2022
ปฏิบัติตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในด้านการเห็นใจและความรัก
สิงหาคม 2022


“ปฏิบัติตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในด้านการเห็นใจและความรัก,” เลียโฮนา, ส.ค. 2022.

คนหนุ่มสาว

ปฏิบัติตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในด้าน การเห็นใจและความรัก

เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระชนม์ชีพและคำสอนของพระเยซูเกี่ยวกับการเห็นใจและการรักผู้อื่นให้มากขึ้น

ภาพ
พระเยซูคริสต์ประทับและทรงกันแสง

พระเยซูทรงกันแสง โดย เจมส์ ทิสซอท

ข้อที่สั้นที่สุดในพระคัมภีร์ทั้งหมดประกอบด้วยคำสองคำคือ “พระเยซูทรงกันแสง” (ยอห์น 11:35) นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์ที่พระเยซูทรงกันแสง แต่มีบางอย่างที่สำคัญมากเกี่ยวกับเหตุผลที่พระองค์ทรงกันแสงใน ยอห์น 11 และท่านอาจพลาดเหตุผลนี้ไปได้ง่าย

เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ลาซารัสซึ่งเป็นสหายของพระเยซูล้มป่วยและเสียชีวิตขณะพระเยซูไม่อยู่ สองสามวันต่อมา พระเยซูทรงเดินทางไปที่บ้านของลาซารัสเพื่อชุบชีวิตลาซารัสให้ฟื้นจากความตาย ทรงพบกับมารธาและมารีย์ซึ่งเป็นพี่สาวที่เศร้าโศก มารีย์กราบแทบพระบาทของพระเยซูและกล่าวว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่ น้องชายของข้าพระองค์ก็คงไม่ตาย” (ยอห์น 11:32) ยอห์นบอกเราว่า “เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นมารีย์ร้องไห้ และพวกยิวที่ตามมาก็ร้องไห้ด้วย พระองค์สะเทือนพระทัย…ทรงเป็นทุกข์” และ “ทรงกันแสง” (ยอห์น 11:33, 35)

ดูเหมือนพระเยซูไม่ได้ทรงกันแสงเพราะสูญเสียลาซารัสไป เพราะพระองค์ทรงทราบเรื่องการตายของลาซารัสมาหลายวันแล้วและกำลังวางแผนจะชุบชีวิตเขาขึ้นในไม่ช้า (ดู ยอห์น 11:4, 14–15, 17) แต่ตรงกันข้าม พระเยซูทรงกันแสงให้กับความเจ็บปวดที่มารีย์ มาร์ธา และคนอื่นๆ กำลังประสบอยู่ ความเจ็บปวดที่พระองค์ทรงทราบว่าจะหายไปภายในไม่กี่นาที แต่นั่นยังคงเป็นเรื่องจริงสำหรับพวกเขาในขณะนั้น

พระเยซูทรงกันแสงเพราะความเห็นใจ

ความเห็นใจ คือ ความสามารถในการเข้าใจและแบ่งปันความรู้สึกของผู้อื่น และเนื่องจากความเห็นใจเป็นคุณลักษณะหนึ่งของพระคริสต์ ความเห็นใจจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรพยายามทำความเข้าใจ ฝึกฝน และแสดงออกให้ดีขึ้น ผู้ที่มีความเห็นใจจะเพิ่มพูนความสามารถในการรักและรับใช้ผู้อื่นตามความต้องการของพวกเขา ในแง่นี้ การมีอุปนิสัยดังกล่าวช่วยเราเสาะแสวงหาที่จะ “เอื้อมมือช่วยเหลือ” แบบพระผู้ช่วยให้รอดและสร้างความสามัคคีตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่ง1

แล้วเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระชนม์ชีพและคำสอนของพระเยซูเกี่ยวกับความเห็นใจและการรักผู้อื่นให้มากขึ้น?

