2021
พันธสัญญา ศาสนพิธี และพร
กันยายน 2021


พันธสัญญา ศาสนพิธี และพร

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่อง “พันธสัญญา—ยอมรับพรที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้” พูดที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ไอดาโฮ วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 2020

เราเลือกยอมรับพรที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เมื่อใช้สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมในการรับศาสนพิธีและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ภาพ
one man baptizing another

ในช่วงเทอมแรกในคณะนิติศาสตร์ ชั้นเรียนวิชาสัญญาของข้าพเจ้าสอนโดยศาสตราจารย์ที่ยอดเยี่ยมท่านหนึ่งซึ่งใจดีและมีเมตตามาก—เมื่อท่านไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ในชั้นเรียน ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้วิธีการของโสกราตีส—วิธีการสอนที่เกี่ยวข้องกับการซักถามแบบเจาะจงโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์

ในชั้นเรียนส่วนใหญ่ เราได้รับมอบหมายให้อ่านคำตัดสินหรือคดีความทางกฎหมายสามคดี ในระหว่างชั้นเรียน นักศึกษาคนหนึ่งถูกเรียกให้สรุปข้อเท็จจริงของคดี จากนั้นอธิบายถึงหลักการทางกฎหมายของกฎหมายว่าด้วยสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคดีเหล่านั้น แล้วนักศึกษาผู้เคราะห์ร้ายคนนั้นก็ต้องตอบคำถามของอาจารย์ที่เจาะจงและบิดเบือน นี่นับว่าเป็นประสบการณ์อันอ่อนน้อมถ่อมตนเกือบทุกครั้ง

ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าถูกเรียก คดีต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักการของกฎหมายสัญญานั้นเรียกว่า การยินยอมฝ่ายเดียว ผลที่ตามมาคือ ข้าพเจ้าไม่เคยลืมหลักธรรมนั้นเลย

ข้อเสนอและการยอมรับ

เหนือสิ่งอื่นใดในการสร้างสัญญาที่มีผลผูกพันภายใต้กฎหมายของมนุษย์คือจะต้องมีข้อเสนอและการยอมรับ โดยทั่วไป สัญญาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยื่นข้อเสนอและอีกฝ่ายยอมรับข้อเสนอ

สำหรับข้อตกลงบางประการ อาทิ สัญญาซื้ออสังหาริมทรัพย์ กฎหมายกำหนดให้ข้อเสนอและการตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษร ในสถานการณ์อื่นๆ คู่สัญญาต้องตกลงกันด้วยวาจาเท่านั้น แต่สำหรับข้อตกลงบางประการ การยอมรับข้อเสนอนั้นทำโดยการปฏิบัติ สิ่งนี้เรียกว่าการยินยอมฝ่ายเดียว

ตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าอาจพูดกับท่านว่า “ถ้าคุณเอากล้วยมาให้ผมสักหนึ่งโหล ผมจะจ่ายให้คุณ100 ดอลลาร์” ท่านไม่จำเป็นต้องเซ็นข้อตกลงหรือแม้แต่บอกข้าพเจ้าว่าจะเอากล้วยมาให้เพื่อเป็นการยอมรับข้อเสนอที่ เอื้อเฟื้อ ของข้าพเจ้า ท่านเพียงต้องไปที่ร้านค้าหรือตลาด ซื้อกล้วยมาหนึ่งโหลแล้วนำมาให้ข้าพเจ้า ในบางภูมิภาคของโลก ท่านอาจไปตัดกล้วยเองก็ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม หากท่านนำกล้วยมาให้ข้าพเจ้าหนึ่งโหล ข้าพเจ้ามีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องจ่ายเงินให้ท่าน 100 ดอลลาร์ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะท่านยอมรับข้อเสนอของข้าพเจ้าโดยการปฏิบัตินั่นเอง

