2019
เราคือพยาน: อัครสาวกสิบสองในปัจจุบัน
กรกฎาคม 2019


เราเป็นพยาน: อัครสาวกสิบสองในปัจจุบัน

อัครสาวกยุคปัจจุบันแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกท่าน

ภาพ
members of the Quorum of the Twelve Apostles

ภาพถ่ายโดย Busath Photography

ในเวลา 189 ปีนับตั้งแต่จัดตั้งศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย บุรุษ 102 คนได้รับเรียกให้รับใช้เป็นสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสอง ถึงแม้พระเจ้าทรงกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงมากมายในศาสนจักรนับจากนั้นเป็นต้นมา แต่หน้าที่พื้นฐานของอัครสาวกยังเหมือนเดิม

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดจากห้องทำงานของท่านใกล้เทมเปิลสแควร์ถึงอำนาจหน้าที่ทางวิญญาณที่มอบให้อัครสาวกเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดทั่วโลก พูดถึงความเชื่อมโยงพิเศษที่อัครสาวกมีกับผู้สอนศาสนา และความเข้าใจผิดบางประการของการเป็น “อัครสาวก ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย” เมื่อถามว่ามีสมาชิกท่านอื่นในโควรัมอัครสาวกสิบสองที่ท่านต้องการเสนอชื่อให้พูดเกี่ยวกับการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกท่านเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของบทความนี้หรือไม่ ประธานบัลลาร์ดตอบทันทีว่า “มีครับ ทุกคน”

ฟังและเข้าใจ

อัครสาวกยุคปัจจุบันเผชิญความท้าทายมากมาย พวกท่านปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้เข้าร่วมประชุมทั่วโลกที่กำลังถูกความวุ่นวายทางการเมือง ความล่มสลายของครอบครัว ความกดดันไม่หยุดหย่อนจากสื่อสังคม และความผันผวนทางเศรษฐกิจทดสอบ สำคัญที่อัครสาวกต้องเข้าใจความท้าทายและสภาวการณ์ที่สมาชิกประสบ

ในฐานะผู้นำศาสนจักร อัครสาวกต้องทำความรู้จักผู้คนและสภาวการณ์ของพวกเขาจึงจะสามารถรับใช้พวกเขาได้ดีขึ้น

“เราต้องเรียนรู้สิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คน” เอ็ลเดอร์อูลิส์เสส ซวาเรสกล่าว “อัครสาวกต้องอยู่ในกระบวนการต่อเนื่องของการเรียนรู้ สอบถาม รับการดลใจและการเปิดเผย”

สำคัญเท่ากันคือต้องฟังและเข้าใจสิ่งที่สมาชิกประสบ สำคัญกว่านั้นคืออัครสาวกต้องตั้งใจฟังสุรเสียงนำทางของพระผู้เป็นเจ้าและเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้า ประธานบัลลาร์ดกล่าว “นี่คือศาสนจักรของพระเจ้า และความท้าทายหลักของเราคือต้องแน่ใจว่าเราฟังและเข้าใจว่าพระองค์ทรงประสงค์ให้เราทำงานในอาณาจักรของพระองค์บนแผ่นดินโลกอย่างไร” ประธานบัลลาร์ดกล่าว

พยานพิเศษ

ตามที่อัครสาวกแต่ละท่านพูดเกี่ยวกับการเรียกของท่าน เห็นชัดทันทีว่าเรื่องงานบริหารไม่ใช่ข้อกังวลอันดับต้นๆ ของพวกท่าน ความรับผิดชอบหลักของพวกท่านเหมือนเดิมเสมอมา—นั่นคือพวกท่านต้องเป็น “พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ในทั่วโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23)

พระดำรัสสุดท้ายของพระผู้ช่วยให้รอดต่ออัครสาวกของพระองค์ (ดู มัทธิว 28:19–20) คือออกไป “สอน เป็นพยาน ให้บัพติศมา สร้างและเสริมสร้างศาสนจักรของพระองค์” ประธานบัลลาร์ดกล่าว

ปัจจุบันงานมอบหมายของอัครสาวกไม่เปลี่ยน “สิ่งสำคัญอันดับแรกสุดตลอดมาคือเราเป็นพยานถึงการทรงพระชนม์อยู่จริงของพระเจ้าพระเยซูคริสต์” เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์กล่าว “เราไม่ใช่ผู้บริหาร เราเป็นผู้ปฏิบัติศาสนกิจของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์”

