2021
รวมกันหรือแยกจากกัน
มิถุนายน 2021


สูงวัยอย่างมีศรัทธา

รวมกันหรือแยกจากกัน

ท่านจะกระชับความสัมพันธ์หรือยอมให้ความสัมพันธ์อ่อนแอลง เมื่อลูกๆ ของท่านเติบโตและย้ายออกไปแล้ว?

ภาพ
couple walking on beach

ภาพถ่ายจาก Getty Images

ขณะที่ผมให้คำปรึกษาคู่สามีภรรยาที่ไม่มีลูกอาศัยอยู่ในบ้านอีกต่อไป พวกเขามักจะอธิบายถึงประสบการณ์ “รังว่าง” ในลักษณะนี้ “ลูกๆ ย้ายออกไปเร็วมากจนเราไม่ทันตั้งตัว! ดูเหมือนว่าเราเพิ่งรอให้ลูกคนแรกมาถึง ทันใดนั้นลูกๆ ก็เติบโตและจากไป หลายปีผ่านไปไวมาก! ตอนนี้เรามองตากันแล้วพูดว่า ‘เรามีอะไรที่เหมือนกันบ้าง?’”

ไม่มีรายการวิเศษ

ท่านอาจกำลังคิดว่า “บทความนี้คือสิ่งที่ฉันต้องการเป๊ะเลย!” หรือ “นี่คือสิ่งที่คู่สมรสของฉันต้องการเลยล่ะ!” ท่านอาจปรารถนาจะได้รับรายการคำแนะนำใหม่ๆ เกี่ยวกับวิธีรับมือกับชีวิตเมื่อลูกๆ ย้ายออกไปแล้ว แต่นี่คือความจริงที่ผมค้นพบในช่วงหลายปีของการให้คำปรึกษากับคู่สามีภรรยา โดยส่วนใหญ่ รายการสิ่งที่ต้องทำแบบสร้างสรรค์หรือวิธีเชื่อมความสัมพันธ์กันอีกครั้งแทบจะไม่ได้ผลในระยะยาว เว้นแต่จะมีความผูกพันทางอารมณ์ที่พึ่งพาได้

ไม่ว่าเราจะอาศัยอยู่ในอูลานบาตอร์ มองโกเลีย หรือเซาเปาลู บราซิล เราทุกคนล้วนเป็นบุตรและธิดาของพระเจ้า เราคือมนุษย์และมีอารมณ์ความรู้สึก เราอาจแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมและการเลี้ยงดู แต่เราต่างก็มีอารมณ์ความรู้สึก—ทั้งความโดดเดี่ยว การปฏิเสธ ความกลัว ความเศร้า ความสุข และปีติ แม้แต่ในวัฒนธรรมที่ครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านร่วมกันในหลายช่วงวัย เมื่อเด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ พ่อแม่ของพวกเขามักจะห่างเหินกันไป

คู่สามีภรรยาที่รังว่างเปล่ามักจะพูดกับผมว่า “เราไม่มีอะไรเหมือนกันอีกแล้ว” และหากพวกเขามองเฉพาะสิ่งที่คนๆ หนึ่งชอบทำกับสิ่งที่อีกคนต้องการทำ คำกล่าวนั้นก็ถูกต้อง หากไม่มีความผูกพันทางอารมณ์ เราสามารถอยู่ในห้องเดียวกันกับสามีภรรยาของเราและยังรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่

ดังนั้นคู่สามีภรรยาจะทำอย่างไรได้เพื่อหันหน้าเข้าหากันแทนที่จะหันหน้าออกจากกัน? เรามาเริ่มกันโดยพูดถึงภูมิหลังก่อน

ภูมิหลังส่งผลต่อชีวิตสมรส

เราทุกคนมาจากภูมิหลังที่ต่างกัน เรามีประสบการณ์กับพ่อแม่ พี่น้อง ครอบครัวใหญ่ เพื่อน และเพื่อนร่วมงานที่หล่อหลอมสิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราคาดหวังจากการแต่งงาน ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เราเติบโต ผู้ดูแลของเรามีความใกล้ชิดหรือห่างเหินทางอารมณ์? จากภูมิหลังของเรา เราสามารถถามคำถามสำคัญสองข้อ คือ

  • เราเต็มใจผูกพันทางอารมณ์กับคู่สมรสของเรามากเพียงใด?

