เซมินารีและสถาบัน
สอนหลักคำสอน


“สอนหลักคำสอน,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด: สำหรับทุกคนที่สอนในบ้านและในศาสนจักร (2022)

“สอนหลักคำสอน” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
พระเยซูคริสต์ทรงสอนในพระวิหารเมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา

พระคริสต์ในพระวิหาร โดย ไฮน์ริค ฮอฟแมนน์

สอนหลักคำสอน

แม้พระเยซูทรงเจริญวัยในปัญญาและความรู้ตลอดพระชนม์ชีพ แต่มิได้ทรงรับการศึกษาอย่างเป็นทางการเหมือนผู้นำทางศาสนาคนอื่นๆ ในยุคของพระองค์ กระนั้นเมื่อทรงสอน ผู้คนพากันประ‌หลาด‍ใจพลางพูดว่า “คน‍นี้รู้พระ‍ธรรมได้อย่าง‍ไรในเมื่อไม่‍เคยเรียนเลย?” เหตุใดการสอนของพระองค์จึงมีพลังมาก? “[หลัก]คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง” พระองค์ตรัสอธิบาย “แต่เป็นของผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 7:15–16) หลักคำสอนคือความจริงนิรันดร์—พบในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย—ที่แสดงให้เราเห็นวิธีที่จะเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์และกลับไปหาพระองค์อีก ท่านสอนด้วยพลังอำนาจได้ ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน โดยการสอนหลักคำสอนของพระบิดา ท่านและคนที่ท่านสอนจะประหลาดใจในพรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งมาเมื่อการเรียนการสอนของท่านมีพื้นฐานอยู่ในพระวจนะของพระองค์

การสอนหลักคำสอน

  • เรียนรู้หลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ด้วยตนเอง

  • สอนจากพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย

  • ช่วยให้ผู้เรียนแสวงหา รับรู้ และเข้าใจความจริงในพระคัมภีร์

  • มุ่งเน้นความจริงซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและเสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์

  • ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความเชื่อมโยงส่วนตัวในหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียนรู้หลักคำสอน

ดูเหมือนจะชัดเจนว่าพระผู้ช่วยให้รอดในวัยเยาว์ทรงเรียนรู้จากพระคัมภีร์แล้วทรงเจริญขึ้น “ในด้านสติปัญญา … และเป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้า” (ลูกา 2:52) ความเข้าพระทัยอันลึกซึ้งของพระองค์ในหลักคำสอนของพระบิดาปรากฏชัดเมื่อบิดามารดาพบพระองค์ในพระวิหารขณะยังทรงพระเยาว์ กำลังสอนบรรดาปรัชญาเมธีชาวยิวและตอบคำถามพวกเขา (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ลูกา 2:46 [ใน ลูกา 2:46, เชิงอรรถ c]) ต่อมา เมื่อซาตานใช้การล่อลวงที่ต่อต้านยากที่สุดกับพระองค์ในแดนทุรกันดาร ความรู้ของพระเยซูเกี่ยวกับหลักคำสอนในพระคัมภีร์ช่วยให้พระองค์ต้านทานการล่อลวงนั้นได้ (ดู ลูกา 4:3–12)

ท่านแสวงหาการเรียนรู้หลักคำสอนที่แท้จริงให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นก่อนสอนเรื่องนั้นได้เช่นกัน ขณะเตรียมการเรียนการสอนกับคนอื่นๆ มองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับความจริงที่ท่านกำลังสอนอย่างละเอียด ค้นคว้าพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตเพื่อค้นพบคำอธิบายและคำแนะนำ การดำเนินชีวิตตามและการประยุกต์ใช้ความจริงที่ท่านศึกษาจะอัญเชิญพระวิญญาณให้สอนหลักคำสอนแก่ท่านในวิธีที่อาจจะลึกซึ้งกว่าเดิมและยืนยันความจริงที่เต็มเปี่ยมอยู่ในหลักคำสอนนั้นในใจคนที่ท่านสอน

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ทำไมการทำความเข้าใจความจริงของพระกิตติคุณด้วยตัวท่านเองจึงสำคัญ? ท่านจะเข้าใจความจริงของพระกิตติคุณให้ลึกซึ้งขึ้นได้อย่างไร? ท่านรู้สึกถึงการดลใจให้ทำสิ่งใดบ้างเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระกิตติคุณและถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตให้ดีขึ้น?

