เซมินารี
แอลมา 37–38: “เรียนรู้ในวัยเยาว์ของลูก”


“แอลมา 37–38: ‘เรียนรู้ในวัยเยาว์ของลูก’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“แอลมา 37–38” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

แอลมา 37–38

“เรียนรู้ในวัยเยาว์ของลูก”

ภาพ
พ่อกับลูกชายอ่านหนังสือ

ท่านได้เรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากพ่อแม่หรือผู้นำศาสนจักร? ท่านหวังจะสอนอะไรลูกๆ ของท่านบ้างในวันหน้า? แอลมาเข้าใจว่าพ่อแม่มีหน้าที่รับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ในการสอนลูกๆ ของตน หลังจากงานเผยแผ่ในบรรดาชาวโซรัม แอลมาให้บุตรชายมารวมกันเพื่อสอนและให้กำลังใจพวกเขา ท่านแนะนำพวกเขาให้รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเรียนรู้ว่าการดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติในเวลานี้จะเป็นพรแก่ท่านไปตลอดชีวิต

แนะแนวผู้เรียนให้ทำตามการเปิดเผยส่วนตัว แทนที่จะบอกนักเรียนว่าพวกเขาควรทำอะไร ให้ถามตัวท่านเองว่า “ฉันจะเชื้อเชิญให้นักเรียนทำอะไรที่จะกระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะเรียนรู้ด้วยตนเอง?” หรือ “ฉันจะเชื้อเชิญให้นักเรียนทำอะไรเพื่อทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับ?”

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านหรือท่องจำ แอลมา 37:35 แล้วเตรียมมาแบ่งปันว่าพวกเขาคิดว่าทำไมการ “เรียนรู้ในวัยเยาว์ [ของพวกเขา] เพื่อรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” จึงสำคัญ

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

คำแนะนำจากพ่อแม่

เล่าเรื่องต่อไปนี้หรือยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนของท่านมากขึ้นเกี่ยวกับคำแนะนำที่เยาวชนได้รับจากพ่อแม่หรือผู้นำศาสนจักร

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) เล่าเรื่องต่อไปนี้:

ในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารระดับประเทศฉบับหนึ่ง นักบาสเกตบอล NCAA ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงและเป็นสมาชิกของศาสนจักรชื่อจาบารี พาร์คเกอร์ถูกขอให้แบ่งปันคำแนะนำที่ดีที่สุดที่เขาได้รับจากพ่อ จาบารีตอบว่า “[คุณพ่อ] บอกว่า ลูกเป็นคนแบบไหนในที่ลับก็ขอให้เป็นแบบนั้นในที่แจ้ง” นั่นเป็นคำแนะนำสำคัญ … สำหรับเราทุกคน (ดู โธมัส เอส. มอนสัน, “จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 68)

ท่านอาจจะเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้นักเรียนจับคู่หรือแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ และแบ่งปันคำตอบของคำถามเหล่านี้

สมมติว่ามีคนสัมภาษณ์ท่านและเขาถามท่านว่า:

  • อะไรคือคำแนะนำที่ดีที่สุดที่ท่านได้รับจากพ่อแม่หรือผู้นำศาสนจักร?

  • คำแนะนำนี้เป็นพรแก่ท่านอย่างไร?

แอลมา 36–42 บันทึกคำแนะนำที่แอลมาให้บุตรชายหลังจากเสร็จสิ้นงานเผยแผ่ในบรรดาชาวโซรัม ท่านได้ศึกษาสิ่งที่แอลมาสอนฮีลามันบุตรชายไปมากแล้ว (แอลมา 36–37) ในบทเรียนนี้ท่านจะศึกษาส่วนที่เหลือของคำแนะนำที่ให้ฮีลามัน กับหลักธรรมที่ใช้สอนชิบลันบุตรชายด้วย (แอลมา 38) ขณะศึกษา แอลมา 37–38 ให้มองหาคำแนะนำจากแอลมาที่ท่านจะนำไปใช้ในชีวิตหรือแบ่งปันกับเยาวชนคนอื่นๆ

“เรียนรู้ปัญญาในวัยเยาว์ของลูก”

อ่าน แอลมา 37:35 เพื่อมองหาสิ่งที่แอลมาต้องการให้ฮีลามันเรียนรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านอาจจะทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ

  • แอลมาอยากให้ฮีลามันรู้และทำอะไร?

    ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการเขียนบนกระดานดังนี้: เราควรเรียนรู้ในวัยเยาว์ของเราที่จะรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการ “เรียนรู้ในวัยเยาว์ [ของท่าน] ที่จะรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” จึงดีกว่าการรอให้อายุมากขึ้นแล้วค่อยเรียนรู้?

ภาพ
ต้นอ่อนผูกกับหลัก

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) เล่าประสบการณ์ต่อไปนี้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้:

ข้าพเจ้าปลูก [ต้นไม้] ตรงมุมที่ลมจากหุบเขาลึกทางตะวันออกพัดแรงที่สุด ข้าพเจ้าขุดหลุม วางรากลงไปในหลุม เอาดินกลบรอบๆ หลุม รดน้ำ และลืมสนิท ต้นนั้นเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางน่าจะสามส่วนสี่นิ้ว ต้นอ่อนมากจนข้าพเจ้าสามารถดัดไปได้ทุกทิศ ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่ใจต้นนั้นจนเวลาล่วงไปหลายปี

แล้ววันหนึ่งในฤดูหนาว … ข้าพเจ้าสังเกตเห็นต้นเอนไปทางตะวันตก ผิดรูป และเสียสมดุล … ข้าพเจ้าออกไปนอกบ้านและพยายามเอาตัวดันต้นไม้ให้ตั้งตรง แต่ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางราวหนึ่งฟุตแล้ว พละกำลังของข้าพเจ้าไม่มีผลอะไร ข้าพเจ้าหยิบเครื่องชักรอกจากโรงเก็บเครื่องมือ ผูกปลายด้านหนึ่งติดกับต้นไม้ ส่วนปลายอีกด้านผูกติดกับเสาที่ตั้งไว้อย่างดี แล้วดึงเชือก รอกขยับนิดน่อย และลำต้นสั่นเล็กน้อย แต่ได้เท่านั้น …

ในที่สุดด้วยความสิ้นหวังข้าพเจ้าจึงใช้เลื่อยตัดกิ่งใหญ่ด้านตะวันตกออก เลื่อยนั้นทิ้งรอยแผลน่าเกลียดยาวกว่าแปดนิ้วเอาไว้ ข้าพเจ้าถอยออกมาสำรวจสิ่งที่ทำลงไป ข้าพเจ้าได้ตัดส่วนสำคัญของต้น เหลือกิ่งเดียวที่โตขึ้นฟ้า …

ตอนปลูกครั้งแรก ข้าพเจ้าน่าจะใช้เชือกสักเส้นยึดต้นไม้ให้ตั้งตรงจะได้ไม่เอนไปตามแรงลม ข้าพเจ้าน่าจะและควรจะพยายามสักหน่อยเพื่อหาเชือกมา แต่ข้าพเจ้าไม่ทำ ต้นไม้จึงเอนตามแรงที่มาปะทะ (กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Bring Up a Child in the Way He Should Go,” Ensign, Nov. 1993, 59)

  • การรักษาพระบัญญัติอาจจะเป็นเหมือนการค้ำต้นอ่อนให้ตั้งตรงและแข็งแรงแม้ลมพัดแรงได้อย่างไร?

  • การไม่สนใจพระบัญญัติจนเวลาล่วงเลยส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร?

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงที่สอนใน แอลมา 37:35 ได้ดีขึ้น ท่านอาจจะให้พวกเขาแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ และเชื้อเชิญให้พวกเขาสร้างสถานการณ์สมจริงสองสถานการณ์: สถานการณ์หนึ่งคือคนมุ่งมั่นรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าในวัยเยาว์ ส่วนอีกสถานการณ์คือคนที่ไม่ทำเช่นนั้น นักเรียนจะบอกด้วยว่าคนมุ่งมั่นดำเนินชีวิตหรือไม่ดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติบางข้ออย่างไร เช่น รักพระผู้เป็นเจ้า ศึกษาพระคัมภีร์ หรือเชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา ให้บอกด้วยว่าคนสองคนนี้น่าจะต่างจากเดิมอย่างไรหลังจากผ่านไปห้าถึงสิบปี เชิญนักเรียนแบ่งปันสถานการณ์สมจริงนั้นและสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ท่านอาจจะย้ำเตือนนักเรียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของแอลมาสมัยหนุ่ม ถามว่า “ท่านคิดว่าทำไมแอลมาจึงให้คำแนะนำนี้แก่บุตรชายของเขา?”

