2020
ใจหลายดวงถูกทิ่มแทงเป็นแผลลึก: เข้าใจการกระทำทารุณกรรมในครอบครัว
ตุลาคม 2020


ใจหลายดวงถูกทิ่มแทงเป็นแผลลึก: เข้าใจการกระทำทารุณกรรมในครอบครัว

รูปแบบที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ การรับรู้รูปแบบเหล่านี้สามารถเปิดโปงการกระทำทารุณกรรมหรือหยุดยั้งก่อนเริ่ม

ภาพ
upset woman and husband

ภาพถ่ายใช้ผู้แสดงแบบและใช้เป็นภาพประกอบเท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับโทรศัพท์จากพ่อที่ใจสลายคนหนึ่ง เจนนา (นามสมมติ) ลูกสาวของเขาไปอยู่ที่วิทยาลัย มีแฟน และความสัมพันธ์ของพวกเขาก้าวหน้าเร็วมาก เจคแฟนหนุ่มของเธอเร่งแต่งงานและจำกัดการติดต่อสื่อสารของเจนนากับพ่อแม่ของเธอ เจนนาขอโทษพ่อแม่ โดยอธิบายว่านั่นเป็นเพราะเจครักเธอมากและปรารถนาจะใช้เวลาฉันสามีภรรยา

ครอบครัวของเจนนาเป็นกังวลเมื่อพบว่าเจคเคยมีภรรยากับลูกที่เขาไม่ได้บอกเจนนา พวกเขาจึงโทรหาภรรยาเก่าของเจค เธอบอกว่าเจคมีอารมณ์น่ากลัวและขี้หึง เจคโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเมื่อทราบเรื่องนี้ เขาพูดว่าพ่อแม่ของเจนนา “ชอบบงการ” และอ้างตอนที่พ่อแม่ไม่พอใจคำพูดล้อเล่นเชิงเสียดสีของเขาเกี่ยวกับสติปัญญาของเจนนา เจคยืนกรานเชิงแดกดันให้เจนนาตัดสินใจตัดขาดกับพ่อแม่เอง พ่อแม่ของเจนนาสิ้นหวังเมื่อเธอไม่รับโทรศัพท์และไม่ตอบข้อความของพวกเขา

ทุกคนต้องการครอบครัวที่มีความสุข แต่แม้เมื่อพวกเขาพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ความสัมพันธ์ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ ความท้าทายบางอย่างเกิดจากความเข้าใจผิดและความร้าวฉานในครอบครัว แต่ในบ้านที่ดี พวกเขาขอโทษเมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและแก้ไขรอยร้าว ส่วนในสถานการณ์ที่ไม่ดีจะมีความเกรี้ยวกราดหรือการปฏิบัติไม่ดีเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกลายเป็นการกระทำทารุณกรรม

การกระทำทารุณกรรมในบ้านและพระกิตติคุณ

“ท่านทำให้ใจภรรยาผู้ละเอียดอ่อนของท่านชอกช้ำและสูญเสียความไว้วางใจจากลูกๆ ของท่าน” (เจคอบ 2:35)

การกระทำทารุณกรรมประกอบด้วยการกระทำที่เจตนาจะทำร้ายหรือควบคุม ประกอบด้วยพฤติกรรมประเภทหนึ่งที่อาจรวมถึงการปล่อยปละละเลย การใช้อำนาจบาตรใหญ่ การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำพูด และความรุนแรงทางร่างกายหรือความรุนแรงทางเพศ1 น่าเสียใจที่พฤติกรรมทารุณกรรมเกิดขึ้นทั่วไป โดยนักวิชาการบางคนคาดว่าเด็กหนึ่งในสี่ของโลกถูกทารุณทางร่างกาย ทางเพศ หรือทางอารมณ์2 ผู้ใหญ่มีอัตราตกเป็นเหยื่อสูงเช่นกัน ผู้หญิงประมาณ 1 ใน 4 และผู้ชายประมาณ 1 ใน 10 ประสบความรุนแรงทางร่างกายจากคู่สมรส

การกระทำทารุณกรรมเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ชายและหญิงเป็นผู้กระทำผิดได้ทั้งคู่ แต่ผู้ชายมีแนวโน้มชอบบงการ ใช้ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศแสนสาหัส และผู้หญิงมีแนวโน้มถูกคู่สมรสคุกคาม ครอบงำ และทำร้ายอย่างรุนแรง3

การกระทำทารุณกรรมทำลายจิตวิญญาณของทั้งผู้ทำผิดและเหยื่อ และตรงข้ามกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด ศาสดาพยากรณ์สมัยปัจจุบันกล่าวไว้ว่าคนที่ “ทำร้ายคู่ครองหรือบุตรธิดา … วันหนึ่งเขาจะยืนชี้แจงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า”4 ผู้กระทำทารุณกรรมมักเมินเฉยหรือใช้หลักธรรมแห่งพระกิตติคุณเพื่อจุดประสงค์ของตน ตัวอย่างเช่น ผมให้คำปรึกษาสามีภรรยาคู่หนึ่งที่สามีมีความสัมพันธ์ทางใจกับหญิงอื่นและผลาญเงินออมของพวกเขาไปกับการพนัน แทนที่จะขอโทษ เขากลับกดดันภรรยาให้ให้อภัยเขาและยืนกรานว่าเธอมี “บาปใหญ่หลวงกว่า” ถ้าเธอไม่ให้อภัยเขา เขาไม่สนใจความเจ็บปวดของเธอและอ้างว่าเขาถูกต้องกับพระผู้เป็นเจ้าไม่อย่างนั้นเขาคงไม่เป็นเจ้าหน้าที่พระวิหาร เมื่อภรรยาเขาพูดคุยกับผู้นำศาสนจักร เขาทำให้การทรยศของตนกลายเป็นเรื่องเล็กและหาว่าเธอกังวลเกินเหตุ โดยพูดว่าเธอมีภาวะซึมเศร้า สามีกำลังปฏิเสธ “หลักธรรมของ … ความเคารพ ความรัก [และ] ความเห็นอกเห็นใจ”5 และปฏิบัติไม่ดีต่อภรรยา การพยายามดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณของเธอจะไม่แก้ปัญหาที่เขาก่อเราแต่ละคนสามารถอะลุ่มอล่วยให้กับพฤติกรรมที่ไม่ดี มีลักษณะบางอย่างที่พบเห็นทั่วไปในการกระทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ ยิ่งทำแบบนี้รุนแรงและถี่ ความสัมพันธ์จะยิ่งแย่ลง รูปแบบการกระทำทารุณกรรมห้าอย่างต่อไปนี้จะช่วยให้ท่านรับรู้พฤติกรรมที่ไม่ดีในตัวท่านและผู้อื่น

ภาพ
sad little girl

1. การกระทำที่โหดร้าย

“เขาใช้ลิ้นของเขาในการล่อลวง พิษงูร้ายอยู่ใต้ริมฝีปากของเขา … ปากของพวกเขาเต็มไปด้วยคำแช่งด่าอันขมขื่น” (โรม 3:13–14)

ชายคนหนึ่งมาพบผมเพื่อรับการบำบัดขัดกับความประสงค์ของภรรยาผู้เย้ยหยันที่เขา “ต้องการความช่วยเหลือ” ที่โบสถ์เธอเป็นมิตรและจริงใจ แต่ที่บ้านความเย็นชาของเธอปวดแสบเหมือนแส้หวด เธอวิพากษ์วิจารณ์รายได้ของเขาและเรียกอาชีพสอนของเขาว่าเป็น “งานของผู้หญิง” เธอบอกลูกชายเธอว่า “แม่หวังว่าลูกจะไม่กลายเป็นคนขี้ขลาดตาขาวเหมือนพ่อ” และโทรศัพท์หาคุณแม่ของเธอทุกวันซึ่งระหว่างนั้นเธอจะดูถูกสามีของพวกเธอให้กันฟัง คนชอบวิพากษ์วิจารณ์รู้สึกว่าการทำให้เกิดความเจ็บปวดเป็นเรื่องสมควรแล้วและ “ชอบให้คนอื่นๆ ทนทุกข์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:13) สมาชิกครอบครัวเหล่านี้ฝ่าฝืนพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “อย่าพิพากษา” และ “อย่าตัดสินลงโทษ” (ลูกา 6:37) เมื่อพวกเขาดูแคลน แสดงความรังเกียจ หรือเหยียดหยาม

