เซมินารี
ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน: 2 นีไฟ 26:33: “ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า”


“ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน: 2 นีไฟ 26:33: ‘ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน: 2 นีไฟ 26:33,” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน: 2 นีไฟ 26:33

“ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า”

ภาพ
กลุ่มคน

จากการศึกษา 2 นีไฟ 26 ท่านได้เรียนรู้ว่า “ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” (ข้อที่ 33) และพระผู้เป็นเจ้าทรงเชื้อเชิญบุตรธิดาทุกคนให้มาหาพระองค์ บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านจดจำข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนและวลีสำคัญในพระคัมภีร์จาก 2 นีไฟ 26:33 อธิบายหลักคำสอน และประยุกต์ใช้หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณในสถานการณ์จริงได้

พลังจากการเตรียมส่วนบุคคลพระเจ้าตรัสกับไฮรัม สมิธ “หมายมั่นให้ได้” พระวจนะของพระองค์ก่อน จากนั้นพระวิญญาณจะประทานเดชานุภาพ “การสร้างความเชื่อมั่นแก่มนุษย์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21) หมั่นศึกษา สวดอ้อนวอน และไตร่ตรองก่อนสอน สิ่งนี้จะช่วยให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางท่านในการเตรียมบทเรียนและความต้องการที่ชัดเจนขณะสอน ความสามารถในการสอนโดยพระวิญญาณมาจากความพยายามส่วนบุคคลและการเตรียมบทเรียน

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนจดจำข้ออ้างอิงและวลีสำคัญในพระคัมภีร์: 2 นีไฟ 26:33 “ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” วิธีหนึ่งที่อาจทำได้คือการใช้แอปข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน

กิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นไปได้

บทเรียนเรื่องข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนนี้ออกแบบมาเพื่อใช้สอนหลังบทเรียน “2 นีไฟ 26” ซึ่งเป็นบทเรียนในบริบทของข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน 2 นีไฟ 26:33 ถ้าต้องย้ายบทเรียนเรื่องข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนนี้ไปสอนในสัปดาห์อื่น ขอให้แน่ใจว่าบทเรียนในบริบทที่จะสอนระหว่างสัปดาห์นั้นสอดคล้องกัน

อธิบายและจดจำ

อ่าน 2 นีไฟ 26:33 และทบทวนหลักคำสอนที่ท่านได้เรียนรู้ในบทเรียนก่อนหน้านี้ว่า ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า

  • มีสถานการณ์ใดบ้างที่หลักคำสอนในข้อนี้อาจช่วยได้? โปรดอธิบาย

เปิดโอกาสให้นักเรียนจดจำข้ออ้างอิงสำหรับข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน 2 นีไฟ 26:33 และวลีสำคัญในพระคัมภีร์ที่คู่กัน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีทำกิจกรรมนี้

เขียนข้ออ้างอิงและวลีสำคัญในพระคัมภีร์จาก 2 นีไฟ 26:33 “ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” ในสมุดบันทึกการศึกษา จดจำข้ออ้างอิงและวลีสำคัญในพระคัมภีร์ซ้ำสองสามครั้ง (ท่องดังๆ หรือเขียน) จนกว่าท่านจะจำได้

หรือให้นักเรียนครึ่งห้องพูดข้ออ้างอิงในพระคัมภีร์พร้อมกัน แล้วให้นักเรียนอีกครึ่งหนึ่งพูดวลีสำคัญในพระคัมภีร์ซ้ำ ทำกิจกรรมนี้ซ้ำหลายๆ ครั้ง

ฝึกประยุกต์ใช้

ทบทวนหลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณที่สอนใน ย่อหน้า 5–12 ของหมวด “การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ” ใน เอกสารหลักผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน (2022)

หากต้องการช่วยให้นักเรียนทบทวนหลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกประยุกต์ใช้ ให้อ่านประโยคจาก ย่อหน้า 5–12 ของหมวด “การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ” ใน เอกสารหลักผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน (2022) สำหรับแต่ละหลักธรรม เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุหลักธรรมที่เน้นในประโยค ท่านอาจให้นักเรียนพูดซ้ำสองสามครั้งด้วยประโยคที่แตกต่างกัน