1. พระเยซูเข้าพระทัยคนชายขอบ

ตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ พระเยซูทรงมีความสัมพันธ์พิเศษกับคนชายขอบในสังคม ได้แก่ คนยากจน คนทุกข์ยาก คนแปลกหน้า และคนอื่นๆ ที่มักถูกเมินหรือถูกดูหมิ่น—“คนใดคนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุด” ตามที่พระองค์ตรัสถึงพวกเขาในพระกิตติคุณของมัทธิว (มัทธิว 25:40) แต่พระองค์ไม่เพียงปรนนิบัติบุคคลเหล่านี้เท่านั้น— พระองค์ทรงเห็นพระองค์เองอยู่ในพวกเขา ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ว่าการทำดีแก่บุคคลเช่นนั้น “ก็เหมือนทำกับเราด้วย”

ลองคิดเรื่องนี้สักครู่ พระผู้สร้างจักรวาลผู้ยิ่งใหญ่ พระบุตรของพระเจ้า และพระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ บุคคลที่มีเหตุผลทั้งหมดในโลกในการมองเห็นพระองค์เองเหนือผู้อื่น แต่พระองค์กลับทรงเป็นผู้ที่ถ่อมองค์และเปราะบางที่สุดในบรรดามนุษย์2

เพราะอะไรหรือ?

นอกจากความรักที่พระองค์ทรงมีต่อทุกคนแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าพระเยซูผู้ทรงเป็นมรรตัยพระองค์เองทรงเป็นคนชายขอบ พระองค์เกิดมาเป็นชนกลุ่มน้อยในจักรวรรดิโรมันและเป็นคนยากจน สมัยเป็นเด็กพระองค์ถูกบังคับให้หนีไปต่างประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยเพื่อหนีความตาย (ดู มัทธิว 2:1–15) ประชาชนของพระองค์บางคนปฏิเสธพระองค์ และในที่สุดพระองค์จึงตกเป็นเหยื่อของการกดขี่แทรกแซงจากรัฐบาล (ดู มาระโก 15:15; ยอห์น 1:11) ตั้งแต่วันที่พระองค์ประสูติจนถึงวันที่พระองค์สิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงเป็นหนึ่งใน “คนหนึ่งที่เล็กน้อยที่สุด” (มัทธิว 25:40)

การเห็นพระองค์เองเป็นคนชายขอบทำให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เราพิจารณาความสัมพันธ์ของเราเองกับคนเหล่านั้นที่เสียเปรียบ ผู้พลัดถิ่น หรือแปลกแยกในทุกวันนี้ เรามองว่าตนเองเหนือกว่าพวกเขาหรือไม่? หรือเราเห็นพวกเขาตามที่พระเยซูทรงเห็นว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเราในฐานะพี่น้องฝ่ายวิญญาณหรือไม่? เราถามตนเองไหมว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเรื่องราวของพวกเขาเป็นเรื่องราวของเรา?3 เราสวดอ้อนวอนให้เข้าใจและรักพวกเขาไหม? และเรารับใช้พวกเขาเพื่อเป็นการแสดงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอดของเราซึ่งอยู่ในพวกเขาหรือไม่?

2. พระเยซูทรงพยายาม

การเห็นใจผู้อื่นอย่างแท้จริงนั้นพูดง่ายกว่าทำ และสำหรับพระเยซู ความเห็นใจส่วนใหญ่มาจากการทนทุกข์จาก “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวง … และความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์” เพื่อว่าพระองค์จะได้รู้ว่า “จะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (แอลมา 7:11, 12) ความยุ่งยากมากมายที่เกี่ยวข้องกับพระชนม์ชีพและการชดใช้ของพระองค์ทำให้พระองค์เข้าพระทัยเราและความยากลำบากของเราเพื่อพระองค์จะทรงทราบวิธีเยียวยาเรา

แต่พระเยซูยังทรงมีส่วนร่วมอย่างอิสระกับคนมากมายที่พระองค์ทรงพบ ฟังพวกเขา ถามคำถาม และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพ แม้ว่าคนอื่นจะวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ในเรื่องนั้น เนื่องจากเราอยู่ห่างไกลมากจากช่วงเวลาที่พระเยซูอาศัยอยู่บนแผ่นดินโลก เราจึงอาจพลาดวิธีบางอย่างที่พระองค์ทรงท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมในสมัยของพระองค์เพื่อเห็นแก่ผู้อื่น

ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงสัมผัสคนโรคเรื้อนและผู้ป่วยคนอื่นๆ ซึ่งถือว่าไม่บริสุทธิ์ทางพิธีกรรมตามกฎของโมเสส (ดู กันดารวิถี 5:1–4; มัทธิว 8:2–3) พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อคนบาปซึ่งเป็นที่รู้จัก คนที่มีชื่อเสียงไม่ดี และคนต่างชาติด้วย นั่นเป็นสิ่งที่บางคนคิดว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน (ดู มาระโก 2:15–17; ยอห์น 4:5–26) พระเยซูทรงพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนเหล่านั้น แม้เมื่อคนอื่นๆ จะไม่เห็นด้วยก็ตาม

