เซมินารี
ยอห์น 13


ยอห์น 13

“ให้รักซึ่งกันและกัน”

ภาพ
Jesus washing Peter’s feet. Outtakes show similar scenes.

หลังจากทรงรับส่วนอาหารปัสกาแล้ว พระเยซูทรงล้างเท้าสานุศิษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับการรับใช้และรักกันและกัน บทเรียนนี้สามารถช่วยกระตุ้นให้ท่านแสวงหาความสุขโดยผ่านการรับใช้และรักผู้อื่นดังที่พระเยซูทรงทำ

กระตุ้นให้เกิดการตอบคำถามหลายคำตอบ หลีกเลี่ยงแนวโน้มที่จะยอมรับเพียงคำตอบเดียวสำหรับคำถามแล้วสอนต่อประเด็นถัดไปในบทเรียน เชิญนักเรียนคนอื่นตอบหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตอบก่อนหน้านั้น แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณขณะท่านเชื้อเชิญให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสนทนา

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนหาโอกาสรับใช้หรือแสดงความรักเหมือนพระคริสต์ต่อบุคคลอื่น

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

พากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู

ร้องเพลงหรืออ่านเนื้อร้องของเพลง “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก,40–41) ขณะท่านทำเช่นนั้น อ่าน หรือนึกถึงเหตุผลที่ท่านต้องการพยายามเป็นเหมือนพระเยซู

Music Video: I’m Trying to Be Like Jesus – Emily Brown

ท่านอาจเชิญชวนให้นักเรียนแบ่งปันความคิดหรือความรู้สึกของพวกเขาขณะร้องเพลงหรืออ่านเนื้อเพลงหรือดูวิดีโอ ถามคำถามต่อไปนี้โดยใช้คำถามแรกเพื่อให้ใคร่ครวญเกี่ยวกับตนเองมากกว่าให้สนทนา

  • ท่านพยายามเป็นเหมือนพระเยซูในวิธีใดบ้าง?

  • ท่านเห็นความแตกต่างอะไรบ้างในชีวิตของผู้คนขณะพวกเขาพยายามเป็นเหมือนพระเยซู? แล้วชีวิตของท่านเองเป็นอย่างไร?

ขณะท่านมีส่วนร่วมในบทเรียนนี้ให้สังเกตการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สามารถดลใจให้ท่านทำตามแบบอย่างและคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดได้ดียิ่งขึ้น

“เราวางแบบอย่างแก่พวกท่านแล้ว”

ท่านอาจให้ดูภาพจากช่วงต้นของบทเรียนนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนนึกภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องราวพระคัมภีร์นี้

เมื่อใกล้เวลาที่พระผู้ช่วยให้รอดจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงรวบรวมสานุศิษย์ของพระองค์มาอยู่ด้วยกันสำหรับพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระองค์ในเทศกาลปัสกา เหตุการณ์ในช่วงค่ำนี้มักเรียกว่าพระกระยาหารมื้อสุดท้าย

อ่าน ยอห์น 13:1–11 โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงทำหลังจากพระองค์และอัครสาวกของพระองค์รับประทานอาหารปัสกาเสร็จแล้ว

จะมีโอกาสในการกล่าวถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างมื้ออาหารปัสกาในบทเรียนอื่นๆ สำหรับสัปดาห์นี้

อาจเป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่าในสมัยพันธสัญญาใหม่ เท้าของผู้คนมักจะสกปรกมากเนื่องจากการสวมรองเท้าแตะและเดินบนถนนดินเป็นส่วนใหญ่ การล้างเท้าของผู้อื่นมักกระทำโดยคนรับใช้ระดับต่ำสุด

  • ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเยซูจากการกระทำของพระองค์ในการล้างเท้าอัครสาวก?

  • ท่านอาจรู้สึกหรือตอบรับอย่างไรหากพระเยซูทรงรับใช้ท่านอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้?

