เซมินารี
1 โครินธ์ 10


1 โครินธ์ 10

การหนีการล่อลวง

ภาพ
John’s life may have been very different had he not had the courage to leave a party one evening in Japan.

ท่านเคยหวังว่าจะหลีกหนีจากการล่อลวงที่ท่านเผชิญได้หรือไม่? อัครสาวกเปาโลสอนหลักธรรมที่ล้ำค่าซึ่งจะช่วยเราได้เมื่อเราเผชิญกับการล่อลวง บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านวางใจพระเยซูคริสต์เพื่อเอาชนะการล่อลวง

อ่านข้อพระคัมภีร์ มีหลากหลายวิธีในการอ่านข้อพระคัมภีร์ในชั้นเรียน อาทิ การอ่านพระคัมภีร์ด้วยกันในชั้นเรียน เป็นกลุ่มย่อยหรือรายบุคคล พิจารณาความต้องการและความสามารถของนักเรียนพร้อมกับสื่อการเรียนรู้เมื่อเลือกวิธีการอ่าน

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา “1 โครินธ์ 10:1–13: พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมทางให้หนีพ้นการล่อลวง” ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 ขณะที่นักเรียนศึกษา นักเรียนสามารถไตร่ตรองเกี่ยวกับคำถามนี้ได้: “พระบิดาบนสวรรค์ทรงจัดเตรียมการหนีจากการล่อลวงแบบใดให้ท่าน?”

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

การล่อลวง

นำแม่เหล็กและวัตถุที่เป็นโลหะมาชั้นเรียน และเชื้อเชิญให้นักเรียนใช้สิ่งเหล่านี้เพื่ออธิบายแนวคิดเกี่ยวกับการต่อต้านการล่อลวง ตัวอย่างเช่น สิ่งเหล่านี้อาจเน้นถึงความสำคัญของการอยู่ห่างจากการล่อลวงและอันตรายจากการอยู่ใกล้ชิดเกินไป

ภาพ
Silver Spheres Gravitated Towards a Red Magnet on Blue Background

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรสแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง หรือดูวีดิทัศน์ “แสวงหาพระคริสต์ในความนึกคิดทุกอย่าง” ตั้งแต่รหัสเวลา 2:44 ถึง 3:23 ซึ่งมีให้รับชมได้ใน ChurchofJesusChrist.org

ภาพ
Silver Spheres Gravitated Towards a Red Magnet on Blue Background
ภาพ
Elder Ulisses Soares, Quorum of the Twelve Apostles official portrait.

พูดในเชิงเปรียบเทียบก็คือ การยอมต่อการล่อลวงก็เหมือนกับการนำโลหะเข้าใกล้แม่เหล็ก แรงที่มองไม่เห็นของแม่เหล็กจะดูดโลหะนั้นไว้แน่น แม่เหล็กสูญเสียพลังก็ต่อเมื่อนำเอาวัตถุที่เป็นโลหะออกห่างแม่เหล็ก ฉะนั้น เฉกเช่นแม่เหล็กไม่สามารถใช้พลังกับโลหะที่อยู่ไกล เมื่อเราต่อต้านการล่อลวง มันจะค่อยๆ สูญเสียอำนาจเหนือความคิดและจิตใจเรา และเหนือการกระทำของเราในที่สุด

(ยูลิซีส ซวาเรส, “แสวงหาพระคริสต์ในความนึกคิดทุกอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 83)

ขณะที่ท่านศึกษา 1 โครินธ์ 10 ฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะช่วยให้ท่านทราบว่าท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อต่อต้านการล่อลวงที่ท่านเผชิญ