เรื่องราวต่อไปนี้ดัดแปลงจากบทความ “I Will Take It in Faith [ข้าพระองค์จะรับด้วยศรัทธา]” โดย เอลิซาเบธ มากิ (history.ChurchofJesusChrist.org) เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดเรื่องฐานะปุโรหิต หากต้องการเรียนรู้ข้อจำกัดเรื่องฐานะปุโรหิต ให้ดูหัวเรื่อง ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 2 ในตอนท้ายของหลักคำสอนและพันธสัญญา

แสดงหรือแจกสำเนาเอกสาร “เรื่องเล่าของจอร์จ ริคฟอร์ด” ด้านล่าง

ขณะที่อ่านเรื่องราวของบราเดอร์ริคฟอร์ด ให้มองหาหลักฐานที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละหลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณจากการเดินทางของท่าน

เรื่องเล่าของจอร์จ ริคฟอร์ด

พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู—ข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน: 2 นีไฟ 26:33: “ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า”

ในปี 1969 จอร์จ ริคฟอร์ดในวัยหนุ่มอาศัยอยู่ในเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เขาพบกับผู้สอนศาสนาจากศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ตอนแรกจอร์จต่อต้านข่าวสารของพวกเขา แต่สุดท้ายก็เริ่มพบปะพูดคุยกับผู้สอนศาสนา หลังจากตั้งใจตรวจสอบหาความจริงเกี่ยวกับศาสนจักรนานสามเดือน เช้าวันนั้นจอร์จตื่นขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นว่าศาสนจักรแท้จริง

จอร์จอยากแบ่งปันประจักษ์พยานที่เพิ่งค้นพบนี้กับบรรดาเอ็ลเดอร์ แต่ก่อนจะทำเช่นนั้น เอ็ลเดอร์บอกว่าเขาจะไม่มีสิทธิ์รับฐานะปุโรหิตในฐานะสมาชิกศาสนจักรเพราะเขามีเชื้อชาติผสม ซึ่งมีบรรพชนเชื้อสายแอฟริกันผิวดำรวมอยู่ด้วย

วันหนึ่ง จอร์จคุยอยู่กับเพื่อนสนิทถึงประสบการณ์ของเขากับผู้สอนศาสนา และเริ่มสอนเพื่อนคนนั้นเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ เขาจำได้ว่า “ตอนที่ข้าพเจ้าเล่าเรื่องนั้น ข้าพเจ้ามีชีวิตชีวามาก มีบางอย่างเข้าควบคุมและข้าพเจ้าแค่พูดออกมา”

ประสบการณ์นั้นยืนยันประจักษ์พยานของจอร์จอีกครั้ง แต่เขายังมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดเรื่องฐานะปุโรหิต เมื่อเขาสวดอ้อนวอนขอความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีข้อความนี้มาถึงเขา “เจ้าไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับพระกิตติคุณของเราก่อนให้คำมั่นกับพระกิตติคุณ ทำไมเจ้าไม่แสดงศรัทธาโดยยอมรับสิ่งที่ได้ยินและมอบที่เหลือไว้ในมือเรา?”

ข่าวสารนี้ทำให้จอร์จสบายใจ และเขาตอบร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่า “ได้ ข้าพระองค์จะรับ ข้าพระองค์จะทำ ข้าพระองค์จะรับด้วยศรัทธา ขอบพระทัย ขอบพระทัย” สองเดือนต่อมา จอร์จรับบัพติศมาและกลายเป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักร

ในปี 1975 สามปีก่อนที่จะมีการเปิดเผยฐานะปุโรหิต จอร์จแสดงความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงธรรม โดยเขียนว่าเขายอมรับข้อจำกัด “ด้วยศรัทธา ปราศจากความสงสัยใดๆ” เขาเสริมว่า “ข้าพเจ้าสำนึกคุณที่ฐานะปุโรหิตของพระเจ้าอยู่บนแผ่นดินโลกอีกครั้ง พร้อมด้วยพร สิทธิอำนาจ และความรับผิดชอบทั้งหมดที่มากับฐานะปุโรหิต สำหรับข้าพเจ้า ใครมีและไม่มีฐานะปุโรหิตไม่สำคัญเท่าคนนั้นใช้ฐานะปุโรหิตให้เกิดประโยชน์อย่างไร”

ในปี 1978 จอร์จเรียนรู้ถึงการเปิดเผยที่ขยายฐานะปุโรหิตไปยังทุกคนที่คู่ควร (ดู ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 2)