ภาพ
เพื่อนพูดคุยกัน

เราสามารถพยายามรู้จักผู้อื่นให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด ตัวอย่างเช่น

  • เราสามารถฟังพวกเขาด้วยเจตนาที่จะเข้าใจมากกว่าที่จะตัดสินหรือตอบกลับ

  • เราสามารถหลีกเลี่ยงการเมินเฉย ตั้งรับ หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เราไม่เห็นด้วย และ

  • เราสามารถอดทนมีปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้คนในระดับเดียวกันกับพวกเขาหรือในสถานการณ์ของพวกเขา แทนที่จะคาดหวังให้พวกเขาเป็นเหมือนเรา

ผมพบว่าเมื่อผมเข้าใจมุมมองและประสบการณ์ของผู้อื่นได้ดีแล้ว ผมจะมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น และมีความพร้อมมากขึ้นในการรับใช้และให้ความรัก การไม่รักใครสักคนเมื่อท่านรู้เรื่องราวของพวกเขาเป็นเรื่องยาก

3. ความรักของพระเยซูเป็นไปตามแต่ละบุคคล

ท้ายที่สุดแล้ว พระชนม์ชีพของพระเยซูแสดงให้เห็นว่าความเห็นใจแสดงออกอย่างเต็มที่ในการรักผู้อื่นในแบบที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความรัก ดังที่นีไฟสอนว่า พระผู้ช่วยให้รอด “ย่อมไม่ทรงกระทำสิ่งใดเว้นแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของโลก; เพราะพระองค์ทรงรักโลก” (2 นีไฟ 26:24)

บางครั้งความรักของพระองค์อยู่ในรูปของการรักษาทางกาย การให้กำลังใจ การตีสอน หรือการให้อภัย บางครั้งพระองค์ทรงโศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้าหรือมีปีติร่วมกัน ท้ายที่สุดแล้ว พระคริสต์ทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเรา “ขณะที่เรายังเป็นคนบาปอยู่” (โรม 5:8) แสดงให้เห็นว่าความรักอันสมบูรณ์แบบของพระองค์ยังคงอยู่แม้เราจะไม่สมบูรณ์แบบ

การพยายามรักอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักอาจเป็นเรื่องยากในบางครั้ง แล้วเราจะรักผู้อื่นในแบบที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความรักได้อย่างไร?

เราสามารถเลือกที่จะรักเหมือนมีสวิตซ์เปิดได้ไหม?

เป็นไปได้ไหมที่จะรักเพื่อนบ้านหรือคนแปลกหน้ามากเท่ากับรักสมาชิกในครอบครัวหรือตัวเราเอง?

แล้วคนที่เราไม่เห็นด้วยหรือเข้ากันไม่ได้ หรือคนที่เรามีแนวโน้มจะโต้เถียงด้วยเล่า?

ในพระคัมภีร์มักพูดถึงความรักเหมือนพระคริสต์ว่าเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เต็ม “เปี่ยม” ในบุคคลนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงหลั่งลงในจิตวิญญาณ (ดู โมไซยาห์ 2:4; 4:12; แอลมา 38:12; โมโรไน 7:48) นี่หมายความว่าความรักแบบพระคริสต์ไม่สามารถปลูกฝังได้หากปราศจากความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า—นี่คือของประทานฝ่ายวิญญาณที่มาถึงและเติบโตขึ้นเมื่อเรา “สวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจ” (โมโรไน 7:48)

ความเห็นใจทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อเรารับใช้ด้วยความเห็นใจและความรัก เราจะเพิ่มพูนความสามารถในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการเป็นส่วนหนึ่ง และการนำผู้อื่นมาหาพระคริสต์ นี่เป็นเพราะว่าเราเริ่มมองเห็นผู้อื่นด้วยสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้าและรู้สึกด้วยพระทัยของพระองค์ เรายังมองว่าการรับใช้ของเราไม่ใช่เมื่อเราก้มลงเพื่อยกคนอื่นขึ้นไปถึงระดับของเรา แต่คือเมื่อเราเอื้อมออกไปด้านนอกเพื่อโอบกอดมิตรสหายผู้เป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า การทำเช่นนั้นจะถือว่าเราช่วยทำตามคำสวดอ้อนวอนของพระคริสต์ให้ผู้ติดตามของพระองค์ “เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์และข้าพระองค์ในพระองค์” (ยอห์น 17:21)