2022
การหายดีจากความบอบช้ำในความสัมพันธ์
สิงหาคม 2022


“การหายดีจากความบอบช้ำในความสัมพันธ์,” เลียโฮนา, ส.ค. 2022.

การหายดี จากความบอบช้ำในความสัมพันธ์

หากเราได้รับบาดแผลจากความสัมพันธ์ เราสามารถพบพลังเพื่อให้พระเจ้าทรงมีชัย

ภาพ
ผู้หญิงกำลังถือภาพหัวใจ

ภาพประกอบโดย เอลีส วีลี

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “วิญญาณในเราแต่ละคนต้องการให้ครอบครัวเรารักกันชั่วนิรันดร์”1 ความปรารถนาในการเชื่อมต่อนิรันดร์นี้กับผู้อื่นฝังแน่นอยู่ในวิญญาณของเรา แต่บางครั้งเนื่องจากความบอบช้ำในความสัมพันธ์ เราจึงไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถมีความสัมพันธ์นิรันดร์เหล่านี้ รวมถึงการแต่งงานซีเลสเชียลได้ ในความสัมพันธ์ที่ดี เราสามารถเปิดเผยและแสดงความอ่อนแอออกมาได้ อย่างไรก็ตาม เราอยู่ในโลกที่ล่มสลาย และความสัมพันธ์ก็ไม่ได้ดีเสมอไป ผู้ที่ได้รับบาดแผลทางอารมณ์และวิญญาณอย่างฝังลึกในความสัมพันธ์ แม้ว่าจะนานมาแล้ว มักจะสงสัยว่าพวกเขาจะแสดงความอ่อนแอและเปิดใจที่จะแบ่งปันความรักกับบุคคลอื่นอีกครั้งได้หรือไม่

แคสซี่ประสบกับเรื่องนี้หลังจากคบกับไบรอันมาเป็นเวลาหนึ่งปี โชคร้ายที่ไบรอันกระทำทารุณกรรมกับเธอ แคสซีไม่รู้ว่ามันส่งผลกระทบกับเธอมากเพียงใดจนกระทั่งหลังจากที่เธอออกจากความสัมพันธ์นั้นได้ ตั้งแต่นั้นมา แคสซีรู้สึกหดหู่ ไม่เชื่อในความคิดของตัวเอง และไม่สามารถไว้ใจให้คนอื่นช่วยเหลือเธอได้ เธอมักใช้กลไกป้องกันตัวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับบาดเจ็บอีกครั้งและจัดการความรู้สึกราวกับว่าคนอื่นโกรธเธอหรือจะทิ้งเธอไป บางครั้งเธอก็ผลักคนอื่นออกไปโดยไม่รู้ตัวหรือกลายเป็นคนที่เรียกร้องในความสัมพันธ์ การป้องกันเหล่านี้ทำให้เธอเข้าถึงหรือรู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นได้ยาก หลังจากพูดคุยกับบุคคลอันเป็นที่รักและผู้ให้คำปรึกษา แคสซีก็รับรู้ถึงความบอบช้ำของเธอและความต้องการหายดี—และการหายดีนั้นเกิดขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป

ไม่ว่าท่านจะเคยประสบกับความสัมพันธ์แบบเดียวกันกับแคสซีหรือรูปแบบความสัมพันธ์ที่บอบช้ำทางใจแบบอื่น ท่านยังมีความหวัง ท่านสามารถหายดีและพบความสุขที่เกิดจากการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจได้เมื่อท่านพูดคุยถึงขั้นตอนหรือแนวคิดบางส่วน ขั้นแรก ให้ตระหนักถึงความบอบช้ำของความสัมพันธ์ในชีวิตท่าน สอง หันไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เพื่อรับการเยีบวยา สาม เรียนรู้ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับตนเองและผู้อื่น รวมถึงการกำหนดขอบเขตที่เหมาะสม

1. ตระหนักถึงความบอบช้ำจากความสัมพันธ์

เมื่อเราได้รับบาดเจ็บสาหัสจนเราไม่เชื่อว่าเราสามารถไว้วางใจตนเองและผู้อื่นได้อีก เราจะเริ่มมองว่าความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่อันตรายมากกว่าจะเป็นที่สำหรับการเรียนรู้ เติบโต และบรรลุศักยภาพสูงสุดของเรา บาดแผลที่ฝังลึกอาจเกิดขึ้นจากการกระทำทารุณกรรมและการทรยศ

การกระทำทารุณกรรม คือการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือการละเลยผู้อื่น ศาสนจักรสอนให้ “ไม่ยอมรับการกระทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ”2 คนที่ถูกกระทำทารุณกรรมมักรู้สึกกลัว ถูกหลอก หรือถูกข่มขู่ และเขาอาจรู้สึกว่าสูญเสียการควบคุมไป รูปแบบต่างๆ ของการกระทำทารุณกรรม ได้แก่