หนึ่งในจุดประสงค์ของพระคัมภีร์คือ เพื่อช่วยให้เราเรียนรู้จากชีวิตและปัญหาของผู้ที่เคยประสบมาก่อน (ดู 1 โครินธ์ 10:6, 11 ; มอรมอน 9:31) ดังที่บันทึกไว้ใน 1 โครินธ์ 10 เปาโลใช้ตัวอย่างการข้ามทะเลแดงและการเดินทางในถิ่นทุรกันดารของชาวอิสราเอล ขณะที่เขาย้ำเตือนชาวโครินธ์ถึงวิธีที่พระเจ้าทรงอยู่กับชาวอิสราเอลในการเดินทางของพวกเขา (ดู 1 โครินธ์ 10:1–4)

สังเกตว่าพระเจ้าทรงทำอะไรให้กับชาวอิสราเอลและพระนามที่ใช้บรรยายถึงพระองค์ใน ข้อ 4

  • ท่านสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากพระนามที่เปาโลใช้ใน ข้อ 4 ?

แม้พระเจ้าจะทรงสนับสนุนชาวอิสราเอลด้วยวิธีต่างๆ ที่น่าอัศจรรย์ แต่ในบางครั้งชาวอิสราเอลก็จำนนต่อการล่อลวง อ่าน 1 โครินธ์ 10:5–11 แล้วมองหาการล่อลวงที่ทำให้ชาวอิสราเอลหันไปจาก “ศิลาทางวิญญาณ” พระเยซูคริสต์

  • ท่านคิดว่าสถานการณ์ของเราคล้ายคลึงกับกรณีของชาวอิสราเอลอย่างไร?

  • มีการล่อลวงโดยทั่วไปแบบใดบ้างที่เยาวชนประสบซึ่งอาจทำให้พวกเขาหันไปจากพระผู้ช่วยให้รอด?

ลองนึกถึงการล่อลวงที่ท่านกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันและวิธีที่สิ่งเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้ท่านหันไปจาก “ศิลา” ซึ่งคือพระเยซูคริสต์ ไตร่ตรองว่าชีวิตของท่านจะได้รับผลอย่างไรหากท่านสามารถเอาชนะการล่อลวงเหล่านี้

พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยให้เราเอาชนะการล่อลวง

จำไว้ว่าการถูกล่อลวงไม่ใช่บาปแต่การจำนนต่อการล่อลวงคือบาป อ่าน 1 โครินธ์ 10:12–14 โดยค้นหาหลักธรรมที่สามารถช่วยท่านเอาชนะการล่อลวงได้

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงทำอะไรเพื่อช่วยให้ท่านเอาชนะการล่อลวง?

  • คำหรือวลีใดในข้อเหล่านี้ที่อธิบายถึงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดหวังให้เราทำเมื่อเราเผชิญกับการล่อลวง?

  • ท่านค้นพบหลักธรรมอะไรบ้าง?

นักเรียนอาจระบุหลักธรรมที่หลากหลาย ใช้เวลาในการสนทนาหลักธรรมเหล่านี้และมุ่งเน้นไปที่สิ่งสำคัญต่อนักเรียน ท่านอาจถามคำถามติดตามผลเช่น “คำและวลีใดที่ช่วยให้ท่านระบุหลักธรรมข้อนั้น?” และ “หลักธรรมข้อนั้นจะช่วยท่านได้อย่างไร?”

ท่านอาจระบุหลักธรรมเช่น พระผู้เป็นเจ้าจะทรงจัดเตรียมทางให้เราหนีการล่อลวง แต่เราต้องเลือกแยกตัวออกจากการล่อลวง

ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวจากศาสดาพยากรณ์เพิ่มเติมจากหมวด “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” ของบทเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นตัวอย่างของการหนีการล่อลวงในพระคัมภีร์ ให้อ่านและสนทนา ปฐมกาล 39:1–12 หรือ มัทธิว 4:1–10

ตลอดทั้งพระคัมภีร์และผ่านศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเราถึงวิธีเอาชนะการล่อลวง อ่านพระคัมภีร์และคำกล่าวของศาสดาพยากรณ์ต่อไปนี้ แล้วค้นหาสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดและหนีการล่อลวง ท่านอาจต้องการเชื่อมโยงข้อความเหล่านี้กับ 1 โครินธ์ 10:12–14

ภาพ
Official Portrait of President Henry B. Eyring taken March 2018.

ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์นำเรามาสู่การกลับใจและการรักษาพระบัญญัติ เราเชื่อฟังและเราต่อต้านการล่อลวงโดยทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ นิสัยของเราจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เราจะเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าและมีความรักมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนั้น หากเราทำสุดความสามารถเพื่อรักษาไว้ เราจะมีสิทธิ์ได้รับของประทานซึ่งผ่านมาทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ จากนั้นเราจะปลอดภัยบนศิลาอันแน่นอนเพียงศิลาเดียวนั้น

(ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “เป็นเหมือนเด็ก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 18)

  • ท่านเรียนรู้อะไรบ้างจากพระคัมภีร์เหล่านี้และข้อความนี้ที่กระตุ้นให้ท่านหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อหนีการล่อลวง?

  • มีวิธีใดบ้างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมทางให้หนีการล่อลวง?

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจดจำและใช้การหลบหนีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้?

เนื่องด้วยลักษณะที่อ่อนไหวของการล่อลวงบางอย่าง ให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้เป็นรายบุคคล หลังจากนักเรียนทำกิจกรรมเสร็จ นักเรียนสามารถแบ่งปันคร่าวๆ ถึงสิ่งที่ตนทำได้ นักเรียน ไม่ควร แบ่งปันกับชั้นเรียนว่าการล่อลวงใดที่ตนกำลังมุ่งมั่นที่จะเอาชนะ

ตอบคำถามต่อไปนี้อย่างน้อยสองข้อ:

ชี้ให้เห็นว่าการแทนชื่อและสถานการณ์ของเราในพระคัมภีร์สามารถช่วยให้เราประยุกต์ใช้พระคัมภีร์กับชีวิตของเราได้ กระตุ้นให้นักเรียนฝึกทักษะนี้บ่อยๆ ในการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว

  • เขียน 1 โครินธ์ 10:14 อีกครั้ง แล้วเขียนชื่อของท่านต่อจาก “พวกที่รักของข้าพเจ้า” และแทน “การนับถือรูปเคารพ” ด้วยการล่อลวงที่ท่านกำลังเผชิญ

  • บันทึกประสบการณ์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเคยช่วยให้ท่านหลีกหนีการล่อลวง ประสบการณ์นี้จะช่วยให้ท่านหลีกหนีการล่อลวงในปัจจุบันได้อย่างไร?

  • จดบันทึกขั้นตอนที่เฉพาะเจาะจงที่ท่านจะปฏิบัติเพื่อพึ่งพาพระเยซูคริสต์และต่อต้านการล่อลวงที่ท่านกำลังเผชิญ

  • ท่านเรียนรู้หรือรู้สึกอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดขณะศึกษา 1 โครินธ์ 10 ?

  • เรื่องนี้จะช่วยท่านหลีกหนีการล่อลวงที่ท่านประสบได้อย่างไร?

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

พระเยซูคริสต์และพระวิญญาณบริสุทธิ์จะช่วยให้ฉันเอาชนะการล่อลวงได้อย่างไร?

เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรสแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

ภาพ
Elder Ulisses Soares, Quorum of the Twelve Apostles official portrait.

การต่อสู้กับการล่อลวงใช้ความขยันหมั่นเพียรและความมีศรัทธาชั่วชีวิต แต่ขอให้รู้ว่าพระเจ้าทรงพร้อมช่วยเหลือเราในความพยายามของเราและทรงสัญญาพรอันน่าทึ่งถ้าเราอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ …

พี่น้องที่รัก ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าเมื่อเราพึ่งพาศิลาแห่งความรอด พระผู้ช่วยให้รอดแห่งจิตวิญญาณเรา … เราจะสามารถควบคุมความนึกคิดของเราได้มากยิ่งขึ้น ข้าพเจ้ารับรองกับท่านได้ว่าวุฒิภาวะทางวิญญาณของเราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเปลี่ยนแปลงใจเรา ทำให้เราเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้น นอกจากนี้ อิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะแรงกล้าขึ้นและอยู่ในชีวิตเราตลอด เมื่อนั้นการล่อลวงของศัตรูจะหมดอำนาจทีละนิด ส่งผลให้เรามีชีวิตที่เป็นสุขมากขึ้น บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

