2018
“แล้วพวกท่านว่าเราเป็นใคร?” พยานของเปโตรเกี่ยวกับพระคริสต์
February 2018


“แล้วพวกท่านว่าเราเป็นใคร?”

พยานของเปโตรเกี่ยวกับพระคริสต์

เมื่อเรารักและเข้าใจอัครสาวกเปโตร เราจะพร้อมและสามารถยอมรับพยานพิเศษของท่านเกี่ยวกับพระคริสต์ได้มากขึ้น

ภาพ
Jesus walking on water

พระผู้ช่วยให้รอดทรงพระดำเนินบนน้ำ โดยวอลเตอร์ เรน

อัครสาวกเปโตรเป็นที่รักของผู้เชื่อทั้งปวง—บางทีอาจเป็นเพราะว่าท่านจริงใจและเราเข้าถึงได้ง่าย เราสามารถเข้าใจความรู้สึกของท่านได้ เราชื่นชมความกล้าหาญของท่านเมื่อท่านละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง “ทันที” ละแหของท่านเมื่อพระอาจารย์ทรงส่งสัญญาณเรียกให้ “ตามเรามา และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคนดั่งหาปลา” (มัทธิว 4:18–20) เราเข้าใจความสับสนของท่านในเรื่องความหมายและข่าวสารของอุปมา (ดู มัทธิว 15:15–16) เรารู้สึกถึงความสิ้นหวังในคำร้องทูลของท่านว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ช่วยข้าพระองค์ด้วย” ขณะเท้าและศรัทธาของท่านสั่นคลอนบนผืนน้ำปั่นป่วนคืนนั้นของทะเลกาลิลี (มัทธิว 14:22–33) เราชื่นชมความเกรงขามของท่านเมื่อพระเยซูทรงจำแลงพระกาย (ดู มัทธิว 17:1–13) เราร้องไห้กับท่านเพราะความอับอายที่ท่านปฏิเสธพระเยซูสามครั้ง (ดู มัทธิว 26:69–75) เศร้าโศกกับท่านที่เกทเสมนี (ดู มัทธิว 26:36–46) ร่วมในปีติและความพิศวงของท่านที่อุโมงค์ว่างเปล่า (ดู ยอห์น 20:1–10)

บางทีผู้เขียนกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อาจต้องการให้เราเชื่อมความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับเปโตรก็เป็นได้ ในเรื่องราวของพวกท่าน ดูเหมือนพวกท่านจงใจเก็บรักษาประสบการณ์และการสนทนาของพระเยซูกับเปโตรไว้มากกว่าอัครสาวกสิบสองรุ่นแรกคนอื่นๆ1 พวกเราจำนวนมากสันนิษฐานว่ากิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ความสนใจเปโตรมากเพราะท่านเป็นกระบอกเสียงและเป็นหัวหน้าอัครสาวก แต่บางทีมัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์นอาจจะพูดถึงความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวของเปโตรกับพระคริสต์บ่อยมากเช่นกันเพราะพวกท่านหวังว่าเมื่อเรารักและเข้าใจเปโตร เราจะพร้อมและสามารถยอมรับพยานพิเศษของท่านเกี่ยวกับพระคริสต์ได้มากขึ้น—ประจักษ์พยานที่ดูเหมือนท่านจะเตรียมตัวแสดงมาเป็นอย่างดี

การเตรียมเปโตร

เมื่อเปโตรติดตามพระเยซูตลอดการปฏิบัติศาสนกิจขณะพระองค์ทรงเป็นมรรตัย พยานและประจักษ์พยานของอัครสาวกท่านนี้ที่ว่าพระอาจารย์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ดูเหมือนจะได้รับผ่านประสบการณ์ทางปัญญา ในเชิงปฏิบัติ และทางการเปิดเผยที่มอบให้ท่าน นั่นหมายความว่าประจักษ์พยานของท่านผ่านมาทางความคิด มือ และใจของท่านในวิธีเดียวกันกับที่เราได้รับประจักษ์พยานของเราในปัจจุบัน

