เซมินารีและสถาบัน
เชื้อเชิญให้เรียนรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร


“เชื้อเชิญให้เรียนรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด: สำหรับทุกคนที่สอนในบ้านและในศาสนจักร (2022)

“เชื้อเชิญให้เรียนรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร,” การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
พระเยซูทรงพยุงเปโตรขึ้นจากน้ำท่ามกลางพายุ

พระผู้ทรงประสิทธิ์ศรัทธา โดย เจ. อลัน บาร์เรตต์

เชื้อเชิญให้เรียนรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร

แน่นอนว่าการเฝ้าดูพระผู้ช่วยให้รอดทรงดำเนินบนน้ำนั้นเป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างยิ่ง แต่เท่านั้นยังไม่พอสำหรับเปโตร เขาต้องการทำอย่างที่พระองค์ทรงทำ อยู่ในที่ซึ่งพระองค์ทรงอยู่ และมีประสบการณ์เช่นเดียวกันนั้นด้วยตนเอง “ขอตรัสให้ข้าพระองค์เดินบนน้ำไปหาพระองค์” เขาทูลพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบด้วยพระดำรัสเชิญเรียบง่าย: “มาเถิด” ด้วยพระดำรัสเชิญนั้น เปโตรพลันออกจากความปลอดภัยในเรือและแสดงให้เราเห็นว่าการเป็นสานุศิษย์ไม่ใช่ประสบการณ์ของการถูกกระทำ (ดู มัทธิว 14:24–33) สิ่งนี้ต้องการศรัทธาในพระคริสต์และความพากเพียรอย่างขยันขันแข็ง แต่สิ่งนี้ยังนำมซึ่งรางวัลอันอิ่มเอมใจของการได้เดินกับพระผู้ช่วยให้รอด

“มาเถิด” “มาดูเถิด” “จงตามเรามา” “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้น” (มัทธิว 14:29; ยอห์น 1:39; ลูกา 18:22; 10:37) ตั้งแต่การเริ่มต้นปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชิญให้ผู้ติดตามพระองค์รับประสบการณ์เกี่ยวกับความจริง พลังอำนาจ และความรักที่พระองค์ประทาน พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพราะนี่คือการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่ฟังหรืออ่าน แต่ต้องเปลี่ยนแปลง กลับใจ และก้าวหน้าด้วย ในพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอด การเรียนรู้เกิดขึ้น “โดยการศึกษา และ โดยศรัทธาด้วย” หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118; เน้นตัวเอน) และศรัทธารวมถึงการกระทำด้วยตัวเราเอง ไม่ใช่การถูกกระทำเท่านั้น (ดู 2 นีไฟ 2:26)

เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด เราเชิญคนที่เราสอนให้ขอ หา และเคาะ—แล้วจะพบ (ดู มัทธิว 7:7–8) และเรายอมรับคำเชิญนั้นด้วยตนเอง โดยร่วมมือกัน ผ่านศรัทธาในพระคริสต์และความพยายามอย่างขยันหมั่นเพียรของเราเอง เราจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าการเดินกับพระองค์หมายความว่าอย่างไร

การเชื้อเชิญให้เรียนรู้ด้วยความขยันหมั่นเพียร

  • ช่วยให้ผู้เรียนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตน

  • กระตุ้นให้ผู้เรียนมารู้จักพระผู้ช่วยให้รอดโดยการศึกษาพระกิตติคุณทุกวัน

  • เชิญให้ผู้เรียนเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้

  • กระตุ้นให้ผู้เรียนแบ่งปันความจริงที่พวกเขากำลังเรียนรู้

  • เชิญให้ผู้เรียนดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้

พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ผู้อื่นรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตน

การต่อเรือข้ามมหาสมุทรด้วยความปลอดภัยดูจะเป็นงานยากสำหรับทุกคน พี่ชายของเจเร็ดได้รับการ “ชี้ทางด้วยพระหัตถ์ของ [พระเจ้า] ตลอดเวลา” (อีเธอร์ 2:6) โดยได้รับพระดำรัสแนะนำเกี่ยวกับรูปร่างของเรือและวิธีระบายอากาศ แต่ท่านสังเกตหรือไม่ว่าพระเจ้าทรงตอบด้วยวิธีใดเมื่อพี่ชายของเจเร็ดทูลถามเรื่องการจัดหาแสงสว่างในเรือ ? (ดู อีเธอร์ 2:22–25) พี่ชายของเจเร็ดได้รับพรอย่างไรจากการเชิญให้ใช้ศรัทธาของเขาด้วยวิธีนี้? (ดู อีเธอรฺ์ 3:1–16)

