การเรียกในคณะเผยแผ่
หลักธรรมโดยทั่วไป สำหรับการจัดการกับความเครียด


หลักธรรมโดยทั่วไป สำหรับการจัดการกับความเครียด

หมวดนี้ประกอบด้วยคำแนะนำโดยทั่วไปสำหรับการป้องกันและเอาชนะความเครียดที่มีมากเกินไป คำแนะนำเหล่านี้มีประโยชน์ต่อผู้สอนศาสนาทุกคน

ภาพ
Two young elder missionaries walking on a road in Australia.

การตอบสนองในเชิงบวกต่อความเครียด

  • สวดอ้อนวอนอย่างแรงกล้าและสวดอ้อนวอนบ่อยๆ ทั้งคนเดียวและกับคู่ของท่าน ทูลพระเจ้าเกี่ยวกับความรู้สึก ประสบการณ์ แผน และข้อกังวลของท่าน ทูลขอให้พระวิญญาณทรงอยู่กับท่านในทุกเรื่อง เขียนความประทับใจที่ท่านมีขณะที่ท่านสวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์ จงตื่นตัวต่อการนำทางที่ท่านอาจได้รับตลอดวัน ขณะที่ท่านฟังสุรเสียงของพระวิญญาณ ท่านจะได้รับการนำทาง การปลอบโยน และความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป “เพราะดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านอีกว่าหากท่านจะเข้าไปโดยทางนั้น, และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์, พระองค์จะทรงแสดงแก่ท่านถึงสิ่งทั้งปวงที่ท่านควรทำ.” (2 นีไฟ 32:5) ให้คำมั่นสัญญากับพระเจ้าว่าท่านจะทำอย่างสุดความสามารถที่จะทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณที่ท่านได้รับเป็นประจำ

  • จดจำพระหัตถ์ของพระเจ้าในทุกสิ่ง ท่านนั่งอยู่ในแถวหน้าที่จะเห็นปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาปาฏิหาริย์ทั้งปวง นั่นคือ ผลจากการชดใช้ของพระคริสต์ในตัวบุคคลและครอบครัว ฝึกทุกวันให้ใจท่านจดจ่ออยู่กับพรที่ท่านสำนึกคุณ สังเกตอิทธิพลของพระวิญญาณในชีวิตท่านและเขียนเกี่ยวกับสิ่งนั้น(ดู โมโรไน 10:3.)

  • ค้นหาและท่องจำพระคัมภีร์ที่ให้การปลอบโยน ขณะที่ท่านศึกษา เขียนพระคัมภีร์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งและปลอบโยนท่าน ท่องจำหรืออ่านพระคัมภีร์เหล่านี้เป็นประจำ

  • จดจ่ออยู่ที่ความต้องการของผู้ที่ท่านกำลังรับใช้ นึกถึงสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อเป็นพรแก่ผู้สนใจที่ท่านกำลังสอนและสมาชิกที่ท่านกำลังรับใช้ แสวงหาการดลใจถึงวิธีที่ท่านจะรับใช้พวกเขาและเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาให้เข้มแข็ง

  • ร้องเพลง ท่องจำคำร้องของเพลงสวดที่ท่านโปรดปรานสองสามเพลง เมื่อท่านรู้สึกเครียดหรือท้อแท้ ให้ร้องเพลงคนเดียวหรือร้องกับคู่ “เพลงสวดสามารถยกวิญญาณของเราขึ้น ให้พลังส่งเสริมแก่เรา และนำเราไปสู่การกระทำที่ชอบธรรม เพลงสวดสามารถทำให้จิตวิญญาณของเราเต็มไปด้วยความคิดแห่งสวรรค์และนำวิญญาณแห่งสันติมาให้เรา” (“คำกล่าวของฝ่ายประธานสูงสุด,” เพลงสวด [1985], x)

  • ระลึกถึงสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ท่านเอาชนะการเปลี่ยนแปลงและความยากลำบากมาตลอดชีวิต ระหว่างการศึกษาส่วนตัว เขียนสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงในอดีตและช่วงเวลาที่มีความเครียดมาก (เช่นการปรับตัวกับเอ็มทีซี) ตอนนี้ท่านจะประยุกต์ใช้ทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร “ให้ท่านจำไว้ว่าพระเจ้าทรงเมตตาลูกหลานมนุษย์เพียงใด, นับแต่การสร้างอาดัมแม้ลงมาจนถึงเวลาที่ท่านจะได้รับเรื่องเหล่านี้, และไตร่ตรองในใจท่าน.” (โมโรไน 10:3)

  • รับใช้จากจุดแข็งของท่าน เขียนจุดแข็ง พรสวรรค์ และของประทานทางวิญญาณของท่าน จุดแข็งของท่านคือส่วนหนึ่งของคลังของพระเจ้า ซึ่งพระองค์จะทรงดึงไปใช้เพื่อเป็นพรแก่บุตรธิดาของพระองค์และสร้างอาณาจักรของพระองค์ ส่วนสำคัญในงานเผยแผ่ของท่านคือพัฒนาของประทานและอุทิศถวายความเข้มแข็งของท่านเพื่อช่วยให้ผู้อื่นมาสู่พระคริสต์ มุ่งเน้นสิ่งที่ท่านทำได้ดีมากกว่าสิ่งที่ท่านทำผิด วางแผนวิธีที่จะพัฒนาและใช้ของประทานของท่านเพื่อรับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่นทุกสัปดาห์ (ดู คพ. 82:18–19)

  • เป็นเพื่อนกับคู่ของท่าน แบ่งปันแนวคิด รับใช้กัน ช่วยเหลือกัน และให้อภัยกัน เพื่อนคือแหล่งช่วยที่ดีในการรับมือกับความเครียด “บัญญัติของเราคือให้พวกท่านรักกันและกันเหมือนอย่างที่เรารักท่าน” (ยอห์น 15:12)

