2019
พัฒนาความเห็นอกเห็นใจในการปฏิบัติศาสนกิจ
กุมภาพันธ์ 2019


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

พัฒนาความเห็นอกเห็นใจในการปฏิบัติศาสนกิจ

การปฏิบัติศาสนกิจคือการหนุนใจ เราสามารถหนุนใจผู้อื่นได้เมื่อเราพยายามเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังประสบและแสดงให้เห็นว่าเราเต็มใจเดินฝ่าไปกับพวกเขา

ภาพ
rain falling on the outside and inside

เพราะพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการช่วยให้เราเป็นเหมือนพระองค์ ความท้าทายที่เราเผชิญในชีวิตนี้สามารถกลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ได้หากเราจะวางใจพระองค์และอยู่บนเส้นทาง น่าเสียดาย การอยู่บนเส้นทางจะยากเป็นพิเศษเมื่อเรารู้สึกเหมือนเรากำลังประสบการทดลองเหล่านั้นด้วยตัวเราเองแต่

พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงมุ่งหมายให้เราเดินเส้นทางนั้นตามลำพัง พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีความเห็นอกเห็นใจโดยสมบูรณ์ โดยลดพระฐานะลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงเพื่อพระองค์จะทรงรู้วิธีช่วยเราในความทุกข์และความทุพพลภาพของเรา (ดู แอลมา 7:11–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:8) พระองค์ทรงคาดหวังให้เราแต่ละคนทำตามแบบอย่างของพระองค์และแสดงความเห็นอกเห็นใจเช่นกัน สมาชิกทุกคนของศาสนจักรได้ทำพันธสัญญาที่จะ “โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; แท้จริงแล้ว, และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน” (โมไซยาห์ 18:9) แม้จะมีความท้าทาย แต่เราได้รับการสอนทั่วพระคัมภีร์ให้นึกถึงผู้อื่นและ “เสริมกำลังมือที่อ่อนแรง และเข่าที่อ่อนล้า” และ “ทำหนทางให้ตรงเพื่อเท้าของพวกท่าน เพื่อว่าขาที่เขยกนั้นจะได้ไม่เคล็ดแต่จะหายเป็นปกติ” (ฮีบรู 12:12–13; ดู อิสยาห์ 35:3–4; หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:5–6 ด้วย)

เมื่อเราจูงมือผู้อื่น ให้พวกเขาพึ่งพิงเรา และเดินกับพวกเขา เท่ากับเราช่วยให้พวกเขาอยู่บนเส้นทางที่นานพอจะให้พระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสเท่านั้น—จุดประสงค์หลักประการหนึ่งของการปฏิบัติศาสนกิจ—แต่เยียวยาพวกเขาด้วย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:13)

ความเห็นอกเห็นใจคืออะไร

ความเห็นอกเห็นใจคือความเข้าใจ ความรู้สึก ความคิด และสภาพร่วมกับอีกคนหนึ่งจากมุมมองของพวกเขาไม่ใช่ของเราเอง1

การมีความเห็นอกเห็นใจสำคัญต่อการพยายามปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นและบรรลุจุดประสงค์ของเราในฐานะบราเดอร์และซิสเตอร์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้เราเอาใจเขามาใส่ใจเรา

การเอาใจเขามาใส่ใจเรา

ชายวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่เขินอายคนหนึ่งเล่าเรื่องที่เขามักจะนั่งแถวหลังของห้องนมัสการคนเดียว เมื่อสมาชิกคนหนึ่งของโควรัมเอ็ลเดอร์สิ้นชีวิตกะทันหัน อธิการให้พรฐานะปุโรหิตเพื่อปลอบโยนสมาชิกครอบครัวของเอ็ลเดอร์คนนั้น พี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์นำอาหารไปให้ มิตรสหายและเพื่อนบ้านที่หวังดีไปเยี่ยมเยียนครอบครัวและพูดว่า “ถ้ามีอะไรที่เราจะช่วยได้ขอให้บอก”

แต่เมื่อชายเขินอายคนนี้ไปเยี่ยมครอบครัวดังกล่าวหลังจากนั้น เขากดกริ่งและเมื่อหญิงม่ายตอบรับ เขาพูดเพียงว่า “ผมมาทำความสะอาดรองเท้าให้พวกคุณครับ” ในสองชั่วโมง รองเท้าของทุกคนในครอบครัวสะอาดเป็นเงางามพร้อมไปร่วมพิธีศพ วันอาทิตย์ต่อมาครอบครัวของเอ็ลเดอร์ที่สิ้นชีวิตนั่งแถวหลังอยู่ข้างชายเขินอายคนนั้น

นี่คือชายที่สามารถเติมเต็มความต้องการที่แท้จริงได้ เขากับครอบครัวดังกล่าวต่างได้รับพรจากการปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเห็นอกเห็นใจของเขา

ความเห็นอกเห็นใจบังเกิดผลอย่างไร

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยจำนวนหนึ่งศึกษาเรื่องความเห็นอกเห็นใจ แม้หลายคนในพวกเขาจะมีวิธีศึกษาหัวข้อนี้ต่างกัน แต่พวกเขาส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้2

เพื่อให้เราสามารถเห็นอกเห็นใจได้มากขึ้น การเข้าใจดีขึ้นว่าความเห็นอกเห็นใจบังเกิดผลอย่างไรจะช่วยได้ เรายอมรับกันทั่วไปว่าข้อเสนอแนะต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ3 ถึงแม้องค์ประกอบเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังเกิดขึ้น แต่การทราบองค์ประกอบเหล่านี้จะให้เราเห็นโอกาสปรับปรุง