  • อารมณ์: การชี้นำด้านอารมณ์หรือทำลายความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง

  • การเงิน: ระงับหรือควบคุมด้านการเงิน

  • กายภาพ : การใช้กำลังทำร้ายหรือคุกคามร่างกาย

  • ทางเพศ: บังคับให้มีปฏิสัมพันธ์ทางเพศ

  • ทางวิญญาณ: การใช้การควบคุมหรือปกครองความเชื่อทางวิญญาณหรือทางศาสนาของผู้อื่น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:36–37)

การทรยศ คือ การกระทำหรือรูปแบบของพฤติกรรมที่ละเมิดความไว้วางใจและทำให้เราสูญเสียความไว้วางใจในผู้อื่น ตัวเราเอง และแม้แต่พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกหดหู่ ว่างเปล่า เศร้า สิ้นหวัง “ไม่มีค่า” หรือสูญเสีย อาจประกอบด้วย:

  • การละทิ้ง: การปฏิเสธทางอารมณ์หรือทางร่างกาย

  • การผิดสัญญา: แบบแผนของคำสัญญา รวมถึงพันธสัญญาที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่

  • ความไม่ซื่อสัตย์: ดูหมิ่นคู่สมรสเป็นประจำทั้งโดยส่วนตัวหรือในที่สาธารณะ

  • การหย่าร้าง: การยุติพันธสัญญาการแต่งงานซึ่งมักส่งผลให้เกิดความฝันที่แตกสลายและการไร้ซึ่งตัวตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่มีอำนาจ

  • การนอกใจ: การเชื่อมต่อทางอารมณ์หรือทางกายภาพที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลอื่น

  • ความไม่ซื่อสัตย์: หลอกลวงผู้อื่นเป็นประจำ ทำให้พวกเขาไม่รู้ว่าจะเชื่อและไม่เชื่ออะไรจากท่านอีกต่อไป

2. หันไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เพื่อรับการเยียวยา

พระเยซูคริสต์ทรงมีพลังอำนาจในการเยีบวยาบาดแผลทั้งหมด ไม่ว่าบาดแผลนั้นจะลึกเพียงใดผ่านแผนของพระบิดาบนสวรรค์ ขั้นตอนการหายดีนั้นยากและอาจต้องใช้เวลา ในขณะที่เราเจ็บปวด เราอาจโกรธพระบิดาบนสวรรค์ด้วยซ้ำ แม้เราอาจรู้สึกว่าไม่อยากหันไปหาพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มา พระเยซูคริสต์ พระอาจารย์ผู้ทรงเยียวยา เราสามารถหายดีเมื่อเวลาผ่านไปโดยผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

บางครั้งเราอาจเชื่อว่าเราต้องการบรรเทาทุกข์ในทันที แต่การเยียวยาคือกระบวนการที่ต้องใช้เวลา เอเลน เอส. มาร์แชล ดุษฏีบัณฑิตสาขาปรัชญาแบ่งปันว่า “การหายดีนั้นเจ็บปวด… การหายดีเริ่มต้นจริงๆ ต่อเมื่อเราเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างเต็มกำลัง แล้วเติบโตผ่านการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดนั้นด้วยสุดกำลังของวิญญาณเรา สำหรับทุกรางวัลของการเรียนรู้และการเติบโต ความเจ็บปวดย่อมเป็นราคาเสมอ”3

เมื่อเราหายดีผ่านพระเยซูคริสต์ เราจะเติบโต สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และแสวงหาการสนับสนุนจากผู้อื่น รวมถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

เราต้องการพระบิดาบนสวรรค์ขณะที่เราพยายามหายดี เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “วิธีที่ตรงไปตรงมาและทรงพลังที่สุด [ในการเข้าถึงความช่วยเหลือของพระผู้ช่วยให้รอด] คือผ่านการสวดอ้อนวอนด้วยความวางใจพระบิดาบนสวรรค์และนอบน้อมถ่อมตน โดยคำตอบจะมาถึงวิญญาณของท่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์”4

เราสามารถแสดงออกถึงความเจ็บปวดและผลกระทบที่ความเจ็บปวดนั้นมีต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของเราด้วยความจริงใจและนอบน้อมได้ในการสวดอ้อนวอน ขณะสวดอ้อนวอน ให้มองหาพลังแห่งการปลอบโยนและการให้ความกระจ่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความเจ็บปวดอาจไม่หายไป แต่ท่านอาจรู้สึกสบายใจและเข้มแข็งขึ้น

