เซมินารี
1 ทิโมธี 4:12–16


1 ทิโมธี 4:12–16

“จงเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”

ภาพ
Ward Building Photowalk

คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในสถานที่ที่ชั่วร้ายอย่างเอเฟซัส แน่นอนว่า บุคคลอย่างทิโมธี ผู้ซึ่งเลือกดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมมีความโดดเด่นท่ามกลางมิตรสหาย แต่เปาโลกระตุ้นให้ทิโมธีอยู่เหนือคำวิจารณ์ของผู้อื่นเกี่ยวกับความเยาว์วัยหรือศรัทธาของเขาและ “จงเป็น … แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ” (1 ทิโมธี 4:12) บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านมุ่งมั่นที่จะเป็นแบบอย่างสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ในวัยเยาว์ของท่าน

การใช้รายการหรือแผนภูมิ ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้วิธีศึกษาพระคัมภีร์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยแสดงวิธีสร้างรายการหรือแผนภูมิ ซึ่งจะสามารถช่วยให้นักเรียนจัดระเบียบและทำความเข้าใจรายละเอียดในพระคัมภีร์ รวมถึงความประทับใจที่ตนได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ บทเรียนนี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะนี้

การเตรียมของนักเรียน: เชิญนักเรียนให้คิดเกี่ยวกับคำถามต่อไปนี้และเตรียมตัวแบ่งปันความคิดของตน: ถ้ามีใครสักคนติดตามท่านเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ บุคคลนั้นจะเห็นหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าท่านกำลังมุ่งมั่นที่จะติดตามพระเยซูคริสต์?

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

บทเรียนต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนศึกษาคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับการเป็นแบบอย่างของผู้เชื่อ เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้คำสอนของเปาโลมากขึ้น ให้แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งสามารถศึกษา 1 ทิโมธี 4:12–16 โดยใช้บทเรียนนี้ และอีกสองกลุ่มสามารถศึกษา 1 ทิโมธี 6:7–12 และ 2 ทีโมธี 1:1–8 โดยใช้เนื้อหาในส่วน “กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม” จากนั้นนักเรียนอาจแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

สิ่งนี้บอกอะไรเกี่ยวกับตัวท่าน?

  • ถ้ามีใครเฝ้าสังเกตการณ์ท่านเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ บุคคลนั้นจะเห็นหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าท่านมุ่งมั่นที่จะติดตามพระเยซูคริสต์?

  • สิ่งใดที่บุคคลนั้นจะเห็นในชีวิตของท่านซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงขณะที่ท่านแสวงหาที่จะติดตามพระคริสต์?

ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนมาแบ่งปันคำตอบของตน

&#160

  • เหตุใดจึงสำคัญที่จะพิจารณาว่าเรากำลังเป็นแบบอย่างเช่นไรให้กับผู้อื่น?

ลองคิดดูว่าท่านรู้สึกสบายใจเพียงใดกับการเป็นแบบอย่างผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ต่อคนรอบข้างและเพราะเหตุใด

ขณะที่ท่านศึกษาบทเรียนนี้ ให้แสวงหาการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อระบุวิธีที่ท่านเป็นแบบอย่างที่ช่วยผู้อื่นและนำพวกเขาไปหาพระผู้ช่วยให้รอด หากท่านไม่สบายใจที่จะเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่น ให้มองหาความจริงที่อาจช่วยท่านและสร้างแรงจูงใจให้กับท่าน

กำลังใจของเปาโลที่ให้ทิโมธี

พันธสัญญาใหม่ประกอบด้วยจดหมายสองฉบับที่เปาโลเขียนถึงบรรดามิตรที่เขาวางใจมากที่สุด นั่นคือทิโมธี (ดู 1 โครินธ์ 4:17) ขณะที่ท่านอ่านข้อมูลต่อไปนี้เกี่ยวกับทิโมธี ให้นึกถึงว่าทำไมแบบอย่างของเขาจึงสร้างความแตกต่างให้ผู้อื่น ท่านรู้สึกเชื่อมโยงกับเขาในทางหนึ่งทางใดหรือไม่?

