เซมินารี
ประเมินการเรียนรู้ของท่าน 2


ประเมินการเรียนรู้ของท่าน 2

มัทธิว 3–7; ลูกา 3–6; มาระโก 1; ยอห์น 2–4

ภาพ
พระเยซูประทับอยู่พื้นหลังกับกลุ่มคนนั่งอยู่ด้านหน้า

บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านประเมินเป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้ และการเติบโตส่วนตัวที่ท่านประสบระหว่างศึกษาพันธสัญญาใหม่ปีนี้

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความพยายามของพวกเขาในการต่อต้านและเอาชนะการล่อลวงผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

การติดตามพระเยซูคริสต์

สิ่งที่ท่านเรียนรู้จากพันธสัญญาใหม่ในเซมินารีมุ่งหมายจะช่วยให้ท่านมาหาพระเยซูคริสต์เต็มที่มากขึ้นและเป็นสานุศิษย์หรือผู้ติดตามของพระองค์ ทำกิจกรรมหนึ่งในสามอย่างต่อไปนี้เพื่อหาพรที่เกิดขึ้นเมื่อเราติดตามพระผู้ช่วยให้รอดโดยปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ จากนั้นให้ตอบคำถามสองข้อต่อจากกิจกรรม

ตัดสินใจว่ากิจกรรมใดในสามกิจกรรมต่อไปนี้จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับชั้นเรียน แล้วเชื้อเชิญให้นักเรียนทำกิจกรรมนั้น อย่าลืมเผื่อเวลาไว้ให้พอสำหรับบทเรียนที่เหลือ

  1. ร้องเพลงหรือฟังเพลงปฐมวัย “คนมีปัญญาและคนโง่” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 281) และอ่าน มัทธิว 7:24–27

  2. วาดภาพง่ายๆ แทนคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 7:24–27 ลงในกระดาษหรือสมุดบันทึกการศึกษา

  3. ใช้ไม้บล็อกหรือถ้วยสร้างบ้านหรือโครงสร้างง่ายๆ บนฐานที่มั่นคง เช่น บนพื้นหรือบนโต๊ะ แล้วสร้างโครงสร้างง่ายๆ อีกหลังหนึ่งบนฐานที่มั่นคงน้อยกว่า เช่น บนที่นอน ผ้าห่มที่พับไว้ หรือหมอน ใช้มือกดลงบนพื้นผิวติดกับโครงสร้างแต่ละหลัง แล้วสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น อ่าน มัทธิว 7:24–27 เพื่อหาความคล้ายคลึงระหว่างกิจกรรมนี้กับอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้?

  • เราได้รับพรอะไรบ้างถ้าปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด?

นึกถึงประสบการณ์การเติบโตที่ท่านเคยประสบเมื่อศึกษาและพยายามประยุกต์ใช้คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดจากพันธสัญญาใหม่ปีนี้ ตอบคำถามต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ:

  • ท่านเคยศึกษาคำสอนใดบ้างของพระเยซูคริสต์ที่มีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ?

  • ท่านเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นในด้านใดบ้างขณะศึกษาพระวจนะของพระองค์?

  • ปีนี้ท่านศึกษาคำสอนอะไรบ้างที่ท่านสามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านได้? ท่านประสบพรอะไรบ้างจากการประยุกต์ใช้?

บทเรียนนี้จะช่วยท่านประเมินบางวิธีที่ท่านกำลังสร้างชีวิตบนศิลาของพระเยซูคริสต์ เพื่อจะสามารถต้านทานความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น

ส่วนที่เหลือของบทเรียนนี้ใช้บทเรียนต่อไปนี้:

  • มัทธิว 3:1–12; มาระโก 1:1–8

  • ลูกา 3:7–14

  • มัทธิว 4:1–11 ภาค 1

  • มัทธิว 4:1–11 ภาค 2

  • ยอห์น 3:1–8

  • มัทธิว 6:1–18

หากมีการปรับบทเรียนเหล่านี้ หรือหากไม่ได้สอนบทเรียนเหล่านี้ อาจจำเป็นต้องปรับกิจกรรมต่อไปนี้

