2022
กลายเป็นคนที่ดีขึ้นหลังจากประสบความขื่นขม
กุมภาพันธ์ 2022


กลายเป็นคนที่ดีขึ้นหลังจากประสบความขื่นขม

ส่วนหนึ่งของชีวิตซึ่งเป็นกระบวนการที่เจ็บปวดและพิสูจน์ตนเช่นนี้คือการดูว่าเราจะมุ่งหน้าไปอย่างแท้จริงหรือไม่

ภาพ
woman looking sad

ภาพประกอบโดย เดวิด กรีน

ก าตกของอาดัมและเอวาได้เริ่มต้นสภาพการทดลองที่บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจะมีโอกาสได้รับการทดสอบ “เพื่อดูว่าพวกเขาจะทำสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาจะทรงบัญชาพวกเขาหรือไม่” (อับราฮัม 3:25) ท่ามกลางการทดสอบนี้เราสัมผัสทั้งความสุขและปีติแต่ก็มาพร้อมกับการทดลองและความทุกข์ เช่น การล่อลวง ความเจ็บป่วย ความทุพพลภาพ และความท้อแท้

เหตุใดบางคนจึงหยุดชะงักเมื่อต้องเจอกับความโชคร้าย ขณะที่คนอื่นๆ กลายเป็นคนที่ดีขึ้นหลังจากประสบความขื่นขม? ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์รวมทั้งศาสตร์แห่งความสามารถในการปรับตัวล้วนช่วยให้คำตอบสำหรับคำถามนี้

บางคนนิยามความสามารถในการปรับตัวว่า เป็นความสามารถในการฟื้นตัวหรือปรับตัวให้เข้ากับความโชคร้าย อุปสรรค หรือการเปลี่ยนแปลง1 การตกของอาดัมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้มีโอกาสใช้ความสามารถในการปรับตัว เพื่อเคลื่อนไปข้างหน้าและสูงขึ้นไป ส่วนนี้ในแผนของพระบิดาบนสวรรค์เปิดประตูให้เราประสบกับความเป็นมรรตัย ซึ่งเราประสบทั้งปีติและความเศร้าหมอง และการเติบโต (ดู 2 นีไฟ 2:23)

ต่อไปนี้คือหลักธรรมสี่ข้อของความสามารถในการปรับตัวเพื่อช่วยเมื่อหนทางมรรตัยของท่านเต็มไปด้วยอุปสรรค

ค้นหาจากภายใน

เมื่อเราพบกับวันที่มืดมนและยากลำบาก เราสามารถค้นหาจากภายในเพื่อพบของประทานที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่เรา

ถามตัวท่านเองว่า “ของประทาน ความเข้มแข็ง และพรสวรรค์ใดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพรแก่ฉัน เพื่อให้ฉันนำมาใช้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้?” ศึกษาปิตุพรของท่านและมองหาสิ่งชี้ทางในประสบการณ์ชีวิตของท่านที่เปิดเผยของประทานที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ท่าน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:11)

แรงกดดันและความท้าทายในยุคสมัยของเราสามารถทำให้รู้สึกเกินที่จะรับมือและอึดอัด หากไม่ได้ทำให้สมดุลด้วยศรัทธา ความเครียดและความกังวลอาจทำให้มุมมองของเราแคบลงให้สนใจแต่ตัวเราเอง ซึ่งเป็นการให้ความสนใจที่จมอยู่กับตัวเอง หวาดกลัวและสิ้นหวัง ทำให้เรารู้สึกหนักใจ วิตกกังวล และหดหู่มากขึ้น

เราอาจถูกล่อลวงให้เปรียบเทียบสถานการณ์ของเรากับสถานการณ์ของผู้อื่นที่ดูเหมือนว่าจะปราศจากปัญหา แต่การเปรียบเทียบแบบนี้พรากปีติไปจากเรา ขณะที่ความสำนึกคุณจะช่วยเพิ่มปีติ

เราสามารถพัฒนามุมมองของเราผ่านการตระหนักถึงของประทานที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานแก่เรา ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเคยให้คำปรึกษาว่า “การนับพรของเรานั้นดีกว่าการนับปัญหาของเรา”2 ใจที่มองในแง่บวกและสำนึกคุณช่วยส่งเสริมพลังงานและความคิดสร้างสรรค์ของเรา และเราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองที่มีประโยชน์มากขึ้น รวมถึงการมุ่งเน้นสิ่งที่สำคัญจริงๆ มากขึ้น และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในการควบคุมของเรา

ในช่วงเวลาที่ตึงเครียด ท่านอาจถามตัวเองว่า:

  • มีวิธีใดบ้างที่ฉันจะสามารถดูแลร่างกายและจิตใจของฉันให้ดีขึ้นด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และการนอนหลับ? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:124)

  • ฉันจะหันไปหาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เพื่อความเข้มแข็งและการทรงนำ รวมทั้งตระหนักว่าพระองค์ประทานพรฉันตลอดทางได้อย่างไร?