อาจดูง่ายกว่าถ้าเพียงแต่ท่านจะบอกผู้เรียนทุกสิ่งที่คิดว่าพวกเขาควรรู้ แต่ เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แนะนำว่า: “เจตนาของเราไม่ควรเป็น ‘ฉันจะบอกอะไรพวกเขา?’ แทนคำถามนั้น เราควรถามตนเองว่า ‘ฉันจะเชื้อเชิญให้พวกเขาทำอะไรได้บ้าง? ฉันจะถามคำถามที่ให้แรงบันดาลใจอะไรซึ่งถ้าพวกเขายินดีตอบ จะเริ่มอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาในชีวิตพวกเขา?’” (ยามค่ำกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่, 7 ก.พ. 2020, broadcasts.ChurchofJesusChrist.org)

ท่านอาจหาวิธีที่ท่านสามารถเชิญผู้เรียนให้รับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจเชิญให้พวกเขาถามคำถามของตนเอง ค้นหาคำตอบ ไตร่ตรอง แล้วแบ่งปันหรือจดบันทึกความคิดและความรู้สึกของตนไว้ ขณะทำเช่นนั้น พวกเขาจะเสริมสร้างศรัทธาของตน ค้นพบความจริงในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า และมีประสบการณ์ของตนเองกับความจริงเหล่านี้ ขณะเรารับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเราเอง เราสามารถพูด เหมือนที่โจเซฟ สมิธพูด “ผมเรียนรู้ด้วยตนเอง” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:20)

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: เหตุใดจึงสำคัญต่อผู้เรียนที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่าจะรอให้คนอื่นมาทำให้ตนเองเรียนรู้? ท่านจะช่วยให้พวกเขารับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างไร? ครูเคยช่วยท่านทำสิ่งนี้อย่างไร? ท่านสามารถนึกถึงแบบอย่างใดในพระคัมภีร์ที่มีการเชิญผู้คนให้เรียนรู้ด้วยตนเอง? แบบอย่างเหล่านี้ส่งผลต่อวิธีสอนของท่านอย่างไร?

จากพระคัมภีร์: 1 นีไฟ 11; หลักคำสอนและพันธสัญญา 9:7–8; 58:26–28; 88:118–125; โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:11–20

พระผู้ช่วยให้รอดทรงกระตุ้นให้ผู้อื่นมารู้จักพระองค์โดยการศึกษาพระวจนะของพระองค์

เมื่อถึงเวลาที่พระผู้ช่วยให้รอดจะจัดตั้งศาสนจักรของพระองค์อย่างเป็นทางการในยุคสุดท้าย พระองค์ตรัสบอกผู้รับใช้ของพระองค์ว่า “ให้เจ้าวางใจในเรื่องซึ่งเขียนไว้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:3) อันที่จริง พระคัมภีร์มอรมอนที่พวกเขาแปลใกล้จะเสร็จแล้ว มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับงานนี้ รวมถึงวิธีให้บัพติศมา วิธีปฏิบัติศีลระลึก และรายละเอียดอันมีค่าอื่นๆ แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้ผู้รับใช้ของพระองค์เห็นว่าการเปิดเผยของพระองค์เป็นโอกาสที่จะฟังพระองค์และรู้จักพระองค์ลึกซึ้งขึ้นด้วย ในการเปิดเผยเดียวกันนั้น พระองค์ตรัสบอกพวกเขาว่า “นี่คือเสียงของเราซึ่งพูด [ถ้อยคำเหล่านี้] กับเจ้า; … ดังนั้น, เจ้าจะเป็นพยานได้ว่าเจ้าได้ยินเสียงเรา, และรู้ถ้อยคำของเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:35–36)