สำหรับคนที่ตกอยู่ในการล่อลวงไม่ว่าด้วยเหตุผลใดและกำลังหมกมุ่นกับการกระทำที่ไม่ชอบธรรม ข้าพเจ้ารับรองกับท่านว่ามีทางหันกลับ มีความหวังในพระคริสต์

(ดู ยูลิซีส ซวาเรส, “แสวงหาพระคริสต์ในความนึกคิดทุกอย่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 83–84)

เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

ภาพ
Official portrait of Elder Quentin L. Cook. Called to the Quorum of the Twelve Apostles on 6 October 2007.

หลักธรรมแห่งความก้าวหน้านิรันดร์คือการฝึกควบคุมตนเองและการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมจะเพิ่มพลังความสามารถให้เราต้านทานการล่อลวง สิ่งนี้เป็นจริงทั้งในขอบเขตทางวิญญาณและในเรื่องทางโลก …

แผนส่วนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าเป็นพรแก่เราด้วยของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ … พระองค์ทรงเป็นเสียงเตือนให้ระวังความชั่วและเสียงป้องกันอันตรายเช่นกัน ขณะที่เราล่องเรือในทะเลชีวิต เราจำเป็นต้องทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณจะทรงช่วยเราหลีกเลี่ยงการล่อลวงและอันตราย ทรงปลอบโยนและนำเราผ่านความท้าทาย

ฉันจะเตรียมพร้อมล่วงหน้าเพื่อหลีกหนีการล่อลวงได้อย่างไร?

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) สอนดังนี้

ภาพ
Portrait painting of President Spencer W. Kimball.

การตัดสินใจที่ถูกต้องทำได้ง่ายที่สุดเมื่อเราตัดสินใจไว้แล้วล่วงหน้า โดยมีวัตถุประสงค์สุดท้ายอยู่ในความคิด ซึ่งจะช่วยให้รอดพ้นจากความปวดร้าวมากมาย [ในช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ] เมื่อเราเหน็ดเหนื่อยและถูกล่อลวงอย่างหนัก …

จงฝึกตนเองให้มีวินัยมากขึ้นทุกวันทั้งนี้เพื่อท่านจะไม่ต้องตัดสินใจหลายครั้ง ว่าจะทำอะไรเมื่อเผชิญกับการล่อลวงแบบเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านต้องตัดสินใจเรื่องบางเรื่อง ครั้งเดียว เท่านั้น! …

เวลาที่ต้องออกจากทางชั่วมีอยู่ก่อนที่มันจะเริ่มต้น เคล็ดลับของชีวิตที่ดีอยู่ในการคุ้มครองและป้องกัน คนที่ยอมจำนนต่อความชั่วโดยปกติคือคนที่เอาตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม

(คำสอนของประธานศาสนจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006], 117–118)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

แผนกลยุทธ์ของท่านเพื่อหลีกหนีการล่อลวง

เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนาบทบาทของแผนกลยุทธ์สำหรับทีมกีฬา ขอให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับการล่อลวงที่นักเรียนกำลังเผชิญอยู่ขณะที่ดู “กลยุทธ์ฐานะปุโรหิตของท่าน” จากรหัสเวลา 3:50 ถึง 5:59 ซึ่งรับชมได้ที่ ChurchofJesusChrist.org ในวีดิทัศน์นี้ เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงวิธีที่เราสามารถต่อต้านการล่อลวงได้

หลังจากชมวีดิทัศน์แล้ว อาจให้เวลานักเรียนสร้างแผนกลยุทธ์ของตนเองและวางแผนที่จะต่อต้านการล่อลวง

&#160

&#160

&#160

&#160 &#160