  • มารดาและยายของทิโมธีเป็นแบบอย่างของคนชอบธรรม แต่บิดาของเขาเป็นคนต่างชาติชาวกรีกที่น่าจะไม่ใช่ผู้เชื่อ (ดู กิจการ 16:1 ; 2 ทิโมธี 1:5 ; 3:14–15)

  • ทิโมธีรับใช้ในฐานะผู้นำศาสนจักรในเอเฟซัส (ดู 1 ทิโมธี 1:3) เมืองใหญ่ที่การนมัสการรูปเคารพและความไม่ชอบธรรมนั้นแพร่หลาย (ดู กิจการ 19:35)

  • เปาโลบอกเป็นนัยว่าสมาชิกบางคนสงสัยในความสามารถของการเป็นผู้นำของทิโมธีเพราะเขาอายุยังน้อย (ดู 1 ทิโมธี 4:12)

อ่าน 1 ทิโมธี 4:12–16 โดยมองหาว่าเปาโลแนะนำให้ทิโมธีทำอะไร

  • ท่านพบอะไรที่มีความหมายสำหรับท่าน?

  • ท่านจะสรุปคำเชิญของเปาโลจาก ข้อ 12 และสัญญาใน ข้อ 16 ให้เป็นข้อความความจริงประโยคเดียวว่าอย่างไร?

อนุญาตให้นักเรียนใช้ถ้อยคำของตนเอง แต่ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้

เปาโลสอนใน 1 ทิโมธี 4:12, 16 ว่าถ้าเราเป็นแบบอย่างของผู้ที่เชื่อพระเยซูคริสต์ เราจะสามารถช่วยนำความรอดมาสู่ตัวเราเองและผู้อื่น

การระบุรายการในพระคัมภีร์สามารถช่วยให้เราเห็นวิธีการที่หลากหลายในการนำความจริงพระกิตติคุณมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเรา ใน ข้อ 12 เปาโลระบุด้านที่เราสามารถเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนรอบข้าง

อ่าน ข้อ 12 อีกครั้งและทำเครื่องหมายตรงคำที่บรรยายแต่ละด้านที่เปาโลเชื้อเชิญให้เรามุ่งความสนใจ ท่านอาจคัดลอกรายการนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

เขียนรายการด้านต่างๆ ที่นักเรียนระบุไว้บนกระดาน เว้นพื้นที่ว่างบนกระดานเพื่อเขียนแนวคิดบางอย่างภายใต้แต่ละด้านในภายหลังของบทเรียน

  • ท่านจะอธิบายความหมายของคำเหล่านี้แต่ละคำอย่างไร? (หากจำเป็น ให้ใช้เครื่องมือการศึกษาพระคัมภีร์หรือพจนานุกรมเพื่อช่วยท่านนิยามคำเหล่านั้น)

&#160

  • ใครคือคนที่ท่านทราบว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านเหล่านี้? การกระทำของพวกเขามีผลต่อท่านและผู้อื่นอย่างไร?

เมื่อนักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ให้เชิญพวกเขามาพิจารณาสมาชิกในชั้นเรียน เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันแนวคิดของพวกเขา นักเรียนยังสามารถเขียนบันทึกถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในชั้นเรียนด้วยว่าพวกเขาเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนักเรียนอย่างไร การสังเกตและชมเชยแบบอย่างที่ดีของผู้อื่นสามารถสร้างความสามัคคีในชั้นเรียนได้

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมในด้านเหล่านี้อย่างไร? แบบอย่างของพระองค์เป็นพรแก่ท่านและผู้อื่นอย่างไร?

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้ท่านเป็นแบบอย่างของผู้อื่นในด้านเหล่านี้?

ท่านจะเป็นแบบอย่างได้อย่างไร?