ภาพ
Jesus healing the blind

การปฏิเสธของเปโตร โดย คาร์ล ไฮน์ริค บลอค

เปโตรรู้ว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธทรงเป็นมากกว่าคนธรรมดา เพราะท่านเห็นพระองค์ทรงทำให้คนตาบอดมองเห็น คนโรคเรื้อนสะอาด คนง่อยเดินได้ และคนตายคืนชีพ (ดู มัทธิว 11:4–5; ดู ยอห์น 2:11; 10:25; 20:30–31ด้วย) สิ่งที่ท่านเรียนรู้ขณะปฏิบัติตามพระดำรัสแนะนำของพระอาจารย์ล้วนสนับสนุนการยืนยันตามหลักเหตุผลของท่านว่าพระเยซูคือพระคริสต์ ท่านทอดแหตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำและได้ปลาเป็นจำนวนมาก (ดู ลูกา 5:1–9; ยอห์น 21:5–7) เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงสั่งให้ท่าน “มาเถิด” ท่านเดินบนน้ำ (ดู มัทธิว 14:22–33) เมื่อท่านส่งผ่านขนมปังและปลาเพียงน้อยนิดให้ฝูงชนตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำ ปาฏิหาริย์ของการเพิ่มจำนวนเหล่านั้นเกิดขึ้นภายใต้มือท่าน (ดู ยอห์น 6:1–14)

พยานเหล่านั้นต่อความคิดและมือของเปโตรคงจะเสริมพยานอันทรงพลังที่สุดที่จัดเตรียมไว้ให้ท่านได้เป็นอย่างดี—ซึ่งก็คือพยานที่เปิดเผยต่อใจท่าน เมื่อพระเยซูตรัสถามเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “คนทั่วไปพูดกันว่าบุตรมนุษย์เป็นใคร” พวกท่านยกข้อสรุปทั่วไปของคนในสมัยเดียวกันกับพวกท่านขึ้นมากล่าว จากนั้นพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้คำถามใกล้ตัวมากขึ้น โดยตรัสถามว่า “แล้วพวกท่านว่าเราเป็นใคร?” (ดู มัทธิว 16:13–15) เปโตรตอบโดยไม่ลังเลว่า

“พระองค์เป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่

“พระเยซูตรัสกับเขาว่า ซีโมนบุตรโยนาห์เอ๋ย ท่านก็เป็นสุขเพราะมนุษย์ไม่ได้เปิดเผยเรื่องนี้แก่ท่าน แต่พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผยให้ทราบ” (มัทธิว 16:16–17)

การเตรียมเปโตรให้พร้อมเป็นพยานพิเศษของพระคริสต์รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวหลายครั้งกับพระเยซูเช่นกัน2 พระดำรัสแนะนำและแนะแนวเป็นส่วนตัวเช่นนั้นมักเกิดขึ้นเมื่อท่านเข้าไปหาพระผู้ช่วยให้รอดพร้อมคำถามหรือเมื่อพระคริสต์ทรงรับรู้ว่าท่านต้องการการอบรมเพิ่มเติม3

บางทีเปโตรอาจจะเป็นสาวกที่ถูกตำหนิติเตียนมากที่สุดในบรรดาสาวกทั้งหมดของพระคริสต์ด้วย4 น่าแปลกที่เปโตรเลือกไม่ขุ่นเคืองแต่ยังคงติดตามพระอาจารย์เพื่อเพิ่มเติมพยานของท่านทุกวันและเรียนรู้จากพระองค์5

การเตรียมคนหาปลาชาวกาลิลีส่งผลให้ท่านเป็นพยานหลังการตรึงกางเขน พอทราบเรื่องอุโมงค์ว่างเปล่า เปโตรรีบไปดูด้วยตนเองและจากมา “ด้วยความประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น” (ลูกา 24:1–12; ดู ยอห์น 20:1–9ด้วย) ลูกาบันทึกว่าในวันเดียวกันนั้น พระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏเป็นส่วนพระองค์ต่อเปโตร แม้เราจะรู้น้อยมากเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ (ดู ลูกา 24:34; 1 โครินธ์ 15:3–7) ค่ำวันนั้น พระคริสต์ผู้คืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อเหล่าอัครสาวกและสานุศิษย์บางคนโดยทรงเชื้อเชิญให้พวกเขามาสัมผัสรอยแผลในพระวรกายของพระองค์ จากนั้นพระองค์ทรงช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ทำให้คำพยากรณ์ที่เขียนไว้ในกฎของโมเสสและพระคัมภีร์เกิดสัมฤทธิผล โดยทรงประกาศว่า “พวกท่านเองก็เป็นพยานถึงสิ่งเหล่านี้” (ดู ลูกา 24:36–48; ดู มาระโก 16:14; ยอห์น 20:19–23ด้วย) ต่อมาสาวก 11 คนเดินทางไปกาลิลีตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำ และที่นั่นบน “ภูเขาที่พระเยซูทรงกำหนดไว้” พระองค์ทรงรับรองกับพวกเขาว่า “สิทธิอำนาจทั้งหมดในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดี ทรงมอบไว้แก่เราแล้ว” (ดู มัทธิว 28:7, 10, 16–20)

