เซมินารี
โมไซยาห์ 27:24–37: “เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า”


“โมไซยาห์ 27:24–37: ‘เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า,’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“โมไซยาห์ 27:24–37,” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

โมไซยาห์ 27:24–37

“เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า”

ภาพ
แอลมาผู้บุตรกำลังสวดอ้อนวอน

การกลับใจของแอลมาผู้บุตรและบรรดาบุตรของโมไซยาห์จะให้ความหวังแก่ทุกคนที่สงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่ พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยชายหนุ่มเหล่านี้ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “คนบาปที่ชั่วช้าที่สุด” (โมไซยาห์ 28:4) ให้เปลี่ยน “มาสู่สภาพแห่งความชอบธรรม” (โมไซยาห์ 27:25) บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านกลับใจและแสดงศรัทธาว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงเปลี่ยนใจท่านได้

ช่วยให้นักเรียนรู้จักพระเยซูคริสต์เมื่อนักเรียนรู้จักพระผู้ช่วยให้รอดด้วยตนเอง พวกเขาจะเรียนรู้จากพระองค์และตั้งใจที่จะเป็นเหมือนพระองค์ พวกเขาเรียนรู้ที่จะรับความช่วยเหลือ ความหวัง และการเยียวยาจากพระองค์ตลอดชีวิต พวกเขาจะรู้สึกได้ถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า

การเตรียมของนักเรียน: ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก (เช่น หนอนผีเสื้อกลายเป็นผีเสื้อ) พวกเขาอาจถ่ายภาพบางอย่างเพื่อให้ชั้นเรียนดู

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

การเปลี่ยนแปลง

ลองนึกถึงสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจนดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน มีตัวอย่างอยู่หนึ่งข้อในภาพต่อไปนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น ดอกไม้กลายเป็นผลไม้หรือเมล็ดกลายเป็นต้นไม้ จากนั้นแสดงภาพนี้ขณะที่ท่านถามคำถามต่อไปนี้

ภาพ
หนอนผีเสื้อกับผีเสื้อ
  • ความก้าวหน้าทางวิญญาณของเราเปรียบได้กับหนอนผีเสื้อที่กลายเป็นผีเสื้อได้อย่างไร?

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้เราเปลี่ยนแปลงและเป็นเหมือนพระองค์ได้อย่างไร?

ให้คิดสักครู่ถึงความก้าวหน้าของท่านในการเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น มีบางอย่างเกี่ยวกับตัวท่านที่ท่านต้องการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงหรือไม่? ท่านอาจเผชิญอุปสรรคอะไรบ้างในการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ?

วันนี้ท่านจะได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำไว้ในชีวิตของชายหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ท่านศึกษา จงฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยให้ท่านเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

แอลมาผู้บุตรกับบรรดาบุตรของโมไซยาห์

ให้ดูภาพต่อไปนี้และขอให้นักเรียนคนหนึ่งย้ำเตือนชั้นเรียนถึงเรื่องราวในภาพ ใช้ข้อมูลในย่อหน้าต่อไปนี้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

ภาพ
เทพปรากฏต่อแอลมาผู้บุตรกับบรรดาบุตรของโมไซยาห์

ให้เล่าว่าส่วนแรกของ โมไซยาห์ 27 มีเรื่องราวของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของแอลมา พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งเทพที่จะโน้มน้าวแอลมาผู้บุตรและบรรดาบุตรของกษัตริย์โมไซยาห์ถึงความผิดพลาดในวิถีทางของพวกเขา แอลมาผู้บุตรไม่สามารถพูดหรือขยับตัวได้เป็นเวลาหลายวันหลังเหตุการณ์นี้ (ดู โมไซยาห์ 27:19, 23) ในช่วงเวลานั้น ท่านประสบกับความเจ็บปวดสุดจะพรรณนาเพราะบาปของท่าน ในที่สุดเมื่อท่านพูดได้อีกครั้ง ท่านอธิบายถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อท่าน

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนสร้างสิ่งต่อไปนี้บนกระดานเพื่อให้ชั้นเรียนใช้ตลอดทั้งบทเรียน

เขียน “การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ผ่านพระเยซูคริสต์” ที่ด้านบนแผ่นกระดาษ จากนั้นวาดเส้นแนวตั้งสองเส้นเพื่อแบ่งกระดาษออกเป็นสามคอลัมน์ เขียนหัวข้อคอลัมน์ด้านซ้ายว่า “ก่อน” คอลัมน์กลางว่า “บทบาทของพระเยซูคริสต์” และคอลัมน์ด้านขวาว่า “หลัง”

สำหรับการศึกษาพระคัมภีร์ต่อไปนี้ เชื้อเชิญนักเรียนครึ่งห้องให้อ่าน ข้อ 8–10 ส่วนที่เหลือให้อ่าน ข้อ 32–37 จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสิ่งที่พบบนกระดาน

อ่าน โมไซยาห์ 27:8–10; 28:4 เพื่อทบทวนว่าชีวิตของแอลมาผู้บุตรและบรรดาบุตรของโมไซยาห์ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร เขียนคำอธิบายถึงพวกเขาในคอลัมน์ “ก่อน” บนกระดาษ

