เซมินารี
มัทธิว 6:19–34


มัทธิว 6:19–34

“พวกท่านจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อน”

ภาพ
พระคริสต์ทรงสอนว่าพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงให้แก่ผู้ที่แสวงหาอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

ส่วนหนึ่งของคำเทศนาบนภูเขา พระเยซูคริสต์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ “แสวงหา … [ที่จะสร้าง] แผ่นดินของพระเจ้า … ก่อน” (มัทธิว 6:33) ในบทเรียนนี้ท่านจะมีโอกาสไตร่ตรองและแบ่งปันความสำคัญของการให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตท่าน

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะแบ่งปันความสำคัญและพรของการให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ “แสวงหา … แผ่นดินของพระเจ้าก่อน”

อ่านเหตุการณ์จริงต่อไปนี้:

  • ชายหนุ่มในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเป็นนักเล่นกระดานโต้คลื่นที่มีพรสวรรค์ แต่เซมินารีเรียนเวลาเดียวกับการฝึกซ้อมทีมโต้คลื่นสำหรับโรงเรียนมัธยมปลายของเขา

  • หญิงสาวคนหนึ่งในบราซิลได้รับเชิญมาเป็นเกียรติในงานฉลองครบรอบวันเกิดอายุ 15 ปีของเพื่อน แต่เธอจะต้องสวมชุดที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของเธอ

  • ชายหนุ่มในนิวซีแลนด์เป็นนักรักบี้ที่มีพรสวรรค์ซึ่งคาดว่าจะได้รับข้อเสนอให้เล่นเป็นอาชีพ แต่เขามีอายุที่พร้อมรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา

นี่คือตัวอย่างของสถานการณ์ที่เยาวชนอาจเลือกให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตแม้จะทำได้ไม่ง่าย

  • เยาวชนในสถานการณ์เหล่านี้อาจมีคำถามหรือข้อกังวลอะไรบ้างเกี่ยวกับการให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกเขา?

  • ท่านและเพื่อนของท่านอาจมีคำถามหรือข้อกังวลอะไรบ้างเกี่ยวกับการให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตท่าน?

ขณะศึกษาบทเรียนนี้ จงขอให้พระเจ้าทรงช่วยท่านไขข้อกังวลของท่านและรู้สึกถึงความสำคัญของการให้พระองค์เป็นอันดับแรก ศึกษาข้อพระคัมภีร์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อไปนี้ แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้ท่านพบและเข้าใจความจริงที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนซึ่งอาจช่วยท่านให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต

นักเรียนอาจเลือกชุดข้อพระคัมภีร์ที่จะศึกษา หรืออาจได้รับมอบหมายตัวเลือก ก หรือตัวเลือก ข การติดตัวเลือกต่อไปนี้บนกระดานอาจช่วยได้

ตัวเลือก ก: มัทธิว 6:19–24 ในข้อเหล่านี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้คำว่า ทรัพย์สมบัติ เพื่อหมายถึงสิ่งที่เราให้คุณค่ามาก และ ดวงตา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวิสัยทัศน์หรือจุดสนใจในชีวิต งานแปลของโจเซฟ สมิธชี้แจงสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนใน ข้อ 22 “หากดวงตาของเจ้าเห็นแก่ รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า อย่างเดียว ทั่วทั้งร่างกายเจ้าจะเต็มไปด้วยแสงสว่าง” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 6:22 [ใน มัทธิว 6:22, เชิงอรรถ bฉบับภาษาอังกฤษ]; และดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:67) และอาจเป็นประโยชน์ถ้าหมายเหตุว่า ความร่ำรวย หมายถึงความฝักใฝ่ทางโลกหรือสมบัติพัสถาน (ดู มัทธิว 6:24, เชิงอรรถ eฉบับภาษาอังกฤษ)