โดยผ่านทั้งหมดนั้น สมอง มือ และใจของเปโตรได้รับการสอนเพิ่มเติมให้เป็นพยานของพระคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ เพราะท่านเห็นพระเจ้าผู้คืนพระชนม์ด้วยตาตนเอง ได้ยินพระองค์กับหู สัมผัสพระองค์กับมือ และรู้สึกอย่างแน่นอนอีกครั้งถึงการยืนยันของพระวิญญาณในใจท่าน

งานมอบหมายของเปโตร

เปโตรต้องใช้เวลา การสอน และประสบการณ์กว่าจะเข้าใจพระพันธกิจการชดใช้ของพระเมสสิยาห์อย่างถ่องแท้ฉันใด การเข้าใจพันธกิจของท่านเองในฐานะพยานพิเศษของพระคริสต์ก็เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นช้าๆ ฉันนั้น

ดูเหมือนความตระหนักโดยสมบูรณ์ต่อสิ่งที่เปโตรต้องตระหนักเกิดขึ้นกับท่านเมื่อพระเจ้าทรงสอนท่านริมฝั่งทะเลกาลิลี การได้สัมผัสรอยแผลจากการตรึงกางเขนบนพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์ของพระอาจารย์ถึงสองครั้งสองคราแต่ยังคงสงสัยว่าเกี่ยวข้องอะไรกับตัวท่านทำให้เปโตรประกาศว่า “ข้าจะไปจับปลา” (ยอห์น 21:3) เวลานั้นพระเยซูไม่ได้ทรงอยู่กับพวกท่านแล้ว เปโตรดูเหมือนจะขอลากลับไปใช้ชีวิตและความเป็นอยู่แบบเดิม พี่น้องชายของท่านตามไปด้วย

พวกท่านทำงานตรากตรำทั้งคืนแต่จับปลาไม่ได้เลย พวกท่านคงหมดแรงและท้อแท้อยู่ใกล้ฝั่งขณะเห็นบุคคลคนหนึ่งยืนอยู่ที่นั่นแต่พวกท่านจำไม่ได้ พลางสั่งพวกท่านให้หย่อนอวนอีกครั้ง พวกท่านอาจจะจำครั้งก่อนได้เมื่อเชื่อฟังคำแนะนำคล้ายกันและได้ปลาเป็นจำนวนมาก พวกท่านจึงปฏิบัติตาม แต่คราวนี้ไม่คัดค้านหรือสงสัย (ดู ลูกา 5:1–9; ยอห์น 21:3–6) ขณะพวกท่านลากอวนที่เต็มไปด้วยปลาจำนวนมากอีกครั้ง ยอห์นร้องบอกเปโตรว่า “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ยอห์น 21:7) เปโตรร้อนใจเกินกว่าจะรอให้เรือถึงฝั่ง ท่านจึง “กระโดดลงทะเล” เพื่อไปให้ถึงพระอาจารย์เร็วที่สุด (ยอห์น 21:7) เมื่อคนอื่นมาถึง พวกเขาพบปลาและขนมปังเป็นอาหารรอพวกเขาอยู่ (ดู ยอห์น 21:9)