ให้นึกถึงผู้คนที่ท่านสอน พวกเขามองการศึกษาพระคัมภีร์อย่างไร? สำหรับเรื่องนั้น ท่านมองอย่างไร? เรื่องนี้เป็นมากกว่าข้อบังคับประจำวันหรือไม่? ขณะศึกษาพระคัมภีร์ ท่านรู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดกำลังตรัสกับท่านโดยตรงหรือไม่? ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “แล้วเราจะไปฟังพระองค์ ได้ จากที่ใด? เราไปที่พระคัมภีร์ได้ … การจดจ่ออยู่กับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทุกวันสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดทางวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลียุคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ เมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ทุกวัน พระวจนะของพระคริสต์จะบอกวิธีรับมือกับความยุ่งยากทั้งหลายที่เราไม่คิดว่าจะพบเจอมาก่อน” (“ฟังพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 89) ขณะสอน กระตุ้นให้ผู้เรียนศึกษาพระคัมภีร์ด้วยจุดประสงค์ที่จะค้นหาพระผู้ช่วยให้รอด—ไม่ใช่เพียงค้นหาข้อพระคัมภีร์หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระองค์แต่ค้นหา พระองค์ การฟังสุรเสียงของพระเจ้าทุกวันในพระคัมภีร์เป็นรากฐานของความขยันหมั่นเพียรตลอดชีวิต การศึกษาพระกิตติคุณอย่างอิสระ

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ให้ท่านพิจารณานิสัยการศึกษาพระคัมภีร์ของตนเอง การศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพระองค์ให้แน่นแฟ้นขึ้นได้อย่างไร? ท่านทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุงการศึกษาของท่านให้ดีขึ้น? ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างขยันขันแข็งและสม่ำเสมอได้อย่างไร? พวกเขาได้รับพรอะไรบ้างเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น?

จากพระคัมภีร์: โยชุวา 1:8; 2 ทิโมธี 3:15–17; 2 นีไฟ 32:3; เจคอบ 2:8; 4:6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:16

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญผู้อื่นให้เตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้

แม้เมล็ดพืชที่ดีที่สุดก็ไม่อาจเติบโตบนพื้นดินแข็ง เต็มไปด้วยหิน หรือรกไปด้วยหนาม เช่นเดียวกัน แม้หลักคำสอนที่ล้ำค่าที่สุดและสนับสนุนศรัทธาที่สุดก็ไม่น่าจะเปลี่ยนใจที่ไม่พร้อมจะรับหลักคำสอนนั้นได้ นั่นคือส่วนหนึ่งของข่าวสารจากเรื่องอุปมาของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับผู้หว่าน เมล็ดพืชและสภาพของดินแบบต่างๆ ใน “ดินดี”—คือใจที่อ่อนโยนปราศจากหินและหนามทางวิญญาณ—ที่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจะออกผลที่ให้ชีวิต (ดู มัทธิว 13:1–9, 18–23)

เรื่องสำคัญของการเตรียมพร้อมทางวิญญาณ—สำหรับท่านและผู้คนที่ท่านสอน แล้วเราจะช่วยเตรียมใจของเราให้เป็น “ดินดี” สำหรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร? ขอให้พิจารณาหลักธรรมของการเตรียมพร้อมต่อไปนี้ ซึ่งท่านสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตท่านและประยุกต์ใช้ในชีวิตของคนที่ท่านสอนได้ จงสวดอ้อนวอนเพื่อค้นหาเรื่องที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านเรียนรู้ ดำเนินชีวิตในวิธีที่จะอัญเชิญพระองค์มาประทับในชีวิตท่าน กลับใจทุกวัน หล่อเลี้ยงความปรารถนาที่จะเรียนรู้ของท่านโดยการถามคำถามที่จริงใจ ศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธาว่าพระองค์จะทรงนำท่านไปหาคำตอบ เปิดใจท่านให้ทุกสิ่งที่พระองค์จะทรงสอนท่าน

เมื่อผู้เรียนเตรียมตัวเรียนด้วยวิธีนี้ พวกเขาจะมีดวงตาทางวิญญาณที่จะเห็นและหูทางวิญญาณที่จะได้ยินสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้พวกเขารู้ (ดู มัทธิว 13:16)

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ท่านจะทำอะไรบ้างเพื่อเตรียมตนเองให้พร้อมเรียน? การเตรียมพร้อมของท่านส่งผลต่อวิธีที่ท่านเห็น ฟัง และเข้าใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? ท่านจะให้แรงบันดาลใจคนอื่นๆ ในการเตรียมพร้อมที่จะเรียนได้อย่างไร? สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงวิธีที่พวกเขาได้รับความจริงของพระกิตติคุณอย่างไร?

