เซมินารี
3 นีไฟ 17: “เรามีความสงสารเจ้า”


“3 นีไฟ 17: ‘เรามีความสงสารเจ้า’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“3 นีไฟ 17” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

3 นีไฟ 17

“เรามีความสงสารเจ้า”

ภาพ
พระคริสต์ทรงรักษาหญิงคนหนึ่ง

ฝูงชนชาวนีไฟอยู่มาทั้งวันแล้วเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่าถึงเวลาที่พระองค์ต้องจากไป ทว่าน้ำตาของพวกเขาและความปรารถนาจะให้พระองค์ทรงอยู่ต่ออีกเล็กน้อยทำให้พระองค์ตื้นตันพระทัย ในการแสดงความสงสารอันน่าอัศจรรย์ พระองค์ทรงรักษา ทรงสวดอ้อนวอนกับพวกเขา และทรงให้พรลูกๆ ของพวกเขาทีละคน บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความสงสารที่พระเยซูคริสต์ทรงมีต่อท่าน

การใช้วีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอน วีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอนมุ่งหมายจะช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์ที่มีความหมายกับข้อความ วีดิทัศน์เหล่านี้ไม่ได้มีไว้ให้ใช้แทนการอ่านพระคัมภีร์ ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดว่าจะใช้วีดิทัศน์ยกระดับประสบการณ์ของนักเรียนกับพระคัมภีร์เมื่อใดและอย่างไร

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกถึงความเมตตา ความสงสาร หรือความรักจากพระผู้เป็นเจ้า นักเรียนอาจจะเตรียมแบ่งปันว่าประสบการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระองค์อย่างไร

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

การรับรู้ของพระผู้ช่วยให้รอด

สมมติว่าท่านเพิ่งใช้เวลาหนึ่งวันกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระองค์ทรงประกาศว่าถึงเวลาที่พระองค์ต้องจากไปแล้ว

เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นภาพเหตุการณ์นี้ ท่านจะฉายวีดิทัศน์เรื่อง “Jesus Christ and Angels Minister with Compassion” (11:59) ที่ ChurchofJesusChrist.org ตั้งแต่รหัสเวลา 0:12 ถึง 1:30

  • ท่านน่าจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นี้?

ช่วยให้นักเรียนนึกถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจาก 3 นีไฟ 11–16 พวกเขาจะทบทวนสิ่งที่เขียนไว้ในสมุดบันทึกใต้ “การเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ใน 3 นีไฟ”

ก่อนตอบคำถามต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์ถ้าขอให้นักเรียนเขียนคำกริยาแสดงสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำไว้บนกระดาน

  • พระราชกิจของพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็นความรักที่ทรงมีต่อชาวนีไฟอย่างไร?

วันนี้ท่านจะได้อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักความสงสารในบรรดาชาวนีไฟ ขณะศึกษา ให้คิดว่าพระราชกิจของพระองค์สอนอะไรเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระองค์ เอาใจใส่ว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์

อาจเป็นประโยชน์ถ้ารู้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่บันทึกไว้ใน 3 นีไฟ 11–17 เกิดขึ้นในวันเดียว

อ่าน 3 นีไฟ 17:1–6 เพื่อดูว่าท่านสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากพระวจนะและพระราชกิจของพระองค์

  • ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้?

นักเรียนอาจค้นพบหลักธรรมทำนองนี้: เราเตรียมจิตใจให้พร้อมรับความเข้าใจมากขึ้นด้วยการไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนพระบิดา

หากท่านต้องการทำมากขึ้นกับหลักธรรมนี้ ให้ดูหมวด “กิจกรรมเสริมการเรียนรู้

ท่านอาจระบุความจริงทำนองนี้ไว้แล้ว: พระเยซูคริสต์ทรงเปี่ยมด้วยความสงสารต่อฉัน ท่านอาจบันทึกความจริงนี้ไว้ใกล้ ข้อ 6

เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรส แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

สำคัญที่จะพึงสังเกตว่าการปฏิบัติด้วยความสงสารของพระเยซูไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือภายใต้อาณัติของใครตามรายการที่ต้องทำ แต่เป็นการแสดงออกทุกวันถึงความจริงของความรักอันบริสุทธิ์ที่ทรงมีต่อพระผู้เป็นเจ้าและบุตรธิดาของพระองค์และความปรารถนาที่จะทรงช่วยพวกเขาอยู่เนืองนิตย์ (ยูลิซีส ซวาเรส, “ความสงสารเนืองนิตย์ของพระผู้ช่วยให้รอดเลียโฮนา, พ.ย. 2021, 14)

  • อธิบายด้วยคำพูดของท่านเองว่าเอ็ลเดอร์ซวาเรสกำลังสอนอะไรเกี่ยวกับความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอด?

ความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอด

ส่วนที่เหลือของ 3 นีไฟ 17 แสดงให้เห็นความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอด จำไว้ว่าสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำใน 3 นีไฟ 17 เกิดขึ้นเพราะพระองค์ทรงรับรู้ความปรารถนาอันชอบธรรมของชาวนีไฟ พระองค์ทรงต้องการอยู่กับพวกเขาและให้พรพวกเขาจริงๆ

เจตนาของกิจกรรมต่อไปนี้คือ ช่วยนักเรียนพัฒนาความรักมากขึ้นต่อพระผู้ช่วยให้รอดผ่านการเห็นภาพความสงสารของพระองค์ นักเรียนได้ฝึกทักษะนี้แล้วขณะศึกษา 3 นีไฟ 11 การทำทักษะซ้ำจะช่วยนักเรียนเพิ่มความสามารถในการใช้ทักษะดังกล่าว

แสดงคำถามและข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกว่าต้องการศึกษาข้อใด และขอให้พวกเขาใคร่ครวญคำถามขณะศึกษา นักเรียนจะตอบคำถามเหล่านี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาใต้ “การเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ใน 3 นีไฟ”

ท่านอาจให้นักเรียนเลือกศึกษาคนเดียวหรือเงียบๆ กับคู่

  • ช่วงเวลาใดน่าจะพิเศษสุดสำหรับท่าน? เพราะเหตุใด?

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติศาสนกิจ?

  • พระวจนะและพระราชกิจของพระองค์ส่งผลต่อความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระองค์อย่างไร?

ท่านอาจให้นักเรียนดูคำถามต่อไปนี้และให้เวลานักเรียนคิดก่อนตอบ

  • หากท่านอยู่ที่นั่น ประสบการณ์นี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของท่านกับพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์อย่างไร?

  • ท่านคิดว่าพระเยซูคริสต์ทรงแสดงความสงสารเราอย่างไรในทุกวันนี้?

  • ท่านรู้สึกมีแรงจูงใจให้ทำอะไรเพื่อแสดงความรักต่อพระเยซูคริสต์?

หากเวลาเอื้ออำนวยให้ร้องเพลงสวดเกี่ยวกับความรักและความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอด ตัวอย่างเช่น “เมื่อข้านึกถึงพระเยซูท่าน” (เพลงสวด บทเพลงที่ 62) “Precious Savior, Dear Redeemer” (Hymns บทเพลงที่ 103) และ “รักของพระผู้ช่วย” (เพลงสวด บทเพลงที่ 47)

เมื่อเห็นเหมาะสมให้เชิญนักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรระหว่างศึกษาบทเรียนวันนี้ ขอให้พวกเขามองหาหลักฐานยืนยันความสงสารของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตพวกเขาต่อไป