  • เราเต็มใจปล่อยให้คู่สมรสของเราเข้ามาในพื้นที่ทางอารมณ์ของเราหรือไม่?

เมื่อเรามุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมของคู่สมรสแทนที่จะสนใจประวัติว่าเหตุใดพฤติกรรมนั้นจึงเกิดขึ้น เรามักจะสร้างความไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงและละทิ้งพฤติกรรมที่อ่อนโยนและน่ารักออกไป การมีความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจในยามยากลำบากที่คู่สมรสของเราประสบในช่วงที่พวกเขาเติบโตมักจะปลูกฝังความปรารถนาที่จะสนับสนุนมากขึ้น ความเห็นอกเห็นใจ ความนุ่มนวล และความอ่อนโยน ช่วยสร้างพื้นฐานอันเกิดผลในการแบ่งปันอารมณ์ได้ การเรียนรู้ที่จะพูดถึงความรู้สึกกับคู่สมรสของเราเป็นตัวเร่งไปสู่การสร้างความปลอดภัยทางอารมณ์และการเชื่อมโยงกัน

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้คำแนะนำว่า “สื่อสาร อย่างดีกับคู่ครองของท่าน … คู่สามีภรรยาต้องการเวลาส่วนตัวเพื่อสำรวจ พูดคุย และตั้งใจฟังกัน”1

แปะฉลาก รู้สึก รับทราบ และแบ่งปัน

แม้ว่าจะแต่งงานมานานหลายปี แต่การที่ต้องรับรู้ปัญหาที่ละเอียดอ่อนร่วมกันก็อาจเป็นเรื่องยากได้ ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนที่ทำให้การรับมือกับปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องง่ายขึ้น

  1. แปะฉลากอารมณ์ของท่านไว้ เขียนชื่ออารมณ์ลงไป เช่น “ความสิ้นหวัง” “การคาดหวัง” หรือ “ความกระตือรือร้น”

  2. รู้สึกถึงความรู้สึกเหล่านั้น จงช้าลงหน่อย ถามว่า “ฉันสังเกตเห็นความรู้สึกได้ที่ไหนและเมื่อใด?”

  3. รับรู้ความรู้สึกเหล่านั้น อารมณ์ต่างๆ มีจุดประสงค์ในตัวเอง อย่าทำให้ตนเองหรือคู่ครองอับอายในเรื่องการมีความรู้สึก แต่ให้แสวงหาความช่วยเหลือและการทรงนำจากพระบิดาบนสวรรค์แทน

  4. แบ่งปันความรู้สึกเหล่านั้น เมื่อท่านแบ่งปันอารมณ์กับคู่สมรส การกระทำเช่นนั้นมักจะดึงดูดให้ท่านทั้งสองเข้าใกล้กันมากขึ้น เราอ่านในหัวข้อพระกิตติคุณว่า “คู่สามีภรรยาสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับการแต่งงานได้เมื่อพวกเขาใช้เวลาพูดคุยและรับฟังกัน เอาใจใส่ และให้ความเคารพ และแสดงออกถึงความรู้สึกอ่อนโยนและความรักบ่อยครั้ง”2

คู่สามีภรรยาในวัยต่างๆ เสริมสร้างความสัมพันธ์ของพวกเขาในขณะที่พวกเขาเรียนรู้ที่จะระบุ รับรู้ เข้าใจ และพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์ร่วมกัน การประยุกต์ใช้หลักการที่ได้รับการดลใจสองข้ออาจเป็นประโยชน์ได้แก่ (1) “สามีและภรรยามีความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกัน” และ (2) สามีและภรรยาต้อง “มีหน้าที่ช่วยเหลือกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน”3

ใช้ “การเริ่มต้นสนทนาอย่างนุ่มนวล”