ตัวเลือก ข: มัทธิว 6:25–34 งานแปลของโจเซฟ สมิธของข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ชี้แจงว่าพระเจ้าตรัสกับอัครสาวกของพระองค์เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบที่พวกเขาต้อง “ออกไป … ในโลก … สอนผู้คน” (งานแปลของ โจเซฟ สมิธ, มัทธิว 6:25–26 [ในภาคผนวกของพระคัมภีร์ไบเบิล]) คำแนะนำของพระเจ้าเจาะจงอัครสาวกสิบสองสมัยนี้ แต่หลักธรรมที่ทรงสอนประยุกต์ใช้กับเราเช่นกัน สังเกตตัวอย่างวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงดูแลงานสร้างของพระองค์รวมถึงเราด้วย ขณะศึกษา ให้เอาใจใส่ ข้อ 33: เป็นพิเศษ งานแปลของโจเซฟ สมิธของข้อนี้เริ่มต้นว่า “ดังนั้น, อย่าแสวงหาสิ่งของในโลกนี้แต่ท่านจงแสวงหาที่จะเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเสียก่อน” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 6:38 [ในภาคผนวกของพระคัมภีร์ไบเบิล])

  • ขณะท่านอ่านพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดและเชื้อเชิญการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านค้นพบอะไรที่มีความหมายต่อท่าน? เหตุใดจึงมีความหมาย?

เชิญนักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันสิ่งที่พบ ท่านอาจเขียนหลักธรรมที่พวกเขาพูดถึงไว้บนกระดาน หากนักเรียนไม่แบ่งปันหลักธรรมอย่างที่คาดไว้ ท่านอาจถามว่า “คุณจะสรุปความจริงหนึ่งข้อที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าอย่างไร?”

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักธรรมที่แท้จริงในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ รวมถึงหลักธรรมที่ว่า เราจะรับใช้ทั้งพระผู้เป็นเจ้าและเงินทองไม่ได้ และ ถ้าเราพยายามเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าก่อน หลังจากนั้นพระองค์จะประทานพรที่ทรงทราบว่าเราต้องการ

  • ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ที่จะจูงใจท่านให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตท่าน?

คนหนุ่มสาวที่ให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรก

ถ้าเป็นไปได้ ให้ดูวีดิทัศน์หนึ่งเรื่องจากวีดิทัศน์ต่อไปนี้เกี่ยวกับคนหนุ่มสาวที่ให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรก วีดิทัศน์ตรงกับสถานการณ์ตอนต้นบทเรียน (วีดิทัศน์ทั้งหมดมีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org)

No Regrets” (5:38): ชายหนุ่มที่เล่นกระดานโต้คลื่น

Virtuous Young Women” (3:50): หญิงสาวถูกขอให้ใส่ชุดไม่เรียบร้อย

Your Day for a Mission” (3:31): ชายหนุ่มที่เล่นรักบี้

  • ท่านชอบอะไรเกี่ยวกับวีดิทัศน์? ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรก?

  • ท่านเคยให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตท่านเมื่อใด?

  • ท่านเห็นพรอะไรอันเนื่องจากการตัดสินใจของท่าน?

การกระตุ้นเตือนผู้อื่นให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรก

ใช้เวลาคิดครู่หนึ่งว่าคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในการให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตท่านประยุกต์ใช้กับท่านอย่างไร แสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ต่อไปเมื่อท่านจบบทเรียนนี้แล้ว

สมมติว่าฝ่ายประธานสเตคหรือฝ่ายประธานท้องถิ่นขอให้โควรัมหรือชั้นเรียนของท่านทำวิดีโอช่วยให้เยาวชนในพื้นที่รู้สึกมีแรงจูงใจให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกเขา ฝ่ายประธานวางแผนจะฉายวิดีโอที่กิจกรรมเยาวชน

นักเรียนอาจวางแผนทำวิดีโอคนเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็ก ถ้าการวางแผนทำวิดีโอไม่เหมาะกับนักเรียน พวกเขาอาจวางแผนคำพูดหรือบทเรียนเกี่ยวกับการให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต

สร้างโครงร่างโดยละเอียดสำหรับวิดีโอของท่าน (ท่านไม่จำเป็นต้องบันทึกวิดีโอ แค่ต้องวางแผน) รวมสิ่งต่อไปนี้ไว้ในโครงร่างของท่าน:

  • ความจริงอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนใน มัทธิว 6 พร้อมคำอธิบายว่าความจริงนี้จะช่วยเยาวชนให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร

  • ตัวอย่างยุคปัจจุบันของคนที่ให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต ตัวอย่างนี้อาจเป็นประสบการณ์ส่วนตัวหรือประสบการณ์ของคนที่ท่านรู้จัก เขียนสรุปตัวอย่างง่ายๆ

รวมอย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อไปนี้ไว้ในโครงร่างของท่านด้วย:

  • ข้อความจากผู้นำศาสนจักร

  • รูปภาพที่ท่านอาจจะใช้ในวิดีโอและท่านจะใช้ตอนไหน

  • ประจักษ์พยานส่วนตัวของท่าน

หลังจากให้เวลาพอสมควร เชิญนักเรียนแบ่งปันกับชั้นเรียนว่าพวกเขาจะมีอะไรในวิดีโอ ขณะพวกเขาแบ่งปัน ท่านอาจถามคำถามติดตามผล เช่น: “ทำไมคุณตัดสินใจเน้นวลีหรือความจริงนั้น?” ทำไมคุณตัดสินใจใช้เรื่องหรือประสบการณ์นั้น?” “คุณคิดว่าทำไมสิ่งนี้จะช่วยเยาวชนสมัยนี้ได้?”

ท่านอาจย้อนกลับไปที่ข้อกังวลหรือคำถามที่นักเรียนบอกไว้ตอนต้นบทเรียน ถามนักเรียนว่า “สิ่งที่คุณเรียนรู้จะช่วยไขข้อกังวลเหล่านี้ได้อย่างไร?”

ท่านอาจต้องการแบ่งปันแผนวิดีโอของท่านกับครอบครัวและเพื่อนๆ เวลาที่เหมาะจะแบ่งปันคือเมื่อสนทนาหัวข้อนี้กับครอบครัวของท่านในการศึกษา จงตามเรามา

ถ้าท่านสามารถทำได้ ท่านอาจทำวิดีโอของท่านแบ่งปันกับผู้อื่น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

เราจะได้รับพรอะไรบ้างเมื่อเราให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิต?

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) สอนว่า:

ภาพ
ภาพถ่ายของประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน ท่านนั่งอยู่บนเก้าอี้หนังหน้าเตาผิง มือประสานกันด้านหน้า และสวมแหวนสีฟ้าครามวงใหญ่ ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการ ปี 1986

เราต้องให้พระผู้เป็นเจ้ามาก่อนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรา …

เมื่อเราให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรก สิ่งอื่นทั้งหมดจะตกไปอยู่ในที่เหมาะสมหรือออกไปจากชีวิตเรา ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าจะควบคุมการเรียกร้องความรักของเรา การเรียกร้องเวลาของเรา ความสนใจที่เราเสาะหา และลำดับความสำคัญของเรา

(เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “The Great Commandment—Love the Lord,” Ensign, พ.ค. 1988, 4)

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ถ่ายเมื่อเดือนมกราคม 2018

ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอิทธิพลสำคัญที่สุดในชีวิตท่านหรือไม่? …

ลองพิจารณาว่าความเต็มใจเช่นนั้นจะเป็นพรแก่ท่านอย่างไร…

ถ้าท่านมีคำถามจริงใจเกี่ยวกับพระกิตติคุณหรือศาสนจักร เมื่อท่านเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย พระองค์จะทรงนำท่านไปพบและเข้าใจความจริงนิรันดร์อันสมบูรณ์ที่จะนำทางชีวิตและช่วยให้ท่านอยู่อย่างมั่นคงบนเส้นทางพันธสัญญา