เราต้องกระทำ

พันธสัญญาต่อพระบิดาบนสวรรค์ของเรามีผลอย่างเดียวกัน เพื่อรับพรอัน เอื้อเฟื้อ ซึ่งพระองค์ประทานนั้น เราจำเป็นต้องกระทำ ไม่มีการต่อรองแล้วตามด้วยการเซ็นยินยอม แต่เป็นการแสดงออกที่ยืนยันความจริงแทนและโดยการกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์รวมถึงการรับศาสนพิธีที่จำเป็น เราแสดงความปรารถนาและความเต็มใจที่จะทำพันธสัญญากับพระองค์ เมื่อเรารักษาพันธสัญญาจากสิ่งที่เราทำ เรามีค่าควรในการรับพรมากมายที่พระองค์ทรงสัญญาไว้

เราเรียนรู้ในหลักคำสอนและพันธสัญญาว่า

“มีกฎ, ประกาศิตไว้ในสวรรค์อย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก่อนการวางรากฐานของโลกนี้, ซึ่งในนั้นทรงกำหนดพรไว้ทุกประการ—

“และเมื่อเราได้รับพรประการใดจากพระผู้เป็นเจ้า, ย่อมเป็นไปเนื่องจากการเชื่อฟังกฎนั้นซึ่งในนั้นทรงกำหนดพรไว้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:20–21)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าจะได้เข้าในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จึงจะเข้าได้” (มัทธิว 7:21)

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เรายอมรับพรแห่งชีวิตนิรันดร์ที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานให้ในอาณาจักรสวรรค์ไม่เฉพาะสิ่งเราพูดเท่านั้นแต่โดยสิ่งที่เราทำด้วย และเมื่อเราทำพันธสัญญากับพระองค์ พระองค์ทรงรับรองกับเราว่า “เรา, พระเจ้า, ถูกผูกมัดเมื่อเจ้า ทำ สิ่งที่เรากล่าว” พระองค์ยังตรัสชัดเจนว่าหากเราไม่ทำตามพระประสงค์ของพระองค์—ถ้าเราไม่ยอมรับข้อเสนอของพระองค์—เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงไม่มีข้อตกลง “เมื่อเจ้า ไม่ทำ สิ่งที่เรากล่าว, เจ้าย่อมไม่มีสัญญา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:10; เน้นตัวเอน)

ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง

ภาพ
young couple walking in front of temple

เราเข้าสู่พันธสัญญาที่จำเป็นสำหรับความรอดและความสูงส่งโดยการรับศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ ตามที่ระบุไว้ใน คู่มือทั่วไป “สมาชิกทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อพวกเขารับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง … ทุกคนที่อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในการรักษาพันธสัญญาจะได้รับชีวิตนิรันดร์”1

ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่ง ได้แก่ บัพติศมา การยืนยันและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ การแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคสำหรับชาย รวมถึงเอ็นดาวเม้นท์และศาสนพิธีผนึกของพระวิหาร2 ศาสนพิธีทั้งห้านี้ประกอบในพระวิหารแทนบรรพชนผู้ล่วงลับเพราะศาสนพิธีเหล่านี้จำเป็นสำหรับบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า

คำสอนที่ผืนน้ำแห่งมอรมอนในบันทึกของแอลมาแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพันธสัญญา ศาสนพิธี และพร พึงสังเกตว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดเงื่อนไข อธิบายถึงพรที่สัญญาไว้ และทรงเปิดเผยว่าเราจะได้รับพรเหล่านั้นอย่างไรโดยผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

สำหรับบรรดาผู้ที่มารวมตัวกัน ณ ผืนน้ำแห่งมอรมอนซึ่งแสดงความปรารถนาที่จะเข้ามาสู่คอกของพระผู้เป็นเจ้า—ความปรารถนา เป็นก้าวแรกที่สำคัญ (ดู แอลมา 32:27)—แอลมาสอนสิ่งที่คาดหวังจากพวกเขาเหล่านั้น พวกเขาต้อง “เต็มใจแบกภาระของกันและกัน, … โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; … ปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน,” และ “ยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง, และในทุกแห่ง … แม้จนถึงความตาย” (โมไซยาห์ 18:8, 9)