อัครสาวกได้รับงานมอบหมายให้ “เป็นพยานสัญจร” ผู้ไป “ทั่วโลก” เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์กล่าว “เราต้องการให้หน่วยไกลสุดของศาสนจักรนี้ ถ้าพูดในเชิงภูมิศาสตร์ รู้สึกว่ามีความผูกพันใกล้ชิดระหว่างพวกเขากับศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า” ท่านกล่าว “กล่าวกันบ่อยครั้งว่า ‘ศาสนจักรทำให้โลกเล็กมาก’ ในกรณีของการติดต่อจากอัครสาวก เราหวังให้เป็นเช่นนี้เสมอ”

ภาพ
Christ appearing to His Apostles

เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

ไปถึงทุกสเตค

เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกอธิบายว่าตลอดช่วงสี่ปี ทุกสเตคและวอร์ด ท้องถิ่นและสาขาในศาสนจักรมีสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองมาประชุมกับผู้นำของพวกเขา—และอบรมคนเหล่านั้นในเรื่องที่ศาสดาพยากรณ์ให้ความสำคัญ

“การประชุมผู้นำให้โอกาสเราได้ทำตามอำนาจหน้าที่ตามหลักคำสอนของเราคือ ‘เสริมสร้างศาสนจักรและดูแลกิจจานุกิจทั้งหมดของศาสนจักรนั้นในประชาชาติทั้งปวง’ [หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:34] ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสูงสุด” ท่านกล่าว

โดยรวมแล้วประสบการณ์อันล้ำค่าที่มีประโยชน์อย่างยิ่งของสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองช่วยชี้นำผู้นำในท้องที่เหล่านี้ขณะพวกเขาทำการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนสมาชิกผ่านความท้าทายของพวกเขา เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว

“เมื่อเราไปที่ต่างๆ เรารู้สึกถึงความดีงามของสมาชิก” เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองกล่าว “เราได้ยินประสบการณ์ เราเรียนรู้สิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจเมื่อเราหารือกันในโควรัมเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลกและในกลุ่มต่างๆ ภายในศาสนจักร”

การเดินทางไปประชุมผู้นำ “เปิดโอกาสให้เราปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ยอดเยี่ยมและน่ารัก” เอ็ลเดอร์คุกกล่าว “เราไปบ้านของพวกเขา และเรามีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขา … การปฏิบัติศาสนกิจต่อวิสุทธิชนสัมผัสใจเราอย่างลึกซึ้งที่สุด เราทำเช่นนั้นด้วยการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์และพระผู้ช่วยให้รอดและด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนจากประสบการณ์ บ้างก็ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะบอกกล่าว” ท่านกล่าว

ถึงคนนั้น

หลังจากเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ 43 ปีและปัจจุบันอยู่ในทศวรรษที่สี่ของการรับใช้ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง หน้าที่ของประธานบัลลาร์ดพาท่านไปเกือบทุกประเทศในโลก เอื้ออำนวยให้ท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจต่อหน้าสมาชิกและผู้สอนศาสนานับไม่ถ้วน คนหลายล้านคนฟังคำพูดการประชุมใหญ่สามัญและการให้ข้อคิดทางวิญญาณของท่าน แม้จะมีความรับผิดชอบทั่วโลก แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยอมให้ท่านเชื่อมสัมพันธ์เป็นรายบุคคลและเป็นพรแก่พวกเขาแต่ละคน คำพูดที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเองนี้เป็นวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านกล่าว “บางครั้งผมได้รับจดหมายจากคนหนึ่งบอกว่า ‘ดิฉันอยู่ในการประชุม และท่านพูดบางอย่างที่เปลี่ยนชีวิตดิฉัน’ นั่นคืออำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระเจ้าทรงบริหารศาสนจักรของพระองค์ทุกขั้นตอน”

“ประสบการณ์อันน่าพอใจและเรียบง่ายนับไม่ถ้วนกับสมาชิกของศาสนจักรทั่วโลก” นิยามการปฏิบัติศาสนกิจของอัครสาวก เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว “พระเจ้าทรงส่งสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองไปยังที่ซึ่งกำหนดไว้ ณ เวลานั้นๆ เพื่อให้เราได้พบวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์และคนอื่นๆ ผู้มักจะกำลังลำบากหรือต้องการการปลอบโยนและขวัญกำลังใจ พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมปฏิสัมพันธ์เหล่านั้น” เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว

เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์กล่าวว่าหลังจากการเรียกเป็นอัครสาวก ท่านเรียนรู้ว่าต้องเพิ่มเวลาให้ทุกกิจกรรมในชีวิตเพื่อจะได้ทักทายสมาชิกศาสนจักรและคนอื่นๆ “นั่นไม่เกี่ยวกับผม” ท่านกล่าว “นั่นเกี่ยวกับความเคารพนับถือและเกียรติที่สมาชิกของศาสนจักรนี้มีให้กับตำแหน่งอัครสาวก”

เอ็ลเดอร์ราสแบนด์กล่าวว่าระหว่างการแต่งตั้งท่านเป็นอัครสาวก ท่านได้รับคำแนะนำว่า “‘พวกเราวางท่านไว้ในตำแหน่งพยานพิเศษของพระนามของพระคริสต์ในทั่วโลก … ทุกเวลาและในทุกสภาวการณ์” คำว่า ‘ทุกเวลาและในทุกสภาวการณ์’ รวมอยู่ในการแต่งตั้งข้าพเจ้า”

ภาพ
President Ballard, Elder Holland, Elder Uchtdorf, Elder Bednar

ประธานบัลลาร์ดในสเปน

เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ในอังกฤษ

เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟในรัสเซีย

เอ็ลเดอร์เบดนาร์ในเปรู

ภาพถ่ายโดย ฮวน อันโตนิโอ รอดริเกซ (สเปน) ไซมอน โจนส์ (อังกฤษ) ลุยส์ อันโตนิโอ อาร์โรโย อบันโด (เปรู) คริสเต็น อัลโบ (อาร์เจนตินา) ดาลีน กริฟฟิน (เม็กซิโก) อเล็กแซนเดอร์ บอร์เกส (บราซิล)

ความสัมพันธ์ที่สำคัญ

อัครสาวกและผู้สอนศาสนาเต็มเวลาอีก 70,000 กว่าคนของศาสนจักรมีความสัมพันธ์อันศักดิ์สิทธิ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน

คำว่า อัครสาวก มาจากภาษากรีกหมายถึง “ถูกส่งไป” เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์อธิบาย ลองพิจารณาหน้าที่ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงกำหนดให้อัครสาวกสมัยโบราณ “พวกท่านจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน ใครเชื่อและรับบัพติศมาก็จะรอด” (มาระโก 16:15–16)

เพื่อทำตามพระบัญชาดังกล่าว อัครสาวกสิบสองจึง “มีส่วนอย่างชอบธรรม” ในงานเผยแผ่ศาสนาและมอบข่าวสารของพระกิตติคุณ ประธานบัลลาร์ดกล่าว

เช่นเดียวกับเปาโลสมัยก่อน อัครสาวกยุคปัจจุบันมอบหมายหน้าที่แบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่นร่วมกับการสวดอ้อนวอน ผู้สอนศาสนาถูกส่งไปทั่วโลกแบบเดียวกับอัครสาวกเพื่อสอนพระกิตติคุณของพระคริสต์ “อัครสาวกสิบสองใช้กุญแจที่พวกท่านมีมอบหมายให้พวกเขาไปคณะเผยแผ่ต่างๆ” เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว “เราจึงส่งพวกเขาไป”

พระเจ้ายังคงเป็นผู้กำกับดูแลงานเผยแผ่ศาสนา พระองค์ทรงมอบอำนาจให้อัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ผู้ได้รับมอบหมายในเวลาต่างกันให้รับใช้ในสภาบริหารผู้สอนศาสนา ถ่ายทอดความปรารถนาของพระองค์ให้ผู้สอนศาสนาเต็มเวลาที่ทำงานอยู่ในทุ่ง หน้าที่บริหารเช่นนั้นอยู่เหนือ “การบริหารงานองค์กร” เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว อัครสาวกถือกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการรวบรวมอิสราเอล “เรากำลังให้การดูแลและการชี้นำทางวิญญาณเพื่อทำงานในวิธีที่พระเจ้าทรงต้องการ” ท่านกล่าว