จากพระคัมภีร์: อีนัส 1:1–8; แอลมา 16:16–17; 32:6, 27–43; 3 นีไฟ 17:3

ภาพ
เด็กอ่านพระคัมภีร์ในชั้นเรียน

ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากโอกาสแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้แก่กัน

พระผู้ช่วยให้รอดทรงกระตุ้นให้ผู้อื่นแบ่งปันความจริงที่พวกเขากำลังเรียนรู้

“ข้าพระองค์เชื่องช้าในการพูด” เอโนคโอดครวญเมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่านให้สั่งสอนพระกิตติคุณ แต่วาทศิลป์ไม่เคยเป็นข้อกำหนดสำหรับผู้รับใช้พระเจ้า แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระเจ้าทรงสัญญาต่อเอโนคว่าถ้าท่านมีศรัทธาพอที่จะเปิดปาก พระวจนะจะออกมา “เราจะให้เจ้าเอ่ยปาก,” พระองค์ตรัส (โมเสส 6:31–32) เอโนคใช้ศรัทธาของท่าน แล้วพระเจ้าตรัสผ่านท่านจริง ด้วยพระวจนะที่ทรงพลังซึ่งทำให้ผู้คนตัวสั่น (ดู โมเสส 6:47) อันที่จริง พระวจนะเหล่านั้นทำให้แผ่นดินโลกสั่นสะเทือน ภูเขาหลบหนีไป สายน้ำเบนไปจากวิถีของมัน และประชาชาติทั้งปวงหวาดกลัวผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า “คำของเอโนคทรงพลังยิ่ง, และพลังของภาษาซึ่งพระผู้เป็นเจ้าประทานให้เขาทรงอานุภาพยิ่ง.” (โมเสส 7:13)

พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทุกคน—ไม่เฉพาะศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เท่านั้น—มีพลังอำนาจที่จะพูดพระวจนะของพระองค์ออกไป พระองค์ทรงประสงค์ให้เราทุกคนเป็นเช่นนั้น รวมทั้งผู้คนที่เราสอนด้วย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:20–21) ถ้อยคำของเราอาจไม่ทำให้ภูเขาเคลื่อนที่หรือแม่น้ำเปลี่ยนทิศทาง แต่ถ้อยคำเหล่านั้นจะช่วยเปลี่ยนใจได้ นั่นคือเหตุผลที่สำคัญยิ่งที่จะให้โอกาสผู้เรียนแบ่งปันซึ่งกันและกันในสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์ การทำเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขาซึมซับความจริงที่ท่านสอนเขาไว้ในใจและแสดงออกมา อีกทั้งช่วยให้พวกเขาเชื่อมั่นมากขึ้นว่าตนสามารถแบ่งปันความจริงได้แม้ในสภาพแวดล้อมอื่นๆ

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: ให้นึกถึงเวลาที่ท่านสนทนาเรื่องความจริงพระกิตติคุณกับใครสักคน ท่านเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นั้น? เมื่อใดที่ท่านสำนึกคุณที่ใครคนหนึ่งกล้าพอจะแบ่งปันความคิดและความเชื่อของเขา? ผู้คนที่ท่านสอนจะได้ประโยชน์จากโอกาสที่พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้อย่างไร? ท่านจะสร้างสรรค์โอกาสแบบใดให้พวกเขาได้บ้าง?

จากพระคัมภีร์: แอลมา 17:2–3; โมโรไน 6:4–6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:85; 88:122; 100:5–8

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้ผู้อื่นดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พระองค์ทรงสอน

“พวก‍ท่าน​จง​ส่อง‍สว่าง​แก่​คน​ทั้ง‍ปวง” “จงรักศัตรูของท่าน” “ขอ, แล้วเจ้าจะได้รับ;” “เจ้าจงเข้าทางประตูคับแคบ;” (มัทธิว 5:16, 44; 7:7, 13) พระดำรัสเชิญที่ชัดเจน น่าจดจำที่สุดบางส่วนในการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกทั้งหมดของพระผู้ช่วยให้รอดตรัสไว้ขณะทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ที่เชิงเขาซึ่งมองไปเห็นทะเลกาลิลี พระประสงค์ของพระผู้ช่วยให้รอดคือการเปลี่ยนชีวิต พระประสงค์นี้ชัดเจนโดยพระดำรัสเชิญปิดท้าย: “ทุกคนที่ได้‍ยินคำเหล่า‍นี้ของเราและ ประ‌พฤติตาม ก็เปรียบเสมือนผู้ที่มีสติปัญญาสร้างบ้านของตนไว้บนศิลา” (มัทธิว 7:24 เน้นตัวเอน)

