2018
ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสอนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
February 2018


การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสอนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ภาพ
Jesus teaching

ภาพวาดโดย จัสติน คุนซ์

ขณะข้าพเจ้ารับใช้เป็นประธานคณะเผยแผ่ในโทรอนโต แคนาดา ผู้ช่วยคนหนึ่งของข้าพเจ้าเดินเข้ามาหาและพูดว่า “ประธานครับ ผมจะเป็นผู้สอนศาสนาที่ดีขึ้นได้อย่างไร” คำตอบแรกของข้าพเจ้าคือ “คุณทำดีอยู่แล้ว” และความจริงเขาเป็นอย่างนั้น แต่เขายังคงถามคำถามเดิม ข้าพเจ้าจึงคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วให้ข้อเสนอแนะอย่างหนึ่ง เขาตอบรับด้วยรอยยิ้ม

ข้าพเจ้าแบ่งปันประสบการณ์ที่เรียบง่ายนี้กับผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ ของเรา ไม่นานเอ็ลเดอร์และซิสเตอร์คนอื่นๆ จึงมารับการสัมภาษณ์และถามว่า “ประธานครับ (คะ) ผม (ดิฉัน) จะเป็นผู้สอนศาสนาที่ดีขึ้นได้อย่างไร” คำถามที่เรียบง่ายนั้นจากผู้สอนศาสนาคนหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาจะปรับปรุงให้ดีขึ้นทั่วทั้งคณะเผยแผ่ของเรา

ในทำนองเดียวกัน หากครูจะถามคำถามที่เรียบง่ายนี้อย่างจริงใจ พวกเขาจะได้รับคำแนะนำที่สร้างสรรค์จากพระเจ้าและผู้นำของพวกเขา “ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสอนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น” พระเจ้าทรงสัญญาว่า “เจ้าจงอ่อนน้อมถ่อมตน; และพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของเจ้าจะทรงจูงมือนำเจ้าไป, และให้คำตอบคำสวดอ้อนวอนของเจ้าแก่เจ้า” (คพ. 112:10)

จริงจัง

เคยมีคนถามเจ. บี. พรีสต์ลีย์นักประพันธ์ชาวอังกฤษว่าเขากลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จเช่นนั้นได้อย่างไรเพราะในกลุ่มเพื่อนที่มีพรสวรรค์ของเขาไม่มีใครเก่งเท่าเขา เขาตอบว่า “ความต่างระหว่างเราไม่ได้อยู่ในความสามารถ แต่อยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่าขณะ … พวกเขา … ได้แต่ล้อเล่นกับความคิดที่น่าหลงใหลของ [การเขียน] แต่ผมกลับจริงจัง!”1

ในฐานะครู เราอาจจะถามว่า “เราพอใจกับความสามารถในการสอนที่เรามีอยู่เวลานี้หรือไม่ หรือเราจริงจังกับการสอนให้เหมือนพระผู้ช่วยให้รอดหรือไม่” หากเป็นเช่นนั้น เราเต็มใจทิ้งความจองหองทั้งหมดและไม่เพียงรอคำแนะนำเท่านั้นแต่แสวงหาอย่างกระตือรือร้นหรือไม่

ความอ่อนน้อมถ่อมตนคือกุญแจ

เรามีครูเก่งๆ หลายคนในศาสนจักรนี้ แต่ความจริงคือ ไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์กี่ปี หรือเรามีปริญญากี่ใบ หรือสมาชิกชั้นเรียนรักเราแค่ไหน เราทุกคนสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้และเป็นเหมือนองค์ปรมาจารย์ของเรามากขึ้นได้หากเราอ่อนน้อมถ่อมตน บางทีคุณสมบัติเด่นชัดของครูที่เหมือนพระคริสต์คือการเป็นคนที่รับการสอนได้ ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคุณสมบัติที่อัญเชิญพระวิญญาณทั้งยังบ่มเพาะความปรารถนาจะปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย

ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าพบประธานโรงเรียนวันอาทิตย์ที่ผิดหวังเพราะครูมากกว่าหนึ่งคนในวอร์ดหรือสาขาของพวกเขารู้สึกว่าตนมีประสบการณ์หรือประสบความสำเร็จมากจนไม่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมหรือไม่ต้องการเข้าร่วมการประชุมสภาครู นี่ทำให้ข้าพเจ้าเสียใจเพราะข้าพเจ้ายังไม่เคยพบครูที่ไม่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ในสักด้าน

ข้าพเจ้ารู้ว่าถ้าแม้แต่ครูที่มีประสบการณ์มากที่สุดจะมาการประชุมสภาครูด้วยใจอ่อนน้อมและปรารถนาจะเรียนรู้ ครูเช่นนั้น จะ ได้รับข้อคิดและการกระตุ้นเตือนจากเบื้องบนว่าเขาจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร ข้าพเจ้าเคยเข้าร่วมการประชุมสภาครูหลายสิบครั้งและมักจะออกมาพร้อมข้อคิดใหม่ๆ บางอย่าง หรือความปรารถนาจะปรับปรุงทักษะหรือคุณลักษณะที่จำเป็นต้องขัดเกลาและทำให้สมบูรณ์

เราจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการสอน

บางครั้งบางคนอาจจะคิดว่าทักษะหรือเทคนิคการสอนเป็นเพียงเครื่องมือทางโลกที่ไม่มีชีวิตจิตใจ แต่เมื่อพัฒนา ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้พระวิญญาณเลือกจากหลายๆ ตัวเลือกที่สามารถตอบรับความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนได้ดีที่สุด ใครมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน คนที่พยายามโค่นต้นไม้ด้วยมีดพกหรือคนที่ใช้เลื่อยตัดไม้ ทั้งสองกรณี ชายสองคนมีพละกำลังและอุปนิสัยเหมือนกัน แต่คนหลังมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะเขามีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ทักษะการสอนเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ในพระหัตถ์ของพระวิญญาณ

การอบรมและการฝึกฝน การแสดงบทบาทสมมติ การศึกษา และการสังเกตจะช่วยให้ครูทุกระดับพัฒนาทักษะที่พระวิญญาณทรงสามารถดึงมาใช้ได้—ช่วยให้เราสอนเหมือนพระอาจารย์มากขึ้น ทักษะมากมายเหล่านี้พัฒนาได้ในการประชุมสภาครู

ภาพ
young woman standing in front of class

พระเจ้าจะทรงหลอมและปั้นเราได้

บางคนอาจรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถสอนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด—การพยายามทำเช่นนั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของพวกเขา เปโตรอาจจะเคยคิดว่าเขาไม่ได้เป็นมากกว่าคนหาปลาธรรมดา มัทธิวเป็นเพียงคนเก็บภาษีที่ถูกดูหมิ่น ทว่าด้วยความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอด ทั้งสองคนกลายเป็นผู้นำและครูสอนพระกิตติคุณที่มีประสิทธิภาพมาก

พระปรีชาสามารถของพระเจ้าในการหล่อหลอมและปั้นแต่งเราจึงเหมือนกับประสบการณ์ของมีเกลันเจโลในการรังสรรค์ประติมากรรมที่หลายๆ คนถือว่าเป็นงานที่ดีที่สุดที่ทำขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ นั่นคือ ดาวิด

ก่อนมีเกลันเจโลจะรับงานนี้ ประติมากรคนอื่นอีกสองคนคืออากอสติโนดิดุชชิโอกับอันโตนิโอ รอสเซลลิโน เคยรับจ้างทำงานประติมากรรมชิ้นนี้ให้เสร็จ ทั้งสองคนพบปัญหาเดียวกัน คือเสามีขนาด ส่วนสูงและความกว้างพอดี แต่หินอ่อนมีรอยร้าวอย่างมาก ดิดุชชิโอและต่อมาคือรอสเซลลิโนพยายามตกแต่งแก้ไขเสาต้นนี้ให้เป็นผลงานศิลปะ แต่ทำไม่สำเร็จ มีรอยตำหนิมากมายเหลือเกิน2 จนทั้งสองต้องยอมแพ้ มีเกลันเจโลเห็นความไม่สมประกอบเหล่านี้เหมือนกัน แต่เขามองไกลกว่านั้น เขาเห็นรูปทรงที่มีชีวิต มีลมหายใจ และน่าเกรงขามของดาวิดที่ทุกวันนี้มักจะทำให้ผู้ชมตะลึงงันเมื่อแรกเห็น

ในทำนองเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศว่าความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณของพระองค์จะ “ได้รับการประกาศโดยคนอ่อนแอและคนต่ำต้อยถึงสุดแดนแผ่นดินโลก” (คพ. 1:23) พระผู้เป็นเจ้าทรงมองเห็นความไม่สมประกอบและข้อบกพร่องของเรา แต่พระองค์ทรงมองไกลกว่านั้น พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถซึ่งไม่เพียงช่วยเราเอาชนะความอ่อนแอเท่านั้นแต่ทรงเปลี่ยนความอ่อนแอของเราเป็นความเข้มแข็งด้วย (ดู อีเธอร์ 12:26–27) พระองค์จะทรงขัดเกลาและทำให้ทักษะการสอนและคุณลักษณะของเราสมบูรณ์จนเราสามารถสอนได้เหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

วิธีที่เราจะสอนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดได้มากขึ้น

ต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญบางประการซึ่งเราทุกคนจะต้องขวนขวายให้ได้มาจึงจะสอนเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

  • สอนโดยพระวิญญาณ รู้ว่าพระวิญญาณคือผู้ประทานชีวิต ลมหายใจ และสาระแก่บทเรียนของเรา (ดู คพ. 43:15)

  • มุ่งเน้นหลักคำสอน รับรู้ว่าหลักคำสอนตามที่สอนในพระคัมภีร์และโดยศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตมีพลังเปลี่ยนชีวิตอยู่ในตัว (ดู แอลมา 31:5)

  • เป็นผู้ใฝ่ใจศึกษาหาความรู้ รู้ว่าครูในอุดมคติเป็นผู้เรียนในอุดมคติเช่นกัน (ดู คพ. 88:118)

  • แสวงหาการเปิดเผย รู้ว่าการเรียกให้สอนมาพร้อมสิทธิ์ที่จะได้รับการเปิดเผยเพื่อขยายการเรียกของคนๆ นั้น (ดู คพ. 42:61)

  • แสดงความรัก โดยรู้จักชื่อของสมาชิกชั้นเรียนแต่ละคน สวดอ้อนวอนให้เขาเป็นรายบุคคล เอาใจใส่แต่ละคน (โดยเฉพาะคนที่มีความต้องการพิเศษ) และยื่นมือช่วยเหลือคนที่ไม่เข้าชั้นเรียนในวิธีที่มีความหมายต่อพวกเขา (ดู โมโรไน 7:47–48)

การประเมินตนเอง

อัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำดังนี้ “พิจารณาตัวเองดูว่าท่านทั้งหลายดำรงอยู่ในความเชื่อหรือไม่ จงพิสูจน์ตัวเอง” (2 โครินธ์ 13:5) เราอาจถอดความให้ครูอ่านได้ว่า “จงพิจารณาตัวเองดูว่าท่านกำลังสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดหรือวิธีของท่าน” ต้นปีเป็นเวลาที่เหมาะจะทำการพิจารณาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื้อเชิญให้ท่านตอบคำถามประเมินตนเองที่มากับบทความนี้ ขณะประเมินตนเอง พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าท่านควรเน้นอะไรจึงจะเป็นครูเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ท่านจะได้รับและพัฒนาคุณลักษณะรวมทั้งทักษะที่จำเป็นต่อการทำเช่นนั้นได้อย่างไร

อ้างอิง

  1. J. B. Priestley, Rain Upon Godshill (1939), 176.

  2. ดู “Michelangelo’s David,” accademia.org/explore-museum/artworks/michelangelos-david.