จากนั้นแอลมาอธิบายถึงพรที่สัญญาไว้ “ท่านจะได้รับการไถ่จากพระผู้เป็นเจ้า, และนับอยู่กับบรรดาคนของการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก, เพื่อท่านจะมีชีวิตนิรันดร์” และ “พระเจ้า … จะเทพระวิญญาณของพระองค์ลงมาให้ท่านให้มากมายยิ่งขึ้น” (โมไซยาห์ 18:9, 10)

ผู้คนต้องทำอะไรเพื่อรับพรพิเศษเหล่านั้น ในคำพูดของแอลมา “ท่าน … [ต้อง] รับบัพติศมาในพระนามของพระเจ้า, เพื่อเป็น พยาน ต่อพระพักตร์พระองค์ว่าท่านเข้ามาใน พันธสัญญา กับพระองค์, ว่าท่านจะรับใช้พระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (โมไซยาห์ 18:10; เน้นตัวเอน) พึงสังเกตว่าศาสนพิธีบัพติศมาเป็นพิธีการศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเราส่วนใหญ่จำได้แม่นยำ ทำหน้าที่เป็นพยานหรือหลักฐานว่าเราได้เข้ามาในพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

ผู้คนต่างแสดงความกระตือรือร้นยิ่งถึงขั้นที่ “พวกเขาปรบมือด้วยปีติ, และร้องว่า : นี่คือความปรารถนาของใจเรา” (โมไซยาห์ 18:11) พวกเขาปรารถนาโดยอิสระที่จะเข้ามาในพันธสัญญาเมื่อเข้าสู่น้ำแห่งบัพติศมา

เช่นเดียวกัน เมื่อเรารับศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งแต่ละอย่างนี้ เราได้รับคำสัญญาเพิ่มเติมแห่งพรอันยิ่งใหญ่ พันธสัญญาที่เราทำล้วนศักดิ์สิทธิ์และผูกมัดเรากับพระผู้เป็นเจ้า เราเลือกยอมรับพรของพระองค์ที่ประทานให้เมื่อเราใช้สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมในการรับศาสนพิธีและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ศีลระลึก

ภาพ
young man passing the sacrament to members in church

ศาสนพิธีศีลระลึกเชื้อเชิญให้เราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและพันธสัญญาของเรา เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงจัดตั้งศีลระลึกท่ามกลางชาวนีไฟ พระองค์ประทานอำนาจฐานะปุโรหิตแก่สานุศิษย์ของพระองค์และทรงแนะนำให้พวกเขา “หักขนมปังและอวยพรมันและให้มันแก่ผู้คนของศาสนจักรของเรา, แก่คนทั้งปวงผู้ที่เชื่อและรับบัพติศมาในนามของเรา” (3 นีไฟ 18:5)

เรามักนึกถึงการรับส่วนศีลระลึกเพื่อต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเรา แม้ว่าจะถูกต้อง แต่พึงสังเกตพระดำรัสที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้ เมื่อพระองค์ทรงแนะนำให้ผู้ติดตามของพระองค์รับส่วนขนมปังแล้ว พระองค์ตรัสว่า “สิ่งนี้เจ้าจงทำในความระลึกถึงกายของเรา, ซึ่งเราแสดงให้เจ้าเห็น. และมันจะเป็น ประจักษ์พยาน ต่อพระบิดาว่าเจ้าระลึกถึงเราตลอดเวลา” (3 นีไฟ18:7; เน้นตัวเอน)

