เซมินารี
ยอห์น 9


ยอห์น 9

พระเยซูทรงรักษาคนตาบอด

ภาพ
Depiction of Jesus healing a blind man. For Mormon Channel use.

พระเยซูทรงรักษาชายตาบอดแต่กำเนิด พวกฟาริสีสอบถามชายคนนี้และขับชายคนนี้ออกจากธรรมศาลาเนื่องจากเขาปฏิเสธที่จะกล่าวโทษพระเยซูว่าเป็นคนบาปที่รักษาในวันสะบาโต พระผู้ช่วยให้รอดทรงไปพบชายคนนี้ และชายคนนี้นมัสการพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าการยังคงแน่วแน่ต่อสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดแม้ในยามที่ยากลำบากสามารถทำให้ประจักษ์พยานของท่านในพระองค์เข้มแข็งขึ้น

หยุดวีดิทัศน์ชั่วคราวเพื่อสนทนา สามารถหยุดวีดิทัศน์ชั่วคราวในช่วงสำคัญเพื่อถามคำถาม ให้บริบท หรือเชื้อเชิญให้นักเรียนถาม เมื่อเตรียมสอนด้วยวีดิทัศน์ให้พิจารณาจุดที่ท่านอาจหยุดวีดิทัศน์ชั่วคราวเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับสิ่งที่วีดิทัศน์สอน

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงช่วงเวลาที่พวกเขายังคงแน่วแน่ต่อสิ่งที่พวกเขารู้และเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เมื่อเผชิญกับการคัดค้าน

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

การยังคงแน่วแน่ต่อพระเยซูคริสต์

พิจารณาการสร้างสถานการณ์สมมุติด้านล่างด้วยดอกกุหลาบหรืออุปกรณ์อื่นๆ ในชั้นเรียนอีกครั้ง

จินตนาการว่าท่านได้รับกล่องที่มีดอกกุหลาบสีเหลืองข้างใน

  • ท่านจะตอบอย่างไรหากคนอื่นที่มองไม่เห็นกุหลาบในกล่องบอกท่านว่าเป็นสีชมพู?

บางครั้งเราอาจพบบุคคลหรือแนวคิดที่ขัดแย้งกับความรู้และประจักษ์พยานของเราถึงพระเยซูคริสต์ แม้ว่าพระวิญญาณจะเป็นพยานแก่เราถึงความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แต่คนอื่นๆ อาจพยายามโต้แย้งความจริงเหล่านั้น

นักเรียนบางคนอาจมีประสบการณ์ที่แบ่งปันได้เกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาเผชิญการคัดค้านสิ่งที่รู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ นักเรียนอาจแบ่งปันสิ่งที่คิดระหว่างกิจกรรมการเตรียมของนักเรียน หากจำเป็นท่านอาจแบ่งปันตัวอย่างของโจเซฟ สมิธใน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:21–26 หรือประสบการณ์ส่วนตัว

  • ท่านกำลังเผชิญการคัดค้านใดก็ตามในความพยายามของท่านที่จะยังคงแน่วแน่ต่อสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์หรือไม่?

  • ถ้าใช่ สิ่งนี้มีผลต่อชีวิตท่านอย่างไร?

ท่านอาจเขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดานเพื่อนักเรียนจะจดจำได้ขณะศึกษา ยอห์น 9

ใน ยอห์น 9 ท่านจะเรียนรู้เกี่ยวกับชายตาบอดที่พระเจ้าทรงรักษาหาย หลักธรรมหนึ่งข้อที่เราจะเรียนรู้ได้จากตัวอย่างของชายคนนี้คือ ขณะที่เรายังคงแน่วแน่ต่อสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์แม้เราจะเผชิญกับการคัดค้านก็ตาม ประจักษ์พยานของเราถึงพระองค์จะเข้มแข็งขึ้น มองหาความชัดเจนของหลักธรรมนี้ขณะท่านศึกษาเรื่องราวใน ยอห์น 9

อ่าน ยอห์น 9:1–12 โดยมองหาสิ่งที่ชายตาบอดเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซู ท่านอาจต้องการรับชมส่วนแรกของวีดิทัศน์ “พระเยซูทรงรักษาชายตาบอดแต่กำเนิด” จากช่วงเวลา 0:00 ถึง 4:01 ขณะดูตามไปด้วยในพระคัมภีร์ของท่าน วีดิทัศน์เรื่องนี้มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org

  • ณ จุดนี้ ชายคนนี้รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระเยซู?

