2022
พระบัญชาของพระเจ้าให้ “แสวงหาการเรียนรู้”
กุมภาพันธ์ 2022


คนหนุ่มสาว

พระบัญชาของพระเจ้าให้ “แสวงหาการเรียนรู้”

การได้รับการศึกษาไม่ใช่แค่แนวคิดที่ดีสำหรับอนาคตของท่าน แต่ยังเป็นพระบัญญัติจากพระเจ้าด้วย

ภาพ
young adult woman

ภาพถ่ายโดย โรบิน โจนส์

ในพันธสัญญาเดิม ฮันนาห์บอกเราว่า “พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงรู้” (1 ซามูเอล 2:3) และการเปิดเผยสมัยปัจจุบันแสดงให้เราเห็นว่ายังคงเป็นความจริงอยู่ทุกวันนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบคำแนะนำให้ “แสวงหา … ถ้อยคำแห่งปัญญาจากบรรดาหนังสือดีที่สุด, แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118)

แต่เมื่อเราพูดถึงการแสวงหาการเรียนรู้หรือความรู้ เราไม่ได้หมายถึงการศึกษาปริญญาในระดับมหาวิทยาลัยสี่ปี (แม้ว่าจะหมายรวมถึงด้วย) แต่มีความหมายมากกว่านั้น! การแสวงหาความรู้ ได้แก่ การศึกษาอย่างเป็นทางการ การฝึกอบรมเฉพาะทางอื่นๆ การเรียนรู้พระกิตติคุณ และการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ

มีเหตุผลที่ศาสนจักรเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย ให้การสนับสนุนโปรแกรมการศึกษาระดับที่สูงขึ้นทางออนไลน์ (BYU–Pathway Worldwide) และมีโปรแกรมการเรียนรู้พระกิตติคุณสำหรับผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว (สถาบันศาสนา) เพราะดังที่เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า “สำหรับสมาชิกศาสนจักร การศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิดที่ดีเท่านั้น—แต่เป็นพระบัญญัติด้วย”1

การเรียนรู้ทางโลก: “เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับทุกสิ่ง”

นับตั้งแต่ยุคแรกของศาสนจักร การศึกษามีความสำคัญมาก เมื่อวิสุทธิชนตั้งรกรากที่เคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ ในช่วงทศวรรษ 1830 พวกเขาก่อตั้งสถาบันการศึกษา อาทิ โรงเรียนศาสดาพยากรณ์ (โดยหลักแล้วใช้ในการเตรียมผู้สอนศาสนา) โรงเรียนสำหรับเอ็ลเดอร์ โรงเรียนฮีบรู โรงเรียนมัธยม และที่สำคัญที่สุดคือพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเป็น “บ้านแห่งการเรียนรู้” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:8) ต่อมาในนอวู พวกเขาจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งเมืองนอวู เซมินารีนอวู และโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐบาล พวกเขาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า “การได้รับความรู้ทั้งทางโลกและความศักดิ์สิทธิ์ล้วนเป็นการแสวงหาที่สูงส่ง”2

ขณะวิสุทธิชนย้ายไปทางตะวันตก พวกเขายังคงสร้างโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่พำนักอาศัยต่อไป แต่พวกเขากระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้ ถึงขั้นที่พวกเขาจัดการเรียนการสอนในบ้านของผู้คน ในเต็นท์ หรือแม้แต่กลางแจ้ง ประธานจอร์จ เอ. สมิธ (1817–1875) ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดบันทึกว่า ผู้ตั้งรกรากรุ่นแรกในเทศมณฑลไอออน ยูทาห์ รวมตัวกันรอบกองไฟท่ามกลางอุณหภูมิที่หนาวเย็นของเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อฟังเขาบรรยายไวยากรณ์อังกฤษ ส่งต่อหนังสือไวยากรณ์ในหมู่พวกเขาเอง เพราะเป็นเพียงเล่มเดียวที่พวกเขามี3

ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้เช่นนี้คือมรดกของเราในฐานะสมาชิกของศาสนจักร! ศาสดาพยากรณ์และผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ ล้วนสนับสนุนให้เราได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า:

“เพราะความใส่ใจอันศักดิ์สิทธิ์ของเราต่อสติปัญญาของมนุษย์แต่ละคน เราจึงถือว่าการได้รับการศึกษาเป็นความรับผิดชอบทางศาสนา …

