คลังค้นคว้า
ฟังด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน


“ฟังด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน” หัวข้อและคําถาม (2023)

ภาพ
ชายและหญิงนั่งบนม้านั่งในสวนสาธารณะขณะที่ผู้หญิงพูดและผู้ชายฟัง

การช่วยเหลือผู้อื่นเรื่องคําถามของพวกเขา

ฟังด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เล่าให้ฟังว่า “[ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน] บอกข้าพเจ้าครั้งหนึ่งว่าหนึ่งในกฎข้อแรกของการสอบถามทางการแพทย์คือ ‘ถามผู้ป่วยว่าเจ็บตรงไหน ผู้ป่วย’ ท่านกล่าว ‘จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดของท่านในการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการเยียวยาในที่สุด’”1 เมื่อเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวเข้ามาหาท่านด้วยคําถามหรือข้อกังวลที่ตอบยากเกี่ยวกับศาสนจักร จงใช้เวลารับฟัง พวกเขาเข้ามาหาท่านเพราะพวกเขาวางใจท่าน เป็นรางวัลแก่ความไว้วางใจนั้นโดยการพยายามทำความเข้าใจความต้องการของพวกเขาก่อน

การฟังด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนทำได้ยาก ต้องมีสมาธิและความอดทน แต่การฟังเป็นทักษะที่เราเรียนรู้ได้ การฟังอย่างกระตือรือร้นและการเชื่อมสัมพันธ์ที่จริงใจสามารถเยียวยาคนที่กําลังแบ่งปันความอ่อนแอหรือคําถาม ลองทําตามข้อปฏิบัติในการฟังต่อไปนี้เพื่อให้ได้ยินและเข้าใจคนที่ท่านรักได้ดีขึ้น:

  • ก่อนอื่นต้องพยายามเข้าใจ เรามักจะคิดว่าเรารู้วิธีแก้ไขข้อกังวลของผู้อื่น เราแค่ต้องการตอบคําถามของพวกเขาและบอกให้พวกเขาเลิกกังวล แรงผลักดันนี้มักมีศูนย์รวมอยู่ที่เราแทนที่จะอยู่ที่ความต้องการของพวกเขา ใช้เวลารับฟังเรื่องราวว่าพวกเขามาถึงจุดที่พวกเขาอยู่ในตอนนี้ได้อย่างไร ให้แน่ใจว่าท่านเข้าใจคำถามของพวกเขา จงเคารพในทัศนะของพวกเขาแม้เรียนรู้ว่าทัศนะนั้นขัดกับของท่านเอง หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวหาพวกเขา เมื่อเราให้คําตอบที่เรียบง่ายอย่างรวดเร็ว พวกเขาอาจรู้สึกเหมือนเรากําลังทำให้ประสบการณ์ของพวกเขาเป็นเรื่องเล็ก จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือพยายามเข้าใจมุมมองของพวกเขาแทนที่จะพยายามเปลี่ยนมุมมอง

  • เห็นคุณค่าประสบการณ์ของพวกเขา ถึงแม้เราอาจไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วยกับข้อกังวลของอีกฝ่าย แต่เราสามารถเห็นคุณค่าของความจริงใจและความเจ็บปวดที่พวกเขาอาจกำลังรู้สึกอยู่ เมื่อพยายามแสดงความเห็นอกเห็นใจ บางครั้งเราก็เปรียบเทียบประสบการณ์ของพวกเขากับของเราเอง สําคัญที่ต้องจดจําว่าประสบการณ์ของทุกคนต่างกัน อาจจะดีกว่าถ้าพูดทํานองนี้ “ฉันนึกภาพไม่ออกเลยว่าคุณรู้สึกอย่างไร” หรือ “ช่วยให้ฉันเข้าใจที”

  • หลีกเลี่ยงการไม่ยินดียินร้ายหรือการตัดสิน เมื่อเพื่อนหรือคนที่ท่านรักตัดสินใจพูดคุยกับท่านเกี่ยวกับคําถามของพวกเขา ส่วนมากพวกเขาน่าจะใช้เวลาค้นคว้าและคิดเป็นการส่วนตัวมาก่อนแล้ว ระวังอย่าตัดจบการสนทนาโดยไม่ยินดียินร้ายกับคําถามของพวกเขาหรือตัดสิน สิ่งนี้อาจทําร้ายพวกเขาและเป็นผลเสียต่อความสามารถของท่านในการช่วยเหลือ คําถามที่จริงใจของพวกเขาสมควรได้รับความพยายามที่จริงใจของท่านในการฟัง

  • ควบคุมอารมณ์ตนเองไว้เสมอ เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกวิตกหรือกังวลเมื่อคนที่ท่านรักเข้ามาหาท่านพร้อมคําถามเกี่ยวกับศรัทธาของตน พยายามอย่าปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้ขัดขวางการสนทนาที่มีประสิทธิผล หากท่านรู้สึกโกรธ อาจดีกว่าที่จะถามว่า ขอหยุดพักก่อนแล้วอีกสักพักค่อยสนทนาต่อได้ไหม พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนําให้เราหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความโกรธ2 เราสามารถเรียนรู้ที่จะไม่เห็นด้วยโดยไม่ขัดแย้ง3

  • ถามคำถามปลายเปิด คําถามปลายเปิดกระตุ้นให้ผู้อื่นแบ่งปันความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ของพวกเขา พวกเขาไม่จําเป็นต้องมีคําตอบที่ถูกหรือผิด ตัวอย่างเช่น “คุณบอกฉันอีกได้ไหม?” “คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น?” “คุณช่วยให้ฉันเข้าใจหน่อยได้ไหม?” “ฉันจะช่วยอะไรได้บ้าง?” การถามคําถามที่ดีแสดงให้เห็นว่าท่านห่วงใยและจะช่วยท่านหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด

  • รับรู้ข้อจํากัดของท่าน มีโอกาสดีที่เพื่อนๆ และคนที่ท่านรักผู้มาหาท่านจะศึกษาคําถามของพวกเขาอย่างกว้างขวางกว่าท่าน ไม่เป็นไรหากท่านไม่มีคําตอบที่พร้อมใช้หรือนี่เป็นครั้งแรกที่ท่านเรียนรู้บางอย่าง อย่ากลัวที่จะถามคำถามเพื่อชี้แจงสิ่งที่ท่านไม่เข้าใจ ท่านอาจไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของพวกเขาทั้งหมด แต่จงพยายามเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านเห็นด้วยได้โดยไม่บิดเบือนความรู้สึกของตนเอง ท่านยังสามารถขอเวลาศึกษาหัวข้อนั้นด้วยตนเองแล้วสนทนาต่อเมื่อท่านมีข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อพระคัมภีร์หลัก: เอเฟซัส 4:29; โมไซยาห์ 18:21; 3 นีไฟ 11:29

อ้างอิง

  1. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เป็นพยานฝ่ายเรา,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 18

  2. ดู 3 นีไฟ 11:29.

  3. ดู “Microtraining 1: How to Disagree without Becoming Disagreeable,” in Answering My Gospel Questions (2022), 36–37.