หลังจากชายตาบอดหายแล้ว บางคนโต้แย้งว่าเขาเป็นชายคนนั้นจริงๆ ที่ตาบอดแต่กำเนิดหรือไม่ ในขณะที่คนอื่นสงสัยว่าเขาหายได้อย่างไร เขาถูกนำมาอยู่ต่อหน้าพวกฟาริสีซึ่งอารมณ์เสียเพราะปาฏิหาริย์ทำในวันสะบาโต พวกเขาเริ่มสอบถามชายคนนั้น พวกฟาริสีสอบถามพ่อแม่ของเขาด้วย แต่พ่อแม่ของเขาปฏิเสธที่จะตอบพวกฟาริสีเพราะกลัวจะถูกขับออกจากธรรมศาลาถ้าพวกเขาสนับสนุนพระเยซู พวกฟาริสีสอบถามชายคนนั้นอีกครั้งเกี่ยวกับการรักษาของเขา (ดู ยอห์น 9:13–34)

อ่าน ข้อ 11, 17, 25, และ 30–33 โดยสังเกตสิ่งที่ชายคนนั้นพูดเกี่ยวกับพระเยซู หรือท่านอาจต้องการชมวีดิทัศน์ “พระเยซูทรงรักษาชายตาบอดแต่กำเนิด” ต่อไปจากช่วงเวลา 4:02 ถึง 6:18

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนข้อความต่างๆ ที่ชายคนนี้พูดเกี่ยวกับพระเยซูไว้บนกระดาน นักเรียนอาจได้ประโยชน์จากการทำเครื่องหมายข้อความเหล่านี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาด้วย

  • ในเรื่องของชายตาบอด ท่านเห็นความชัดเจนอะไรเกี่ยวกับหลักธรรมที่ว่า ขณะที่เรายังคงแน่วแน่ต่อสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์แม้เราจะเผชิญกับการคัดค้านก็ตาม ประจักษ์พยานของเราถึงพระองค์จะเข้มแข็งขึ้น?

  • ท่านคิดว่าชายคนนี้มีความเข้าใจมากขึ้นว่าพระเยซูคือใครในทางใดบ้าง?

  • คำพูดของชายคนนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

เพราะชายคนนั้นยังคงกล่าวต่อไปว่าพระเยซูทรงมาจากพระผู้เป็นเจ้า พวกฟาริสีจึงขับเขาออกจากธรรมศาลา (ดู ยอห์น 9:34)

อ่าน ยอห์น 9:35–38 โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติต่อชายคนนั้นอย่างไร ท่านอาจต้องการดูวีดิทัศน์ “พระเยซูทรงรักษาชายตาบอดแต่กำเนิด” ให้จบ (ช่วงเวลา 6:19 ถึง 7:47)

นึกถึงความต้องการของนักเรียนและเลือกคำถามบางข้อต่อไปนี้เพื่อสนทนากัน นักเรียนอาจได้รับประโยชน์จากการตอบคำถามที่เลือกไว้ในสมุดบันทึกของพวกเขาก่อนที่จะสนทนาด้วยกันในชั้นเรียน

คำถามที่เป็นไปได้เพื่อการสนทนา

  • ประจักษ์พยานของชายตาบอดเข้มแข็งมากขึ้นได้อย่างไรขณะที่เขายังคงแน่วแน่ต่อสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด?

  • ประจักษ์พยานของเราถึงพระเยซูคริสต์จะเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไรขณะเราทนรับการคัดค้านหรือการทดลองศรัทธา?

  • เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระเยซูคริสต์จากการปฏิสัมพันธ์ของพระองค์กับชายตาบอดแต่กำเนิด?

