2021
การกลับบ้านก่อนเวลา—สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากค่ายไซอัน
กันยายน 2021


ดิจิทัลเท่านั้น: จงตามเรามา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 102–105

การกลับบ้านก่อนเวลา—สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากค่ายไซอัน

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

เมื่อฉันกลับบ้านก่อนกำหนดจากงานเผยแผ่ ฉันพบการปลอบโยนจากเหตุการณ์หนึ่งของวิสุทธิชนยุคแรก

ภาพ
ผู้หญิงอ่านพระคัมภีร์

ขณะที่ฉันเติบโต ชีวิตของฉันเรียบง่ายและไร้ข้อกังวล โรงเรียนและงานอดิเรกเป็นเรื่องง่ายสำหรับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะบ่นมากนักและโดยรวมแล้วมีความสุข

แต่หลังจากที่ฉันอายุ 19 ปี ชีวิตฉันก็เปลี่ยนไป

ฉันรู้สึกตื่นเต้นเมื่อไปเป็นผู้สอนศาสนาในอาซุนซีออน ปารากวัย ฉันคาดหวังให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นเช่นเดียวกับช่วงที่ผ่านมาในชีวิตของฉัน อย่างไรก็ตาม หลังจากทำงานเผยแผ่ได้ประมาณสี่เดือน ฉันพบว่าตนเองกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดเนื่องจากภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลอย่างท่วมท้น ฉันคิดในใจว่าตนเองเคยประสบความสำเร็จมาโดยตลอด—เป็นผู้ที่ไม่มีความอ่อนแอประหนึ่งว่าเป็นไปได้จริง ตอนนี้ฉันมีแต่ความกลัว ความรู้สึกผิด ความโกรธ ความสิ้นหวัง และความโศกเศร้า ฉันมัวแต่นึกถึงตนเองว่าล้มเหลวมากแค่ไหน

เรียนรู้จากค่ายไซอัน

ฉันได้รับการปลอบโยนจากเรื่องราวในประวัติศาสนจักร วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1834 โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผย (หลักคำสอนและพันธสัญญา 103) ให้จัดตั้งกลุ่มชายมากกว่า 100 คนเดินทางไปยังเทศมณฑลแจ๊คสัน รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกาเพื่อช่วยวิสุทธิชนในการกู้ดินแดนซึ่งพวกเขาสูญเสียไปเมื่อถูกขับไล่ออกจากที่นั่นเมื่อปีก่อน ชาย สตรี และเด็กประมาณ 230 คนร่วมเดินทางซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในนามค่ายไซอัน หลังจากเตรียมการแล้ว กลุ่มดังกล่าวจากบ้านในเดือนพฤษภาคมและเดินทางมากถึง 40 ไมล์ (ประมาณ 65 กิโลเมตร) ต่อวัน1

ค่ายไซอันไม่เพียงแต่เผชิญกับแง่มุมทางกายภาพของการเดินทางเท่านั้น สมาชิกสองสามคนของกลุ่มแสดงการนินทา ไม่เชื่อฟัง และก่อกบฏอีกด้วย แต่มีอีกหลายคนที่ยังคงซื่อสัตย์และนับเป็นสิทธิพิเศษที่ได้เดินทางและมีโอกาสที่ได้อยู่กับโจเซฟ ด้วยสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงรอบตัว ศาสดาพยากรณ์แสวงหาการนำทางจากพระเจ้าและได้รับการเปิดเผยอีกครั้งในเดือนมิถุนายน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 105) พระองค์ตรัสว่าพวกเขาไม่ต้องพยายามอีกต่อไป สมาชิกในค่ายต่างกลับบ้านโดยที่ดูเหมือนว่าไม่บรรลุจุดประสงค์ในการกู้ไซอัน แต่หลายคนรู้ว่านี่ไม่ใช่ความล้มเหลวเพราะการเดินทางทำให้พวกเขาใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นและเห็นพระหัตถ์ของพระองค์ในชีวิต2

ภาพ
โจเซฟ สมิธและชายคนอื่นๆ ลากเกวียน

Struggle at Zion’s Camp [การฝ่าฟันที่ค่ายไซอัน] โดย คลาร์ก เคลลีย์ ไพรซ์

หันเหความสนใจออกจากคำว่า “ทำไม” ในอดีต

เมื่อวิสุทธิชนในค่ายไซอันได้ข่าวว่าพวกเขาจะกลับบ้านโดยไม่ได้รับพรที่คาดหวัง พวกเขาอาจสงสัยว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์จึงทรงขอให้พวกเขาเดินทางตั้งแต่แรก ฉันก็สงสัยเช่นกันว่าทำไมฉันจึงถูกพาไปในทิศทางที่ไม่เป็นไปตามแผนซึ่งวางไว้

