เซมินารี
มัทธิว 28; ลูกา 24; ยอห์น 20


มัทธิว 28; ลูกา 24; ยอห์น 20

พยานของพระผู้ช่วยให้รอดที่ฟื้นคืนพระชนม์

ภาพ
Mary Magdalene encountering the resurrected Christ.

พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อบุคคลและกลุ่มคนมากมายหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ บทเรียนนี้สามารถช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์ขณะท่านศึกษาประสบการณ์ของพยานบางคนเหล่านี้

แบ่งปันประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์ มองหาโอกาสแบ่งปันประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์ รวมถึงประจักษ์พยานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ สิ่งนี้จะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นพยานถึงความจริง

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน อีเธอร์ 12:5–9 ด้วยคำถามนี้ในใจ: ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์โดยไม่เห็นพระองค์?

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

การเชื่อโดยปราศจากการมองเห็น

อย่าลืมเผื่อเวลาให้เพียงพอเพื่อให้นักเรียนแสดงประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์ในตอนท้ายของบทเรียน

ดูภาพต่อไปนี้ของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ซึ่งกำลังเสด็จออกมาจากอุโมงค์ บันทึกในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านถึงสิ่งที่ท่านอาจแบ่งปันกับใครบางคนที่สงสัยว่าเหตุการณ์ที่สำคัญมากนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ท่านอาจแบ่งปันเรื่องราวพระคัมภีร์เรื่องใดบ้างถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดกับเขา?

ภาพ
The resurrected Jesus Christ emerging from the Garden Tomb. Christ is portrayed stepping out of the tomb. He is depicted wearing white robes. Flowers are blooming near the entrance to the tomb.
  • เพราะเหตุใดท่านจึงคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อพระเจ้าที่เราแต่ละคนได้รับประจักษ์พยานของตนเองว่าพระองค์ทรงพระชนม์?

ใคร่ครวญถึงประจักษ์พยานของท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์และท่านจะได้รับพรจากการเสริมสร้างประจักษ์พยานนี้อย่างไร การศึกษาถ้อยคำของผู้ที่รู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์สามารถเสริมสร้างศรัทธาของเราในความเป็นจริงของการทรงพระชนม์ของพระองค์แม้ว่าผู้อื่นรอบตัวเราจะสงสัยก็ตาม ขณะท่านศึกษาในวันนี้ ขอให้ใส่ใจถึงการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ยืนยันความจริงของเรื่องราวเหล่านี้ต่อใจและความคิดของท่าน

พยานในพันธสัญญาใหม่

ศึกษาเรื่องราวต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งเรื่องของพันธสัญญาใหม่เกี่ยวกับผู้คนที่เห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ จากนั้นบันทึกคำตอบของท่านสำหรับคำถามสองข้อที่ตามมาและความคิดกับความประทับใจอื่นๆ ที่อาจมาถึงท่าน

ท่านอาจจัดวางภาพที่แสดงเรื่องราวสี่เรื่องต่อไปนี้ พร้อมกับข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ที่สอดคล้องกันในพื้นที่ต่างๆ ของห้อง เชื้อเชิญให้นักเรียนไปแต่ละพื้นที่เป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มเล็กและศึกษาเรื่องราวที่สอดคล้องกัน

อีกทางเลือกหนึ่ง โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของนักเรียน นักเรียนอาจใช้เวลามากขึ้นในการศึกษาเรื่องราวต่อไปนี้อย่างลึกซึ้งหนึ่งเรื่องแทนที่จะศึกษาทั้งสี่เรื่องโดยใช้เวลาสั้นๆ แนวคิดบางอย่างในการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มีอยู่ในหมวด “กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม” ของบทเรียน

  1. หญิงผู้เปี่ยมศรัทธา: มัทธิว 28:1–10

  2. สานุศิษย์สองคนบนถนนไปเอมมาอูส: ลูกา 24:13–35

  3. มารีย์ ชาวมักดาลา: ยอห์น 20:11–18

  4. โธมัส: ยอห์น 20:24–29

  • ท่านเรียนรู้อะไรที่อาจเสริมสร้างศรัทธาของท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์?

  • ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากการปฏิสัมพันธ์ของพระองค์กับบุคคลนี้หรือผู้คนเหล่านี้?

พยานอื่นๆ ในพระคัมภีร์

ประจักษ์พยานของท่านถึงพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเข้มแข็งมากขึ้นโดยการศึกษาถึงพยานเพิ่มเติมในพระคัมภีร์ข้ออื่นๆ ศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ จากนั้นบันทึกคำตอบของท่านสำหรับคำถามสองข้อที่ตามมาและความคิดกับความประทับใจอื่นๆ ที่อาจมาถึงท่าน

สังเกตว่าแต่ละข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ประกอบด้วยข้อพระคัมภีร์ผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อเหล่านี้ให้ชัดเจนเพื่อจะหาเจอได้ง่าย

  1. ผู้คนในพื้นที่ของทวีปอเมริกาสมัยโบราณไม่นานหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด: 3 นีไฟ 11:8–17

  2. โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดัน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:19–24

  • สิ่งที่ท่านอ่านอาจจะเสริมสร้างความเชื่อของท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์ได้อย่างไร?

  • ท่านได้รับความเข้าใจเพิ่มเติมอะไรบ้างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

พยานในสมัยปัจจุบัน

อีกทางหนึ่งที่สำคัญในการเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์คือการศึกษาประจักษ์พยานของ “พยานพิเศษถึงพระนามของพระคริสต์ในทั่วโลก” สมัยปัจจุบัน ( หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:23) อัครสาวกที่ได้รับแต่งตั้งในสมัยของเรา

ท่านอาจแทนที่ข้อความใดก็ได้ต่อไปนี้กับประจักษ์พยานของอัครสาวกที่มีชีวิตคนอื่น

อ่านข้อความของประธานอายริงก์และเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ ผู้เป็นพยานสมัยปัจจุบันสองท่านของพระเยซูคริสต์

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดเป็นพยานดังนี้

ภาพ
Official Portrait of President Henry B. Eyring taken March 2018.

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเจ้าอย่างแน่นอนเสมือนหนึ่งข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นในค่ำคืนที่มีสานุศิษย์สองคนอยู่ในบ้านบนถนนไปสู่เอมมาอูส ข้าพเจ้าทราบว่าพระองค์ทรงพระชนม์อย่างแน่นอนเหมือนกับที่โจเซฟ สมิธทราบเมื่อเขาเห็นพระบิดาและพระบุตรในแสงเรืองรองของรุ่งอรุณอันสดใสในป่าที่พอลไมรา

นี่คือศาสนจักรที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์

(เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “จงมาหาเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 25)

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานดังนี้

ภาพ
Official Portrait of Elder Jeffrey R. Holland. Photographed January 2018.

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรผู้ทรงพระชนม์จริงๆ ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์จริงๆ … ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระองค์ทรงฟื้นคืนพระชนม์จริงๆ จากอุโมงค์ และหลังจากเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบิดาเพื่อทำให้กระบวนการในการฟื้นคืนชีวิตสมบูรณ์ พระองค์ทรงปรากฏหลายครั้งต่อสานุศิษย์หลายร้อยคนในโลกเก่าและในโลกใหม่ ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล พระเมสสิยาห์ ผู้จะเสด็จมาอีกครั้งในรัศมีภาพสุดท้ายเพื่อปกครองบนแผ่นดินโลกในฐานะพระเจ้าเหนือเจ้านายและกษัตริย์เหนือกษัตริย์

(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 51)

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบพยานสมัยปัจจุบันแก่เรานอกเหนือจากพยานในสมัยโบราณของพระองค์?