โดยการล้างเท้าอัครสาวกของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงแสดงการรับใช้อันล้ำเลิศเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงจัดตั้งศาสนพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย (ดู Bruce R. McConkie, Doctrinal New Testament Commentary [1965], 1:708–709) ศาสนพิธีนี้ได้รับการฟื้นฟูในสมัยการประทานของเราผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:74–75, 137–141 ; Saints, 1:166) เนื่องจากนี่เป็นศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ซึ่งศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกพูดถึงไม่บ่อยนัก ครูจึงไม่ควรสนทนาถึงวิธีปฏิบัติศาสนพิธีนี้ในสมัยของเรา ครูและนักเรียนไม่ควรมีส่วนร่วมในกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการล้างเท้าของกันและกัน แต่ให้เน้นย้ำถึงแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงมีความรักในการรับใช้สานุศิษย์ของพระองค์ในลักษณะนี้

อ่าน ยอห์น 13:12–17 โดยค้นหาบทเรียนที่ท่านจะเรียนรู้ได้จากพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้?

  • ท่านเคยสัมผัสถึงความสุขจากการทำตามแบบอย่างในการรับใช้ของพระเยซูเมื่อใด?

“ให้รักซึ่งกันและกัน”

หลังจากทรงล้างเท้าอัครสาวกของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้เวลาเพื่อสอนพวกเขา อ่าน ยอห์น 13:34–35 เพื่อค้นพบหลักคำสอนสำคัญที่พระองค์ทรงสอน

ช่วยให้นักเรียนระบุความจริงที่คล้ายกับข้อความต่อไปนี้ เพื่อเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ เราต้องรักซึ่งกันและกันอย่างที่พระองค์ทรงรักเรา

นักเรียนบางคนอาจรู้สึกเป็นเรื่องยากที่จะรักคนที่ทำร้ายพวกเขา จงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อรู้ว่าอาจต้องปรับอะไรบ้างเพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความรักของพระเยซูคริสต์ที่ทรงมีต่อพวกเขาและคนอื่นๆ

  • ขณะท่านอ่านและคิดเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ท่านมีความคิด ความรู้สึก หรือคำถามอะไร?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำกิจกรรมต่อไปนี้เป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก นักเรียนอาจเพิ่มตัวอย่างของพวกเขาลงในรายการบนกระดาน

นึกถึงเรื่องราวพระคัมภีร์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักต่อผู้อื่น

  • พระเยซูคริสต์ทรงแสดงความรักในวิธีที่แตกต่างกันต่อผู้คนที่แตกต่างกันอย่างไร?

ใช้เวลาคิดและเขียนว่าท่านรู้สึกถึงความรักที่พระเยซูทรงมีให้ท่านเมื่อใดหรืออย่างไร ท่านอาจอยู่นิ่งๆ และขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยท่านตระหนักถึงช่วงเวลาเหล่านี้

  • การตระหนักและรู้สึกถึงความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีให้ท่านส่งผลต่อความปรารถนาของท่านที่จะแสดงความรักต่อผู้อื่นอย่างไร?

นักเรียนบางคนอาจรู้สึกยากที่จะนึกถึงวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงความรักต่อพวกเขาในลักษณะเป็นส่วนตัว ท่านอาจแบ่งปันตัวอย่างถึงวิธีที่พระองค์ทรงแสดงความรัก เช่นการให้อภัย ช่วยให้พวกเขามองเห็นคุณค่าของตนเอง หรือให้พวกเขารู้ว่าพระองค์ทรงเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่าพระองค์ยังทรงแสดงความการุณย์รักต่อเราอย่างเดียวกันกับที่พระองค์ทรงกระทำในเรื่องราวในพระคัมภีร์

โปรดทราบว่าบทเรียน “ประเมินการเรียนรู้ของท่าน” จะติดตามผลของแผนนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนที่จุดนี้ อย่าลืมปรับบทเรียน “ประเมินการเรียนรู้ของท่าน” ให้สอดคล้องกัน