ภาพ
Jesus speaking with Peter

ท่านรักเรามากกว่าพวกนี้หรือ? โดย เดวิด ลินด์สเลย์

หลังจากรับประทานอาหาร พระเยซูทรงหันพระพักตร์ไปทางเปโตรและน่าจะทรงชี้ปลาที่เปโตรได้เลือกตามจับ พระองค์ตรัสถามอัครสาวกของพระองค์ว่า “ซีโมนบุตรยอห์นเอ๋ย ท่านรักเรามากกว่าพวกนี้หรือ?” (ยอห์น 21:15) เปโตรคิดอย่างแน่นอนว่าคำถามนี้แปลก ท่านรักพระผู้ช่วยให้รอดมากกว่าปลา—หรือการจับปลาอยู่แล้ว บางทีอาจจะมีความกังขาอยู่บ้างในคำตอบของท่าน “ใช่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบว่าข้าพระองค์รักพระองค์” ต่อพระคริสต์ผู้ตรัสตอบว่า “จงเลี้ยงดูลูกแกะของเราเถิด” (ยอห์น 21:15) พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถามเปโตรอีกครั้ง และเปโตรประกาศอีกครั้งว่าท่านรักพระคริสต์ และพระคริสต์ทรงบัญชาอีกครั้งว่า “จงดูแลแกะของเราเถิด” (ยอห์น 21:16) เปโตรเสียใจมากเมื่อพระเยซูตรัสถามครั้งที่สามเพื่อให้สานุศิษย์ยืนยันความรักของเขา เรารู้สึกได้ถึงความผิดหวังและความไม่พอใจในคำพยานครั้งที่สามของเปโตร “องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงรู้ดีว่าข้าพระองค์รักพระองค์” (ยอห์น 21:17) พระเยซูทรงบัญชาอีกครั้ง “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยอห์น 21:17)6 ถ้าเปโตรรักพระเจ้าจริง เปโตรจะไม่เป็นคนหาปลาอีกต่อไป แต่จะเป็นคนเลี้ยงแกะคอยดูแลฝูงแกะของพระอาจารย์7 การกระทำและการปฏิบัติศาสนกิจของเปโตรนับจากนั้นเป็นต้นมายืนยันว่าในที่สุดท่านก็เข้าใจงานมอบหมายและพันธกิจให้เป็นผู้รับใช้และพยานพิเศษของพระคริสต์

พยานของเปโตร

ภาพ
peter healing a lame man

พระเยซูทรงจำแลงพระกายต่อหน้าพวกท่าน โดย วอลเตอร์ เรน

หลังจากวันนั้นในกาลิลี เปโตรออกไปทำงานมอบหมายจากพระคริสต์ด้วยศรัทธาอันน่าทึ่ง ความกล้าหาญ และความจริงจัง ในฐานะหัวหน้าอัครสาวก ท่านก้าวไปข้างหน้าในการเรียกเป็นประธานดูแลศาสนจักร แม้จะวุ่นอยู่กับหน้าที่มากมายในตำแหน่งนี้ แต่เปโตรไม่ละเลยความรับผิดชอบในการเป็นพยานถึงพระคริสต์อยู่เสมอ รวมทั้งต่อฝูงชนที่มารวมกันคราวพระวิญญาณบริสุทธิ์หลั่งเทในวันเพ็นเทคอสต์ (ดู กิจการของอัครทูต 2:1–41) ที่พระวิหารบนเฉลียงของโซโลมอนหลังการรักษาอันน่าอัศจรรย์ (ดู กิจการของอัครทูต 3:6–7, 19–26) เมื่อท่านถูกจับและถูกนำมาอยู่ต่อหน้าผู้นำชาวยิว (ดู กิจการของอัครทูต 4:1–31; ดู กิจการของอัครทูต 5:18–20ด้วย) ในการสั่งสอนวิสุทธิชน (ดู กิจการของอัครทูต 15:6–11) และในสาส์นของท่านด้วย

ในสาส์นของท่าน ท่านใคร่ครวญพยานส่วนตัวของท่านถึงความทุกขเวทนาของพระคริสต์และแสดงความหวังว่าท่านจะได้เป็น “หุ้นส่วนที่จะรับศักดิ์ศรีที่กำลังจะปรากฏ” (1 เปโตร 5:1) ท่านยอมรับอย่างเด็ดเดี่ยวจนถึงบั้นปลายว่าท่าน “อีกไม่นาน … ก็จะตาย ดังที่พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้ทรงแจ้งแก่ข้าพเจ้าแล้ว” (2 เปโตร 1:14)