อธิบายความสำคัญของการกลับใจ บัพติศมา และการยืนยัน

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้โดยแสดงบทบาทสมมุติเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก

กิจกรรมต่อไปนี้จะช่วยท่านประเมินว่าท่านเข้าใจและอธิบายหลักคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องการกลับใจ บัพติศมา และการยืนยันดีเพียงใด พิจารณาข้อความสองข้อต่อไปนี้และเขียนคำตอบของแต่ละข้อเพื่อช่วยไขข้อกังวลดังกล่าว ใช้พระคัมภีร์อย่างน้อยหนึ่งข้อจากการศึกษาล่าสุดของท่าน พระคัมภีร์อ้างอิงในวงเล็บอาจช่วยได้ เพิ่มประสบการณ์ส่วนตัวหรือประจักษ์พยานได้ตามสบาย

  1. ฉันเป็นคนดีพอใช้ ฉันจะห่วงเรื่องกลับใจทำไมถ้าไม่ได้ทำบาปใหญ่โต? (ดู มัทธิว 3:1–8 ; ลูกา 3:7–14 )

  2. ฉันเชื่อในพระเยซูคริสต์ แต่ฉันคิดว่าไม่จำเป็นต้องรับบัพติศมาและการยืนยันเพื่อกลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า (ดู มาระโก 1:1–9 ; ยอห์น 3:5 ; 2 นีไฟ 31:5–12, 17–18 )

ขณะนักเรียนบอกคำตอบ ให้ประเมินว่าพวกเขาเข้าใจหลักคำสอนเรื่องการกลับใจ บัพติศมา และการยืนยันดีเพียงใด ถ้าจำเป็น ขอให้นักเรียนสองสามคนที่น่าจะเข้าใจหลักคำสอนดีมาแบ่งปันคำอธิบายของพวกเขาและพระคัมภีร์อ้างอิงที่พวกเขาใช้ให้กับนักเรียนทั้งชั้น

ประเมินความสามารถของท่านในการต่อต้านและเอาชนะความชั่วผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์

ภาพ
พระคริสต์ทรงยืนอยู่บนแนวหินขณะติเตียนซาตานที่ปรากฏอยู่เบื้องล่างพระองค์ ภาพวาดบรรยายเหตุการณ์ที่ซาตานพยายามล่อลวงพระคริสต์หลังจากพระองค์ทรงอดอาหารสี่สิบวันในถิ่นทุรกันดาร พระคริสต์ทรงสั่งให้ซาตานออกไปจากที่ประทับ

ท่านเพิ่งศึกษาเรื่องพระผู้ช่วยให้รอดทรงต่อต้านการล่อลวงและมีโอกาสวางแผนทำตามแบบอย่างของพระองค์และพึ่งพาพระองค์ขณะเผชิญการล่อลวงของท่านเอง (อาจเป็นประโยชน์ถ้าทบทวน มัทธิว 4:1–11 และสิ่งที่ท่านเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาสำหรับบทเรียนนั้น )

เพื่อช่วยประเมินว่าท่านได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้อย่างไร ให้ใช้เวลาสองสามนาทีไตร่ตรองความพยายามของท่านเองในการทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและพึ่งพาพระองค์เพื่อต่อต้านการล่อลวง (อาจรวมถึงข้อพระคัมภีร์ที่ท่านพยายามจำหรือท่องจำ) นึกถึงสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองขณะพิจารณาสถานการณ์สมมุติต่อไปนี้:

สมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งพยายามต้านทานการล่อลวงให้ดูสื่อลามก เธอพยายามขจัดการล่อลวงโดยไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเมื่ออยู่คนเดียวและไม่เก็บโทรศัพท์ไว้ในห้องตอนกลางคืน เธอประสบความสำเร็จพอสมควรหลายวันแต่ยอมต่อการล่อลวงหลังจากนั้น เธอรู้สึกโมโหตัวเองมากจนหาทางหลีกเลี่ยงสื่อลามกได้อีกหลายวันก่อนยอมแพ้อีกครั้ง เธอต้องการแนวคิดเพิ่มเติมและความช่วยเหลือบางอย่างเพื่อใช้พลังของพระผู้ช่วยให้รอดต้านทานการล่อลวงนี้