วางแผนว่าท่านอาจทำตามตัวอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะรักและรับใช้ผู้อื่นได้อย่างไร รวมถึงเมื่อใดที่ท่านต้องการทำ แนวคิดต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์ในการคิดขณะท่านวางแผน

  • ทำอะไรบางอย่างในวันนี้ให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือคนในชุมชน

  • ทำบางอย่างที่แสดงถึงความรักและความเมตตาต่อบางคนที่แตกต่างจากท่านหรือแม้แต่คนที่ท่านรู้สึกเข้ากันได้ยากในอดีต

  • ระบุบุคคลที่ท่านรู้สึกประทับใจที่จะแสดงความรักหรือให้เกียรติมากขึ้น

  • พิจารณาว่าท่านอาจอัญเชิญความรักของพระผู้ช่วยให้รอดเข้ามาในความพยายามของท่านได้อย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 13:26 ขนมปังคืออะไร?

คำว่า “ขนมปัง” ที่อธิบายไว้ใน ยอห์น 13:26 คือขนมปังชิ้นเล็กที่ผู้รับประทานอาหารจะใช้ตักน้ำซุปและเนื้อจากชาม เนื่องจากเป็นการแสดงถึงความเมตตาและเคารพเจ้าของบ้านในการจิ้มขนมปังและมอบให้แขกผู้มารับประทานอาหารค่ำ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบมิตรภาพให้ยูดาสด้วยการกระทำดังกล่าว บางทีอาจเป็นโอกาสสุดท้ายเพื่อให้เขาละทิ้งแผนการทรยศของตนก็เป็นได้

เราจะช่วยให้คนอื่นรู้สึกถึงความรักของพระเยซูคริสต์ผ่านการรับใช้พวกเขาอย่างไร?

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์แบ่งปันเรื่องราวต่อไปนี้

ภาพ
Official Portrait of President Henry B. Eyring taken March 2018.

ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ไปเยี่ยมการประชุมศีลระลึกที่บ้านพักคนชรา ผู้นำขอให้ข้าพเจ้าส่งผ่านศีลระลึก แทนที่จะนึกถึงขั้นตอนหรือความแม่นยำของวิธีส่งผ่านศีลระลึก ข้าพเจ้ามองใบหน้าผู้สูงอายุแต่ละคนแทน ข้าพเจ้าเห็นหลายคนกำลังร้องไห้ สตรีคนหนึ่งจับแขนเสื้อข้าพเจ้าพลางเงยหน้าขึ้นและพูดเสียงดังว่า “โอ้ ขอบคุณค่ะ ขอบคุณ”

พระเจ้าทรงอวยพรการรับใช้ของข้าพเจ้าที่มอบให้ในพระนามของพระองค์ วันนั้นข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เกิดปาฏิหาริย์เช่นนั้นแทนที่จะขอให้ตัวเองทำส่วนของตนได้ดี ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้ผู้คนรู้สึกถึงความรักของพระเจ้าผ่านการรับใช้ด้วยความรักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่านี่คือกุญแจสำคัญในการรับใช้และการให้พรผู้อื่นในพระนามของพระองค์

(เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “ให้พรในพระนามของพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 68–69)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

ทางเลือกในการเริ่มต้นบทเรียน

ให้ดูแผนภาพต่อไปนี้บนกระดาน:

ภาพ
A line with arrows marked with the words “How Happy am I?”

อ่านออกเสียงคำถามต่อไปนี้ และเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำตอบของพวกเขา (อธิบายว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องตอบออกเสียง):

ท่านให้ตนเองอยู่ตรงจุดไหนในกราฟนี้?

ท่านต้องการมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือไม่?

ท่านต้องการช่วยให้ใครมีความสุขมากขึ้น?

ขณะนักเรียนศึกษา ยอห์น 13 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาหลักธรรมที่จะช่วยให้พวกเขารู้ว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมีความสุขมากขึ้น

ท่านจะแสดงว่าท่านเป็นชาวคริสต์ได้อย่างไร?

