2019
เกร็ดความรู้ 10 ข้อสำหรับสอนเรื่องการกลับใจ
กุมภาพันธ์ 2019


การสอนวัยรุ่นและเด็กเล็ก

เกร็ดความรู้ 10 ข้อสำหรับสอนเรื่องการกลับใจ

ภาพ
teaching repentance

บางครั้งการกลับใจฟังดูน่ากลัวหรือทำให้เด็กและวัยรุ่นสับสน ต่อไปนี้เป็นเกร็ดความรู้บางข้อสำหรับสอนเรื่องการกลับใจด้วยความรักและทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีพลังมากขึ้น

  1. สอนให้เข้าใจง่าย ท่านสามารถสอนบุตรธิดาได้ว่า “เมื่อเราทำบาป เราหันหลังให้พระผู้เป็นเจ้า” แต่ “เมื่อเรากลับใจ เราหันกลับมาหาพระผู้เป็นเจ้า”1 เราสามารถหันกลับมาหาพระผู้เป็นเจ้าโดยสำนึกในความผิดของเรา ทำสิ่งที่ถูกต้อง และพยายามทำดีมากขึ้น

  2. มองในแง่บวก ไม่ว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร “การกลับใจเป็นเรื่องดีเสมอ”2 การกลับใจไม่ใช่การลงโทษเพราะประพฤติไม่ดี แต่เป็นโอกาสให้พยายามอีกครั้งและใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น กระตุ้นให้บุตรธิดานึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำถูกต้องและคิดว่าจะทำถูกต้องมากขึ้นได้อย่างไร

  3. เน้นย้ำทุกวัน การกลับใจมีไว้สำหรับบาปเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงบาปใหญ่ การกลับใจทุกวันหมายถึงการแก้ไขอยู่เสมอ เหมือนเรือยังอยู่บนเส้นทางเดินเรือ ช่วยให้บุตรธิดารู้วิธีเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาจะปรับปรุงในแต่ละวัน

  4. เปิดโอกาสให้มีความผิดพลาด ช่วยให้บุตรธิดาเข้าใจว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ปล่อยให้พวกเขารับผลของการเลือกและช่วยให้พวกเขาคิดหาวิธีทำสิ่งที่ถูกต้องอีกครั้ง สอนให้พวกเขาหันไปขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า

  5. เป็นแบบอย่าง ยอมรับเมื่อท่านทำผิด อ่อนน้อมถ่อมตนมากพอจะขอโทษต่อหน้าบุตรธิดา ให้พวกเขาเห็นว่าท่านกำลังพยายามทำให้ดีขึ้น และแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านเปลี่ยนมาแล้วอย่างไร

  6. ทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ขณะที่ท่านสอนบุตรธิดาเรื่องหลักธรรมของการกลับใจ3 จงรับรู้ว่าขั้นตอนการกลับใจจะไม่เหมือนกันสำหรับทุกคนและทุกครั้ง การกลับใจไม่ได้เป็นช่องไว้ให้กากบาท แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องของการเติบโต เกี่ยวข้องกับความปราถนาของใจและวิธีที่เราพยายามทำตัวให้สอดคล้องกับพระผู้ช่วยให้รอด เรารู้ได้ว่าเรากลับใจสมบูรณ์แล้วเมื่อเรารู้สึกถึงสันติสุข ปีติ และการให้อภัย

  7. มองให้ไกล ท่านท้อแท้ได้ง่ายเมื่อท่านเลือกไม่ดีเหมือนเดิมหลายครั้ง สอนบุตรธิดาว่าตราบใดที่พวกเขากลับใจ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงให้อภัยพวกเขาต่อไป (ดู โมโรไน 6:8) อธิบายว่าความพยายามเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เราจะเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเมื่อเราพยายามและทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชน (ดู โมไซยาห์ 3:19)

  8. แยกแยะระหว่างความรู้สึกผิดกับความละอายใจ “ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า” เป็นข้อกำหนดสำหรับการกลับใจ (ดู 2 โครินธ์ 7:9–10) แต่ถ้าบุตรธิดารู้สึกไม่มีค่าควรหรือสิ้นหวังแม้หลังจากกลับใจแล้ว ความละอายใจอาจเป็นสาเหตุของความรู้สึกนี้4 เตือนพวกเขาว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักพวกเขาเสมอและ “หากเราทำบาป เรามีค่าควรน้อยลง แต่เราจะไม่มีวันไร้ค่า!”5 หากจำเป็น ท่านอาจพูดคุยกับอธิการหรือผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพ

  9. เข้าใจการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด สอนบุตรธิดาว่าพระเยซูคริสต์ทรงชดใช้ไม่เฉพาะบาปของเราเท่านั้นแต่ความทุกข์ทั้งหมดของเราด้วย (ดู แอลมา 7:11–12) ทำให้บุตรธิดามั่นใจว่าพวกเขา “ไม่ต้องรับผิดชอบความประพฤติที่เป็นภัยของผู้อื่น”6 ผู้ถูกกระทำทารุณกรรมคือผู้บริสุทธิ์ จงช่วยให้พวกเขาหันไปขอสันติสุขและการเยียวยาจากพระผู้ช่วยให้รอด

  10. อ้างถึงพระผู้ช่วยให้รอดเสมอ สอนบุตรธิดาว่าพระผู้ช่วยให้รอดเข้าพระทัยสิ่งที่พวกเขากำลังต่อสู้และทรงช่วยพวกเขาเอาชนะได้ เป็นพยานถึงพระองค์บ่อยๆ ในบ้านของท่าน กระตุ้นให้บุตรธิดาสวดอ้อนวอน รับใช้ ศึกษาพระคัมภีร์ และทำสิ่งอื่นที่จะช่วยให้พวกเขารู้จักพระองค์ดีขึ้นเพื่อพวกเขาจะทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์จนเป็นนิสัยในการเอาชนะความอ่อนแอของตนเอง

อ้างอิง

  1. นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น “จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 49.

  2. สตีเฟน ดับเบิลยู. โอเวน, “การกลับใจเป็นเรื่องดีเสมอ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 48.

  3. ดู “บทที่ 19: การกลับใจ,” หลักธรรมพระกิตติคุณ (2009), 107–113.

  4. ดู เวนดี้ อุลริช, “การเป็นคนอ่อนแอไม่ใช่บาป,” เลียโฮนา เม.ย. 2015, 20-25.

  5. จอย ดี. โจนส์, “คุณค่าเกินกว่าจะวัดได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 14.

  6. แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004), 32.