักร ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าซาบซึ้งกับความมีน้ำใจของผู้ที่ส่งบัตรอวยพรคริสต์มาสมาให้ ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการแสดงความรักและเครื่องเตือนใจถึงการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด ผู้ที่เราถวายเกียรติและนมัสการในฐานะประมุขของศาสนจักร ข่าวสารของพระองค์เป็นข่าวสารแห่งสันติสุขและไมตรีจิต นี่คือความปรารถนาที่ข้าพเจ้ามีต่อเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้าในทุกหนแห่ง”2

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1970 ประธานสมิธจัดพิมพ์ข่าวสารคริสต์มาสสำหรับสมาชิกศาสนจักรทั่วโลก ในข่าวสารนั้นท่านกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าขออวยพรท่านทั้งหลายเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสนี้ ด้วยความรักและมิตรไมตรี พร้อมกับสวดอ้อนวอนว่าพระบิดานิรันดร์จะทอดพระเนตรท่านทั้งหลายด้วยพระเมตตาและทรงหลั่งรินพรมากมายเหลือคณามาให้ท่าน

“ในเวลานี้เมื่อความชั่วช้าสามานย์มีอยู่ดาษดื่น เมื่อมีความยากลำบากใหญ่หลวงบนแผ่นดินโลก เมื่อมีสงครามและข่าวลือเรื่องสงคราม เราทุกคนล้วนต้องการการนำทางและการปกปักรักษาจากพระเจ้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“เราต้องทราบว่าแม้ความทุกข์ยากและความเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับเรา พระเจ้าจะยังทรงปกครองกิจจานุกิจของแผ่นดินโลกและหากเรารักษาพระบัญญัติ แน่วแน่และซื่อสัตย์ต่อกฎของพระองค์ พระองค์จะประทานพรเราที่นี่และเดี๋ยวนี้ และประทานชีวิตนิรันดร์ในอาณาจักรของพระองค์เป็นรางวัลแก่เราในเวลาที่กำหนด …

“… บัดนี้ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสนี้ และตลอดเวลา ขอให้เรามีพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นศูนย์รวมศรัทธาและได้รับสันติสุขซึ่งอยู่เหนือความเข้าใจนั้นด้วยตนเอง” 3

ภาพ
rane/lamb of god, 1/5/04, 4:51 PM, 8C, 7653x10653 (339+483), 150%, paintings, 1/12 s, R74.8, G64.7, B79.0

เรื่องราวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด “ไม่ว่าจะเล่าบ่อยเพียงใดเรื่องนี้ก็ไม่เคยล้าสมัยเลย”

คำสอนของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

1

เรื่องราวการประสูติของพระผู้ไถ่ของเราเป็นที่น่าจับใจในความเรียบง่ายอันต่ำต้อย

ไม่มีเรื่องใดงดงามหรือสามารถปลุกจิตวิญญาณให้รู้สึกนอบน้อมได้อย่างลึกซึ้งมากเท่ากับเรื่องราวอันล้ำเลิศของการประสูติพระผู้ไถ่ของเรา ไม่มีคำใดที่มนุษย์จะเอื้อนเอ่ยแล้วสามารถกล่อมเกลา ปรับปรุง หรือเสริมแต่งให้แก่ความจับใจในความเรียบง่ายอันต่ำต้อยของเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าจะเล่าบ่อยเพียงใดเรื่องนี้ก็ไม่เคยล้าสมัย และเรื่องราวนี้ก็ไม่ได้นำมาเล่าขานกันบ่อยนักในบ้านคนทั่วไป ขอให้เราลองจินตนาการว่าเราออกไปกับคนเลี้ยงแกะ ผู้กำลังเฝ้าฝูงแกะในคืนที่น่าจดจำนั้น คนเหล่านี้คือชายที่อ่อนน้อมถ่อมตนผู้ไม่เคยสูญเสียศรัทธาของบรรพบุรุษ ผู้ที่ไม่ทำใจแข็งกระด้างดังใจของผู้ปกครองชาวยิวในสมัยการปฏิบัติศาสนกิจของพระเจ้า เพราะหากพวกเขาเป็นเช่นนั้น เทพจะไม่มาปรากฏต่อพวกเขาพร้อมข่าวสารอันประเสริฐ ขอให้เราอ่านเรื่องราวน่าอัศจรรย์นี้ซ้ำอีกครั้ง