“ดังนั้นคำแนะนำของข้าพเจ้าคือ… รับการศึกษาต่อไปไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าท่านจะสนใจหรือมีโอกาสอย่างไร ไม่ว่าท่านตัดสินใจว่าจะสามารถรับใช้ครอบครัวและสังคมของท่านได้ดีที่สุดอย่างไร”4

มีเหตุผลมากมายที่แสวงหาการศึกษา: การศึกษาช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับผู้คนและโลกรอบตัวเรามากขึ้น และจะช่วยให้เราสอนลูกๆ ของเรา รับใช้ศาสนจักรและชุมชน และเลี้ยงดูตัวเราเองและครอบครัวของเรา ดังที่ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) สอนว่า:

“ท่านได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้การศึกษาแก่ความคิด จิตใจ และมือของท่าน พระเจ้าตรัสไว้ว่า ‘เจ้าจงสอนอย่างขยันหมั่นเพียร … เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ทั้งในฟ้าสวรรค์และในแผ่นดินโลก … ; สิ่งซึ่งอยู่ที่บ้าน, สิ่งซึ่งอยู่ต่างแดน; สงครามและความยุ่งเหยิงของประชาชาติทั้งหลาย, และการพิพากษาซึ่งมีอยู่บนแผ่นดิน; และความรู้เรื่องประเทศต่างๆ และเรื่องอาณาจักรต่างๆ ด้วย—เพื่อเจ้าจะพร้อมในสิ่งทั้งปวง’ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:78–80)

“พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้ท่านฝึกความคิดและมือของท่านเพื่อจะเป็นอิทธิพลดีขณะท่านดำเนินชีวิตต่อไป … การศึกษาของท่านจะเสริมสร้างการรับใช้ของท่านในศาสนจักร”5

การเรียนรู้ทางวิญญาณ: “รู้ความลี้ลับและสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุข”

ภาพ
young man reading the scriptures

สิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกับการศึกษาในชั้นเรียนคือ การศึกษาทางวิญญาณของเราซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับการเดินทางในความเป็นมรรตัยของเรา

ตอนที่เอ็ลเดอร์คิม บี. คลาร์กเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เกียรติคุณสาวกเจ็ดสิบ ยังรับใช้เป็นกรรมาธิการระบบการศึกษาของศาสนจักร ท่านกล่าวว่า:

“ความรู้สำคัญที่สุดที่ท่านต้องได้มาคือความรู้ในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า …

“การให้ความรู้ทางวิญญาณมาเป็นอันดับแรกในความนึกคิดและในใจท่านจะทำให้ท่านพึ่งพาพระเจ้าและพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในการเรียนรู้ ท่านจะมองเห็นทุกอย่างที่ท่านศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้ในพระกิตติคุณของพระองค์ และท่านจะเรียนรู้อย่างลึกซึ้งต่อเนื่องไปตลอดชีวิตท่าน”6

วันนี้เรามีแหล่งข้อมูลมากมายที่จะช่วยเราแสวงหาการเรียนรู้พระกิตติคุณ ไม่เพียงแต่เราจะมีพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ซึ่งมีไว้พร้อมสำหรับเราเท่านั้น แต่เรายังมี จงตามเรามา การประชุมใหญ่สามัญ ชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ และยามค่ำที่บ้าน ซึ่งล้วนเป็นโอกาสในการเรียนรู้พระกิตติคุณเป็นประจำ พระวิหารศักดิ์สิทธิ์มีไว้เพื่อให้คำแนะนำแก่เราด้วยวิธีของพระผู้เป็นเจ้า

นอกจากนี้คนหนุ่มสาวยังสามารถใช้ประโยชน์จากโปรแกรมสถาบันศาสนาของศาสนจักร ซึ่งรวมถึงหลักสูตรต่างๆ ตั้งแต่พระคัมภีร์ไปจนถึงประวัติศาสนจักรเพื่อช่วยในการดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าร่วมในสถาบันสามารถช่วยให้ท่านเป็นนักวิชาการด้านพระคัมภีร์ได้ดียิ่งขึ้น ให้โอกาสท่านได้ทำความรู้จักกับเพื่อนๆ และหากท่านเป็นนักศึกษาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยก็สามารถสร้างความสมดุลให้กับการเรียนรู้ทางโลกของท่านได้

เมื่อเราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางวิญญาณในชีวิตของเรา เราจะได้รับพรด้วย “การเปิดเผยมาเติมการเปิดเผย, ความรู้มาเติมความรู้, เพื่อ [เราอาจ] รู้ความลี้ลับและสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุข—สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งปีติ, สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งนิรันดรแห่งชีวิต” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:61)