ลองให้ชั้นเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งแบ่งปันบางอย่างที่เป็นประโยชน์เพื่อจะพูดกับเพื่อนคนนี้ แล้วให้นักเรียนคนนั้นเลือกสมาชิกชั้นเรียนอีกคนให้แบ่งปันความคิดที่อาจช่วยได้ นักเรียนจะเรียกต่อๆ กันให้แบ่งปัน หรือแต่ละคนจะยกมือแบ่งปันก็ได้ หากจำเป็น ให้แบ่งปันกับชั้นเรียนว่าเพื่อนน่าจะพูดอะไรหรือรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ฟัง

เขียนข้อความสั้นๆ ถึงเพื่อนโดยไม่บอกการล่อลวงของท่านเอง รวมอย่างน้อยสองอย่างต่อไปนี้ไว้ในคำตอบของท่านด้วย:

  • บางสิ่งที่ท่านทำเพื่อหันมาหาพระเจ้าซึ่งช่วยให้ท่านเอาชนะการล่อลวง

  • สิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ซึ่งอาจช่วยให้เพื่อนรู้สึกว่าพระองค์ทรงรักเขาและมีแรงจูงใจให้ต่อต้านการล่อลวงต่อไป

  • สิ่งที่ท่านแนะนำให้เพื่อนทำเพื่อทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและพึ่งพาพระองค์ให้ทรงช่วยต่อต้านการล่อลวง

  • ความสำเร็จและความท้าทายที่เพื่อนท่านอาจพบเจอขณะเดินหน้าต่อไป และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีพึ่งพาพระเจ้าขณะรับมือกับความท้าทาย

พิจารณาว่ากิจกรรมนี้จะช่วยท่านเป็นส่วนตัวได้อย่างไร ท่านต้องการทำอะไรเพื่อต่อต้านและเอาชนะการล่อลวงต่อไปด้วยความเข้มแข็งในพระเยซูคริสต์? ถ้ารู้สึกท้อแท้หรือสับสน ท่านอาจสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับความกังวลและความรู้สึกของท่าน การพูดกับพ่อแม่หรืออธิการอาจช่วยได้เช่นกัน อย่าหมดหวังขณะพยายามสร้างชีวิตบนพระผู้ช่วยให้รอดและคำสอนของพระองค์

ใคร่ครวญความปรารถนาจะนมัสการและทำตามพระผู้เป็นเจ้าของท่านอย่างจริงใจ

หลักธรรมสุดท้ายที่ท่านต้องใคร่ครวญคือความปรารถนาจะนมัสการพระผู้เป็นเจ้าและทำตามพระเยซูคริสต์อย่างจริงใจ ในบทเรียนก่อนหน้านี้ ท่านเรียนรู้ว่า ถ้าเราทำสิ่งชอบธรรมเพื่อให้พระบิดาบนสวรรค์พอพระทัย พระองค์จะประทานบำเหน็จแก่เราอย่างเปิดเผย (ดู มัทธิว 6:1–6; 16–18) ขณะศึกษาความจริงนี้ ท่านอาจกรอกแผนภูมิลักษณะนี้:

งานดีสามอย่างที่ท่านทำในสัปดาห์ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง? (เขียนบรรทัดละหนึ่งอย่าง)

ท่านมีเหตุผลอะไรให้ทำงานดีเหล่านี้?

ท่านรู้สึกอย่างไรหลังจากทำ “งานดี” เหล่านี้?

ท่านอาจเพิ่มงานดีหนึ่งหรือสองอย่างที่ท่านทำตั้งแต่บทเรียนนั้นและตอบคำถามติดตามผลในแผนภูมิ ไตร่ตรองว่าท่านสามารถให้ความสนใจกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงใจมากขึ้นได้หรือไม่

  • ถ้ามีคนรู้สึกว่าพวกเขาไม่อยากทำงานดีเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย ท่านจะแนะนำพวกเขาว่าอย่างไร?

ตั้งใจฟังคำตอบของนักเรียน ทำตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเพิ่มคำแนะนำ ประสบการณ์ และประจักษ์พยาน