“ในแถบนั้นมีพวกคนเลี้ยงแกะอยู่กลางทุ่งกำลังเฝ้าฝูงแกะของเขาในเวลากลางคืน

“มีทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปรากฏแก่พวกเขา และพระรัศมีขององค์พระผู้เป็นเจ้าส่องล้อมรอบเขา และเขากลัวนัก

“ทูตสวรรค์องค์นั้นกล่าวกับเขาทั้งหลายว่า อย่างกลัวเลย เพราะเรานำข่าวดีมายังพวกท่าน เป็นความยินดีอย่างยิ่งที่จะมาถึงคนทั้งหลาย

“เพราะว่าในวันนี้พระผู้ช่วยให้รอดของพวกท่าน คือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้ามาประสูติที่เมืองของดาวิด

“นี่จะเป็นหมายสำคัญสำหรับพวกท่าน คือท่านจะพบพระกุมารนั้นพันผ้าอ้อมนอนอยู่ในรางหญ้า”

“ในทันใดนั้น ชาวสวรรค์หมู่หนึ่งมาปรากฏอยู่กับทูตสวรรค์องค์นั้นร่วมสรรเสริญพระเจ้าว่า

“พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด ส่วนบนแผ่นดินโลก สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลายที่พระองค์โปรดปรานนั้น

“เมื่อทูตสวรรค์เหล่านั้นไปจากพวกเขาขึ้นสู่สวรรค์แล้ว บรรดาคนเลี้ยงแกะก็พูดกันว่า ให้เราไปยังเมืองเบธเลเฮมดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแจ้งกับเรา

“เขาก็รีบไปแล้วพบนางมารีย์กับโยเซฟ และพบพระกุมารนั้นนอนอยู่ในรางหญ้า” [ลูกา 2:8–16]

จิตวิญญาณใดก็ตามอ่านเรื่องนี้แล้วจะไม่สัมผัสถึงวิญญาณแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนและประทับใจกับความจริงอันเรียบง่ายของเรื่องนี้หรือ4

2

ถึงแม้พระเยซูคริสต์คือพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า แต่พระองค์เสด็จมายังโลกนี้ในฐานะพระกุมารและดำเนินต่อไปจากพระคุณสู่พระคุณจนพระองค์ได้รับความสมบูรณ์

ข้าพเจ้าคิดว่าเราทุกคนเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่าพระเยซูคริสต์คือพระเยโฮวาห์ ผู้ทรงนำอิสราเอลในสมัยของอับราฮัมกับโมเสส อันที่จริงนับจากสมัยของอาดัม อีกทั้งพระเยโฮวาห์องค์นั้นหรือพระเยซูคริสต์ ทรงปรากฏต่อพี่ชายของเจเร็ดเป็นพระอติรูปของวิญญาณ พระองค์ประสูติเป็นพระกุมารในโลกนี้และทรงเจริญวัยสู่ความเป็นมหาบุรุษในโลกนี้5

ภาพ
Jesus Christ at age twelve in the temple at Jerusalem during the Feast of the Passover. A group of learned Jewish doctors are gathered around Christ. The doctors are expressing astonishment at the wisdom and understanding of the young Christ. (Luke 2:41-50)

ในวัยเยาว์ของพระเยซู พระองค์ทรงได้รับความรู้ “บรรทัดมาเติมบรรทัดและกฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์”

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าก่อนการประสูติมาในโลกนี้ เมื่อพระองค์เสด็จมาที่นี่ทรงนำเอาสถานะเดียวกันนี้มากับพระองค์ด้วย พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้เมื่อพระองค์ประสูติมาในโลก แต่ปรากฏว่าในพระชนม์ชีพนี้ พระองค์ต้องทรงเริ่มต้นเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ทำและได้รับความรู้เป็นบรรทัดมาเติมบรรทัด ลูกากล่าวว่าพระองค์ “เจริญขึ้นในด้านสติปัญญาและด้านร่างกาย เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้าและต่อหน้าคนทั้งหลายด้วย” [ลูกา 2:52] ยอห์นบันทึกว่า “พระองค์หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก,” แต่ต้องดำเนินต่อไป “จากพระคุณสู่พระคุณ, จนพระองค์ได้รับความสมบูรณ์” [คพ. 93:13] …

เห็นได้ชัดว่า ก่อนมีพระชนมายุ 12 พรรษา—ในเวลานั้นทรงทำให้บรรดาอาจารย์และนักปราชญ์ในพระวิหารประหลาดใจ—พระองค์ทรงเรียนรู้งานมากมายเกี่ยวกับกิจธุระของพระบิดา [ดู ลูกา 2:46–49] ความรู้นี้มาสู่พระองค์ได้โดยการเปิดเผย การเยือนของเหล่าเทพ หรือในวิธีอื่นๆ แต่ความรู้ของพระองค์ในพระชนม์ชีพนี้ ต้องมาเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัดและกฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์ ไม่น่าสงสัยเลยว่าพระองค์ทรงติดต่อกับพระบิดาบนสวรรค์ของพระองค์เป็นครั้งคราว