เมื่อพวกเขาดื่มน้ำองุ่น พระองค์ตรัสว่า “นี่เป็นการทำให้บัญญัติของเราสมบูรณ์, และนี่เป็น พยาน ต่อพระบิดาว่าเจ้าเต็มใจปฏิบัติสิ่งที่เราสั่งเจ้า” (3 นีไฟ 18:10; เน้นตัวเอน)

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อเรารับส่วนศีลระลึกแต่ละสัปดาห์ เรา แสดงให้ประจักษ์ และ เป็นพยาน อีกครั้งว่าเราจะระลึกถึงพระเยซูคริสต์ตลอดเวลาและเต็มใจรักษาพระบัญญัติของพระองค์ หากเราระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ พระวิญญาณของพระองค์จะทรงอยู่กับเรา (ดู 3 นีไฟ 18:7, 11)

พรที่ได้รับ

ขณะใคร่ครวญถึงพรต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเมื่อรับส่วนศีลระลึก ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุด ตั้งข้อสังเกตว่า “เนื่องจากขนมปังถูกหักและฉีกออก แต่ละชิ้นจึงมีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับแต่ละบุคคลที่รับส่วนขนมปังนั้น เราทุกคนต้องกลับใจจากบาปที่แตกต่างกัน เราทุกคนมีความต้องการแตกต่างกันไปเพื่อจะเสริมกำลังผ่านการชดใช้ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ผู้ที่เราระลึกถึงในศาสนพิธีนี้”3

ข้าพเจ้าพบว่าการไตร่ตรองข้อ 10, 12, และ 14 ของ 3 นีไฟ 18 นั้นเป็นประโยชน์ ในแต่ละข้อ พระผู้ช่วยให้รอดตรัสแก่ผู้รับส่วนศีลระลึกว่า “เจ้าเป็นสุขแล้ว” แต่พระองค์ไม่ได้ทรงระบุว่าพรนั้นมีอะไรบ้าง บางทีอาจเป็นเพราะแต่ละคนที่มีส่วนร่วมในศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ล้วนแตกต่างกันเช่นเดียวกับรูปร่างของขนมปังแต่ละชิ้น เราแต่ละคนจึงต้องการพรที่แตกต่างกัน แม้ว่าความท้าทาย สภาวการณ์ และความต้องการของเราจะแตกต่างกัน แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญากับเราแต่ละคนที่รักษาพันธสัญญาศีลระลึกว่า “เจ้าเป็นสุขแล้ว”

ความรักและความเมตตา

ตอนนี้ข้าพเจ้าเน้นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกฎของพระผู้เป็นเจ้ากับกฎหมายของมนุษย์ ซึ่งนั่นก็คือบทบาทของความรักและความเมตตาในแผนแห่งการไถ่ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับลูกๆ ของพระองค์ ดังที่ระบุไว้ในหลายๆ กรณี เราเชื้อเชิญพรที่พระองค์ประทานโดยผ่านการกระทำของเรา เฉกเช่นบิดามารดาที่เปี่ยมด้วยความรัก พระบิดาบนสวรรค์ทรงพิจารณาความปรารถนาของใจเราด้วยความเมตตาเช่นเดียวกับงานของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 137:9) พระองค์ทรงตระหนักดีว่าบางครั้งโอกาสในการลงมือทำอาจถูกจำกัดด้วยสภาวการณ์ต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ความตายก่อนเวลาอันควร ความพิการร้ายแรง การขาดความรู้หรือโอกาส หรือความอยุติธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่ตกอาจดูเหมือนจะขัดขวางความก้าวหน้าของเราและการได้รับพรที่สัญญาไว้ซึ่งเราปรารถนา

ภาพ
the Savior praying in Gethsemane

พระคริสต์ในเกทเสมนี โดย แดน เบอร์

ดังนั้น ศูนย์กลางของแผนแห่งความสุขที่ยิ่งใหญ่คือพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ พระผู้สร้างความแตกต่าง เอาชนะความอยุติธรรมและทำให้ทุกคน—ทุกคนที่ปรารถนาโดยแท้จริงและทำทุกสิ่งที่ทำได้—ยอมรับและรับพรที่สัญญาไว้ของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงเป็นที่รักในท้ายที่สุด