เมื่อท่านเผชิญการล่อลวง—ถึงแม้การล่อลวงมาเมื่อท่านหมดแรงหรือรู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกเข้าใจผิด—ลองนึกภาพความกล้าหาญที่ท่านจะรวบรวมได้เมื่อท่านเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตท่านและเมื่อท่านทูลขอให้พระองค์ทรงเสริมกำลัง …

… เมื่อท่านเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิต ท่านจะประสบด้วยตนเองว่าพระผู้เป็นเจ้าของเราทรงเป็น “พระผู้เป็นเจ้าแห่งปาฏิหาริย์” [ มอรมอน 9:11 ]

(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 94, 95)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “อย่ากระวนกระวายถึงชีวิตของตน” และ “อย่ากระวนกระวายถึงวันพรุ่งนี้”? (มัทธิว 6:25, 34)

“วลีในภาษากรีกที่แปลว่า ‘อย่ากระวนกระวาย’ ใน มัทธิว 6:25, 34 ฉบับคิงเจมส์หมายถึงอย่าวิตกกังวลเกินเหตุ” (พันธสัญญาใหม่ คู่มือนักเรียน [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 29)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อตรัสว่า “แต่ละวันก็มีทุกข์พออยู่แล้ว”? (มัทธิว 6:34)

วลีนี้หมายความว่า “อย่ายืมความกังวลใจมาจากวันพรุ่งนี้—ท่านมีให้รับมือวันนี้มากพอแล้ว” (New Testament Student Manual, 29)

คิวบิทคืออะไร? (มัทธิว 6:27)

คิวบิทคือ “หน่วยวัดความยาวที่คนฮีบรูใช้ เดิมคือความยาวจากข้อศอกถึงปลายนิ้วมือ … [ประมาณ] 21½ นิ้วในสมัยของพระเจ้า” (Bible Dictionary, “ Cubit ”)

กิจกรรมเสริมการเรียนรู้

จงระวังศาสดาพยากรณ์ปลอม

ท่านอาจขอให้นักเรียนยกตัวอย่างแนวคิดที่ทั่วโลกยอมรับ แต่ขัดกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์ อธิบายว่าศาสดาพยากรณ์ปลอมคือบุคคลหรือกลุ่มคนที่ส่งเสริมแนวคิดขัดกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์และคนที่พยายามทำลายศรัทธาและประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์ อ่าน มัทธิว 7:15–20 และสนทนาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการมองศาสดาพยากรณ์ปลอมให้ออก และเหตุใดคำสอนเหล่านี้จึงสำคัญในสมัยของเรา ข้อความต่อไปนี้จากประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดอาจช่วยได้:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม 2018

“ซาตานจ้องจะทำให้ความคิดเราสับสนหรือนำเราให้หลงผิดในเรื่องสำคัญๆ … พระผู้ช่วยให้รอด … ประทานการทดสอบนี้เพื่อช่วยให้เราเลือกความจริงจากบรรดาคำสอนต่างๆ ที่อาจทำให้เราสับสน: “เจ้าจะรู้จักพวกเขาด้วยผลของพวกเขา” พระองค์ทรงสอน ( 3 นีไฟ 14:16) … ดังนั้นเราจึงควรมองที่ผลลัพธ์—“ผล”—ของหลักธรรมที่สอนเราและบุคคลผู้สอนหลักธรรมเหล่านั้น นั่นเป็นคำตอบที่ดีที่สุดให้แก่ข้อโต้แย้งมากมายที่เราได้ยินเกี่ยวกับศาสนจักร รวมถึงหลักคำสอน นโยบาย และผู้นำของศาสนจักรด้วย จงทำตามการทดสอบที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน มองที่ผล—ผลลัพธ์

(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและกุญแจ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 71)