2017
อุปนิสัยเหมือนพระคริสต์
ตุลาคม 2017


อุปนิสัยเหมือนพระคริสต์

จากคำปราศรัยในการประชุมนานาทัศนะด้านศาสนาที่มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์-ไอดาโฮ วันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2003

พระเยซูผู้ทรงทนทุกข์มากที่สุดทรงมีความสงสารมากที่สุดต่อเราทุกคนผู้ทนทุกข์น้อยกว่ามาก

ภาพ
image of Christ

แสงของโลก, โดย ฮาเวิร์ด ลาย์ออน

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) สอนหลักธรรมหนึ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจอย่างสุดซึ้งและเป็นจุดศูนย์รวมสำหรับการศึกษา การใคร่ครวญ และการไตร่ตรองส่วนมากของข้าพเจ้า ท่านกล่าวว่า “จะมีการชดใช้ไม่ได้หากปราศจากอุปนิสัยของพระคริสต์!”1 ตั้งแต่ได้ยินคำกล่าวที่ตรงไปตรงมาและเฉียบแหลมนี้ ข้าพเจ้าพยายามเรียนรู้มากขึ้นและเข้าใจคำว่า “อุปนิสัย” ดีขึ้น ข้าพเจ้าไตร่ตรองความสัมพันธ์ระหว่างอุปนิสัยของพระคริสต์กับการชดใช้ของพระองค์ด้วย—และนัยของความสัมพันธ์นั้นสำหรับเราแต่ละคนในบทบาทของสานุศิษย์

อุปนิสัยของพระเจ้าพระเยซูคริสต์

บางทีตัวบ่งชี้สำคัญที่สุดของอุปนิสัยคือความสามารถในการแยกแยะและตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อผู้กำลังประสบความท้าทายหรือความยากลำบากซึ่งส่งผลต่อเราอย่างทันที ตัวอย่างเช่นอุปนิสัยเผยให้เห็นในพลังความสามารถในการมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่นทั้งที่ตัวเรากำลังทุกข์ ในการรับรู้ความหิวโหยของผู้อื่นได้ทั้งที่เรากำลังหิว และพลังความสามารถในการยื่นมือช่วยเหลือและเห็นใจความปวดร้าวทางวิญญาณของผู้อื่นทั้งที่เราอยู่ท่ามกลางความทุกข์ทางวิญญาณของเราเอง ด้วยเหตุนี้อุปนิสัยแสดงออกโดยการมองและเอื้อมออกนอกตัวทั้งที่การตอบสนองตามธรรมชาติและตามสัญชาตญาณคือหมกมุ่นกับตนเองและหันเข้าหาตัว หากความสามารถเช่นนั้นเป็นเกณฑ์สูงสุดของอุปนิสัยทางศีลธรรม พระผู้ช่วยให้รอดของโลกย่อมเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของอุปนิสัยที่เสมอต้นเสมอปลายและมีจิตกุศล

แบบอย่างอุปนิสัยของพระคริสต์

ภาพ
Christ teaching

พระเยซูทรงส่งอัครสาวกสิบสองออกไปโดย วอลเตอร์ เรน

ในห้องชั้นบนคืนวันเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้าย คืนนั้นซึ่งพระคริสต์จะทรงประสบความทุกข์สาหัสที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในโลกทั้งหมดที่พระองค์ทรงสร้าง พระองค์ตรัสเกี่ยวกับพระผู้ปลอบโยนและสันติสุขว่า

“เรากล่าวคำเหล่านี้กับพวกท่านขณะที่เรายังอยู่กับท่าน

“แต่องค์ผู้ช่วยคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งพระบิดาจะทรงใช้มาในนามของเรานั้นจะทรงสอนพวกท่านทุกสิ่ง และจะทำให้ระลึกถึงทุกสิ่งที่เรากล่าวกับท่านแล้ว

“เรามอบสันติสุขไว้กับพวกท่าน สันติสุขของเราที่ให้กับท่านนั้น เราไม่ได้ให้อย่างที่โลกให้ อย่าให้ใจของท่านเป็นทุกข์ อย่ากลัวเลย” (ยอห์น 14:25–27)

โดยทราบดีว่าพระองค์เองจะทรงประสบจริงๆ ทั้งภาวะขาดการปลอบโยนและไม่มีสันติสุข ในขณะที่พระทัยของพระองค์ว้าวุ่นและหวาดกลัว พระอาจารย์ทรงเอื้อมไปหาผู้อื่นและทรงมอบพรที่สามารถเสริมสร้างและจะเสริมสร้างพลังให้พระองค์

ในการสวดวิงวอนเพื่อผู้อื่นครั้งสำคัญก่อนพระเยซูเสด็จข้ามห้วยขิดโรนไปสวนเกทเสมนีพร้อมเหล่าสาวกของพระองค์ พระอาจารย์ทรงสวดอ้อนวอนให้เหล่าสาวกของพระองค์และให้ทุกคน “ที่วางใจในข้าพระองค์เพราะถ้อยคำของพวกเขา

“เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ในพระองค์ …

“… เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ เพื่อโลกจะได้รู้ว่าพระองค์ทรงใช้ข้าพระองค์มา และพระองค์ทรงรักพวกเขาเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงรักข้าพระองค์

“ข้าพระองค์ทำให้พวกเขารู้จักพระนามของพระองค์และจะทำให้เขารู้อีกเพื่อ ความรักที่พระองค์ทรงรักข้าพระองค์นั้นจะอยู่ในเขา และข้าพระองค์อยู่ในเขา” (ยอห์น 17:20, 21, 23, 26)

