เซมินารี
ผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน: 2 ทิโมธี 3:15–17


ผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน: 2 ทิโมธี 3:15–17

“พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ … สามารถให้ปัญญาแก่ท่านในเรื่องความรอด”

ภาพ
A young man sits on his bed and reads the scriptures. He is dressed in a blue suit and reading in Spanish.

การศึกษาพระคัมภีร์ประจำวันสามารถเป็นพรแก่ชีวิตท่านได้หลายวิธี รวมถึงการช่วยเหลือท่านผ่านความท้าทายมากมายในยุคสุดท้าย บทเรียนนี้สามารถช่วยท่านท่องจำข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนและวลีสำคัญจากพระคัมภีร์สำหรับ 2 ทิโมธี 3:15–17 รวมทั้งอธิบายหลักคำสอน และประยุกต์ใช้หลักธรรมการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณในสถานการณ์ชีวิตจริง

การแสดงบทบาทสมมติ การแสดงบทบาทสมมติสามารถช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าในการอธิบายความจริงพระกิตติคุณและเข้าใจดีขึ้นว่านักเรียนจะปฏิบัติตนในสถานการณ์จริงได้อย่างไร

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนคิดเกี่ยวกับความท้าทายที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้พระคัมภีร์ในแต่ละวันได้ สนับสนุนให้นักเรียนคิดหาวิธีที่หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณสามารถช่วยให้นักเรียนเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

บทเรียนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนนี้ออกแบบมาเพื่อสอนหลังจากบทเรียน “2 ทิโมธี 3” ซึ่งเป็นบทเรียนในบริบทสำหรับข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน 2 ทิโมธี 3:15–17 ถ้าบทเรียนข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนนี้จำเป็นต้องย้ายไปสัปดาห์อื่น ขอให้แน่ใจว่าสอนบทเรียนในบริบทที่สอดคล้องกันระหว่างสัปดาห์นั้นด้วย

ท่องจำและอธิบาย

วาดภาพหนังสือพระคัมภีร์ที่เปิดอยู่ให้กินพื้นที่ส่วนใหญ่หรือเต็มแผ่นกระดาษ ที่ด้านบนสุดของภาพ ให้เขียน 2 ทิโมธี 3:15–17 ภายในภาพวาดของท่าน ให้เขียนวลีสำคัญจากพระคัมภีร์ พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ … สามารถให้ปัญญาแก่ท่านในเรื่องความรอด หาอะไรมาปิดวลีไว้ แล้วเขียนอีกครั้งจากความจำ ตรวจดูความถูกต้องและทำแบบฝึกหัดซ้ำหลายๆ ครั้งจนกว่าท่านจะเขียนจนเต็มภาพวาด

หลังจากนักเรียนวาดภาพแล้ว ให้แบ่งนักเรียนเป็นคู่ๆ และเชิญให้นักเรียนสลับกันเขียนวลีสำคัญจากพระคัมภีร์

ในบทเรียนก่อนหน้านี้เราเรียนรู้ว่า ขณะที่เราศึกษาพระคัมภีร์ เราจะได้รับปัญญาที่จะนำเราไปสู่ความรอดผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ อ่าน 2 ทิโมธี 3:15–17 อีกครั้ง มองหาหลักฐานของหลักธรรมข้อนี้ รวมทั้งพรข้ออื่นๆ ที่เราจะได้รับจากการศึกษาพระคัมภีร์

ท่านอาจแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถแสดงบทบาทสมมติสถานการณ์ต่อไปนี้ ลองเดินไปรอบห้องเพื่อฟังว่า “ผู้สอนศาสนา” สอน “ผู้สนใจ” อย่างไร ลองถามภายหลังว่า นักเรียนรู้สึกว่าประสบการณ์นี้เป็นเรื่องง่ายหรือยาก

ลองนึกภาพว่าท่านคือผู้สอนศาสนาที่กำลังสอนหญิงสาวชื่อสุนารี ที่ผ่านมาสุนารีเปิดรับข่าวสารการฟื้นฟู แต่กลับลังเลที่จะอ่านข้อพระคัมภีร์ที่ท่านกับคู่ของท่านแนะนำ ระหว่างการไปเยี่ยม ท่านถามสุนารีว่าสิ่งใดที่ทำให้เธอไม่สามารถอ่านพระคัมภีร์ เธอตอบว่า เธอไม่ชอบอ่านพระคัมภีร์และรู้สึกว่าน่าเบื่อ

ใช้ 2 ทิโมธี 3:15–17 เขียนคำตอบอธิบายถึงพรและประโยชน์ของการศึกษาพระคัมภีร์ในวิธีที่อาจกระตุ้นสุนารี หากเป็นไปได้ ให้พิจารณาเพิ่มประสบการณ์และประจักษ์พยานส่วนตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบของท่าน

ฝึกประยุกต์ใช้

  • หากท่านต้องสรุปหลักธรรมสามข้อของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณในหนึ่งประโยค ท่านจะพูดอย่างไร?