ภาพ
elderly couple holding hands

ดร.จอห์น ก็อตแมน นักวิจัยการแต่งงานที่มีชื่อเสียง ตระหนักดีว่าหัวใจสำคัญของชีวิตแต่งงานที่ดีคือความสามารถในการพูดคุยและทำงานร่วมกันผ่านหัวข้อและอารมณ์ที่ยากลำบาก เขาพัฒนารูปแบบที่เขาเรียกว่า “การเริ่มต้นสนทนาอย่างนุ่มนวล” คู่สามีภรรยาที่มีปัญหาจะค่อยๆ ตีกรอบเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกังวลแทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์คู่สมรสอีกฝ่าย มีทั้งหมดสี่ส่วน ได้แก่

  1. แสดงออกว่าท่านรู้สึกอย่างไร ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของท่านมากกว่าสิ่งที่ผู้อื่นกำลังทำหรือพูด ตัวอย่างเช่น: “ฉันกังวล เป็นห่วง กลัว หรือหวาดหวั่น” แสดงความรู้สึกของท่านด้วยข้อความที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” เช่น “ฉันรู้สึก …”

  2. พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่าง พยายามพูดให้ชัดเจนและตรงประเด็น หลีกเลี่ยงการประเมินหรือตัดสินคู่สมรสของท่าน พูดถึงสิ่งที่ท่านประสบมาเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว และความรู้สึกที่เกี่ยวข้องของท่าน

  3. ระบุถึงความต้องการเชิงบวก อธิบายสิ่งสำคัญต่อท่านในความสัมพันธ์ ขอให้คู่สมรสของท่านทำตามขั้นตอนเชิงบวกเพื่อตอบรับความต้องการของท่าน ขออย่างสุภาพ การกล่าวว่า “โปรด” หรือ “ฉันจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง” เป็นคำที่มีอิทธิพลมาก

  4. แสดงความขอบคุณ ชื่นชมคู่สมรสของท่านในสิ่งที่ได้ผลกับท่าน

การบาดเจ็บจากความผูกพันทางอารมณ์

พวกเราส่วนใหญ่รู้สึกซาบซึ้งใจหรือโหยหาความผูกพันทางอารมณ์กับคู่สมรสของเราอย่างยิ่ง ดังที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “ในองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ชายก็ขาดผู้หญิงไม่ได้ และผู้หญิงก็ขาดผู้ชายไม่ได้” (1 โครินธ์ 11:11) หากเราเอื้อมออกไปหาคู่สมรสตามความต้องการ แม้ว่าคู่สมรสของเราจะไม่ว่างหรือไม่สามารถปลอบโยนเราได้ก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่เราอาจประสบกับสิ่งที่ดร. ซู จอห์นสันเรียกว่าการบาดเจ็บจากความผูกพันทางอารมณ์ การบาดเจ็บเหล่านี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบซึ่งเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ได้แก่

  • การทำร้าย เราเยาะเย้ยและวิพากษ์วิจารณ์คู่สมรสของเราเพราะไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วยข้อความที่ชัดเจน เช่น “คุณไม่เคยอยู่ที่นั่นเพื่อฉันเลย สิ่งที่ฉันต้องการไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับคุณหรอก”

  • การทำให้พอใจ เราเห็นด้วยกับความเห็นของคู่สมรสของเรา หวังว่าการสนทนาจะไม่ยืดยาวไปเรื่อยๆ หรือรุนแรงขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรได้รับการแก้ไขและผลลัพธ์มักจะเป็นการสะสมความไม่พอใจเอาไว้

  • การปกป้อง เราจัดหาหลักฐานดังเช่นทนายความในห้องพิจารณาคดีว่าเหตุใดเราจึงมีความชอบธรรมในปฏิกิริยาของเราในสภาวการณ์ปัจจุบัน

  • การถอนตัว เราถอยออกห่างจากกันและเงียบไป เรารักษาระยะห่างและพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่มีการเชื่อมโยงที่มีความหมาย