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ประจักษ์พยานของชายตาบอดเติบโตอย่างไร? พระองค์ทรงช่วยเราทำให้ประจักษ์พยานของเราเข้มแข็งมากขึ้นอย่างไร?

  • สิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดในเรื่องราวนี้จะช่วยให้ท่านเผชิญกับการคัดค้านในเวลานี้หรือในอนาคตได้อย่างไร?

ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวของการยังคงแน่วแน่ต่อพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อเผชิญกับการคัดค้าน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 9:1–3 เหตุใดสานุศิษย์ของพระเยซูจึงเชื่อว่าการตาบอดของชายคนนั้นเป็นผลมาจากบาป?

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

ภาพ
Final official portrait of Elder Boyd K. Packer, President of the Quorum of the Twelve Apostles, 2000. Passed away 3 July 2015.

เป็นเรื่องปกติสำหรับพ่อแม่ที่มีลูก [ทุพพลภาพ] จะถามตนเองว่า “เราทำอะไรผิด?” แนวคิดที่ว่าความทุกข์ทรมาน ทั้งหมด เป็นสาเหตุโดยตรงของบาปสอนกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเป็นหลักคำสอนเท็จ ความคิดนั้นยังเป็นที่ยอมรับแม้จากบรรดาสานุศิษย์ในยุคแรกๆ จนพระเจ้าทรงแก้ไขความคิดเหล่านั้น

“ขณะพระ‍องค์เสด็จไปนั้น ทรงเห็นชายคนหนึ่งตา‍บอดแต่กำเนิด

“พวกสาวกของพระ‍องค์ทูลถามพระ‍องค์ว่า พระอา‌จารย์ ใครทำบาป คน‍นี้หรือพ่อแม่ของเขา เขาถึงเกิดมาตา‍บอด?

พระ‍เยซูตรัสตอบว่า “ไม่‍ใช่คน‍นี้หรือพ่อแม่ของเขาที่ทำบาป แต่เขาเกิดมาตา‍บอดเพื่อให้พระ‍ราช‌กิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา” ( ยอห์น 9:1–3)

ไม่มีที่สำหรับความรู้สึกผิดที่เกี่ยวข้องกับ [ความทุพพลภาพ] [ความทุพพลภาพ] บางอย่างอาจเป็นผลมาจากความประมาทหรือการข่มเหงและบางอย่างอาจเกิดจากการเสพติดของพ่อแม่ แต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นเช่นนั้น ความทุกข์มาสู่ผู้บริสุทธิ์

(Boyd K. Packer, “The Moving of the Water,” Ensign, May 1991, 7–8)

ชายตาบอดได้รับประสบการณ์อะไรบ้างหลังจากใช้ศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด?

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907–1995) สอนว่า

ภาพ
Howard W. Hunter

เขาได้รับการรักษาให้มองเห็น สองครั้ง—ครั้งหนึ่งเพื่อรักษาข้อบกพร่องแต่กำเนิด และอีกครั้งหนึ่งเพื่อมองเห็นพระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นไปยังบัลลังก์นิรันดร์ของพระองค์ พระเยซูทรงรักษาทั้งการมองเห็นทางร่างกาย และ ทางวิญญาณ พระองค์ทรงส่องแสงของพระองค์ไปในที่มืดและชายคนนี้ เหมือนกับคนอื่นหลายคนในวันนั้นเช่นเดียวกับในสมัยของเรา ยอมรับแสงสว่างและมองเห็น

(Howard W. Hunter, “The God That Doest Wonders,” Ensign, May 1989, 16–17)

การได้รับสายตาทางวิญญาณมีลักษณะอย่างไรในชีวิตเรา?

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สอนว่า

ภาพ
Official portrait of President Thomas S. Monson, 2008.