หากจำเป็น ให้ใช้เวลาสักครู่ในการทบทวน ย่อหน้าที่ 5–12 ของหมวด “การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ” ของ เอกสารหลักผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน (2022)

ท่านอาจเชิญนักเรียนสุ่มเลือกและอ่านออกเสียงประโยคสรุปหนึ่งประโยคจากหลักธรรมข้อใดก็ได้จากสามข้อของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ ขอให้ชั้นเรียนระบุว่าหลักธรรมข้อใดที่ประโยคนั้นเกี่ยวข้อง ทำกิจกรรมนี้ซ้ำหลายๆ ครั้ง 

แม้เราจะทราบและเข้าใจพรที่ได้จากการศึกษาพระคัมภีร์ แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะทำเป็นประจำและมีประสิทธิภาพ

  • มีความท้าทายใดบ้างที่ทำให้การศึกษาพระคัมภีร์เป็นประจำและมีประสิทธิภาพเป็นไปได้ยาก?

ท่านอาจจะเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน

ในระหว่างกิจกรรมต่อไปนี้ ให้สวดอ้อนวอนเงียบๆ ให้กับนักเรียนของท่านเพื่อขอให้นักเรียนเปิดรับการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ เพื่อให้สามารถใช้หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณสำหรับตัวพวกเขาเอง

แสวงหาการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้ท่านสามารถระบุอุปสรรคหนึ่งหรือสองอย่างที่จะทำให้ท่านไม่สามารถศึกษาพระคัมภีร์ได้อย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ (หากท่านไม่มีอุปสรรคใดๆ ให้นึกถึงอุปสรรคที่เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวอาจต้องเผชิญ)

เขียนอย่างน้อยสามวิธีที่ท่านอาจใช้หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณเพื่อช่วยให้ท่านเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ คำถามและแนวคิดต่อไปนี้อาจช่วยได้

ท่านอาจเขียนคำถามสามข้อต่อไปนี้บนกระดาน

นอกจากนี้ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนคิดว่าการศึกษาพระคัมภีร์อย่างจริงใจและบ่อยครั้งจะส่งผลต่อความก้าวหน้านิรันดร์ของพวกเขาอย่างไร นักเรียนสามารถพิจารณาประสบการณ์เชิงบวกใดๆ ที่พวกเขาเคยมีอยู่แล้วและความจริงนิรันดร์ที่ตนเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น

  • ท่านจะพิจารณาอุปสรรคในการศึกษาพระคัมภีร์ของท่านด้วยมุมมองนิรันดร์ได้อย่างไร?

  • ความจริงใน 2 ทิโมธี 3:15–17 จะช่วยให้ท่านมีมุมมองนิรันดร์เมื่อท่านประสบปัญหาในการศึกษาพระคัมภีร์ได้อย่างไร?

  • ท่านจะแสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติมผ่านแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์ได้อย่างไร?

ต่อไปนี้คือแนวคิดบางประการ:

  1. ค้นหาข้อความเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์ในคู่มือพระคัมภีร์ที่มีอยู่ใน ChurchofJesusChrist.org และมองหาพรและคำสัญญาที่อาจช่วยจัดการอุปสรรคของท่าน พระคัมภีร์อย่าง โยชูวา 1:8 ; 2 นีไฟ 32:3 ; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:37 อาจเป็นประโยชน์

  2. ถามใครบางคนที่ท่านไว้ใจว่า เหตุใดจึงศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันและวิธีที่แนะนำให้ท่านเอาชนะอุปสรรคของท่าน

  3. ค้นหาคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หรือบทความในนิตยสารศาสนจักรที่อาจช่วยได้ ตัวอย่างเช่น ข้อความต่อไปนี้อาจช่วยใครสักคนที่ประสบปัญหาในการหาเวลาศึกษาพระคัมภีร์

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ (1928–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

ภาพ
Final official portrait of Elder Richard G. Scott of the Quorum of the Twelve Apostles, 2004. Passed away 22 September 2015.