… “พระเยซูทรงเจริญพระชนมายุพร้อมกับพี่น้องของพระองค์, และทรงเจริญด้วยความเข้มแข็งทางวิญญาณ, และทรงเฝ้ารอพระเจ้าเพื่อให้ถึงเวลาที่พระองค์จะทรงปฏิบัติศาสนกิจ. และพระองค์ทรงรับใช้โดยได้รับมอบสิทธิอำนาจจากพระบิดาของพระองค์, และพระองค์หาได้รับสั่งดังมนุษย์คนอื่นๆ ไม่, ทั้งพระองค์ไม่อาจรับการสอนได้; เพราะพระองค์หาจำเป็นไม่ที่จะให้มนุษย์คนใดสอนพระองค์. และหลังจากหลายปีผ่านไป, โมงแห่งศาสนกิจของพระองค์ก็มาถึง.” [งานแปลพระคัมภีร์ไบเบิลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 3:24–26]

พระดำรัสของพระเจ้าที่พระองค์ไม่อาจทำสิ่งใดได้นอกจากสิ่งที่ทอดพระเนตรเห็นพระบิดาทรงทำ มีความหมายเรียบง่ายว่าสิ่งที่พระบิดาทรงทำมาแล้วจึงได้รับการเปิดเผยต่อพระองค์ [ดู ยอห์น 5:19–20] เห็นได้ชัดว่าพระเยซูเสด็จมาในโลกโดยสภาพการณ์เดียวกันกับที่เรียกร้องจากเราทุกคน—พระองค์ทรงลืมทุกสิ่ง และต้องทรงเจริญขึ้นจากพระคุณสู่พระคุณ การลืมของพระองค์ หรือการที่ความรู้ดั้งเดิมถูกนำไป เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกับกรณีของเราทุกคน เพื่อทำให้การดำรงอยู่ฝ่ายโลกในปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์

พระผู้ช่วยให้รอดมิได้ทรงรับความสมบูรณ์ตั้งแต่แรก แต่หลังจากทรงได้รับพระวรกายและการฟื้นคืนพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงรับอำนาจทั้งหมดทั้งในฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ถึงแม้พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า แม้พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าพร้อมด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจในการสร้างโลกนี้และโลกอื่นๆ ทว่ายังขาดบางสิ่งบางอย่างไป ซึ่งพระองค์ทรงมิได้รับจนหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือพระองค์ยังมิได้รับความสมบูรณ์จนกว่าจะได้รับพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์แล้วนั่นเอง6

3

พระเยซูคริสต์เสด็จมาในโลกเพื่อไถ่เราจากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณ

พระเยซูเสด็จมาที่นี่เพื่อทำให้พระพันธกิจที่กำหนดไว้มีสัมฤทธิผล พันธกิจนี้มอบหมายให้พระองค์ก่อนการวางรากฐานของแผ่นดินโลก ในพระคัมภีร์เล่าถึงพระองค์ว่าทรงเป็น “พระเมษโปดกผู้ถูกปลงพระชนม์ตั้งแต่แรกสร้างโลก” [วิวรณ์ 13:8] พระองค์ทรงอาสาเสด็จมาในความเรืองโรจน์แห่งเวลาเพื่อไถ่มนุษย์จากการตกซึ่งจะเกิดขึ้นกับพวกเขาโดยการล่วงละเมิดของอาดัม

… พระเยซูทรงเป็นพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดมาในโลกนี้โดยไม่มีบิดาทางโลก พระบิดาของพระวรกายพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณพระองค์เช่นกัน และทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณมนุษย์ทั้งปวง พระองค์ทรงได้รับชีวิตนิรันดร์จากพระบิดาและทรงได้รับอำนาจที่จะสิ้นพระชนม์จากพระมารดาของพระองค์ เพราะพระมารดาของพระองค์เป็นมนุษย์ พระองค์ทรงรับพระโลหิตจากพระมารดาและทรงรับความเป็นอมตะจากพระบิดาของพระองค์ ดังนั้น โดยที่ทรงมีอำนาจที่จะพลีพระชนม์ชีพและนำกลับมาอีกครั้ง พระองค์จึงทรงจ่ายราคาแห่งการล่วงละเมิดของอาดัมและทรงไถ่ชาวโลกทั้งปวงจากหลุมฝังศพได้7