คนที่รู้สึกถึงรอยสัมผัสจากหัตถาพระอาจารย์ไม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิตเขาได้ แต่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น รับใช้อย่างซื่อสัตย์ ดำเนินชีวิตด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น หลังจากได้รับสายตาทางวิญญาณและมองเห็นคำสัญญาแห่งนิรันดรอยู่แวบหนึ่ง พวกเขากล่าวย้ำถ้อยคำของชายตาบอดที่พระเยซูทรงทำให้เขามองเห็นอีกว่า “สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าทราบก็คือว่า ข้าพเจ้าเคยตาบอดแต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ามองเห็นได้แล้ว” [ ยอห์น 9:25 ]

(โธมัส เอส. มอนสัน, “จงขวนขวาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 73)

ยอห์น 9:22, 34–35 การถูกขับออกจากธรรมศาลามีความหมายอย่างไร?

“ธรรมศาลาใช้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาและสังคมของชุมชนชาวยิวหลายชุมชน ธรรมศาลาเป็นสถานที่สำหรับการสอนและการนมัสการทางวิญญาณ เช่นเดียวกันกับโอกาสทางสังคมและการศึกษา เนื่องจากธรรมศาลาเป็นศูนย์กลางของสังคมชาวยิว การถูกขับออกจากธรรมศาลา … มีความหมายมากกว่าการได้รับปัพพาชนียกรรมและขาดสัมพันธภาพกับชุมชนทางศาสนา นี่หมายถึงการเนรเทศออกจากเรื่องทางวัฒนธรรมและสังคมด้วย การคุกคามนี้รุนแรงอย่างเห็นได้ชัดจนทำให้บิดามารดาของชายตาบอดแต่กำเนิดไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสอบสวนถึงปาฏิหาริย์นี้มากจนเกินไป” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [2014], 230)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

ยอห์น 9:1–7 พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถใช้ความยากลำบากของเราแสดงถึงงานและเดชานุภาพของพระองค์

ท่านอาจใช้ ยอห์น 9:1–7 เพื่อสอนความจริงต่อไปนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถใช้ความยากลำบากของเราแสดงถึงงานและเดชานุภาพของพระองค์ บางข้อความในหมวด “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” อาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ นักเรียนอาจสนทนาว่าเรื่องราวในข้อเหล่านี้สามารถมีอิทธิพลต่อวิธีที่พวกเขามองความยากลำบากของตนเองและของผู้อื่นอย่างไร นักเรียนอาจแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมนี้ด้วย อาจเป็นประโยชน์ที่จะเตือนนักเรียนไม่ให้แบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป

หลักธรรมที่คล้ายกันอยู่ในเอกสาร จงตามเรามา (ดู “24–30 เมษายน ยอห์น 7–10: ‘เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023) นักเรียนอาจดึงประสบการณ์หรือความเข้าใจจากการศึกษาของตนเองหรือครอบครัวมาใช้

ทางเลือกการสรุปบทเรียน

เพื่อช่วยให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมจากบทเรียนนี้ ให้แจกสำเนา แผนภาพต่อไปนี้ให้พวกเขา บอกนักเรียนให้ปิดตาซ้ายและชูแผนภาพขึ้นจนสุดแขน ขอให้พวกเขาดูเครื่องหมายบวก (+) ด้วยตาขวาและค่อยๆ เลื่อนกระดาษเข้ามาใกล้หน้าพวกเขา ณ จุดหนึ่ง วงกลมสีดำทางด้านขวาควรจะหายไปจากการมองเห็นที่ขอบรอบนอก (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าตรงที่จุดหายไปเรียกว่าจุดบอด)

ภาพ
A plus sign and a black dot inside a rectangle.

ชี้ให้เห็นว่าเมื่อนักเรียนปรับระยะห่างของกระดาษจากตาของพวกเขา จุดนั้นจะปรากฏขึ้นอีกครั้ง เชิญพวกเขาให้ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้: หากจุดบนแผนภาพแสดงถึงพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจปรับเปลี่ยนอะไรในชีวิตท่านเพื่อให้เห็นพระผู้ช่วยให้รอดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น? ให้เวลานักเรียนเขียนสิ่งที่จะทำลงในสมุดบันทึกการศึกษาของพวกเขา