3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี

แม้ว่าความบอบช้ำอาจจำกัดความปรารถนาของเราที่จะมีความสัมพันธ์ แต่ “การเดินทางไปหาพระผู้เป็นเจ้ามักจะพบ [กับผู้อื่น]” เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน ท่านยังเตือนเราด้วยว่า “เราช่วยเหลือตัวเราเองเมื่อเราช่วยเหลือกัน”5 นอกจากนี้ ประธานเนลสันยังสอนว่า “การแต่งงานซีเลสเชียลนำมาซึ่งความเป็นไปได้ที่จะได้รับความสุขมากกว่าความสัมพันธ์อื่น”6 ขณะที่ท่านพยายามพัฒนาความสัมพันธ์ที่สำคัญ แนวคิดสามข้อนี้สามารถช่วยได้

เริ่มกับตัวท่านเอง

เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวท่านเอง ใช้เวลาในการไตร่ตรองและเรียนรู้ที่จะวางใจความคิดและความรู้สึกของท่าน เมื่อท่านมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ท่านจะสามารถรับรู้ถึงคนที่ท่านสามารถเปิดใจให้ได้ เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนวิธีที่เราจะมองเห็นตนเองได้ชัดเจนขึ้นว่า “จงเรียนรู้ที่จะมองตนเองดังที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมองท่าน—เป็นธิดาหรือบุตรล้ำค่าของพระองค์ที่มีศักยภาพอันสูงส่ง”7

สร้างขอบเขตความสัมพันธ์ขึ้นภายในวงกลมแห่งความไว้วางใจ

เราสามารถเรียนรู้ที่จะหายดีได้โดยการสร้างความไว้วางใจในความสัมพันธ์ของเราโดยทั่วไป เมื่อเราพบคนที่สามารถโอบอุ้มความเปราะบางของเราและเห็นอกเห็นใจความรู้สึกของเรา เราสามารถเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเรารู้สึกว่ามีใครบางคนกำลังทำร้ายเรา เราสามารถกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมได้ ซึ่งรวมถึงการรักษาระยะห่างหากจำเป็น และบอกพวกเขาว่าพฤติกรรมของพวกเขาไม่เหมาะสมและเป็นการทำร้ายเรา เมื่อปลอดภัยที่จะทำเช่นนั้น

ขณะที่เราพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทีละเล็กทีละน้อย เราอาจใช้แนวคิดของเป้าหมายขอบเขตเพื่อช่วยให้เรารับรู้และกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมได้ ในระดับภายนอกของเป้าหมาย เราสามารถจัดคนที่เรายึดเหนี่ยวไว้โดยมีระยะห่างทางอารมณ์และทางกายภาพ ซึ่งอาจรวมถึงคนแปลกหน้าหรือผู้ที่ทำร้ายเรา เมื่อเราเคลื่อนไปที่ศูนย์กลางของวงกลม เราอาจไว้วางใจที่จะบอกข้อมูลที่ไม่ละเอียดอ่อนแก่ผู้อื่นเช่น ข้อเท็จจริงพื้นฐาน ที่วงในสุด เราอาจเลือกที่จะแบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมและเพิ่มความละเอียดอ่อนเข้าไปได้

ขณะที่เราพยายามสร้างความไว้วางใจ เราสามารถตั้งใจดูว่าเรารู้สึกว่ามีคนเหมาะจะเข้าสู่เป้าหมายของความเปราะบางของเราในช่วงเวลาหนึ่งอย่างไร และควรแบ่งปันกับพวกเขามากเพียงใด ถ้ามีใครมาทำร้ายเรา เราสามารถย้ายเขาออกไปได้ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะไว้วางใจบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เราสามารถใกล้ชิดกับเขามากยิ่งขึ้น การใช้ความพยายามอย่างมีสติเพื่อเพิ่มผู้คนจำนวนมากขึ้นในวงกลมความไว้วางใจของเราเมื่อเวลาผ่านไปสามารถช่วยให้เราเติบโตและหายดี

พิจารณาแหล่งช่วยเพิ่มเติม

จำไว้ว่าการหายดีจากประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่ส่งเสริมคุณค่าของท่าน “เลือกผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพที่มีชื่อเสียงและมีใบอนุญาตอย่างรอบคอบ ผู้ให้คำปรึกษาควรเคารพสิทธิ์เสรี คุณค่า และความเชื่อของคนที่ขอความช่วยเหลือ ตามจรรยาบรรณแล้วการให้คำปรึกษาระดับมืออาชีพควรผสมผสานคุณค่าเหล่านี้”8 ท่านยังสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในแหล่งช่วยเหล่านี้