2. การหลอกลวง

“ท่านถูกครอบงำด้วยวิญญาณที่พูดเท็จ, และท่านไม่เอาใจใส่พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 30:42)

การหลอกลวงพบเห็นทั่วไปในการกระทำทารุณกรรมเมื่อผู้กระทำผิดกลบเกลื่อนการกระทำของตน โทษคนอื่น และบิดเบือนคำพูด นี่ทำให้เหยื่อสับสน ตามที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยของผมคนหนึ่งอธิบายว่า “[สามีดิฉันจะ] สติแตกแล้วก็ขอโทษ และพูดต่อจากนั้นว่า ‘ยังไงก็ความผิดของคุณอยู่ดี’ … พูดแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนดิฉันเริ่มเชื่อ”6 การปฏิเสธความจริงเช่นนี้ของอีกฝ่ายเรียกว่าการล้างสมอง และนั่นทำให้เหยื่อสับสนและไม่มั่นใจกับความจำและความเห็นของตน การล้างสมองเหมือนการหลอกลวงแบบอื่นคือใช้เพื่อคุมการสนทนาและทำการเสแสร้ง

คนที่กระทำทารุณกรรมผู้อื่นไม่ยอมรับอย่างหนักแน่นว่าตนทำร้ายผู้อื่นแต่มักจะอ้างว่าตนเป็นเหยื่อ เมื่อเจนนาแสดงความไม่สบายใจที่เจควิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่เธอ เขาโกรธและยืนกรานว่าเธอ “ดูหมิ่น” เขา เจคอยู่ในกลุ่ม “คนเหล่านั้นที่ป่าวร้องการล่วงละเมิด … และพวกเขาเองเป็นลูกของความไม่เชื่อฟัง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:17) เขาไม่เพียงส่งเสริมเรื่องเท็จของตนเท่านั้นแต่ไม่พอใจความจริงด้วย7

ภาพ
man with head in hands

3. ข้อแก้ตัว

“ยอมรับความผิดพลาดของลูกและความผิดนั้นที่ลูกทำไป” (แอลมา 39:13)

คนอ่อนน้อมถ่อมตนรู้สึกเสียใจที่ทำร้ายผู้อื่น กลับใจ และทำดีขึ้น คนที่กระทำทารุณกรรมขัดขืนเสียงร้องของมโนธรรมด้วยข้อแก้ตัว ตามที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยคนหนึ่งของผมจำได้ “ผมรู้สึกแย่มากกับการกระทำทารุณทางร่างกาย แต่ต่อมาผมจะคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นถ้าเธอจะแค่หุบปาก” “โทมนัส [ของเขา] หาใช่เพื่อการกลับใจ” (มอรมอน 2:13) แทนที่จะกลับใจ เขากลับโกรธแค้นและโทษคนอื่น

ในการบำบัด ผมเคยบอกภรรยาคนหนึ่งว่าผมไม่เคยเห็นเธอแสดงความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่เธอวิพากษ์วิจารณ์สามีมาหลายปี คำตอบของเธอไม่ใช่ความเสียใจแต่เป็นความโกรธ “อ๋อ นี่เป็นอีกอย่างที่ดิฉันจะไม่ทำ!” คนกระทำทารุณกรรมปฏิเสธความรับผิดชอบ ขี้โมโห และเข้าข้างตัวเอง พวกเขาขุ่นเคืองง่ายกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

4. ความจองหอง

“จงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัวด้วยใจถ่อม” (ฟีลิปปี 2:3)