จากนั้นให้อ่าน โมไซยาห์ 27:32–37 และเขียนคำอธิบายว่าพวกเขากลายเป็นใครในคอลัมน์ “หลัง”

หยุดสักครู่เพื่อทบทวนการเปลี่ยนแปลงที่ท่านได้เห็นคนที่กลับใจด้วยศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด (ท่านอาจนึกถึงตัวท่านเอง) เพิ่มคำอธิบายลงในคอลัมน์ว่าพวกเขา (หรือท่าน) เป็นอย่างไรก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนมาที่กระดานและเขียนหนึ่งอย่างใต้แต่ละคอลัมน์เพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาเห็นในคนที่พวกเขานึกถึง

อ่าน โมไซยาห์ 27:23–26 โดยมองหาวลีที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับเราต่อการเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด อาจเป็นประโยชน์ที่จะรู้จักคำว่า สภาพทางเนื้อหนัง (ข้อ 25) หมายถึงทางโลกหรือราคจริต และวลี “กลายเป็นบุตรและธิดา [ของพระผู้เป็นเจ้า]” (ข้อ 25) หมายถึงผู้ที่ “สืบทอดอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 26)

เขียนวลีที่สะดุดตาสำหรับท่านลงในคอลัมน์ “บทบาทของพระเยซูคริสต์” บนกระดาษ ใช้เวลาสักครู่เพื่อไตร่ตรองว่านั่นหมายถึงอะไร หากจำเป็น ให้ค้นคว้าคำที่ท่านต้องการทำความเข้าใจมากขึ้นใน คู่มือพระคัมภีร์

ท่านอาจขอให้นักเรียนแบ่งปันวลีที่เขียนและความหมาย หรือจะถามว่าคำอธิบายที่ดีของการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาได้เห็นจากผู้ที่มาหาพระผู้ช่วยให้รอดเป็นอย่างไร มีบางวลีต่อไปนี้ที่นักเรียนอาจค้นพบ:

ได้รับการไถ่จากพระเจ้า

เกิดใหม่

เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า

เปลี่ยนจากสภาพทางเนื้อหนังของพวกเขา

กลายเป็นบุตรและธิดาของพระองค์

กลายเป็นคนใหม่

ความจริงประการหนึ่งในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้คือ มวลมนุษยชาติต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

ท่านอาจวางภาพพระเยซูคริสต์ตรงกลางกระดานและถามคำถามต่อไปนี้:

  • วลีใดที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ผ่านพระเยซูคริสต์ซึ่งมีความหมายกับท่านมากที่สุด? เพราะเหตุใด?

  • การที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้อภัยเราทำให้เราเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 24 เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อเขื้อเชิญให้พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปลี่ยนแปลงเรา?

การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เหตุการณ์

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

ขณะที่บางกระบวนการของการกลับใจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับแอลมา แต่นี่เป็นข้อยกเว้นมากกว่ากฎ พวกเราส่วนใหญ่ก้าวไปทีละขั้นทีละตอนไปสู่ความดีมากขึ้น ความแน่วแน่ในพันธสัญญา การรับใช้ และความมุ่งมั่นที่มากขึ้น (นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, The Divine Gift of Forgiveness [2019], 11)

  • เหตุใดคำกล่าวของเอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นจึงสำคัญที่ต้องจดจำ?

ใช้เวลาสักครู่ในการจดการกระทำบางอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อกลับใจและค่อยๆ เปลี่ยนไปโดยพระเจ้า (หากต้องการดูแนวคิด ให้อ่านข้อความของเอ็ลเดอร์แอนเดอร์เซ็นข้างต้นอีกครั้งและอ่านพระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้: โมไซยาห์ 26:29; 27:35; แอลมา 36:18; 3 นีไฟ 9:22; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:9; 58:42–43)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหันมาหาพระเจ้าและกลับใจ?

  • ท่านคิดว่าความพยายามเหล่านี้จะช่วยให้เราค่อยๆ เปลี่ยนผ่านพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร?

ดูวีดิทัศน์ “ความหวังแห่งความสว่างของพระผู้เป็นเจ้า” (6:46) โดยมองหาวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้คนเปลี่ยนไป “ทีละขั้นทีละตอนไปสู่ความดีมากขึ้น”

เป็นพยานถึงเรื่องราวใน โมไซยาห์ 27 ที่แสดงให้เห็นถึงเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดและความปรารถนาที่จะเปลี่ยนทุกคนที่กลับใจด้วยศรัทธาในพระองค์

จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษา

ใช้เวลาไตร่ตรองว่าบทเรียนนี้มีผลต่อท่านอย่างไร บันทึกความคิดของท่านเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา:

  1. พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยในด้านใดบ้าง? ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความพยายามของท่านและความช่วยเหลือของพระเจ้า?

  2. ท่านรู้สึกว่าขั้นต่อไปพระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้ท่านทำอะไรเพื่อกลับใจและเปลี่ยนแปลงต่อไปผ่านพระองค์?

  3. อะไรคืออุปสรรคที่ท่านอาจต้องเผชิญในกระบวนการนี้ และท่านจะหันไปหาพระเจ้าเพื่อช่วยให้ท่านเอาชนะสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร?