เซมินารี
โรม 6


โรม 6

“ดำเนินตามชีวิตใหม่”

ภาพ
A young man being baptized in a baptismal font in a church building in Madagascar.

การยอมตนต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พระเยซูคริสต์ทรงให้คำมั่นว่า เมื่อเราปล่อยให้ตัวตนที่เก่าและเต็มไปด้วยบาปของเราตายไป พระองค์จะประทานชีวิตใหม่แก่เรา เปลี่ยนธรรมชาติของเราให้เป็นเหมือนพระองค์มากยิ่งขึ้น เปาโลสอนว่า เราสามารถรับพลังแห่งการปฏิรูปของพระผู้ช่วยให้รอดที่ช่วยให้เรา “ดำเนินตามชีวิตใหม่” ผ่านศาสนพิธีบัพติศมา ( โรม 6:4) บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านแสวงหาการเปลี่ยนแปลงผ่านพระเยซูคริสต์และตระหนักได้ดีขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเกิดขึ้น

ทำความเข้าใจคำและวลียากๆ ขณะที่นักเรียนศึกษาพระคัมภีร์ นักเรียนอาจพบคำหรือวลีที่ไม่คุ้นเคยหรือเข้าใจยาก สอนนักเรียนว่าบ่อยครั้งที่พจนานุกรม คู่มือนักเรียน เชิงอรรถ และสิ่งช่วยศึกษาพระคัมภีร์จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจคำที่ท้าทายและเนื้อหาในพระคัมภีร์

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบัพติศมาของตนและอาจนำรูปภาพมาด้วยหากมี นักเรียนบางคนหรือบิดามารดาของนักเรียนอาจเขียนบันทึกไว้เมื่อครั้งที่นักเรียนรับบัพติศมา อาจเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนที่จะอ่านบันทึกนั้น หรือพูดคุยกับบิดามารดาเกี่ยวกับรายละเอียดบัพติศมาของตน รวมถึงสิ่งที่นักเรียนอาจลืมไปแล้ว

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ท่านอาจแบ่งปันรายละเอียดและรูปภาพการรับบัพติศมาของท่าน และเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันด้วย

  • ท่านจำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับบัพติศมาของท่าน?

  • ท่านเปลี่ยนแปลงทางวิญญาณอย่างไรนับตั้งแต่ท่านรับบัพติศมา?

ใช้เวลาไตร่ตรองถึงความก้าวหน้าทางวิญญาณของท่าน ท่านอาจถามตนเองว่า “ศรัทธาของฉันและความสัมพันธ์กับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ดีขึ้นหรือไม่?” หรือ “สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดส่งผลต่อเจตคติและการกระทำของฉันอย่างไร?” ขณะที่ท่านศึกษา โรม 6 ให้ไตร่ตรองว่าท่านกลายเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นหรือไม่ และพระองค์จะทรงช่วยให้ท่านเติบโตและเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นได้อย่างไร

บัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวเป็นสัญลักษณ์แทนความตายและการฟื้นคืนชีวิต

การเรียนรู้ที่จะตระหนักและทำความเข้าใจสัญลักษณ์ในพระคัมภีร์ถือเป็นทักษะที่มีค่ายิ่ง เปาโลใช้สัญลักษณ์ของบัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัวเพื่อให้วิสุทธิชนในกรุงโรมเข้าใจว่า เราจะต้องละทิ้งชีวิตเก่าและเต็มไปด้วยบาปของเรา เพื่อให้พระเยซูคริสต์ทรงสามารถเปลี่ยนแปลงเราและมอบชีวิตใหม่ให้เราผ่านการชดใช้ของพระองค์

อ่าน โรม 6:3–8 และมองหาสัญลักษณ์ที่สามารถสอนท่านได้มากขึ้นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด อาจเป็นประโยชน์ที่จะทราบว่างานแปลของโจเซฟ สมิธใน ข้อ 7 เขียนไว้ว่า “เพราะว่าผู้ที่ตายแล้วจากบาปก็พ้นจากบาป”

  • อ้างอิงจาก โรม 6:3–8 การลงไป จมอยู่ข้างใต้ และออกมาจากน้ำที่บัพติศมาแทนสิ่งใดสำหรับเรา?

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า:

ภาพ
Official portrait of President Russell M. Nelson taken January 2018

ศาสนพิธีที่จำเป็นของพระกิตติคุณเป็นสัญลักษณ์ของการชดใช้ คือบัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นพระชนม์ การถูกฝังและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ไถ่

(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “The Atonement,” Ensign, Nov. 1996, 35)

  • ท่านจะสรุป โรม 6:4 เป็นถ้อยคำที่เป็นความจริงว่าอย่างไร?

ต่อไปนี้เป็นวิธีหนึ่งในการสรุป โรม 6:4 : ผ่านพระเยซูคริสต์ เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้และ “ดำเนินตามชีวิตใหม่”

  • ท่านคิดว่า “ดำเนินตามชีวิตใหม่” หมายความว่าอย่างไร? ( โรม 6:4)

  • เมื่อใดที่ท่านเคยรู้สึกว่าท่านสามารถดำเนินตามชีวิตใหม่ผ่านพระผู้ช่วยให้รอด?

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้เราดำเนินตามชีวิตใหม่?

ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวกับนักเรียน นอกจากนี้ยังอาจเป็นประโยชน์ที่จะย้ำเตือนให้นักเรียนอย่าแบ่งปันบาปในอดีต

ตามที่บันทึกไว้ใน ข้อ 5–6 เปาโลสอนว่าผ่านพันธสัญญาและศาสนพิธีบัพติศมา “คนเก่าของเรา” หรือ “ตัวที่บาป” นั้น “ถูกตรึงไว้กับ [พระเยซูคริสต์] แล้ว” และ “ถูกทำลายให้สิ้นไปและเราจะไม่เป็นทาสของบาปอีกต่อไป”

ดูที่หมวด “กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม” ของบทเรียนนี้เพื่อดูแนวคิดการสอนที่เป็นไปได้เกี่ยวกับการได้รับพลังอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านการทำและรักษาพันธสัญญา พิจารณาว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ที่จะทำร่วมกับนักเรียนหรือไม่

ใช้เวลาสักครู่เพื่อไตร่ตรองเกี่ยวกับบาปหรือจุดด้อยที่ท่านประสบปัญหาซึ่งท่านต้องการกำจัดออกไปจากชีวิตท่าน ท่านจะได้ย้อนกลับมาดูความคิดเหล่านี้ในภายหลังของบทเรียนนี้

ท่านสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง?

  • การเปลี่ยนแปลงประเภทใดที่ท่านคิดว่าทำได้ง่าย? สิ่งใดที่ยาก?

เปาโลใช้ตัวอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงเอาชนะความตายและบาป เพื่อสอนว่าเราเองก็สามารถเอาชนะบาปของเราได้โดยผ่านพระองค์อ่าน โรม 6:9–14 และมองหาว่าเปาโลเล่าถึงการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสต์อย่างไรและวิธีที่เราสามารถเอาชนะบาปได้

การเขียนของเปาโลอาจเข้าใจยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ่านหลายข้อเรียงกันโดยไม่หยุดวิเคราะห์ข่าวสารของเขา หากมีนักเรียนมากพอ ท่านอาจกำหนดแต่ละหัวข้อให้นักเรียนสองหรือสามคนอ่าน สนทนา และสรุปด้วยคำพูดของนักเรียนเอง สนับสนุนให้นักเรียนใช้สิ่งช่วยศึกษาพระคัมภีร์หรือค้นหานิยามของคำหรือวลีที่ยาก จากนั้นให้แต่ละกลุ่มสอนข้อของตนกับชั้นเรียน คำถามต่อไปนี้อาจช่วยได้กับบางข้อ

  • เช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสต์ทรง “ตายต่อบาปครั้งเดียว” ( ข้อ 10) เราก็ได้รับบัพติศมาเพียงครั้งเดียวเพื่อปลดบาปของเรา อย่างไรก็ตาม ในแต่ละสัปดาห์เราสามารถต่อคำมั่นสัญญาของเราที่จะ “ดำเนินตามชีวิตใหม่” ( ข้อ 4) ด้วยการรับส่วนศีลระลึก ศาสนพิธีประจำสัปดาห์นี้ช่วยให้ท่านแสดงความรักของท่านที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

  • จากข้อนี้ท่านคิดว่าเปาโลหมายความว่าอย่างไร “พวกท่านจงถือว่าท่านได้ตายต่อบาป และมีชีวิตสนิทกับพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์” ( ข้อ 11)

  • เหตุใดคนหนุ่มสาวจึงอาจเลือกที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลที่บันทึกไว้ใน ข้อ 12 ? พรใดที่มาจากการดำเนินชีวิตด้วยวิธีนี้?

  • คำว่า อวัยวะ ใน ข้อ 13 หมายถึงส่วนต่างๆ ของร่างกายของเรา ท่านจะใช้มือ เท้า ศีรษะ และใจของท่านเป็น “เครื่องใช้ในการชอบธรรมถวายแด่พระเจ้า” ได้อย่างไร? ( ข้อ 13)

  • งานแปลของโจเซฟ สมิธสำหรับช่วงแรกของข้อ 14 เขียนไว้ว่า “การกระทำบาปนั้นจะไม่ครอบงำพวกท่านต่อไป” การติดตามคำสอนที่บันทึกไว้ใน ข้อ 11–13 ทำให้คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ใน ข้อ14 สำเร็จได้อย่างไร?

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองเงียบๆ ถึงบาปที่นักเรียนต้องการจะละทิ้ง เนื่องจากการคิดทบทวนเช่นนี้มีความอ่อนไหวโดยธรรมชาติ จึงไม่ควรขอให้นักเรียนสนทนาเกี่ยวกับความคิดของตนกับชั้นเรียน

ท่านสามารถพ้นจากบาปได้

อ่าน โรม 6:16–18, 22–23 และมองหาพรจากการดำเนินตามชีวิตใหม่

  • เปาโลอธิบายถึงพรของการดำเนินตามชีวิตใหม่ไว้อย่างไร?

  • ขณะที่ท่านยังคงมุ่งมั่นที่จะเอาชนะบาปผ่านพระคริสต์ต่อไป ท่านคิดว่าชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์จะเป็นอย่างไรและรู้สึกอย่างไร?

  • ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเริ่มดำเนินตามชีวิตใหม่ตั้งแต่วันนี้?

เป็นพยานต่อความปรารถนาและพลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะเปลี่ยนใจของเราขณะที่เรามุ่งมั่นดำเนินตามชีวิตใหม่

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มีวิธีใดบ้างที่ฉันจะเปลี่ยนแปลงได้?

ซิสเตอร์เบคกี้ เครเวน อดีตที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนว่า:

ภาพ
Sister Rebecca L. Craven, second counselor, Young Women general presidency. Official Portrait as of October 2018.

เพื่อตอบแทนราคาอันล้ำค่าที่พระองค์ทรงจ่ายสำหรับเราแต่ละคน พระเจ้าทรงขอให้เรามีการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ การเปลี่ยนแปลงที่พระองค์ทรงขอจากเราไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง แต่เพื่อประโยชน์ของเรา …

หลังจากได้ยินถ้อยคำที่กษัตริย์เบ็นจามินกล่าว ผู้คนของท่านร้องออกมาประกาศว่าใจพวกเขาเปลี่ยนไปแล้ว โดยกล่าวว่า “เพราะพระวิญญาณของพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์, ซึ่งทรงกระทำการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในเรา, … เราไม่มีใจที่จะทำความชั่วอีก, แต่จะทำความดีโดยตลอด” [โมไซยาห์ 5:2] พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าพวกเขาดีพร้อมทันที แต่ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงทำให้พวกเขาลงมือทำ การเปลี่ยนแปลงในใจพวกเขาหมายถึงการละจากความเป็นมนุษย์ปุถุชนและยอมต่อพระวิญญาณขณะพยายามเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์

(เบคกี้ เครเวน, “เก็บการเปลี่ยนแปลง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 58)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

มุมมองของสมาชิกที่เพิ่งรับบัพติศมา

หากมีผู้ที่เพิ่งเปลี่ยนใจเลื่อมใสในชั้นเรียน วอร์ด หรือสาขาของท่าน ให้เชิญบุคคลนั้นมาแบ่งปันประสบการณ์การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและความคิดเกี่ยวกับบัพติศมาของตนกับชั้นเรียน อย่าลืมขออนุญาตจากผู้นำฐานะปุโรหิตท้องที่ และผู้อำนวยการหรือผู้ประสานงานระดับภาคหรือเขตก่อนที่จะเชิญ

ฉันสามารถทำบาปตอนนี้โดยวางแผนกลับใจในภายหลังได้ไหม?

เปาโลสอนว่า “ทุกคนทำบาปและเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” ( โรม 3:23) เขายังเป็นพยานด้วยว่าเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ “ที่ไหนมีบาปปรากฏมากขึ้น ที่นั้นพระคุณก็จะไพบูลย์ยิ่งขึ้น” ( โรม 5:20) จากนั้นเขาจึงถามว่า “เราจะอยู่ในบาปต่อ‍ไปเพื่อให้พระ‍คุณเพิ่มทวีขึ้นหรือ?” ( โรม 6:1) เปาโลตอบคำถามของตนเองตามที่บันทึกไว้ใน โรม 6:2

เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนากันเป็นกลุ่มเล็กๆ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการทำบาปต่อไปขณะวางแผนกลับใจภายหลัง นักเรียนอาจตอบคำถามบางข้อหรือทุกข้อต่อไปนี้ได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้:

  • การทำบาปต่อไปส่งผลต่อความสัมพันธ์ของบุคคลหนึ่งกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไร?

  • มีวิธีใดบ้างที่คนหนุ่มสาวอาจพยายามรับรองความชอบธรรมของการทำบาปตอนนี้ขณะวางแผนกลับใจภายหลัง?

  • สิ่งใดคืออันตรายของการทำบาปตอนนี้ โดยที่ทราบดีว่าท่านวางแผนจะกลับใจภายหลัง?

  • ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแผนแห่งความรอดหรืออัตลักษณ์อันสูงส่งและจุดประสงค์ของเรา ช่วยให้เราเอาชนะการล่อลวงให้เต็มใจทำบาปในตอนนี้และกลับใจภายหลังอย่างไร?

การทำและรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้ฉันได้รับ “ชีวิตใหม่” อย่างไร?

คำสอนของกษัตริย์เบ็นจามินในพระคัมภีร์มอรมอนอธิบายถึงวิธีที่เราสามารถตระหนักถึง “ชีวิตใหม่” ที่เปาโลสอนใน โรม 6:4 หลังจากกษัตริย์เบ็นจามินสอนประชาชนของเขาเกี่ยวกับการไถ่จากบาปและความตายผ่านพระเยซูคริสต์ เขาถามว่าประชาชนเชื่อคำพูดของเขาหรือไม่

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โมไซยาห์ 5:2, 5–8 จากนั้นหาคำตอบของประชาชนและสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินสอนประชาชนเกี่ยวกับพรที่เราได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านการทำและรักษาพันธสัญญาของเรา

  • ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการไถ่ของพระคริสต์ส่งผลอย่างไรต่อพวกเขา?

  • กษัตริย์เบ็นจามินสอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พันธสัญญาช่วยให้เรารับ “ชีวิตใหม่”? ( โรม 6:4)

พระเยซูคริสต์สามารถประทานชีวิตใหม่แก่เราและทำให้เราพ้นจากบาป

. . . .

.