ความจองหองรวมถึงการหลงตัวเองและเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ชายคนหนึ่งตะคอกใส่ภรรยากับลูกทุกครั้งที่เขาคิดว่าคนเหล่านั้น “ไม่เคารพ” เขา ถ้าความเห็นของคนเหล่านั้นไม่ตรงกับของเขา แสดงว่ากำลัง “หมิ่น” เขา หรือ “ไม่เชื่อฟัง” ความจองหองคือชิงดีชิงเด่น จ้องจะใช้อำนาจและเอาชนะ ในทางกลับกัน ครอบครัวที่ดีจะร่วมมือกัน มีดุลยภาพของความยุติธรรม และสมาชิก “ปฏิบัติต่อกันอย่างเที่ยงธรรม” (4 นีไฟ 1:2) คู่สมรสควรเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน8 แต่ละฝ่ายมีสิทธิ์พูดและความเห็นของพวกเขามีค่า

5. การควบคุม

“เมื่อเรา … ใช้การควบคุมหรืออำนาจการปกครองหรือการบังคับจิตวิญญาณของลูกหลานมนุษย์, … สวรรค์ย่อมถอนตัว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:37)

แม้เราเห็นค่าของสิทธิ์เสรี แต่น่าแปลกที่บ่อยครั้งสมาชิกครอบครัวบอกกันบ่อยเหลือเกินว่าต้องคิด รู้สึก และทำอย่างไร บางคนถึงกับควบคุมผ่านการข่มขวัญ การทำให้อาย การถอนความรัก หรือการข่มขู่ สามีคนหนึ่งมีความคาดหวังตายตัวว่าภรรยาควรเตรียมอาหารเช้าทุกวันตามเวลา ทำตามที่เขาขอ และฟัง “ข้อกังวล” ของเขาซึ่งมักเกี่ยวกับวิธีที่เธอจะปรับปรุงได้ดีขึ้น เขาสอนเธอเรื่องการใช้จ่ายและโกรธถ้าเธอไม่ตอบข้อความของเขาทันที

มารดาอีกคนหนึ่งแสดงความผิดหวังทุกครั้งที่ลูกสาววัยรุ่นทำหน้าเศร้าหรือไม่ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของมารดา ถ้าไม่บรรลุความคาดหวัง หรือถ้าสามีเธอแสดงความกังวล เธอจะปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเย็นชา

ภาพ
holding hands

ความหวังและการเยียวยา

“เราได้ยินคำอธิษฐานของเจ้าแล้ว เราได้เห็นน้ำตาของเจ้าแล้ว ดูสิ เราจะรักษาเจ้า” (2 พงศ์กษัตริย์ 20:5)

ถึงแม้การกระทำทารุณกรรมทำให้ใจสลาย แต่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ เหยื่อสามารถติดต่อแหล่งช่วยทางวิญญาณและจากผู้เชี่ยวชาญ และแสวงหาพลังการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเยียวยาบาดแผลของพวกเขา ขอความช่วยเหลือได้ที่ abuse.ChurchofJesusChrist.org

คนที่เคยกระทำทารุณกรรมต้องกลับใจและขอความช่วยเหลือ ซึ่งเรียกร้องให้ไป “สู่ห้วงลึกแห่งความถ่อมตน” (3 นีไฟ 12:2) และยอมรับผิดชอบพฤติกรรมทั้งหมดของตน การเปลี่ยนแปลงใช้มากกว่าคำสัญญาระยะสั้นและความพยายามเพียงผิวเผิน ความเจ็บปวดของการกลับใจจริงจะบีบคั้นจิตวิญญาณ และบางคนจะไม่ยอมกลับใจ ซึ่งทำให้เหยื่อต้องอยู่กับการตัดสินใจยากๆ ว่าจะป้องกันตัวเองอย่างไร9

พระบิดาบนสวรรค์ทรงห่วงใยเราเหมือนบิดาที่กลัดกลุ้มคนหนึ่งโทรมาหาผมเรื่องบุตรสาวของเขา ความรักของพระผู้เป็นเจ้า “กว้างประดุจอนันตกาล” (โมเสส 7:41) และทรงเจ็บปวดสุดแสนเมื่อบุตรธิดาของพระองค์ทำร้ายกัน ในการสนทนาที่อ่อนโยนกับเอโนค พระองค์ทรงกันแสง “พี่น้องเหล่านี้ของเจ้า; พวกเขาคือหัตถศิลป์จากมือเราเอง, … และ [เรา] ให้บัญญัติไว้ด้วย, ว่าพวกเขาจะรักกัน, … แต่ดูเถิด, พวกเขาปราศจากความรัก, และพวกเขาเกลียดชังสายโลหิตของตนเอง” (โมเสส 7:32–33) มีการร่ำไห้ในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกเมื่อร่างกายและจิตวิญญาณบาดเจ็บ ทว่าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า และความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นจากผู้เชี่ยวชาญ การหยุดพฤติกรรมที่เป็นภัยและสร้างบ้านที่มีศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และความรักย่อมเกิดขึ้นได้

อ้างอิง

  1. ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรุนแรงทางร่างกายที่ abuse.ChurchofJesusChrist.org. ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประทุษร้ายและการกระทำทารุณกรรมทางเพศที่ Benjamin M. Ogles, “Agency, Accountability, and the Atonement of Jesus Christ: Application to Sexual Assault” (การให้ข้อคิดทางวิญญาณที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 30 ม.ค. 2018), speeches.byu.edu; และ Chieko N. Okazaki, “Healing from Sexual Abuse” (การประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์ 23 ต.ค. 2002)

  2. ดู Maryam Ajilian Abbasi, Masumeh Saeidi, Gholamreza Khademi, Bibi Leila Hoseini, Zahra Emami Moghadam, “Child Maltreatment in the World: A Review Article,” International Journal of Pediatrics, vol. 3, no. 1 (2014), 353–65.

  3. ดู Hamby, S., “Current controversies: Are women really as violent as men? The ‘gender symmetry’ controversy” ใน Claire M. Renzetti, Jeffrey L. Edleson, and Raquel Kennedy Bergen, Sourcebook on Violence Against Women, 3rd ed. (2018), 78–82.

  4. “ครอบครัว ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 145; ดู abuse.ChurchofJesusChrist.org ด้วย.

  5. “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก.”

  6. Jason B. Whiting, Megan Oka, and Stephen T. Fife, “Appraisal distortions and intimate partner violence: Gender, power, and interaction,” Journal of Marital and Family Therapy (2012), suppl: 1:113–49.

  7. ดูตัวอย่างอื่นในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการไม่พอใจความจริงใน ยอห์น 3:19–21; กิจการ 7:54; 2 นีไฟ 1:25–26; และ 2 นีไฟ 4:13.

  8. ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”; ดู H. Burke Peterson, “Unrighteous Dominion,” Ensign, July 1989, 6–11 ด้วยเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องความเสมอภาคและคำถามให้พิจารณาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบพันธสัญญา

  9. ผู้อยู่ในสถานการณ์ที่มีการกระทำทารุณกรรมมักต้องเผชิญกับการเลือกว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยของตนหรือของผู้อื่นอย่างไร และพวกเขาต้องกำหนดขอบเขตหรือจำกัดการปฏิสัมพันธ์กับคนที่ทำร้ายพวกเขาหรือไม่ ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) พูดถึงสถานการณ์ยากๆ นี้เมื่อมีคนติดอยู่ใน “ความสัมพันธ์อันยืดเยื้อซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้อีกและทำลายศักดิ์ศรีของบุคคลในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง” (“เติมความสุขให้ชีวิตสมรสของท่าน,” เลียโฮนา, เม.ย. 2007, 3); ดูหมวด “Help for Victims” บนเว็บไซต์การป้องกันการกระทำทารุณกรรมของศาสนจักรเพื่อหาข้อมูลและทางเลือกเพิ่มเติมด้วย