ทุกชีวิตย่อมประสบกับฝนที่ตก น้ำที่ไหลเชี่ยวและลมที่พัดมาปะทะ การเรียนรู้ พระกิตติคุณไม่เพียงพอหากผู้เรียนต้องยืนหยัดต้านการทดลองทั้งหมดที่พวกเขาจะต้องเผชิญ นี่คือเหตุที่เราไม่ควรลังเลที่จะเชิญให้ผู้เรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะ ดำเนินชีวิต ตามสิ่งที่ตนกำลังเรียนรู้อย่างไร โดยเกิดจากความเคารพในสิทธิ์เสรีของคนอื่นๆ หลายครั้งคำเชิญของเราส่วนใหญ่จะพูดว่า: “คุณรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำสิ่งใด?” บางโอกาสเราอาจจำเป็นต้องใช้คำเชิญที่เจาะจงมากขึ้น: “คุณจะเลือกพระคุณลักษณะของพระผู้ช่วยให้รอดที่คุณอยากทำงานด้วยสักหนึ่งข้อไหม?” ขณะท่านให้โอกาสผู้เรียนที่จะฟัง รับรู้ และแบ่งปันการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์จะทรงสอนว่าอะไรคือข้อปฏิบัติส่วนตัวที่พวกเขาจำเป็นต้องลงมือทำ ช่วยให้ผู้เรียนพิจารณาเรื่องพรที่จะตามมาขณะพวกเขาลงมือทำตามสิ่งที่ตนเรียนรู้ และกระตุ้นให้พวกเขายืนหยัดต่อไปแม้เมื่อการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องยาก การดำเนินชีวิตตามความจริงคือเส้นทางที่เร็วที่สุดไปสู่ศรัทธา ประจักษ์พยาน และการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่ล้ำเลิศยิ่งขึ้น ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัส การดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระบิดาคือทางที่เราทุกคนจะเดินไปสู่การรู้จริงในหลักคำสอนที่แท้จริง (ดู ยอห์น 7:17)

คำถามที่ต้องไตร่ตรอง: เมื่อใดบ้างที่ท่านได้รับแรงบันดาลใจให้ลงมือทำเพราะมีคนเชื้อเชิญ? เรื่องนั้นส่งผลให้ชีวิตท่านเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง? ให้สังเกตคำเชื้อเชิญที่ให้ไว้ในพระคัมภีร์และให้ไว้โดยผู้นำศาสนจักร ท่านเรียนรู้อะไรที่สามารถช่วยท่านได้ขณะเชิญคนอื่นๆ ให้ลงมือทำ? ท่านจะติดตามผลคำเชื้อเชิญของท่านด้วยวิธีใดบ้าง?

จากพระคัมภีร์: ลูกา 10:36–37; ยอห์น 7:17; ยากอบ 1:22; โมไซยาห์ 4:9–10; หลักคำสอนและพันธสัญญา 43:8–10; 82:10

วิธีประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้

  • ขอให้คนอื่นๆ มาด้วยความพร้อมที่จะแบ่งปันสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนพวกเขา ตัวอย่างเช่น ข้อคิดจากข้อความพระคัมภีร์ที่มีความหมาย

  • ให้โอกาสผู้เรียนสอนบางส่วนของบทเรียน

  • กระตุ้นให้ผู้เรียนทบทวนวีดิทัศน์ พระคัมภีร์ หรือข่าวสารที่ศึกษามาก่อนพบท่าน

  • ให้ยับยั้งแนวโน้มที่จะตอบทุกคำถาม ให้คนอื่นๆ มีส่วนร่วมในการค้นหาคำตอบ

  • ก่อนแบ่งปันข้อคิดของท่านเกี่ยวกับพระคัมภีร์ ขอให้ผู้เรียนแบ่งปันข้อคิดของพวกเขาเองก่อน

  • ถามคำถามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

  • เชิญให้ผู้เรียนใช้คำถามของตนเองเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้

  • ให้เวลาผู้เรียนทุกคนไตร่ตรองคำถามก่อนขอให้พวกเขาแบ่งปันคำตอบ

  • ท่านอาจแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มสนทนาเล็กๆ ตามความเหมาะสม

  • แสดงความคาดหวังอย่างชัดเจนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเติบโต

  • ให้คำเชื้อเชิญที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนพัฒนาแต่ไม่หนักใจ ติดตามผลและเชิญผู้เรียนแบ่งปันประสบการณ์ของตน

  • ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้จากพระคัมภีร์โดย:

    • ทำเครื่องหมายข้อความที่มีความหมาย เมื่อต้องการ

    • เปิดรับการเปิดเผยโดยการไตร่ตรองและสวดอ้อนวอน

    • จดความประทับใจทางวิญญาณ

    • จดบันทึกการศึกษา

    • ตั้งเป้าหมายที่จะลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้