สร้างรายการวิธีต่างๆ ที่ท่านสามารถเป็นแบบอย่างในด้านที่ท่านเลือก ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการเป็นแบบอย่าง “ในด้านวาจา” ท่านอาจจดแนวคิดบางอย่างต่อไปนี้ลงในรายการ:

  • แสดงความสำนึกคุณให้บ่อยครั้งมากขึ้น

  • กล่าวคำชมเชยอย่างจริงใจต่อผู้อื่น

  • พูดความจริง

  • หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหยาบคาย

  • แสดงความรักของท่านให้บ่อยยิ่งขึ้น

  • กล่าวกับผู้คนอย่างให้เกียรติ

  • หลีกเลี่ยงการนินทา

  • สวดอ้อนวอนอย่างจริงใจมากขึ้น

หากแนวคิดของนักเรียนไม่เป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ให้เชื้อเชิญนักเรียนมาร่วมแบ่งปันความคิดด้วยการเขียนภายใต้หัวข้อบนกระดาน

ใช้เวลาครู่หนึ่งเพื่อไตร่ตรองว่าพระเจ้าอาจประทานพรให้ท่านและผู้อื่นได้อย่างไรหากท่านมุ่งมั่นจะเป็นแบบอย่างในวิธีเหล่านี้

  • ท่านได้เรียนรู้หรือรู้สึกอะไรในวันนี้ที่จะช่วยให้ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีขึ้นของสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์?

  • ท่านจะทำอะไรเพื่อเป็นแบบอย่างเช่นนั้นแก่ผู้อื่น?

  • ท่านหวังว่าแบบอย่างของท่านจะสอนอะไรแก่ผู้อื่นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และศาสนจักรที่พระองค์ทรงฟื้นฟู? เพราะเหตุใด?

เป็นพยานในพลังที่แบบอย่างที่ดีสามารถมีต่อผู้ที่เห็น ท่านอาจแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวของการได้รับพรจากแบบอย่างการเป็นเหมือนพระคริสต์ของบางคน และเชื้อเชิญให้นักเรียนนำการเปลี่ยนแปลงที่ตนระบุไว้ในบทเรียนนี้ไปใช้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฉันจะเป็นแบบอย่างที่ดีขึ้นได้อย่างไร?

วีดิทัศน์นี้มีให้รับชมใน ChurchofJesusChrist.org ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีต่างๆ ที่คนหนุ่มสาวเป็นแบบอย่างให้กับคนรอบข้าง ขณะที่ท่านรับชม ให้คิดหาวิธีที่ท่านจะสามารถเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นได้

“แบ่งปันความสว่างของท่าน” (2:56)

&#160

&#160

แบบอย่างของฉันในฐานะวัยรุ่นมีความสำคัญจริงๆ หรือไม่?

ซิสเตอร์บอนนี่ เอช. คอร์ดอน ประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนเกี่ยวกับความสำคัญของแบบอย่างของท่าน:

ภาพ
Former Official Portrait of Sister Bonnie H. Cordon, Photographed October 2016. Replaced October 2018.

มิตรสหายที่รัก เหตุใดการส่องแสงสว่างของเราจึงสำคัญมาก? พระเจ้าตรัสกับเราว่า “ยังมีอยู่หลายคนบนแผ่นดินโลก … ที่ถูกกันไว้จากความจริงเพราะพวกเขาหารู้ไม่ว่าจะพบได้จากที่ใด” [ หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:12 ] เราช่วยได้ เราสามารถตั้งใจส่องแสงสว่างของเราเพื่อให้ผู้อื่นมองเห็น เราเอ่ยคำเชื้อเชิญได้ เราสามารถร่วมเดินทางกับคนที่กำลังมุ่งหน้าไปหาพระผู้ช่วยให้รอด ไม่ว่าจะลังเลเพียงใด …

ดิฉันเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงขยายความพยายามเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่าง พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงกระตุ้นเตือนให้เรารู้ว่าต้องพูดอะไรและทำอะไร ความพยายามดังกล่าวอาจเรียกร้องให้เราก้าวออกจากพื้นที่คุ้นเคย แต่เรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยให้ความสว่างของเราฉายออกไป

(บอนนี่ เอช. คอร์ดอน, “เพื่อพวกเขาจะเห็น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 80)

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) สอนเกี่ยวกับการเป็นแบบอย่าง:

ภาพ
Official portrait of President Thomas S. Monson, 2008.