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟเป็นประธานสภาบริหารผู้สอนศาสนาของศาสนจักร สิ่งที่วางอยู่บนโต็ะทำงานของท่านคือรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ขนาดเล็กของผู้สอนศาสนาคู่หนึ่งที่กำลังปั่นจักรยานสุดแรง อาจจะกำลังรีบไปให้ทันนัดสอน เมื่อใดก็ตามที่ท่านศึกษางานทองสัมฤทธิ์ชิ้นนั้น ท่านจะนึกถึงความเชื่อมโยงที่แยกไม่ออกระหว่างอัครสาวกกับผู้สอนศาสนา “ผู้สอนศาสนา 70,000 คนล้วนกำลังทำการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์และทุกคนได้รับเรียกจากพระเจ้าพร้อมจดหมายจากศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นตัวแทนของพระผู้ช่วยให้รอด พวกเขาเป็นแขนที่กางออกของอัครสาวกสิบสอง”

“เมื่อใดที่เรามีเวลา เราจะประชุมกับพวกเขา” ประธานบัลลาร์ดกล่าว “เราให้พวกเขาซักถาม เราพยายามช่วยพวกเขาหา สอน ให้บัพติศมา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้บุตรธิดาทุกคนของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา”

คนทั้งสองกลุ่มทำงานด้วยกันและถูกส่งไปแบ่งปันข่าวประเสริฐของพระกิตติคุณทั่วโลก “เราเห็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาเป็นคู่ของเรา” เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันกล่าว

ความเข้าใจผิด

แม้ผู้สังเกตการณ์นอกศาสนจักรบางคนอาจจะคิดว่าศาสนจักรดำเนินงานเหมือนบริษัท แต่การเป็นอัครสาวก “ไม่เหมือนการเป็นผู้บริหารธุรกิจ ต่างกันโดยสิ้นเชิง” เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันกล่าว “บทบาทของอัครสาวกของพระเจ้าพระเยซูคริสต์คือบทบาทของศิษยาภิบาลและผู้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างแท้จริง” บทบาทของการเป็นพยานของพระเยซูคริสต์ต่อโลก “ให้ความรู้และกำหนดขอบเขตของเรา”

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นกล่าวว่าในโควรัมอัครสาวกสิบสองไม่มีความขัดแย้งภายใน การวิ่งเต้น หรือศูนย์รวมอำนาจ มี “ความคิดเห็นต่างกัน” แต่ “ไม่มีอัตตา”

พระเจ้าทรงนำคนหลากหลายอาชีพและพื้นเพมารวมกัน เอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นกล่าว แต่ “ทุกคนเหมือนกันในประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและในความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีใครแสวงหาตำแหน่ง ไม่มีใครพยายามเป็นคนฉลาดที่สุดในห้อง พระเจ้าทรงสามารถทำงานด้วยได้ ผมไม่เคยเห็นใคร [ในโควรัมอัครสาวกสิบสอง] แสดงความโกรธ และไม่เคยเห็นใครดูถูกใคร”

ความอ่อนน้อมถ่อมตนนิยามการเป็นอัครสาวก เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟกล่าว การเรียกของอัครสาวกทำให้คนเกือบทุกหนแห่งที่พวกท่านเดินทางไปจำพวกท่านได้ “แต่เรารู้ว่านั่นไม่เกี่ยวกับเรา—เกี่ยวกับพระองค์ เราเป็นตัวแทนของพระองค์ … เกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของพระองค์”

ภาพ
Elder Cook, Elder Christofferson, Elder Andersen, Elder Rasband

เอ็ลเดอร์คุกในอาร์เจนตินา

เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันในเม็กซิโก

เอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นในบราซิล

เราทุกคนได้รับเรียกให้รับใช้

หลังจากการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงสั่งสอนเหล่าสาวก 40 วันและเสด็จขึ้นสวรรค์หลังจากนั้น เพราะมีตำแหน่งว่างในโควรัมอัครสาวกสิบสอง—เกิดจากการทรยศและการสิ้นชีวิตของยูดาสอิสคาริโอท—สมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองจึงมารวมกันสวดอ้อนวอนพระเจ้า

มีการเสนอชื่อชายสองคนคือมัทธีอัสกับบารซับบาส และอัครสาวกสวดอ้อนวอนขอให้พระเจ้าทรงสำแดงว่า “ในสองคนนี้พระองค์ทรงเลือกคนไหน … และฉลากนั้นได้แก่มัทธีอัส เขาจึงได้รับเลือกให้อยู่ในกลุ่มอัครทูตสิบเอ็ดคนนั้น” (ดู กิจการอัครทูต 1:23–26)

ทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้ “การได้รับเรียกเป็นอัครสาวกไม่ใช่ความสำเร็จหรือความสมหวัง” เอ็ลเดอร์เรนลันด์อธิบาย “ไม่ใช่การเรียกที่ได้มา มัทธีอัสในกิจการบทที่ 1 ได้รับเลือกจากพระผู้เป็นเจ้าแทนที่จะเลือกบารซับบาส พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้รับสั่งว่าเพราะอะไร แต่สิ่งที่เราควรรู้คือประจักษ์พยานของบารซับบาสยกย่องพระผู้ช่วยให้รอดและการฟื้นคืนพระชนม์เท่าๆ กับประจักษ์พยานของมัทธีอัส”

พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือก ท่านอธิบาย “ถ้าบารซับบาสทำการเรียกที่ได้รับให้สมบูรณ์ รางวัลของเขาไม่ต่างจากรางวัลซึ่งมัทธีอัสจะได้รับหากเขาขยายการเรียกของตน”

เฉกเช่นประจักษ์พยานของบารซับบาสเท่าเทียมกับประจักษ์พยานของมัทธีอัส สมาชิกทุกคนของศาสนจักรล้วนมีสิทธิ์และสามารถ “พัฒนาความสัมพันธ์เฉกเช่นอัครสาวกมีกับพระเจ้า” ประธานบัลลาร์ดกล่าว

การรับใช้พระเจ้าและศาสนจักรเป็น “สิทธิพิเศษและพร เป็นเกียรติ” เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟกล่าว “พระเจ้าทรงแสดงความรักต่อเรา และเราสามารถแสดงความรักต่อพระเจ้าโดยทำสิ่งใดก็ตามที่ทรงขอให้เราทำ”

ประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์

การเป็นส่วนหนึ่งของสภาสูงสัญจรเป็นประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ เอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นกล่าว “เมื่อเราแสดงประจักษ์พยาน ประจักษ์พยานนั้นเข้าไปในใจผู้คน ส่วนหนึ่งเพราะการวางมือแต่งตั้งเรา”

เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันกล่าวว่าในการปฏิบัติศาสนกิจช่วงแรกในฐานะอัครสาวก ท่านรู้สึกหนักใจกับความคาดหวังตามที่ได้รับรู้มา แต่จากนั้นท่านได้รับข่าวสารอันเรียบง่ายจากพระเจ้าว่า “ลืมเรื่องของตัวเองและสิ่งที่คนอื่นอาจคิดเกี่ยวกับเจ้า ไม่ว่าพวกเขาจะประทับใจหรือผิดหวังหรืออะไรก็ตาม เน้นเฉพาะสิ่งที่เราต้องการประทานแก่พวกเขาผ่านเจ้าก็พอ เน้นสิ่งที่เราต้องการให้พวกเขาได้ยินผ่านเจ้า”

หลายปีก่อน เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันไปเยือนเมืองเมริดา เวเนซุเอลา เด็กชายคนหนึ่งน่าจะอายุ 7 ขวบเห็นท่านทางหน้าต่างและเริ่มตะโกนว่า “El Apostol, el Apostol!” (“อัครสาวก อัครสาวก”)

“นั่นเป็นเหตุการณ์ธรรมดามาก แต่แสดงให้ผมเห็นความชื่นชมอย่างสุดซึ้งต่อการเรียกนั้นที่แม้กระทั่งเด็กก็มี” ท่านกล่าว “ไม่เกี่ยวกับคนที่ดำรงการเรียก เด็กคนนั้นรู้ระดับความชื่นชมต่อการเรียกและรู้ว่าการเรียกนั้นแทนอะไร”

ภาพ
Elder Stevenson; Elder Renlund; Elder Gong; Elder Soares

เอ็ลเดอร์ราสแบนด์ในอินเดีย เอ็ลเดอร์สตีเวนสันในฮ่องกง เอ็ลเดอร์เรนลันด์ในบราซิล เอ็ลเดอร์กองในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เอ็ลเดอร์ซวาเรสที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์

ภาพถ่ายโดย เวนดีย์ กิบส์ คีเลอร์ (อินเดีย) เคล็บเฮอร์ เท็กซ์ (บราซิล) โมนิกา จอร์จินา อัลวาราโด ซาราเต (เซี่ยงไฮ้) จาเน บิงแฮม (บีวายยู)