ในการตั้งข้อสังเกตอย่างจริงจังครั้งนี้ เปโตรอาจจะกำลังใคร่ครวญพระดำรัสที่พระเยซูตรัสกับท่านเมื่อหลายปีก่อนบนฝั่งทะเลกาลิลีก็เป็นได้ ที่นั่น หลังจากทรงบัญชาให้เปโตรเลี้ยงดูแกะของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่า “เมื่อท่านยังหนุ่มก็คาดเอวของท่านเองและเดินไปไหนๆ ตามที่ท่านปรารถนา แต่เมื่อแก่แล้วท่านจะเหยียดมือออกและจะมีคนมาคาดเอวของท่านและพาไปที่ที่ท่านไม่ปรารถนาจะไป” (ยอห์น 21:18) ดังที่ยอห์นอธิบายว่า “ที่ [พระเยซู] ตรัสอย่างนั้นก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าเปโตรจะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยความตายเช่นไร เมื่อตรัสอย่างนั้นแล้ว พระองค์จึงตรัสกับเปโตรว่า จงตามเรามาเถิด” (ยอห์น 21:19) โดยแท้แล้วในวัยชราของเปโตรขณะท่านคิดคำนึงถึงความตาย ท่านพบสันติสุขและปีติในการรู้ว่าท่านได้ติดตามพระคริสต์ในชีวิตและพร้อมติดตามพระองค์ในความตาย

เราประสงค์ให้เก็บรักษากิจกรรมและงานเขียนของเปโตรไว้มากกว่านี้ในพันธสัญญาใหม่ สิ่งที่เก็บรักษาไว้คือสมบัติล้ำค่าและทำให้เรารักคนหาปลาที่ซื่อสัตย์คนนี้ บันทึกถึงแม้จะเล็กแต่แสดงให้เราเห็นว่าพระคริสต์ทรงเตรียมเปโตรด้วยพระองค์เองเป็นอย่างดีให้ท่านพร้อมเป็นพยานพิเศษของพระองค์ เมื่อเราอ่านเรื่องราว เราค้นพบว่าศรัทธาและความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพระคริสต์เติบโตตามเปโตรไปด้วย การเติบโตนั้นทำให้เรามีความหวังและมีมุมมองที่เราจะเดินทางไปถึงศรัทธา เมื่อเราเห็นสิ่งที่พระคริสต์ทรงคาดหวังจากเปโตรปรากฎชัดต่อท่าน แล้วมองดูความกล้าหาญและการอุทิศตนทำงานหนักของท่านเพื่อให้งานมอบหมายจากพระผู้ช่วยให้รอดเกิดสัมฤทธิผล สิ่งเหล่านั้นนำเราให้ไตร่ตรองว่า “พระคริสต์ทรงคาดหวังอะไรจากฉัน” และ “ฉันกำลังทำมากพอหรือไม่” เมื่อเราศึกษาพยานของเปโตรเกี่ยวกับพระคริสต์ เราพบว่าตัวเราร้อนใจอยากกล่าวซ้ำคำพูดของท่านที่ว่า “พวกข้าพระองค์ก็เชื่อและทราบแล้วว่าพระองค์ทรงเป็น [พระคริสต์พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์]” (ยอห์น 6:69)

อ้างอิง

  1. แม้ในพันธสัญญาใหม่จะบันทึกคำพยาน ประสบการณ์ และคำสอนของอัครสาวกเปาโลละเอียดกว่าของเปโตร แต่เปาโลไม่ใช่อัครสาวกชุดแรกและไม่ได้กล่าวถึงท่านในหนังสือกิตติคุณสี่เล่ม

  2. ดู มัทธิว 17:1–13; 26:36–46, 58; มาระโก 13:1–37; ลูกา 8:49–56; 9:28–36.

  3. ดู มัทธิว 17:24–27; 18:2–35; 19:27–20:28; ลูกา 12:31–49; ยอห์น 13:6–19.

  4. ดู มัทธิว 14:31; 15:15–16; 26:33–34, 40; มาระโก 8:32–33; ยอห์น 18:10–11.

  5. เกี่ยวกับเปโตรและคำตักเตือนที่ท่านได้รับจากพระคริสต์บ่อยๆ ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) ตั้งข้อสังเกตว่า “พระองค์ทรงตักเตือนเปโตรหลายครั้งเพราะทรงรักท่าน และเปโตรโดยที่เป็นคนดีมากจึงสามารถเติบโตจากคำตักเตือนเหล่านี้ มีข้อดีมากๆ ในหนังสือสุภาษิตที่เราทุกคนพึงจดจำ ‘หูที่ฟังคำตักเตือนที่ให้ชีวิตจะอยู่ท่ามกลางคนมีปัญญา คนที่เพิกเฉยต่อคำสั่งสอนก็ดูหมิ่นตนเองแต่คนที่สนใจคำตักเตือนก็ได้ความเข้าใจ’ (สุภาษิต 15:31–32) ผู้นำที่ฉลาดหรือผู้ตามที่ฉลาดคือคนที่สามารถรับ ‘คำตักเตือนที่ให้ชีวิต’ เปโตรทำเช่นนี้ได้เพราะท่านรู้ว่าพระเยซูทรงรักท่าน และด้วยเหตุนี้พระเยซูจึงทรงสามารถเตรียมเปโตรให้พร้อมรับตำแหน่งหรือความรับผิดชอบที่สูงมากในอาณาจักร” (“Jesus: The Perfect Leader,’’ Ensign, Aug. 1979, 5)