อาจจะให้ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Standing by Our Promises and Covenants” ตั้งแต่ช่วงเวลา 7:29 ถึง 8:35 ที่ ChurchofJesusChrist.org เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันว่าท่านตัดสินใจรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าในวัยเยาว์อย่างไร

ใช้เวลาสักสองสามนาทีเขียนในสมุดบันทึกว่าท่านกำลังเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า แสวงหาร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อรู้ว่าท่านเคยได้รับพรอย่างไรในการรักษาพระบัญญัติด้านต่างๆ

ถามว่านักเรียนคนใดต้องการอาสาแบ่งปันความคิดและความรู้สึกของตนเองบ้าง ท่านอาจจะแบ่งปันความคิดและความรู้สึกของท่านเช่นกัน

ตอนนี้ท่านอาจตั้งเป้าหมายด้านหนึ่งที่ท่านต้องการปรับปรุงการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าขณะอยู่ในวัยเยาว์ แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะตั้งเป้าหมายนี้

คำแนะนำสำหรับเยาวชน

แอลมาให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่บุตรชายที่อาจเป็นประโยชน์กับเรา

ศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ อาจจะทำเครื่องหมายคำแนะนำที่ท่านรู้สึกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนสมัยนี้ รวมทั้งต่อตัวท่านเองด้วย เตรียมคำตอบของคำถามด้านล่าง

  1. แอลมา 37:33–37 (“อ่อนโยนและมีใจนอบน้อม” = ถ่อมตน สอนได้ ชอบธรรม)

  2. แอลมา 38:1–5 (“ถูกตัดขาดจากที่ประทับของพระองค์” = แยกจากพระผู้เป็นเจ้าทางกายและทางวิญญาณ)

  3. แอลมา 38:6–9 (“เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า”= พระวิญญาณของพระเจ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจคน)

  4. แอลมา 38:10–15 (“รู้จักยับยั้งใจ” = แสดงความรู้จักพอดีหรือการควบคุมตนเอง; “วางเขื่อง” = พฤติกรรมชอบใช้อำนาจบังคับ; “หักห้าม” = ควบคุม)

  5. สิ่งหนึ่งที่แอลมาต้องการให้บุตรชายทำหรือรู้คืออะไร? ท่านเจอในข้อไหน?

  6. การรู้หรือทำตามหลักธรรมนี้จะช่วยให้เยาวชนติดตามพระเยซูคริสต์ได้ดียิ่งขึ้นอย่างไร?

  7. เยาวชนจะนำคำสอนนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างไร? ท่านนึกตัวอย่างตอนประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตท่านออกหรือไม่? (โปรดอย่าแบ่งปันเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

หลังจากนักเรียนตอบคำถามแล้ว ท่านอาจจะขอให้พวกเขานั่งล้อมวงจะได้เห็นหน้ากันขณะสนทนาคำแนะนำของแอลมา เชิญนักเรียนให้มากเท่าที่จะมากได้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ กระตุ้นให้นักเรียนทุกคนตั้งใจฟังและเรียนรู้จากกัน ท่านอาจจะหยุดเป็นช่วงๆ เพื่อถามนักเรียนว่าพวกเขากำลังเรียนรู้อะไรจากเพื่อนๆ

ใช้เวลาไตร่ตรองสักครู่ แล้วบันทึกความคิดหรือความประทับใจเกี่ยวกับวิธีอื่นที่ท่านจะประยุกต์ใช้คำแนะนำที่ได้เรียนรู้วันนี้ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะนึกถึงบางอย่างที่พ่อแม่หรือผู้นำศาสนจักรเพิ่งกระตุ้นให้ท่านเริ่มทำหรือเลิกทำ หรือท่านอาจต้องการปรึกษากับพระเจ้าและแสวงหาการนำทางจากพระองค์