เหตุผลที่แท้จริงของการเสด็จมาในโลกของพระเยซูคริสต์ … คือ หนึ่งเพื่อไถ่มนุษย์ทั้งปวงจากความตายทางร่างกายหรือความตายทางมรรตัย ซึ่งอาดัมนำเข้ามาในโลก และสอง เพื่อไถ่มนุษย์ทั้งปวงจากความตายทางวิญญาณหรือการเนรเทศจากที่ประทับของพระเจ้าตามเงื่อนไขของการกลับใจ การปลดบาป และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่จากการทดสอบทางมรรตัยของพวกเขา8

เราชื่นชมยินดีในการประสูติของพระบุตรพระผู้เป็นเจ้าท่ามกลางมนุษย์

เราสำนึกในพระกรุณาธิคุณสำหรับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ที่พระองค์ทรงทำโดยการหลั่งพระโลหิตของพระองค์เอง

เราน้อมขอบพระทัยที่พระองค์ทรงไถ่เราจากความตายและทรงเปิดประตูเพื่อที่เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์

เราสวดอ้อนวอนทูลขอสันติสุขบนแผ่นดินโลก เพื่อให้พระกิตติคุณแผ่ขยาย และเพื่อชัยชนะสุดท้ายของความจริง

เราวิงวอนบุตรธิดาของพระบิดาในทุกหนแห่งให้ทำสิ่งเหล่านั้นร่วมกับเรา ซึ่งจะทำให้เราทั้งหลายได้รับสันติสุขในโลกนี้และรัศมีภาพนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง [ดู คพ. 59:23]9

4

เราควรให้เรื่องราวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดซึมซาบและมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา

เมื่อ [เช้าวันคริสต์มาส] มาถึง บางคนจะค้อมศีรษะวิงวอนด้วยความนอบน้อมต่อพระบิดาแห่งบรรดาดวงสว่างสำหรับพรที่พวกเขาได้รับโดยผ่านความทุกขเวทนาของพระบุตรที่รักของพระองค์ และจะอ่านเรื่องราวอันน่าพิศวงนี้ด้วยคำสรรเสริญอันซาบซึ้งใจ น่าเสียดาย คนอื่นๆ ที่ทราบเล็กน้อย หรือไม่ทราบอะไรเลย ถึงหนี้ที่เราติดค้างพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าไว้ จะเฉลิมฉลอง มิใช่ด้วยการสรรเสริญและการสวดอ้อนวอนที่นอบน้อม แต่ด้วยความเมามายอันเป็นการสบประมาท โดยไม่คิดแม้แต่น้อยถึงความสำคัญในการประสูติมาของมหาบุรุษแห่งกาลิลี …

เป็นไปได้อย่างไรที่ใครก็ตามเมื่ออ่านเรื่องราวน่าประทับใจของการประสูติของพระเยซูคริสต์แล้วไม่ปรารถนาที่จะละทิ้งบาป ในเทศกาลนี้ของปีเป็นเรื่องดีสำหรับทุกคน—กษัตริย์ในพระราชวัง หากมีกษัตริย์อยู่ในพระราชวังเวลานี้ ชาวนาในกระท่อมอันต่ำต้อย คนมั่งมีและคนจนก็เช่นกัน—จะคุกเข่าลงและน้อมถวายเกียรติแด่พระองค์ ผู้ทรงปราศจากบาป ผู้ที่พระชนม์ชีพถูกนำมาใช้ในการพลีบูชาและความโทมนัสเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ของพระองค์ ผู้ที่ทรงหลั่งพระโลหิตของพระองค์เป็นเครื่องบูชาบาป …

… เหตุใดเรื่องราวน่าอัศจรรย์นี้จึงสำคัญ เราให้เรื่องนี้ซึมซาบและมีอิทธิพลต่อชีวิตเราหรือไม่ เรายอมรับความหมายที่แท้จริงโดยไม่มีข้อแม้หรือไม่ เราเชื่อว่าพระกุมารองค์นี้แท้ที่จริงคือพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้าในเนื้อหนังหรือไม่ เรามีศรัทธามั่นคงในพระพันธกิจของพระองค์และเต็มใจที่จะทำตามพระองค์อย่างเชื่อฟังหรือไม่ หากโลกเชื่อและเอาใจใส่คำสอนของพระองค์ด้วยใจจริงเช่นนี้ ก็จะไม่ถูกความขัดแย้งและความชั่วร้ายทำลายลงตลอดทุกยุคสมัย … มีการรับใช้ด้วยริมฝีปากมากเกินไปในบรรดาพวกที่คิดว่าตนคือผู้ติดตามพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและน้อยเกินไปสำหรับการนมัสการที่แท้จริงอันมีพื้นฐานบนความสุจริตในคำสอนของพระองค์

เทพประกาศแก่คนเลี้ยงแกะในคืนอันรุ่งโรจน์คืนนั้นว่าท่านนำข่าวประเสริฐแห่งความปรีดียิ่งมาให้ทุกคน [ดู ลูกา 2:8–10] แต่โดยทั่วไป ผู้คนทุกหนแห่งบนพื้นพิภพปฏิเสธที่จะรับพรจากข่าวประเสริฐนั้น พวกเขาไม่เต็มใจละทิ้งบาป อ่อนน้อมถ่อมตน และดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับคำสอนของพระอาจารย์ …

ข้าพเจ้าวิงวอนมนุษย์ทั้งปวงในทุกหนแห่งอีกครั้งว่า จงหันไปจากทางที่ชั่วร้ายของท่านมาสู่การนมัสการพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง เพื่อจิตวิญญาณท่านจะได้รับการช่วยให้รอดในอาณาจักรของพระองค์10

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ท่านทำอะไรที่บ้านท่านเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดเนื่องในคริสต์มาส เราเรียนรู้อะไรบ้างจากประเพณีคริสต์มาสของประธานสมิธ (ดู “จากชีวิตของโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ”)

  • ท่านคิดว่าเพราะเหตุใดเรื่องราวการประสูติของพระเยซูคริสต์จึง “ไม่เคยล้าสมัยเลย” (ดูหัวข้อที่ 1)

  • ทบทวนคำพูดของประธานสมิธเกี่ยวกับการที่พระเยซูคริสต์เสด็จมายังโลกในฐานะพระกุมารและความอดทนต่อความยากลำบากของความเป็นมรรตัย (ดู หัวข้อที่ 2) ท่านคิดและรู้สึกอย่างไรขณะไตร่ตรองถึงความเต็มพระทัยที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำสิ่งนี้

  • ไตร่ตรองความเชื่อมโยงระหว่างการประสูติกับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู หัวข้อที่ 3) บิดามารดาสามารถช่วยให้บุตรธิดามีความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างไร ความเข้าใจนี้ส่งผลต่อประเพณีคริสต์มาสของเราอย่างไรบ้าง

  • เราทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เรื่องเราวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด “ซึมซาบและมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา” (ดู หัวข้อที่ 4)

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

อิสยาห์ 53; ลูกา 1:26–35; 2; 1 นีไฟ 11:8–23

ความช่วยเหลือด้านการสอน

การอภิปรายในกลุ่มเล็กๆ “ให้โอกาสคนจำนวนมากได้มีส่วนร่วมในบทเรียน บุคคลที่ไม่ค่อยกล้ามีส่วนร่วมอาจแบ่งปันแนวคิดในกลุ่มเล็กซึ่งเขาไม่ต้องแสดงออกต่อหน้ากลุ่มใหญ่” (ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน [1999] หน้า 161)

อ้างอิง

  1. “A Big Christmas Hug from Pres. Smith,” Church News, 25 ธ.ค. 1971 หน้า 3

  2. “A Big Christmas Hug from Pres. Smith,” 3

  3. “Christmas Greetings from President Joseph Fielding Smith to the Members of the Church throughout the World,” Church News, 19 ธ.ค. 1970 หน้า 3

  4. The Restoration of All Things (1945), 279–280

  5. จดหมายส่วนตัว, อ้างอิงใน Doctrines of Salvation, เรียบเรียงโดย บรูซ อาร์. แมคคองกี, ฉบับที่ 3 (1954–1956), 1:11

  6. จดหมายส่วนตัว, อ้างอิงใน Doctrines of Salvation, 1:32–33

  7. Answers to Gospel Questions, รวบรวมโดย โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์, ฉบับที่ 5 (1957–1966), 2:134, 136

  8. “The Resurrection,” Improvement Era, ธ.ค. 1942, 780–781; ดู Doctrines of Salvation, 2:259 ด้วย

  9. “Christmas Greetings,” 3

  10. The Restoration of All Things, 278–279, 281–282, 286; ปรับเครื่องหมายวรรคตอนให้ตรงตามมาตรฐานปัจจุบัน