  6. บางคนตั้งข้อสังเกตว่าพระคริสต์ทรงให้เปโตรยืนยันสามครั้งว่าท่านรักพระองค์ก็เพื่อเปิดโอกาสให้เปโตรแก้ไขการปฏิเสธสามครั้งของท่านในคืนนั้นที่ท่านเข้าตาจนอันเนื่องจากการทดลอง ดูตัวอย่างใน เจมส์ อี. ทัลเมจ, Jesus the Christ, 3rd ed. (1916), 693; เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พระบัญญัติสำคัญข้อแรก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 83–84. ดูการสนทนาเรื่องการปฏิเสธและบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการปฏิเสธนั้นใน กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “And Peter Went Out and Wept Bitterly,” Ensign, May 1979, 65–67; นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “A Brother Offended,” Ensign, May 1982, 37–38. นักวิจารณ์คนอื่นๆ สังเกตความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในต้นฉบับภาษากรีกและบอกว่าพระเยซูตรัสถามสามครั้งเพื่อสอนแง่มุมและหน้าที่ต่างๆ ในการเรียกของเปโตร ด้วยเหตุนี้พระผู้ช่วยให้รอดจึงตรัสถามเปโตรสองครั้งว่า “ท่านรักเราหรือ?” โดยใช้คำภาษากรีกแทนความรักว่า agapao หมายถึงความรักทางสังคมหรือศีลธรรม บ่อยครั้งจะนึกถึงความรักอย่างพระผู้เป็นเจ้าหรืออย่างไม่มีเงื่อนไขและแปลไว้ที่อื่นว่า “จิตกุศล” (อาทิ 1 โครินธ์ 13:1–4; 2 เปโตร 1:7; วิวรณ์ 2:19) พระเยซูตรัสถามเปโตรครั้งทื่สามว่า “เจ้ารักเราหรือ?” พระองค์ทรงใช้คำแทนความรักว่า phileo หมายถึงมิตรภาพ ความเอื้ออาทร และความรักฉันพี่น้อง น่าสนใจตรงที่ในการตอบคำถามทั้งสามครั้ง เปโตรยืนยันความรักของท่านโดยใช้คำว่า phileo สำหรับการยืนยันความรักครั้งแรกของเปโตร พระคริสต์ทรงบัญชาให้ท่าน “เลี้ยงดู” มาจากคำภาษากรีกว่า bosko หมายถึงปล่อยให้เล็มหญ้า หรือบำรุงเลี้ยง “ลูกแกะ” ของพระองค์มาจากคำภาษากรีกว่า arnion หมายถึงแกะที่ยังเป็นลูกอ่อน สำหรับการยืนยันความรักครั้งที่สองของเปโตร พระคริสต์ทรงบัญชาให้ท่าน “ดูแล” มาจากคำภาษากรีกว่า poimaino หมายถึงเลี้ยง “แกะ” ของพระองค์มาจากคำภาษากรีกว่า probaton หมายถึงแกะที่โตเต็มวัย ในการตอบยืนยันความรักครั้งที่สามของเปโตรต่อพระคริสต์ ท่านต้อง เลี้ยง แกะที่โตเต็มวัย ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้การถามคำถามสามครั้งสามแบบที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถามสานุศิษย์ของพระองค์คนนั้นว่าท่านมีทั้งจิตกุศลและความรักฉันพี่น้องต่อพระองค์หรือไม่ และในพระบัญชาต่อจากนั้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเปโตรว่าท่านต้องไม่เพียงบำรุงเลี้ยงเท่านั้นแต่เลี้ยงทั้งแกะที่ยังเป็นลูกอ่อนและแกะที่โตเต็มวัยในฝูงของพระองค์ด้วย

  7. ดูการสนทนาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และหลักธรรมที่สามารถเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์นี้ ได้จาก โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “เมื่อท่านได้หันกลับแล้ว จงชูกำลังพี่น้องทั้งหลายของท่าน,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 97–100.