  • การใฝ่หา เราต้องการการเชื่อมต่ออย่างมากจนถามคำถามเรื่อยๆ เรียกร้องคำตอบ ขอคำมั่นสัญญา และพยายามควบคุมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ไม่ใช่เพื่อความสัมพันธ์ แต่เพื่อบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดของเรา

ปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ได้ผิดปกติเมื่อเรารู้สึกว่าเราสูญเสียความผูกพันกับคนที่เรารัก แต่ก็อันตรายเพราะปฏิกิริยาเหล่านั้นสามารถสร้างวงจรที่ไม่ดีขึ้นได้ ขั้นแรก การบาดเจ็บจากความผูกพันทางอารมณ์ ข้อที่สองปฏิกิริยาเชิงลบ จากนั้นเป็นปฏิกิริยาเชิงลบต่อปฏิกิริยาแรก และเป็นเช่นนั้นวนไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีนี้ คู่สมรสแต่ละคนจะมีส่วนร่วมและได้รับบาดเจ็บจากวงจรนั้น

ความใกล้ชิดทางร่างกายและอารมณ์

ภาพ
couple in Hong Kong

แน่นอนว่า ความใกล้ชิดเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแต่งงาน ในความเป็นจริงอาจกล่าวได้ว่าความใกล้ชิดเป็นองค์ประกอบ หลายแง่มุมของการแต่งงาน ความรู้สึกใกล้ชิดกัน มีการสัมผัสทางร่างกายแบบจริงๆ และความรู้สึกถึงการเชื่อมต่อทางอารมณ์ที่แรงกล้าล้วนสัมพันธ์กัน

ความใกล้ชิดทางอารมณ์ส่งเสริมการเชื่อมต่อและความใกล้ชิดที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางเพศแน่นแฟ้นและดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคู่สามีภรรยาที่มีความต้องการทางเพศต่ำในการมีเพศสัมพันธ์ หากเขาหรือเธอรู้สึกผูกพันทางอารมณ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ในแง่นี้การเชื่อมต่อทางอารมณ์อย่างสม่ำเสมอและมีความหมายทำให้เกิดความปลอดภัยสำหรับความสัมพันธ์ทางเพศ

เมื่อเราอายุมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางเพศอาจกลายเป็นเรื่องยากขึ้น ในบางกรณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักบำบัดที่มีใบประกอบวิชาชีพสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกและความช่วยเหลือได้ แต่ผมเชื่อว่าการรักษาการสัมผัสทางกายผ่านสิ่งง่ายๆ อย่างการจูบราตรีสวัสดิ์ จับมือกันเป็นประจำ หรือกอดกันด้วยความรักอาจคุ้มค่าอย่างยิ่ง

รายการที่ดีกว่า

ภาพ
two birds sitting in a nest

ภาพประกอบโดย แคโรลีน วิบเบิร์ต

ในตอนนี้หากท่านยังคงต้องการให้มีรายการสิ่งที่สร้างสรรค์ที่ต้องทำ หรือวิธีเชื่อมต่อถึงกันอีกครั้งในช่วงรังว่างเปล่า ต่อไปนี้คือข่าวดี: เมื่อท่านสองคนยังคงเชื่อมต่อกันทางอารมณ์หรือกลับมาเชื่อมต่อกันทางอารมณ์อีกครั้ง การสร้างรายการที่ท่านทั้งคู่สามารถมีส่วนร่วมด้วยกันจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก ซึ่งจะเป็น รายการ ของท่านเอง และเนื่องจากท่านเป็นผู้สร้างรายการ ท่านจึงมีแนวโน้มที่จะทำตามรายการนั้นมากขึ้น คู่สามีภรรยาที่สร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นมักจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและสามารถหาทางออกสำหรับชีวิตแต่งงานของพวกเขาได้โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลัง งานอดิเรก ความสนใจ หรือกิจกรรมอื่นๆ

อ้างอิง

  1. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “บำรุงเลี้ยงชีวิตแต่งงาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 46.

  2. “Marriage,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org

  3. “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org