การเป็นพยานของท่าน

อ่าน ยอห์น 20:29 โดยมองหาความจริงที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนโธมัสเกี่ยวกับการได้รับประจักษ์พยาน

  • ข้อนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับการพัฒนาประจักษ์พยานของท่านถึงพระเยซูคริสต์?

ความจริงข้อหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อนี้คือ เราได้รับพรเพราะเราเลือกที่จะเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์แม้เราจะไม่เคยเห็นพระองค์

ใช้เวลาที่เหลือของบทเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงพระชนม์ เลือกจากคำถามที่แนะนำต่อไปนี้หรือใช้วิธีอื่นเพื่อช่วยให้นักเรียนไตร่ตรองและแบ่งปันการเป็นพยานของพวกเขา

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนประจักษ์พยานในสมุดบันทึกการศึกษาของตนหรือร้องเพลงสวดด้วยกันในชั้นเรียนก่อนกล่าวแบ่งปันประจักษ์พยาน

เสริมพยานส่วนตัวของท่านถึงพระผู้ช่วยให้รอดกับผู้ที่ท่านศึกษาในวันนี้ วิธีหนึ่งในการทำสิ่งนี้ ท่านอาจบันทึกคำตอบของคำถามดังต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

  • ท่านเห็นหลักฐานอะไรในชีวิตท่านและในชีวิตของคนอื่นๆ ว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์?

  • ท่านเคยรู้สึกว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อท่านถึงความมีอยู่จริงของพระเยซูคริสต์เมื่อใด?

  • ท่านจะให้คำแนะนำใดแก่ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าตนจะเชื่อว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์หรือไม่?

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

เหตุใดจึงมีบาดแผลจากการตรึงการเขนในพระวรกายที่ฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู?

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนดังนี้

ภาพ
Official Portrait of Elder Jeffrey R. Holland. Photographed January 2018.

แม้ว่าอำนาจการฟื้นคืนพระชนม์อาจ—และไม่ต้องสงสัยว่าแน่นอนวันหนึ่งจะ—ฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์และทำให้บาดแผลหายจากการตรึงกางเขน อย่างไรก็ดี พระคริสต์ทรงเลือกที่จะเก็บบาดแผลเหล่านั้นไว้เพื่อจุดประสงค์อย่างหนึ่ง รวมถึงการปรากฏพระองค์ในวันเวลาสุดท้ายเมื่อพระองค์จะทรงแสดงเครื่องหมายเหล่านั้นและเปิดเผยว่าทรงบาดเจ็บ “ในบ้านของพวกเพื่อน [ของพระองค์]” [ เศคาริยาห์ 13:6 ; หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:52 ]

บาดแผลที่พระหัตถ์ พระบาท และพระปรัศว์เป็นเครื่องหมายว่าในความเป็นมรรตัย สิ่งที่เจ็บปวดเกิดขึ้นแม้ต่อผู้ที่บริสุทธิ์และดีพร้อม เครื่องหมายที่ว่าความยากลำบาก ไม่ใช่ หลักฐานว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงรักเรา เป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญและเต็มไปด้วยความหวังว่าเป็นพระคริสต์ ผู้ทรงบาดเจ็บ ที่เสด็จมาช่วยชีวิตเรา

(เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, Christ and the New Covenant [1997], 258–59)

ยอห์น 20:17 พระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายถึงอะไรเมื่อทรงบอกมารีย์ ชาวมักดาลา “อย่าหน่วงเหนี่ยว [พระองค์] ไว้”?

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า

ภาพ
Head and shoulders portrait of Elder Bruce R. McConkie.

พระคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์กล่าวว่าพระเยซูคริสต์รับสั่งว่า “อย่าแตะต้องเรา” งานแปลของโจเซฟ สมิธอ่านว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้” งานแปลหลายงานจากภาษากรีกถอดความเป็น “อย่ารั้งเราไว้” หรือ “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้” ผู้แปลบางคนให้ความหมายว่า “อย่ารั้งเราไว้อีกต่อไป” หรือ “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้อีกต่อไป” บ้างก็พูดถึงการเลิกหน่วงเหนี่ยวหรือเลิกรั้งพระองค์ โดยให้ความหมายว่ามารีย์นั้นได้รั้งพระองค์ไว้แล้ว มีเหตุผลน่าเชื่อถือสำหรับสมมุติฐานที่ว่าพระเจ้าผู้ทรงฟื้นคืนทรงสื่อสารกับมารีย์ดังนี้ “ท่านไม่สามารถหน่วงเหนี่ยวเราไว้ที่นี่ เพราะเรากำลังจะขึ้นไปหาพระบิดาของเรา”

(บรูซ อาร์. แมคคองกี, The Mortal Messiah: From Bethlehem to Calvary [1981], 4:264)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

ทางเลือกการเริ่มต้นเข้าสู่บทเรียน

ในการเริ่มต้นบทเรียน ท่านอาจขอให้นักเรียนคนหนึ่งแบ่งปันชื่อของคนที่รู้จักดีแต่ชั้นเรียนและครูไม่เคยพบมาก่อน จากนั้นหยอกเล่นๆ ว่าไม่แน่ใจว่าบุคคลนี้มีตัวตนอยู่หรือไม่ ถามคำถามนักเรียนเช่นคำถามต่อไปนี้: มีใครในชั้นเรียนนี้สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลนี้มีตัวตนอยู่จริง? หากเรามีจำนวนมากพอที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านบอกเรา ท่านจะเริ่มสงสัยหรือไม่ว่าบุคคลนี้มีตัวตนอยู่จริง?

จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าจะตอบสนองอย่างไรต่อคนที่สงสัยการมีอยู่จริงของพระเยซูคริสต์

ถนนสู่เอมมาอูส

หากการใช้เวลามากขึ้นกับเรื่องราวใน ลูกา 24:13–35 จะเป็นประโยชน์กับนักเรียน ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้

  • เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้พระคัมภีร์เพื่อช่วยให้สานุศิษย์เข้าใจพระพันธกิจของพระองค์ได้ดีขึ้น?

  • ท่านอาจใช้พระคัมภีร์ข้อใดบ้างเพื่อช่วยให้เพื่อนเข้าใจพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้น?

  • สานุศิษย์อธิบายความรู้สึกของพวกเขาอย่างไร ตามที่บันทึกไว้ใน ข้อ 32 ? สิ่งใดที่ทำให้สานุศิษย์รู้สึกเช่นนั้น? ท่านจะอธิบายถึงการกระตุ้นเตือนที่ท่านได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร?

  • เหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สานุศิษย์จะจำพระผู้ช่วยให้รอดได้ “โดยการหักขนมปังนั้น”? ( ข้อ 35) สิ่งนี้ประยุกต์ใช้กับชีวิตเราอย่างไร?

เลือกที่จะเชื่อ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 20:1–8 โดยมองหาสิ่งที่ยอห์นทำหลังจากได้ยินเกี่ยวกับประสบการณ์ของมารีย์ ชาวมักดาลา (สังเกตว่ายอห์นกล่าวถึงตนเองว่าเป็น “สาวกอีกคนหนึ่ง” ตลอดข้อพระคัมภีร์นี้)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเปรียบเทียบปฏิกิริยาของยอห์นที่บันทึกไว้ใน ยอห์น 20:8 กับคำพูดของโธมัสที่บันทึกไว้ใน ยอห์น 20:24–25 จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • สิ่งใดบ้างที่ท่านเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักฐานยืนยันทางกายภาพ?

  • ท่านได้รับพรจากการเลือกที่จะเชื่อโดยไม่มีหลักฐานทางกายภาพในทางใดบ้าง? (ดู ยอห์น 20:29)

  • ท่านจะเสริมสร้างศรัทธาของท่านในสิ่งที่เป็นความจริงที่ท่านยังไม่สามารถมองเห็นได้อย่างไร? (ดู แอลมา 32:16–21 ; อีเธอร์ 12:6 .)