1. เข้าใจ

ภาพ
person listening

ความเห็นอกเห็นใจเรียกร้องให้เข้าใจสถานการณ์ของอีกฝ่าย ยิ่งท่านเข้าใจสภาวการณ์ของพวกเขาดีเพียงใด ท่านจะยิ่งเข้าใจง่ายขึ้นว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรและท่านจะช่วยอะไรได้บ้าง

การตั้งใจฟัง ถามคำถาม และหารือกับพวกเขาตลอดจนคนอื่นๆ เป็นการกระทำที่สำคัญต่อการเข้าใจสถานการณ์ของพวกเขา ท่านสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดเหล่านี้ในบทความที่ผ่านมา เรื่องหลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ ได้แก่

  • “หลักธรรมห้าข้อที่ผู้ฟังที่ดีพึงปฏิบัติ,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2018, 6.

  • “หารือเกี่ยวกับความต้องการของพวกเขา,” เลียโฮนา, กันยายน 2018, 6.

  • “ให้ผู้อื่นมีส่วนในการปฏิบัติศาสนกิจ—ตามความจำเป็น,” เลียโฮนา, ต.ค. 2018, 6.

ขณะที่เราพยายามเข้าใจ เราต้องใช้เวลาเพื่อเข้าใจสถานการณ์เฉพาะของพวกเขามากกว่าการคาดเดาจากผู้อื่นที่มีประสบการณ์คล้ายกัน ไม่เช่นนั้น เราอาจจะพลาดเป้าหมายและทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาถูกเข้าใจผิด

2. จินตนาการ

ภาพ
person thinking of someone else

ในการพยายามรักษาพันธสัญญาว่าจะโศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้าและปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน (ดู โมไซยาห์ 18:9) เราสามารถสวดอ้อนวอนขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้เราเข้าใจได้เช่นกันว่าคนๆ นั้นน่าจะรู้สึกอย่างไรและเราจะช่วยได้อย่างไร4

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเข้าใจสภาวการณ์ของผู้อื่น เราแต่ละคน—ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือไม่—จะต้องใช้จินตนาการว่าเราจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ของพวกเขา ขณะทำเช่นนั้น เราจะปล่อยให้ความคิดและอารมณ์ของเราช่วยนำทางการตอบรับของเรา

เมื่อเราเข้าใจสภาวการณ์ของอีกฝ่ายและจินตนาการว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์ของพวกเขา สำคัญที่เราต้องระวังว่าเราตัดสินพวกเขาอย่างไร (ดู มัทธิว 7:1) การวิพากษ์วิจาร์ณคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นจะทำให้เราเมินเฉยความเจ็บปวดอันเกิดจากสถานการณ์ดังกล่าว

3. ตอบรับ

ภาพ
speaking love

วิธีที่เราตอบรับสำคัญเพราะนั่นเป็นวิธีที่เราแสดงความเห็นอกเห็นใจ มีวิธีนับไม่ถ้วนให้สื่อความเข้าใจของเราทั้งด้วยวาจาและกิริยาท่าทาง สำคัญที่ต้องจำไว้ว่าเป้าหมายของเราไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหา บ่อยครั้งเป้าหมายเป็นเพียงหนุนใจและให้กำลังใจโดยให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาไม่โดดเดี่ยว อาจจะหมายถึงการพูดว่า “ฉันดีใจที่คุณบอกฉัน” หรือ “ฉันเสียใจมาก ฉันรู้ว่าเป็นอย่างไร” หรือ “นั่นต้องทำให้คุณเจ็บปวดแน่นอน”

ในทุกกรณีการตอบรับของเราต้องไม่เสแสร้งแกล้งทำ แต่ต้องจริงใจ และเมื่อเห็นสมควร การยอมให้ผู้อื่นเห็นความอ่อนแอและความไม่มั่นใจของท่านเองจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันล้ำค่า

คำเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

ภาพ
loving one another

ขณะท่านพิจารณาสภาวการณ์ของคนที่ท่านปฏิบัติศาสนกิจ ให้จินตนาการว่าท่านอยู่ในสถานการณ์ของพวกเขา จงสวดอ้อนวอนให้เข้าใจว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรและอะไรที่ท่านพบว่าจะช่วยได้มากที่สุดถ้าท่านอยู่ในสถานการณ์ของพวกเขา การตอบรับของท่านอาจเรียบง่าย แต่จะมีความหมาย

อ้างอิง

  1. ดู W. Ickes, Empathic Accuracy (1997); and M. L. Hoffman, Empathy and Moral Development: Implications for Caring and Justice (2000) ด้วย.

  2. ดูัตัวอย่างใน Emily Teding van Berkhout and John M. Malouff, “The Efficacy of Empathy Training: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials,” Journal of Counseling Psychology (2016), 63(1), 32–41.

  3. ดูตัวอย่างใน Brené Brown, I Thought It Was Just Me (But It Isn’t) (2008); Theresa Wiseman, “A Concept Analysis of Empathy,” Journal of Advanced Nursing (1996), 23, 1162–67; and Ed Neukrug and others, “Creative and Novel Approaches to Empathy: a Neo-Rogerian Perspective,” Journal of Mental Health Counseling, 35(1) (Jan. 2013), 29–42.

  4. ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “พระผู้ปลอบโยน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 17–21.