จากพระคัมภีร์: สุภาษิต 7:1–3; 2 นีไฟ 4:15–16; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21; 88:118

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนจากพระคัมภีร์

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด สานุศิษย์สองคนเดินคุยกันด้วยใจที่ทั้งโศกเศร้าและประหลาดใจ พวกเขาจะทำใจให้ยอมรับสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นได้อย่างไร? เยซูแห่งนาซาเร็ธ คนที่พวกเขาวางใจว่าเป็นพระผู้ไถ่ของตน บัดนี้ตายไปสามวันแล้ว แต่แล้วกลับได้ข่าวว่าที่เก็บพระศพว่างเปล่า และเทพประกาศว่าพระองค์ทรงพระชนม์! ที่จุดเปลี่ยนในศรัทธาของสานุศิษย์ทั้งสองนี้ มีคนแปลกหน้าเข้ามาร่วมเดินทาง เขาคนนั้นปลอบโยนพวกเขาโดย “[การ]อธิบายพระคัมภีร์ที่เล็งถึง [พระผู้ช่วยให้รอด] ทุกข้อให้เขาฟัง” ในที่สุด ผู้เดินทางทั้่งสองก็ตระหนักว่าครูของตนคือพระเยซูคริสต์และทรงฟื้นขึ้นจริงๆ พวกเขารู้ว่าเป็นพระองค์ได้อย่างไร? “ใจเรารุ่มร้อนภายใน” พวกเขาเล่าในเวลาต่อมา “เมื่อพระองค์ตรัสตามทาง และเมื่อทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟังไม่ใช่หรือ?” (ลูกา 24:27, 32)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันสอนว่า “จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์ทุกเล่มคือเติมจิตวิญญาณของเราด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและในพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์” (“พรจากพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 39) ตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ พระเยซูทรงใช้พระคัมภีร์สอน แก้ไข และให้แรงบันดาลใจผู้อื่น จงแน่ใจว่าการสอนของท่านไม่เบี่ยงเบนออกไปจากพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ ขณะท่านพึ่งพาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างซื่อสัตย์ในการสอนของท่าน ท่านสามารถทำสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อคนอื่นๆ ได้ ท่านช่วยให้พวกเขารู้จักพระองค์ได้ เพราะเราทุกคนจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอดอยู่เสมอ ความรักพระคัมภีร์ของท่านจะเป็นหลักฐานแก่คนที่ท่านสอน และการสอนของท่านจะอัญเชิญพระวิญญาณเสด็จมาทำให้ใจของพวกเขาเผาไหม้ด้วยประจักษ์พยานในพระบิดาและพระบุตร

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ท่านเคยได้รับอิทธิพลจากครูผู้ใช้พระคัมภีร์ช่วยให้ท่านรู้จักพระผู้ช่วยให้รอดดีขึ้นอย่างไร? ท่านทำอะไรได้บ้างเพื่อจะพึ่งพาพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์มากขึ้น? ท่านจะช่วยให้คนที่ท่านสอนรู้จักและรักพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?

จากพระคัมภีร์: ลูกา 4:14–21; แอลมา 31:5; ฮีลามัน 3:29–30;3 นีไฟ 23

พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยผู้คนให้แสวงหา รับรู้ และเข้าใจความจริง

ครั้งหนึ่งผู้เชี่ยวชาญบัญญัติถามพระเยซูว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร์?” พระผู้ช่วยให้รอดตรัสตอบโดยนำผู้ถามไปที่พระคัมภีร์: “ในธรรม‍บัญญัติเขียนว่าอย่าง‍ไร? ท่านอ่านแล้วเข้า‍ใจอย่าง‍ไร?” นี่ไม่เพียงนำชายคนนั้นไปสู่คำตอบที่ว่า—“จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่าน … และจงรักเพื่อนบ้าน”—เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่คำถามที่ตามมา: “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบคำถามนี้ด้วยอุปมาเกี่ยวกับชายสามคนที่เห็นเพื่อนผู้เดินทางที่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือ ในสามคนนี้มีเพียงคนเดียวที่หยุดช่วยเหลือ คือชาวสะมาเรียที่คนยิวเกลียดชังเพียงเพราะที่มาของเขา จากนั้นพระเยซูทรงเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญบัญญัติตอบคำถามของตนเอง: “ท่านเห็นว่าในสามคนนั้นคนไหนถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านของคนที่ถูกปล้น?” (ดู ลูกา 10:25–37

ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนด้วยวิธีนี้ การตอบคำถามด้วยการเชิญให้ค้นคว้า ไตร่ตรอง และค้นพบ? ส่วนหนึ่งของคำตอบคือพระเจ้าทรงเห็นคุณค่าความพยายามของการแสวงหาความจริง “จงหาแล้วจะพบ” พระองค์ทรงเชิญครั้งแล้วครั้งเล่า (ดูตัวอย่างใน มัทธิว 7:7; ลูกา 11:9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:7) พระองค์ประทานรางวัลแก่การกระทำอันประกอบด้วยศรัทธาและความอดทนของผู้แสวงหา

เช่นเดียวกับพระผู้ช่วยให้รอด ท่านสามารถช่วยให้คนที่ท่านสอนรับรู้และเข้าใจความจริง ตัวอย่างเช่น พระคัมภีร์เต็มไปด้วยความจริงพระกิตติคุณ แต่บางครั้งต้องตั้งใจพยายามที่จะค้นหาความจริงเหล่านั้น ขณะท่านกำลังเรียนรู้จากพระคัมภีร์ด้วยกัน หยุดและถามคนที่ท่านสอนว่าสังเกตพบความจริงพระกิตติคุณข้อใดบ้าง ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าความจริงเหล่านี้เกี่ยวข้องกับแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร บางครั้งพระคัมภีร์กล่าวถึงความจริงนิรันดร์ และบางครั้งแสดงให้เห็นภาพในเรื่องราวและชีวิตของผู้คนที่เราอ่าน อีกวิธีหนึ่งที่มีประโยชน์มากคือการร่วมมือกันสำรวจภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของข้อพระคัมภีร์ที่กำลังอ่าน รวมทั้งความหมายของข้อพระคัมภีร์นั้นๆ และวิธีนำมาประยุกต์ใช้กับเราในยุคนี้

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ท่านจะระบุความจริงนิรันดร์ในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ได้อย่างไร? ความจริงเหล่านั้นเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร? มีวิธีใดบ้างที่ท่านสามารถช่วยให้ผู้เรียนรับรู้และเข้าใจความจริงที่จะมีความหมายต่อพวกเขาและนำเขาเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ายิ่งขึ้น?

จากข้อพระคัมภีร์: ยอห์น 5:39; 1 นีไฟ 15:14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:12

ภาพ
นักเรียนกำลังศึกษา

ท่านสามารถช่วยให้คนที่ท่านสอนค้นพบและรับรู้ความจริงด้วยตนเอง

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนความจริงที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและเสริมสร้างศรัทธา

วันสะบาโตวันหนึ่ง พระผู้ช่วยให้รอดและสานุศิษย์รู้สึกหิว เมื่อผ่านทุ่งและเริ่มรับประทานเมล็ดพืช พวกฟาริสีที่ชอบจับผิดเรื่องเล็กน้อยเกี่ยวกับกฎของโมเสสอยู่เสมอ ก็เปิดประเด็นขึ้นว่าการเก็บเมล็ดพืชโดยเทคนิคแล้วเป็นการทำงาน ซึ่งเป็นข้อห้ามของวันสะบาโต (ดู มาระโก 2:23–24) โดยใช้วลีของเจคอบศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอน พวกฟาริสีกำลัง “มองข้ามเป้าหมาย” (เจคอบ 4:14) กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขามุ่งเน้นที่การตีความตามขนบธรรมเนียมของพระบัญญัติจนพลาดจุดประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับพระบัญญัติเหล่านั้น—คือการเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า อันที่จริง พวกฟาริสีไม่ได้ตระหนักด้วยซ้ำว่าพระองค์ผู้ประทานพระบัญญัติเพื่อให้เกียรติวันสะบาโตทรงยืนอยู่เบื้องหน้าพวกเขา

พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้โอกาสนี้ยืนยันถึงอัตลักษณ์แห่งสวรรค์ของพระองค์และสอนว่า เหตุใด วันสะบาโตจึงสำคัญ วันสะบาโตสร้างไว้เพื่อเราให้เป็นวันนมัสการพระเจ้าแห่งวันสะบาโต พระเยซูคริสต์พระองค์เอง (ดู มาระโก 2:27–28) ความจริงเช่นนั้นช่วยให้เราเข้าใจว่าพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับสิ่งที่มากกว่าพฤติกรรมภายนอกของเรา ความจริงเหล่านั้นมีไว้เพื่อช่วยให้เราเปลี่ยนใจของเราและกลายเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสโดยสมบูรณ์มากขึ้น

ให้ท่านพิจารณาหลักคำสอนและหลักธรรมที่ตัดสินใจว่าจะมุ่งเน้นอย่างรอบคอบ แม้มีความจริงมากมายในพระคัมภีร์ที่นำมาสนทนาได้ แต่ดีที่สุดคือมุ่งเน้นไปที่ความจริงแห่งพระกิตติคุณที่นำไปสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสและเสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ความจริงที่เรียบง่ายเป็นพื้นฐานที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนและเป็นแบบอย่างที่มีพลังยิ่งใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนชีวิตเรา—ความจริงเกี่ยวกับการชดใช้ของพระองค์ แผนแห่งความรอด พระบัญญัติให้รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของเราและอื่นๆ อัญเชิญพระวิญญาณให้มาเป็นพยานถึงความจริงเหล่านี้ เพื่อช่วยให้ความจริงเหล่านี้ฝังลึกในใจของคนที่ท่านสอน

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ความจริงแห่งพระกิตติคุณข้อใดบ้างที่เคยช่วยให้ท่านเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระคริสต์มากขึ้นและมีศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในพระองค์? ครูเคยช่วยให้ท่านมุ่งเน้นไปที่ความจริงที่สำคัญที่สุดของพระกิตติคุณอย่างไร? ท่านจะสอนอะไรได้บ้างที่จะช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น?

จากพระคัมภีร์: 2 นีไฟ 25:26; 3 นีไฟ 11:34–41; หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:31–32; 68:25–28; 133:57; โมเสส 6:57–62

พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ผู้คนค้นพบการเชื่อมโยงส่วนตัวในหลักคำสอนของพระองค์

“คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินด้วยกันกับเขา” พวกฟาริสีบ่นว่าพระเยซู—เป็นนัยว่าการทำเช่นนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นครูทางวิญญาณ (ลูกา 15:2) พระเยซูทรงเห็นโอกาสที่จะสอนความจริงทางวิญญาณอันลึกซึ้งบางข้อแก่พวกเขา พระองค์จะทรงทำอย่างไร? พระองค์จะทรงช่วยให้พวกฟาริสีเห็นว่าใจของพวกเขานั่นแหละ—ที่ไม่บริสุทธิ์และจำเป็นต้องรับการรักษา—ไม่ใช่พระทัยของพระองค์ได้อย่างไร? จะทรงใช้หลักคำสอนของพระองค์อย่างไรเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตน?

ทรงทำเรื่องนี้โดยพูดกับพวกเขาเรื่องแกะที่หลงไปจากฝูงและเหรียญที่หายไป พระองค์ทรงเล่าเรื่องลูกชายที่ดื้อดึงผู้แสวงหาการให้อภัยและพี่ชายคนโตผู้ปฏิเสธการรับน้องชายหรือรับประทานอาหารกับเขา อุปมาเหล่านี้แต่ละเรื่องมีความจริงที่เชื่อมโยงกับวิธีที่พวกฟาริสีมองผู้อื่น เป็นการสอนพวกเขาว่าทุกจิตวิญญาณมีค่ายิ่งใหญ่ (ดู ลูกา 15) พระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงบอกพวกฟาริสี—หรือคนใดคนหนึ่งในพวกเรา—ว่าใครเป็นใครในอุปมาของพระองค์ บางครั้งเราเป็นบิดาผู้วิตกกังวล บางครั้งเราเป็นพี่ชายผู้อิจฉา บ่อยครั้งเราเป็นแกะหายหรือบุตรโง่เขลา แต่ไม่ว่าเราจะมีสภาวการณ์แบบใดในอุปมาของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชิญให้เราค้นหาการเชื่อมโยงในคำสอนของพระองค์—เพื่อค้นพบสิ่งที่ทรงต้องการให้เราเรียนรู้และสิ่งที่เราอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนในความคิดและพฤติกรรมของเรา

ท่านอาจสังเกตว่าผู้เรียนบางคนไม่เห็นว่าทำไมความจริงบางเรื่องสำคัญต่อพวกเขา ขณะพิจารณาเรื่องจำเป็นของคนที่ท่านสอน จงนึกถึงวิธีที่ความจริงในพระคัมภีร์อาจมีความหมายและมีประโยชน์ในสภาวการณ์ของพวกเขา วิธีหนึ่งที่ท่านสามารถช่วยให้ผู้เรียนเห็นการเชื่อมโยงกับความจริงที่พวกเขากำลังค้นพบคือการถามคำถามทำนองนี้ “เรื่องนี้จะช่วยท่านในเรื่องที่ท่านกำลังประสบอยู่อย่างไร?” “เหตุใดการรู้เรื่องนี้จึงสำคัญ?” “ความรู้นี้จะสร้างความแตกต่างอะไรในชีวิตท่านได้บ้าง?” จงฟังคนที่ท่านสอน ให้โอกาสพวกเขาถามคำถาม กระตุ้นให้พวกเขาสร้างการเชื่อมโยงระหว่างคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดกับชีวิตตนเอง ท่านอาจแบ่งปันด้วยว่าท่านพบการเชื่อมโยงระหว่างชีวิตท่านกับสิ่งที่ท่านกำลังสอน การทำเช่นนี้สามารถอัญเชิญพระวิญญาณให้สอนผู้เรียนเป็นรายบุคคลว่าหลักคำสอนจะทำให้เกิดความแตกต่างในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: อะไรคือสิ่งที่ทำให้ความจริงพระกิตติคุณมีความหมายและมีประโยชน์ต่อท่าน? สิ่งใดช่วยให้ท่านค้นพบการเชื่อมโยงส่วนตัวขณะศึกษาพระกิตติคุณ? ท่านกำลังทำอะไรเพื่อมุ่งเน้นความจริงที่เชื่อมโยงกับคนที่ท่านสอน?

จากพระคัมภีร์: 1 นีไฟ 19:23; 2 นีไฟ 32:3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 43:7–9

วิธีประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้

  • ประเมินผลสิ่งที่ท่านกำลังสอนเพื่อให้แน่ใจว่าท่านกำลังสอนหลักคำสอนที่แท้จริง คำถามเหล่านี้ช่วยได้

    • สิ่งที่ฉันกำลังวางแผนจะสอนพบอยู่ในพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายหรือไม่?

    • มีศาสดาพยากรณ์สอนเรื่องนี้ไว้หลายคนหรือไม่? ผู้นำศาสนจักรรุ่นปัจจุบันสอนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง?

    • เรื่องนี้จะช่วยให้คนอื่นๆ เสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ กลับใจ และก้าวหน้าไปตามทางแห่งพันธสัญญาได้อย่างไรบ้าง?

    • เรื่องนี้สอดคล้องกับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่ หรือฉันรู้สึกไม่ลงตัวทางวิญญาณกับเรื่องนี้?

  • ศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทุกวันเพื่อเรียนรู้หลักคำสอนที่แท้จริงด้วยตนเอง

  • ขอให้ผู้เรียนอ่านพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันขณะที่ท่านสอน

  • สอนให้ผู้เรียนรู้วิธีใช้เชิงอรรถ คู่มือพระคัมภีร์ และแหล่งช่วยอื่นๆ ขณะพวกเขาศึกษาพระคัมภีร์

  • เชิญให้ผู้เรียนค้นหาความจริงในข้อความหรือเรื่องราวในพระคัมภีร์

  • แสดงประจักษ์พยานถึงวิธีที่ทำให้ท่านรู้ว่าหลักคำสอนแต่ละข้อจริง

  • ใช้เรื่องราวหรืออุปลักษณ์เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความจริงพระกิตติคุณลึกซึ้งยิ่งขึ้น