ในตอนต้นของหมวด “ให้รักซึ่งกันและกัน” กิจกรรมต่อไปนี้อาจช่วยให้นักเรียนกลับมามีส่วนร่วมในบทเรียนอีกครั้ง:

ถามนักเรียนว่ามีใครเคยถูกกล่าวหาว่าไม่ได้เป็นชาวคริสต์ หรือสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์เพราะเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหรือไม่ ถ้านักเรียนเคยถูกกล่าวหาเช่นนั้น ให้ถามว่าพวกเขาตอบสนองในสถานการณ์นั้นอย่างไร เชื้อเชิญให้สมาชิกชั้นเรียนสนทนาคำถามต่อไปนี้

ท่านอาจตอบอย่างไรถ้ามีใครบางคนบอกว่าท่านไม่ได้เป็นชาวคริสต์?

ท่านอาจแสดงว่าท่านเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ด้วยวิธีใดบ้าง?

ยอห์น 13:35 “ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา”

ท่านอาจเน้นความจริงใน ยอห์น 13:34 ว่า เมื่อเรารักซึ่งกันและกันอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงรักเรา ผู้อื่นจะรู้ว่าเราเป็นสานุศิษย์ของพระองค์

เพื่อแสดงถึงความจริงนี้แบ่งปันเรื่องราวต่อไปนี้ที่เล่าโดยเอ็ลเดอร์พอล อี. โคล์ลิเคอร์ ขณะท่านรับใช้เป็นสมาชิกแห่งสาวกเจ็ดสิบ:

ภาพ
Final official portrait of Elder Paul E. Koelliker of the First Quorum of the Seventy, 2005. Granted emeritus status at the October 2013 general conference.

ผู้สอนศาสนาวัยหนุ่มสองคนเคาะประตูบ้านหลังหนึ่ง โดยหวังว่าจะพบคนรับข่าวสารของพวกเขา ประตูเปิด และชายร่างใหญ่ทักทายพวกเขาด้วยน้ำเสียงไม่ค่อยเป็นมิตรว่า “ผมคิดว่าผมบอกพวกคุณแล้วนะว่าอย่าเคาะประตูบ้านผมอีก ผมเคยเตือนพวกคุณแล้วว่าถ้าพวกคุณกลับมา ประสบการณ์นั้นอาจไม่น่าพอใจ อย่ามายุ่งกับผม” เขาปิดประตูอย่างรวดเร็ว

ขณะเอ็ลเดอร์เดินจากมา ผู้สอนศาสนาที่มีประสบการณ์มากกว่าและอายุมากกว่าโอบไหล่ผู้สอนศาสนาที่อายุน้อยกว่าเพื่อปลอบและให้กำลังใจ พวกเขาไม่รู้ว่าชายคนนั้นมองทางหน้าต่างเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจข่าวสารที่บอก เขาคาดหวังเต็มที่ว่าจะเห็นทั้งสองคนหัวเราะและไม่ใยดีกับการตอบสนองอย่างหยาบคายของเขาต่อการพยายามมาเยี่ยมของพวกเขา แต่เมื่อเขาเห็นการแสดงความอ่อนโยนระหว่างผู้สอนศาสนาทั้งสอง ใจเขาอ่อนลงทันที เขาเปิดประตูอีกครั้งและขอให้ผู้สอนศาสนากลับมาแบ่งปันข่าวสารกับเขา

… หลักธรรมของการมีความรักต่อกันและพัฒนาความสามารถในการให้พระคริสต์เป็นศูนย์รวมของสิ่งที่เราคิด พูด และทำคือรากฐานการเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์

(พอล อี. โคล์ลิเคอร์, “พระองค์ทรงรักเราจริงๆ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 17)

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าทำไมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนศาสนาจึงมีผลขนาดนี้ต่อชายคนนั้น