หลังจากรู้สึกเศร้ามากกว่าที่เคยเป็นในระยะเวลาหลายสัปดาห์ ฉันตระหนักว่าไม่อยากจะดำเนินชีวิตด้วยเจตคติเชิงลบเช่นนี้อีกต่อไป ฉันรู้ว่าไม่ได้ถูกส่งมาบนแผ่นดินโลกเพื่อใช้ชีวิตด้วยความท้อแท้และมองโลกในแง่ร้าย ไม่ว่าอย่างไร เราเป็นอยู่เพื่อ“จะมีปีติ”! (2 นีไฟ 2:25) ฉันจึงตัดสินใจเปลี่ยนจุดสนใจจากคำว่า “ทำไม” ในอดีตเป็นการค้นหาจุดประสงค์ท่ามกลางความทุกข์ยาก

ฉันยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่น มีส่วนร่วมในงานอดิเรกใหม่ๆ และกลับไปเรียน ฉันยังเริ่มบันทึกสิ่งที่ขอบคุณประจำวันอีกด้วย บันทึกสิ่งที่ขอบคุณซึ่งเริ่มจากบรรทัดเดียวกลายเป็นหน้าเต็มๆ เมื่อฉันเริ่มรับรู้พระหัตถ์ของพระเจ้าในชีวิตมากขึ้นโดยไม่ต้องพยายาม คำสวดอ้อนวอนของฉันเปลี่ยนจากสิ่งที่ปรารถนาเป็นรายการสิ่งที่สำนึกคุณ

แม้ว่าวันที่ยากลำบากของฉันยังไม่หายไป—ซึ่งเวลานี้ยังอยู่—ตอนนี้ฉันรู้ว่าแตกต่างมากเพียงใดเมื่อจดจ่อไปที่มุมมองแง่ดีในชีวิต แทนที่จะมองว่าการทดลองของฉันเป็นสิ่งเลวร้าย ฉันตัดสินใจมองว่าการทดลองเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับการเติบโต

รับรู้ถึงเหตุผล

เมื่อมองย้อนกลับไปนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ฉันกลับบ้านจากปารากวัย ฉันได้เห็นถึงวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงนำทางฉันและให้โอกาสฉันฝ่าฟันประสบการณ์ต่างๆ ฉันพบเพื่อนสนิทบางคนในช่วงหลายเดือนนั้นหลังงานเผยแผ่และเริ่มศึกษาที่มหาวิทยาลัยในท้องที่ได้ทันที แม้จะพ้นกำหนดรับสมัครแล้วก็ตาม สาขาวิชาที่ฉันศึกษาทำให้ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งฉันแบ่งปันพระกิตติคุณกับครอบครัวอุปถัมภ์

ความสำนึกคุณที่มาจากจิตสำนึกในช่วงหลายปีนั้นปลูกฝังนิสัยในการขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับทุกสิ่งซึ่งเพิ่มพูนศรัทธาของฉันในพระองค์

ถ้อยคำเหล่านี้ในพรฐานะปุโรหิตที่ฉันได้รับในช่วงสัปดาห์ที่รู้สึกแย่ช่วยให้ฉันเข้าใจศรัทธาเช่นกัน “ข้าพเจ้าให้พรท่านด้วยความเข้าใจและความรู้ที่ว่าพระผู้เป็นเจ้า … จะประทานสิ่งที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านเท่านั้น แต่ … ช่วยให้ท่านเป็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการให้ท่านเป็น พรเหล่านั้นไม่ได้มาโดยง่ายเสมอไป เพราะการฝ่าฟันและความทุกข์ยากเป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโต”

ฉันรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงทำให้ความพยายามของเราศักดิ์สิทธิ์ และดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “พระเจ้าทรงรักความพยายาม”3 พระผู้เป็นเจ้าทรงแสวงหาความสุขของเราอย่างแท้จริงและจะทรงอยู่เคียงข้างเราตลอดไป

อ้างอิง

  1. Church History Topics, “Zion’s Camp (Camp of Israel),” ChurchofJesusChrist.org/study/history/topics.

  2. Church History Topics, “Zion’s Camp (Camp of Israel)”

  3. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, ใน จอย ดี. โจนส์, “การเรียกที่สูงส่งเป็นพิเศษ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 16.