การดื่มด่ำพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในแต่ละวันสำคัญกว่าการนอนหลับ การศึกษา การทำงาน การดูโทรทัศน์ วิดีโอเกมส์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ ท่านอาจต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่เพื่อให้มีเวลาศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าต้องทำเช่นนั้น จงทำ!

(ริชาร์ด จี. สก็อตต์, “ทำให้การใช้ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 93)

ใช้เวลาสองสามนาทีเพื่อเริ่มต้นทำหนึ่งในแนวคิดของท่าน

  • ท่านจะกระทำด้วยศรัทธาในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้การศึกษาพระคัมภีร์ประจำวันมีประสิทธิภาพได้อย่างไร? เขียนรายการแนวคิดต่างๆ ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน

หลังจากให้เวลาเพียงพอแล้ว ให้เชิญนักเรียนหลายๆ คนมาร่วมแบ่งปันจุดเด่นจากประสบการณ์ของตนระหว่างบทเรียนนี้ เตือนให้นักเรียนทราบว่าพวกเราแทบทุกคนต้องเผชิญกับอุปสรรคในการศึกษาพระคัมภีร์ประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ และการแบ่งปันความคิด ข้อคิด และประสบการณ์ของนักเรียนอาจช่วยผู้อื่นในชั้นเรียนได้ แบ่งปันความคิดและประจักษ์พยานส่วนตัวด้วย

การทบทวนผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน 

ในระหว่างบทเรียนที่กำลังจะมาถึง ใช้เวลาสองสามนาทีทบทวนข้ออ้างอิงพระคัมภีร์และวลีสำคัญจากพระคัมภีร์สำหรับข้อผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอนโดยใช้กิจกรรมท่องจำเหมือนกับที่ทำไปตอนต้นของบทเรียนนี้

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

แหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์

ขณะที่นักเรียนกำลังคิดหาวิธีแสวงหาความช่วยเหลือจากแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์ ท่านอาจเชิญนักเรียนมาค้นหาในอินเทอร์เน็ตเพื่อดูว่าปัจจุบันมีหนังสือเกี่ยวกับ “สิ่งช่วยศึกษาด้วยตนเอง” มากน้อยเพียงใด พวกเขาจะเห็นตัวเลือกมากมายหลายหมื่นตัวเลือก ท่านอาจจะถามคำถามดังนี้:

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่ามีหนังสือเกี่ยวกับสิ่งช่วยศึกษาด้วยตนเองมากมายในโลกนี้?

  • พระคัมภีร์สามารถเป็นแหล่งช่วยที่ทรงพลังที่จะให้ความช่วยเหลือและนำทางชีวิตของเราได้อย่างไร?

เชิญนักเรียนให้อ้างโยง 2 ทิโมธี 3:15–17 กับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118 แล้วถามนักเรียนว่าตนคิดว่า “หนังสือดีที่สุด” ที่พระเจ้าตรัสหมายถึงอะไร ท่านอาจเตือนนักเรียนว่า มีแหล่งช่วยที่มีค่ามากมายในโลกนี้ที่จะช่วยให้เราพัฒนาสติปัญญาและเอาชนะความท้าทาย เชิญนักเรียนให้ทบทวนย่อหน้าที่ 5–12 ในหมวด “การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ” ของ เอกสารหลักผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน และเพื่อระบุคำหรือวลีที่เน้นย้ำว่าพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เป็นแหล่งที่สำคัญของสติปัญญาและความรู้สำหรับชีวิตของนักเรียน

ตัวอย่างของการกระทำด้วยศรัทธา

ท่านอาจสอบถามนักเรียนถึงสิ่งที่นักเรียนสามารถกระทำด้วยศรัทธาหากนักเรียนประสบปัญหาในการทำความเข้าใจพระคัมภีร์ หลังจากนักเรียนแบ่งปันความคิดแล้ว ให้พิจารณาเพิ่มตัวอย่างต่อไปนี้บางส่วนหรือทั้งหมด

  • สวดอ้อนวอนเพื่อความเข้าใจก่อนที่จะศึกษา

  • อ่านหัวข้อของบทเพื่อดูภาพรวม

  • ฝึกฝนการทำความเข้าใจพระคัมภีร์ในศาสนจักรและในเซมินารีโดยการถามคำถามกับครู

  • ในบางโอกาสให้อ่านกับบุคคลที่ท่านวางใจ เช่น ผู้ปกครองที่สามารถช่วยอธิบายพระคัมภีร์ให้ท่านทราบ

  • ใช้คู่มือที่มีอยู่ในแอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ หรือใน ChurchofJesusChrist.org เช่นคู่มือนักเรียนเซมินารี