จงเป็นแบบอย่าง … โอกาสของเราอยู่ตรงหน้าเราที่นี่และตอนนี้ แต่โอกาสเหล่านั้นมลายหายไปได้ มีความเป็นไปได้ว่าจะพบโอกาสเหล่านั้นได้ในบ้านของเราเองและในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา พระเจ้าและพระอาจารย์ของเราทรงปูทาง: “[พระองค์] เสด็จไปทำคุณประโยชน์” ( กิจการ 10:38) แน่นอนว่าพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้ปฏิบัติตาม เป็นแม้แต่แบบอย่างของผู้ที่เชื่อ

แล้วเราล่ะ?

(โธมัส เอส. มอนสัน, “An Example of the Believers,” Ensign, Nov. 1992, 98)

1 ทิโมธี 4:16 เปาโลหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขาพูดว่า “ช่วยตัวท่าน”?

ในขณะที่เปาโลใช้คำว่า “จงเอาใจใส่ทั้งตัวท่านและคำสอนของท่าน” ( 1 ทิโมธี 4:16) เขายังเป็นพยานด้วยว่าเราจะได้รับการช่วยให้รอดผ่านพระเยซูคริสต์เท่านั้น (ดู 1 ทิโมธี 1:15–16 ; 2:5–6) เราสามารถใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ผ่านความพยายามของเราและยอมให้พระองค์ทรงช่วยให้เรารอด

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

1 ทิโมธี 6:7–12. วางใจในความร่ำรวยหรือในพระผู้เป็นเจ้า

แสดงจำนวนเงินเล็กน้อย และเชื้อเชิญนักเรียนมาร่วมแบ่งปันสองสามวิธีที่สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ได้

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 1 ทิโมธี 6:7–12 และอธิบายว่าทำไมนักเรียนจึงคิดว่าเปาโลจะให้คำเตือนและการเชื้อเชิญนี้ เพราะเขาต้องรู้ว่าเงินนั้นสามารถนำไปใช้ในทางที่ดีได้ ถามว่าความจริงในข้อเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทั้งคนรวยและคนจนอย่างไร

ให้เวลานักเรียนค้นหาในพระคัมภีร์ มองหาคำปรึกษาที่พระเจ้าประทานให้ในเรื่องความร่ำรวย (บางข้อที่เป็นไปได้ ได้แก่ 1 ทิโมธี 6:17–19 ; มัทธิว 6:19–21, 24 ; ยากอบ 2:17–19 ; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:7 ; 56:16–17)

เชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปและแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้จากพระคัมภีร์เหล่านี้

2 ทิโมธี 1:1–8. การเอาชนะความกลัว

เขียนคำว่า กลัว บนกระดานและขอให้นักเรียนพิจารณาว่าความกลัวมีอิทธิพลต่อเราอย่างไร เชิญให้นักเรียนอ่าน 2 ทิโมธี 1:1–8 และมองหาหลักธรรมที่จะช่วยให้พวกเขาเอาชนะความกลัวได้ สนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมที่ว่า เมื่อเราแสวงหาอย่างตั้งใจจริงเพื่อให้มีพระวิญญาณอยู่กับเรา เราจะเอาชนะความกลัวและไม่อับอายในประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ คำถามดังเช่นข้อต่อไปนี้อาจช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมข้อนี้:

  • พลังอำนาจจากสวรรค์ ความรัก และวิจารณญาณที่ดีที่เราได้รับผ่านพระวิญญาณจะช่วยเราเอาชนะความกลัวได้อย่างไร?

  • เราสามารถแสดงว่าเราไม่อับอายในประจักษ์พยานของเราถึงพระเยซูคริสต์ในทางใดบ้าง?

  • พระวิญญาณเคยช่วยท่านเอาชนะความกลัวหรือประทานความกล้าหาญให้ท่านเพื่อยืนหยัดในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์เมื่อใด?