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เรากลับไปยังที่ประทับของพระองค์ แต่พระองค์ทรงต้องการให้เรากลับมาเพราะเราปรารถนาจะทำเช่นนั้น ตามที่เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เป้าหมายของพระบิดาบนสวรรค์ในการเป็นบิดาไม่ใช่ให้บุตรธิดา ทำ สิ่งที่ถูกต้อง แต่ให้บุตรธิดา เลือก ทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นเหมือนพระองค์ในที่สุด” ถ้าพระองค์ทรงต้องการเพียงให้เราเชื่อฟัง พระองค์จะทรงใช้รางวัลและการลงโทษเดี๋ยวนั้นเพื่อควบคุมความประพฤติของเรา”4

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเรียกร้องความเต็มใจเช่นเดียวกับความพยายามในส่วนของเรา รางวัลมากมายสำหรับการเลือกสิ่งที่ถูกต้องจะเข้ามาในอนาคตและมากกว่าที่เราสมควรได้รับ ซึ่งเป็นสาเหตุที่รางวัลบางอย่างเรียกว่าของประทาน (ดู 1 นีไฟ 10:17; หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7) เช่นเดียวกับพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงเมตตา พระองค์ประทานให้เรามากมาย—มากเกินกว่าที่เราสมควรได้รับ ดังนั้น ความสูงส่งจึงไม่ได้มาโดยเปล่า แต่ต้องได้รับเลือก ยอมรับ และรับด้วยความสำนึกคุณ

ขอให้เราปฏิบัติด้วยศรัทธา การเชื่อฟัง ความขยันหมั่นเพียร และความสำนึกคุณเพื่อเตรียมรับ “ทุกสิ่งที่พระบิดา[ของเรา]มี” ในทุกช่วงเวลาและสภาวการณ์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:38; ดู แอลมา 34:32 ด้วย)

ผู้คนแห่งพันธสัญญาที่ชอบธรรม

เราดำเนินชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมเมื่อพรแห่งพระกิตติคุณมีพร้อมสำหรับผู้ที่ยอมรับ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า

“เราได้นั่งแถวหน้าเพื่อ เป็นพยานเหตุการณ์สด ในสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์นีไฟเห็น เฉพาะในนิมิต ว่า ‘เดชานุภาพของพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า’ จะลงมา ‘บนผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า, ซึ่งกระจัดกระจายอยู่บนทั่วพื้นพิภพ; และพวกเขามีอาวุธคือความชอบธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในรัศมีภาพอันยิ่งใหญ่’ [1 นีไฟ 14:14]

“พี่น้องของข้าพเจ้า ท่าน อยู่ในบรรดาชายหญิงและเด็กเหล่านั้นที่นีไฟเห็น ลองนึกดู!”5

พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเราและทรงปรารถนาที่จะประทานพรเราจริงๆ โดยผ่านการชดใช้อันไม่มีที่สิ้นสุดของพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ทุกคนสามารถได้รับความสมบูรณ์ ปีติของเราในตอนนี้และตลอดนิรันดร์จะยิ่งใหญ่เพียงใด เมื่อเราวางใจพระผู้เป็นเจ้าและปฏิบัติด้วยศรัทธาเพื่อทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระองค์

อ้างอิง

  1. คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 3.5.1, ChurchofJesusChrist.org.

  2. ดู คู่มือทั่วไป, 18.1.

  3. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Introductory Message” (คำปราศรัยที่การสัมมนาประธานคณะเผยแผ่คนใหม่ 25 มิถุนายน 2017), 2.

  4. เดล จี. เรนลันด์, “ท่านจงเลือกเสียในวันนี้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 104.

  5. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ฟังพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 88.