ข้าพเจ้าพบว่าตนเองถามคำถามต่อไปนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าขณะไตร่ตรองเหตุการณ์นี้และเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับความทุกขเวทนาของพระผู้ช่วยให้รอดในสวนและการทรยศพระองค์ว่า พระองค์ทรงสวดอ้อนวอนขอให้ผู้อื่นมีความผาสุกและความเป็นหนึ่งเดียวกันขณะพระองค์ทรงอยู่ในความปวดร้าวได้อย่างไร อะไรทำให้พระองค์ทรงสามารถขอการปลอบโยนและสันติสุขให้คนที่ต้องการน้อยกว่าพระองค์มาก ขณะความเสื่อมถอยของโลกที่พระองค์ทรงสร้างบีบคั้นพระองค์ พระองค์ทรงสามารถให้ความสนพระทัยเฉพาะสภาพและข้อกังวลของผู้อื่นได้อย่างไร พระอาจารย์ทรงเอื้อมออกไปได้อย่างไรเมื่อคนธรรมดาจะหันเข้าหาตนเอง คำกล่าวจากเอ็ลเดอร์แม็กซ์เวลล์ให้คำตอบของคำถามอันเปี่ยมด้วยพลังเหล่านี้ทุกข้อ

“พระอุปนิสัยของพระเยซูจำเป็นต่อการชดใช้อันน่าทึ่งของพระองค์ หากปราศจากอุปนิสัยอันสูงค่าของพระเยซูจะไม่มีการชดใช้อันสูงค่า! อุปนิสัยของพระองค์เป็นเช่นนั้นจนพระองค์ ‘[ทรงทน] การล่อลวงทุกอย่าง’ (แอลมา 7:11) แต่ ‘มิทรงเอาพระทัยใส่’ การล่อลวง (คพ. 20:22)”2

พระเยซูผู้ทรงทนทุกข์มากที่สุดทรงมีความสงสารมากที่สุดต่อเราทุกคนผู้ทนทุกข์น้อยกว่ามาก โดยแท้แล้ว ความลึกซึ้งของความทุกขเวทนาและความสงสารเกี่ยวพันแนบแน่นกับความลึกซึ้งของความรักที่ผู้กำลังปฏิบัติศาสนกิจรู้สึก

แสวงหาจิตกุศลอย่างแข็งขัน

ภาพ
young women at church

เราสามารถแสวงหาขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อได้รับพรและพัฒนาองค์ประกอบจำเป็นของอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์ โดยแท้แล้ว เป็นไปได้ที่มนุษย์เราจะขวนขวายในความชอบธรรมให้ได้รับของประทานฝ่ายวิญญาณอันเกี่ยวเนื่องกับความสามารถในการเอื้อมออกนอกตัวและตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อผู้ที่กำลังประสบความท้าทายหรือความยากลำบากซึ่งส่งผลต่อเราโดยตรง เราจะไม่มีความสามารถเช่นนั้นผ่านเจตจำนงหรือความตั้งใจแน่วแน่ของเรา ในทางตรงกันข้ามเราพึ่งพาอาศัยและต้องการ “ความดีงาม, และพระเมตตา, และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์” (2 นีไฟ 2:8) แต่ “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์” (2 นีไฟ 28:30) และ “ตามวิถีแห่งเวลา” (โมเสส 7:21) เราสามารถเอื้อมออกนอกตนเองทั้งที่แนวโน้มตามธรรมชาติของเราคือหันเข้าหาตนเอง

ข้าพเจ้าขอเสนอให้ท่านและข้าพเจ้าสวดอ้อนวอน ใฝ่หา ขวนขวาย และพยายามปลูกฝังอุปนิสัยเหมือนพระคริสต์หากเราหวังจะได้รับของประทานฝ่ายวิญญาณแห่งจิตกุศล—ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ จิตกุศลไม่ใช่คุณสมบัติหรือคุณลักษณะที่เราได้รับผ่านความบากบั่นและความตั้งใจแน่วแน่เพียงอย่างเดียว เราต้องให้เกียรติพันธสัญญาของเรา ดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควร และทำสุดความสามารถเพื่อให้มีคุณสมบัติคู่ควรรับของประทาน แต่ท้ายที่สุดแล้วของประทานแห่งจิตกุศลครอบครองเรา—เราไม่ได้ครอบครองจิตกุศล (ดู โมโรไน 7:47) พระเจ้าทรงกำหนดว่าเราจะได้รับของประทานฝ่ายวิญญาณทั้งหมดหรือไม่และเมื่อใด แต่เราต้องทำสุดพลังความสามารถของเราเพื่อปรารถนา ใฝ่หา เชื้อเชิญ และมีคุณสมบัติคู่ควรรับของประทานเหล่านั้น เมื่อใดที่เราประพฤติปฏิบัติสอดคล้องกับอุปนิสัยของพระคริสต์มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนั้นเราอาจจะกำลังบอกให้สวรรค์รับรู้ได้ดีที่สุดว่าเราปรารถนาของประทานฝ่ายวิญญาณอันสูงส่งของจิตกุศล เห็นชัดว่าเราได้รับพรด้วยของประทานอันน่าอัศจรรย์นี้เมื่อเราเอื้อมออกนอกตัวเราเองมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ความเป็นมนุษย์ปุถุชนในเรามักจะหันเข้าหาตนเอง

พระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดานิรันดร์ ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระอุปนิสัยของพระองค์ทำให้เรามีโอกาสได้รับทั้งความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ ขอให้เราเอื้อมออกนอกตัวเราเองทั้งที่แนวโน้มตามธรรมชาติของเราคือหันเข้าหาตนเอง

อ้างอิง

  1. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “The Holy Ghost: Glorifying Christ,” Ensign, July 2002, 58.

  2. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “O How Great the Plan of Our God!” (ปราศรัยกับนักการศึกษาศาสนาในระบบการศึกษาของศาสนจักร, 3 ก.พ. 1995), si.lds.org