  • ฉันวางใจหรือไม่ว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะประทานพรและสอนฉันขณะที่ฉันทำตามพระองค์ ไม่ว่าความท้าทายของฉันจะเป็นเช่นไร?

เราต้องตระหนักและจดจำสิ่งดีๆ ในชีวิตเรา การศึกษานับไม่ถ้วนแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความสำนึกคุณต่อใจและความคิดของเรา นับตั้งแต่การพัฒนาอารมณ์และการมองโลกในแง่ดีไปจนถึงการลดความกังวลและความเจ็บปวดรวดร้าว ความสำนึกคุณช่วยให้เห็นค่าของปัจจุบัน ยับยั้งอารมณ์ที่เป็นพิษและเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม3

ในช่วงเวลาของความโกลาหล เมื่อเรามุ่งมั่นที่จะหยั่งรากลึกในศรัทธาและความวางใจในพระผู้เป็นเจ้า เราจะมองเห็นภาพที่กว้างขึ้นของชีวิตและรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนท่ามกลางการทดลอง ปัญหา และความทุกข์ของเรา (ดู แอลมา 36:3)

ใส่ใจคนรอบข้าง

หลักธรรมข้อที่สองของความสามารถในการปรับตัวคือการใส่ใจคนรอบข้าง ทั้งกับผู้คนรอบข้างและทรัพยากรที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้

หลายคนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับความท้าทายในชีวิตของตนกล่าวว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการค้นหาความเข้มแข็งจากโอกาสและทรัพยากรรอบตัว ซึ่งสามารถรวมถึงงานอดิเรก การเขียนบันทึก การออกกำลังกาย การอ่านพระคัมภีร์และหนังสือที่ให้กำลังใจเล่มอื่นๆ การพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนหรือที่ปรึกษา หรือแม้แต่การใช้เวลากับสัตว์เลี้ยง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดได้4

ทั้งนีไฟและพี่ชายของเจเร็ดต่างก็พึ่งพาทรัพยากรที่ “พระเจ้าทรงเตรียมไว้” (1 นีไฟ 17:5) นับตั้งแต่ผลไม้ เมล็ด พันธุ์ไม้ และน้ำผึ้งป่า ไปจนถึงแร่และหิน 16 ก้อน พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดหาทรัพยากรให้แก่ผู้คนของพระองค์เพื่อใช้ในยามที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการเดินทางของพวกเขา พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดหาทรัพยากรอะไรไว้ให้ท่านเพื่อทำให้การเดินทางของท่านเบาลง?

การใส่ใจคนรอบข้างยังหมายถึงการสังเกตและตอบสนองต่อความทุกข์ทรมานของผู้อื่นแม้ในขณะที่เรากำลังประสบความท้าทายด้วย ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดเชิญเรามาร่วม “สังเกตความยากลำบากของผู้อื่นและพยายามช่วยเหลือ นั่นจะยากเป็นพิเศษเมื่อตัวเราเองกำลังเจอบททดสอบแสนสาหัส แต่เราจะค้นพบว่าเมื่อเรายกภาระของกันและกันแม้เพียงเล็กน้อย หลังของเราจะแข็งแรงขึ้นและเราจะสัมผัสถึงแสงสว่างในความมืด”5

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นย้ำความสำคัญของการสร้างอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์ด้วยการใส่ใจคนรอบข้างท่ามกลางการทดลองของเรา: “อุปนิสัยจะเผยออกมา … ในอำนาจที่จะเล็งเห็นความทุกข์ของคนอื่นเมื่อเราเองก็กำลังทนทุกข์ ในความสามารถที่จะรับรู้ความหิวของผู้อื่นเมื่อเราหิว ในอำนาจที่จะเอื้อมออกไปและเผื่อแผ่ความสงสารให้กับความทุกข์ทรมานทางวิญญาณของผู้อื่นเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศกทางวิญญาณของเราเอง ดังนั้นอุปนิสัยจึงแสดงออกมาผ่านการมอง หันไป และการใส่ใจคนรอบข้างยามที่การตอบสนองตามสัญชาตญาณของมนุษย์โดยกมลสันดานของเราแต่ละคนคือ การหันเข้าไปภายใน เห็นแก่ตัวและจมอยู่กับตนเอง”6

มองขึ้นไป

ภาพ
woman looking upward

เมื่อเราค้นหาจากภายในและใส่ใจคนรอบข้างท่ามกลางหนทางสู่ความสามารถในการปรับตัวของเรา เราต้องไม่ลืมที่จะมองขึ้นไปและวิงวอนขอสันติและการชี้นำจากสวรรค์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงสัญญาว่า หากเราไม่ทำใจแข็งกระด้างต่อพระองค์ในระหว่างการทดลอง เราจะเปลี่ยนใจเลื่อมใสและได้รับการรักษา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:13)

ขณะอยู่ลึกลงไปในความสิ้นหวัง รอดชีวิตด้วยอาหารสกปรก และนอนอยู่บนพื้นอันหนาวเย็นในคุกลิเบอร์ตี้ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเลือกที่จะมองขึ้นไปและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากสวรรค์