“รู้จัก … พระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์”

ในการเรียนรู้ทั้งหมดของเรา ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางวิญญาณ มีความรู้หนึ่งอย่างที่เราควรแสวงหาเหนือสิ่งอื่นใด เอ็ลเดอร์ไมเคิล จอห์น ยู. เทห์แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า: “เราต้องรับรู้ว่าการรู้จักพระผู้ช่วยให้รอดเป็นการแสวงหาสำคัญที่สุดของชีวิตเรา และควรมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด” 7

พระคัมภีร์สอนในสิ่งเดียวกัน:

“ขอพวกท่านจงเจริญขึ้นในพระคุณและในความรู้ของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา” (2 เปโตร 3:18)

“ความรู้ที่แท้จริง… คือความรู้เรื่องพระผู้ไถ่ของพวกเขา” (ฮีลามัน 15:13)

“และนี่แหละคือชีวิตนิรันดร์ คือการที่พวกเขารู้จักพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” (ยอห์น 17:3)

เมื่อเราหาเวลาทำความรู้จักพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างแท้จริง เราจะเป็นเหมือนพระองค์ได้ดีขึ้น และการทำเช่นนั้นจะช่วยให้เราค้นพบความหมายและวัตถุประสงค์ขณะที่เราดำเนินไปตลอดชีวิต ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) อธิบายว่า “ในบรรดาขุมทรัพย์แห่งความรู้ทั้งหมด สิ่งสำคัญแท้จริงที่สุดคือความรู้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า การดำรงอยู่ พลังอำนาจ ความรัก และสัญญาของพระองค์”8

การเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในฐานะคนหนุ่มสาว เราควรแสวงหาและใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสในการแสวงหาการเรียนรู้และได้รับการศึกษาทั้งในโรงเรียนและในพระกิตติคุณ เปรียบเทียบการศึกษากับการเตรียมน้ำมันในตะเกียงของเรา (ดู มัทธิว 25:1–13) ซิสเตอร์แมรี เอ็น. คุก อดีตที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนว่า: “ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องหมั่นเพิ่มพูนความรู้ทางวิญญาณให้ตนเอง ทีละหยด ผ่านการสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ และการเชื่อฟัง ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะศึกษาหาความรู้—ทีละหยด”9

จำไว้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงบัญชาให้เราแสวงหาการเรียนรู้ และความสามารถในการเรียนรู้เป็นของประทานที่แท้จริงจากพระองค์ หากท่านรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเป็นทางการ ท่านสามารถสวดอ้อนวอนขอการทรงนำและการชี้ทาง

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหนึ่งในแง่มุมที่เติมเต็มที่สุดในชีวิตเรา หากเราลงทุนไปกับการเรียนรู้ของเราตอนนี้ เราจะบ่มเพาะรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะช่วยให้เราเป็นบิดามารดาที่ดีขึ้นสำหรับบุตรธิดาของเรา พนักงานที่ดีขึ้นสำหรับนายจ้างของเรา พลเมืองที่ดีขึ้นของชุมชนของเรา ผู้รับใช้ที่ดีขึ้นของมิตรชายหญิงของเรา และสาวกที่ดีขึ้นของพระคริสต์

อ้างอิง

  1. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “หลักธรรมสองข้อสำหรับเศรษฐกิจ” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 58.

  2. ดู By Study and Also by Faith: One Hundred Years of Seminaries and Institutes of Religion (2015), 2–3, 5–6.

  3. ดู George A. Smith, Journal, Dec. 1850–Apr. 1851, Mar. 3, 1851, in George A. Smith Papers, 1834–1877, Church History Library, Salt Lake City.

  4. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “Where Is Wisdom?” Ensign, Nov. 1992, 6.

  5. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Seek Learning,” New Era, Sept 2007, 4.

  6. คิม บี. คลาร์ก, “การเรียนรู้ทั้งจิตวิญญาณ,” เลียโฮนา, ส.ค. 2017, 34.

  7. ไมเคิล จอห์น ยู. เทห์, “พระผู้ช่วยให้รอดส่วนตัวของเรา” เลียโฮนา, พฤษภาคม 2021, 99.

  8. สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, “Seek Learning, Even by Study and Also by Faith,” Ensign, Sept. 1983, 5.

  9. แมรีย์ เอ็น. คุก, “แสวงหาการเรียนรู้: ท่านมีงานต้องทำ,” เลียโฮนา, พฤษภาคม 2012, 122.