“ทันทีที่จอร์จกลับถึงบ้าน เขากับจูน [ภรรยา] คุยกันตลอดคืนเกี่ยวกับข่าวนั้นว่ามีความหมายต่อครอบครัวของเขาอย่างไร การเปลี่ยนแปลงนั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน เช้าวันรุ่งขึ้น จอร์จ ริคฟอร์ดได้รับแต่งตั้งเป็นปุโรหิตในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน สองเดือนต่อมา เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสาวกเจ็ดสิบและเป็นสมาชิกอาวุโสของโควรัมสาวกเจ็ดสิบสเตค และสองเดือนหลังจากนั้น จอร์จกับจูน ริคฟอร์ดได้รับการผนึกในพระวิหารลอนดอน อังกฤษ พร้อมลูกๆ สี่คนของพวกเขา” (“ข้าพระองค์จะรับด้วยศรัทธา”)

  • ท่านคิดว่าจอร์จอาจรู้สึกอย่างไรตอนที่ได้ยินว่าท่านขาดคุณสมบัติที่จะได้รับฐานะปุโรหิต?

ท่านอาจให้นักเรียนแบ่งปันข้อคิดโดยถามก่อนว่า “ท่านพบหลักฐานอะไรที่ชี้ให้เห็นว่าบราเดอร์ริคฟอร์ดใช้หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณแต่ละข้อ?” อาจให้นักเรียนทำงานเป็นคู่หรือกลุ่มเล็กๆ เพื่อตอบคำถามต่อไปนี้ หรือมอบหมายงานที่มุ่งเน้นไปที่หลักธรรมข้อใดข้อหนึ่ง

กระทำด้วยศรัทธา

  • บราเดอร์ริคฟอร์ดกระทำด้วยศรัทธาในด้านใด? สิ่งนี้ช่วยท่านได้อย่างไร?

พินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์

  • คำตอบของพระบิดาบนสวรรค์ต่อคำสวดอ้อนวอนของบราเดอร์ริคฟอร์ดช่วยให้ท่านมองเห็นสถานการณ์จากมุมมองนิรันดร์อย่างไร สิ่งนี้ช่วยให้บราเดอร์ริคฟอร์ดติดตามพระเจ้าอย่างไร?

แสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติมผ่านแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์

  • แหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเหลือบราเดอร์ริคฟอร์ดด้วยวิธีใด?

  • ในยุคของเรามีแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์ใดอีกบ้างซึ่งอาจช่วยบางคนที่มีคำถามเกี่ยวกับข้อจำกัดเรื่องฐานะปุโรหิต? ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 2 และ 2 นีไฟ 26:33 อาจช่วยพวกเขาได้อย่างไร?

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับข้อจำกัดเรื่องฐานะปุโรหิตที่หมวด “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” ในตอนท้ายของบทเรียนนี้

อาจเป็นประโยชน์ที่จะตั้งคำถามเพิ่มเติมเช่นคำถามต่อไปนี้: เหตุใดท่านจึงคิดว่า 2 นีไฟ 26:33 คือข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน? ท่านเรียนรู้หรือรู้สึกอย่างไรจากการศึกษาในวันนี้? ท่านอาจนำตัวอย่างของบราเดอร์ริคฟอร์ดและข้อความนี้มาปรับใช้ในชีวิตได้อย่างไร?

ปิดท้ายด้วยการแสดงประจักษ์พยานถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อบุตรธิดาของพระองค์ หรือเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันความรู้สึกและประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับการเป็นเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า

ทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน

ควรใช้กิจกรรมทบทวนต่อไปนี้ในบทเรียนที่จะสอนหลังจากจบบทเรียนนี้

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เชื้อเชิญให้นักเรียนแต่ละกลุ่มผลัดกันพูดถ้อยคำหรือตัวเลข จนกว่าทั้งกลุ่มจะพูดถึงข้ออ้างอิงและวลีสำคัญจาก “2 นีไฟ 26:33: ‘ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า’” ในพระคัมภีร์ได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนแรกจะพูดว่า “2” นักเรียนคนที่สองจะพูดว่า “นีไฟ” และไปเรื่อยๆ จนกระทั่งนักเรียนพูดคำสุดท้ายว่า “พระผู้เป็นเจ้า” จากนั้นให้นักเรียนคนต่อไปเริ่มต้นพูดใหม่ว่า “2”

เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มท่องจำข้ออ้างอิงและวลีสำคัญให้ถูกต้องหลายครั้งเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลาที่กำหนด