เขาได้รับการรับรองจากพระเจ้าว่า: “ลูกเอ๋ย, สันติสุขจงมีแก่จิตวิญญาณเจ้า; ความยากลำบากของเจ้าและความทุกข์ของเจ้าจะอยู่เพียงชั่วครู่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7) จากนั้นพระเจ้าทรงสัญญากับเขาว่า “และจากนั้น, หากเจ้าอดทนมันด้วยดี, พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยกเจ้าให้สูงส่งสู่เบื้องบน; เจ้าจะมีชัยเหนือศัตรูทั้งปวงของเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:8)

การมองขึ้นไปรวมถึงการไว้วางใจในจังหวะเวลาของพระเจ้าด้วยความอดทนและมุมมองในการแสวงหาสันติสุขกลางพายุแห่งชีวิตของเรา ท่านสามารถเห็นวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรท่านในความท้าทายของท่านไหม?

มุ่งหน้า

ภาพ
a woman with eyes closed

ในพระคัมภีร์มอรมอน นีไฟเตือนเราว่าเราจะต้อง “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง” (2 นีไฟ 31:20)

เมื่อเรารู้สึกว่าต้องแบกรับภาระ ในวันที่เราหมดกำลังใจ ในวันที่ความหวังของเราไม่สดใส และเมื่อเราขาดความรักจากคนทุกคน เรา ยัง สามารถเลือกที่จะมุ่งหน้าต่อไป เรื่องราวที่เราชอบอ่าน ไม่ใช่เรื่องราวของวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ผู้ที่เรียนรู้และดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของความสามารถในการปรับตัวหรอกหรือ? การแสดงออกถึงศรัทธาและความกล้าหาญเหล่านี้แสดงให้เราเห็นวิธีที่เราสามารถมุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์

ใช่แล้ว จะต้องมีช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าคำสวดอ้อนวอนไม่ได้รับคำตอบในแบบที่เราหวังไว้ จะยังคงมีการหย่าร้าง เสียชีวิต เจ็บป่วย และความผิดหวัง แม้ว่าเราจะวิงวอนและปรารถนาจะมีวันที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งของกระบวนการอันเจ็บปวดและเป็นการพิสูจน์นั้น “เพื่อดูว่า [เรา] จะทำสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้า [ของเรา] จะทรงบัญชา [เรา] หรือไม่” (อับราฮัม 3:25) เมื่อโลกมืดมน เราจะยังคงแสวงหาพระผู้ทรงเป็นแสงสว่างอยู่ไหม?

เมื่อพูดถึงเรื่องการทดลองและความยากลำบาก เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ถามว่า “เราต้องรอการปลดเปลื้องจากความยากลำบากที่เกิดกับเรานานเท่าใด? แล้วการทดลองส่วนตัวที่ยังอยู่ขณะที่เรารอแล้วรออีกและความช่วยเหลือที่ดูเหมือนจะมาช้าเหลือเกินอีกเล่า? เหตุใดจึงล่าช้าทั้งที่ภาระดูเหมือนมากเกินกว่าจะแบกรับไหว?” จากนั้นท่านให้ความมั่นใจแก่เราว่า “ศรัทธาหมายถึงการวางใจพระผู้เป็นเจ้าทั้งในยามดีและยามร้าย ถึงแม้ต้องทนทุกข์บางอย่างจนกว่าจะเห็นพระพาหุของพระองค์เผยออกมาให้เรา”7

พระบิดาผู้ทรงรักและทรงรอบรู้ของเราไม่เพียงแต่ทรงสร้างแผนแห่งความสุขสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ทุกคน แต่ยังทรงปูทางเพื่อมอบประสบการณ์ทางโลกที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการและศักยภาพเพื่อการเติบโตและปีติอีกด้วย ผมเป็นพยานว่าเราจะเป็นคนดีขึ้นหลังจากประสบความขื่นขม ขณะเราเรียนรู้ที่จะค้นหาจากภายใน ใส่ใจคนรอบข้าง มองขึ้นไป และมุ่งหน้า

อ้างอิง

  1. ดู พจนานุกรม Merriam-Webster.com, “Heart,”merriam-webster.com.

  2. “President Russell M. Nelson on the Healing Power of Gratitude” (วีดิทัศน์), ChurchofJesusChrist.org.

  3. ดู Robert Emmons, Thanks! How the New Science of Gratitude Can Make You Happier (2007).

  4. หนังสือที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับประเด็นนี้และหัวข้ออื่นๆ อีกมากมายคือ Alex Korb, The Upward Spiral: Using Neuroscience to Reverse the Course of Depression, One Small Change at a Time (2015).

  5. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “รับการทดสอบ พิสูจน์ และขัดเกลา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 98.

  6. เดวิด เอ. เบดนาร์ ใน Sarah Jane Weaver, “Elder Bednar Urges Mission Leaders to Seek to Develop ‘Essential Elements of a Christlike Character,’” July 9, 2019, newsroom.ChurchofJesusChrist.org.

  7. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “รอคอยพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 115, 116.