  • ตรวจสอบความคาดหวังของท่าน อย่าคาดหวังว่าทุกสิ่งจะเป็นไปตามที่ท่านหวัง ท่านจะไม่ทำทุกสิ่งออกมาได้อย่างดีพร้อม ใช่ว่าผู้สอนศาสนาทุกคนจะเชื่อฟังเต็มที่และอ่อนโยน ผู้สนใจของท่านอาจได้รับข่าวสารผิดๆ ที่ต่อต้านมอรมอน ท่านจะไม่มีวันพูดภาษาเหมือนกับเจ้าของภาษา พึงจดจำคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่โจเซฟ สมิธในคุกลิเบอร์ตี้ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์แก่เจ้า, และจะเกิดขึ้นเพื่อความดีของเจ้า. … ฉะนั้น, จงยึดมั่น” (คพ. 122:7, 9)

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความเครียด เลือกที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมหลากหลายที่สนุกสนานและให้ความท้าทายทางร่างกาย ขณะจดจ่ออยู่ที่กิจกรรมตรงหน้า ท่านอาจรู้สึกว่าตนเองกระชุ่มกระชวยและสามารถลืมความกังวลได้ดีขึ้น ไม่ว่าท่านจะเลือกกิจกรรมอะไร การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความอดทนและความสามารถในการรับใช้พระเจ้า (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, viii )

  • อย่าพยายามควบคุมสิ่งที่ท่านควบคุมไม่ได้ ขณะที่ท่านพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสอนศาสนา ผลจากความพยายามของท่านขึ้นอยู่กับสิทธิ์เสรีของผู้อื่นซึ่งท่านบังคับไม่ได้ “ไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดสามารถหรือจะธำรงไว้ได้โดยอาศัยฐานะปุโรหิต, นอกจากโดยการชักชวน, โดยความอดกลั้น, โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, และโดยความรักที่ไม่เสแสร้ง;” (คพ. 121:41) “ฉะนั้น, พี่น้องที่รักยิ่ง, ให้เราทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างรื่นเริงเถิด; และจากนั้นขอให้เรายืนนิ่ง, ด้วยความมั่นใจอย่างที่สุด, เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์.” (คพ.123:17)

  • นึกถึงความสำคัญของการพักผ่อนหย่อนใจ ตัวอย่างเช่น ใช้การออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลายแบบก้าวหน้า (ดู ขวามือ) ในตอนกลางคืนเพื่อชะลอและผ่อนคลายก่อนเข้านอน หรือการฝึกหายใจ (ดู ซ้ายมือ) วางแผนวันเตรียมให้มีเวลาพักผ่อน สนุกสนาน และผ่อนคลายเพื่อท่านจะสดชื่นในสัปดาห์ที่จะมาถึง นอกเหนือจากกิจกรรมที่จำเป็น อาทิ ซื้อของและเขียนถึงคนทางบ้าน ลองทำกิจกรรมต่อไปนี้

    • กิจกรรมทางวัฒนธรรม เยี่ยมชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ หรือเทศกาลในท้องที่

    • กิจกรรมทางสังคม มีส่วนร่วมกับผู้อื่นในการเล่นกีฬา เกม ศิลปะ รับประทานอาหาร หรือเล่นดนตรีที่เหมาะสม

    • ใช้เวลาชมธรรมชาติ ไปสวนสาธารณะหรืออุทยานแห่งชาติหรือไปเดินป่า

    • พักผ่อนและไตร่ตรอง งีบหลับ ทำสมาธิ หรือเขียนความรู้สึกของท่าน

“แล้ว [พระเยซู] ตรัสกับ [สานุศิษย์ของพระองค์] ว่า มาเถิด จงปลีกตัวออกมาหาที่สงบเพื่อหยุดพักสักหน่อยหนึ่ง เพราะว่ามีคนไปมามากมาย จนไม่มีเวลาแม้แต่จะรับประทานอาหาร” (มาระโก 6:31)

“และจงดูว่าทำสิ่งทั้งหมดนี้ด้วยปัญญาและระเบียบ; เพราะไม่จำเป็นที่คนจะวิ่งไปเร็วเกินกำลังของตน.” (โมไซยาห์ 4:27)

การตอบรับต่อ “ภาวะเร่งด่วนจากความเครียด”

ภาวะเร่งด่วนจากความเครียดเกิดขึ้นเมื่อท่านเข้าไปสู่เขตสีส้มหรือสีแดงในทันที ถ้าท่านมีอันตรายทางร่างกายหรือทางอารมณ์ให้โทรหาประธานคณะเผยแผ่ในทันที ถ้าอยู่ในสถานการณ์อื่น พยายามทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หยุดพักสั้นๆ ถ้าท่านรู้สึกอารมณ์เสียหรือเครียดเกินไป จงหยุดพัก หายใจยาวๆ ช้าๆ เหยียดร่างกายและพักผ่อน เมื่อร่างกายและความคิดสงบลงอีกครั้งท่านจะสามารถคิดได้อย่างรอบคอบ เดินเล่นกับคู่ รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ หรือเพียงแค่นั่งคิดสองสามนาทีก็ได้

  • มีเมตตาต่อตนเอง พูดกับตนเองด้วยถ้อยคำปลอบประโลมอันอ่อนโยนที่ท่านจะใช้กับผู้อื่น ทุกคนรู้สึกสับสนหรือทำผิดพลาดบางครั้ง จงรู้ว่าพระเจ้าทรงเข้าพระทัย ให้จินตนาการว่าพระองค์ประทับอยู่ใกล้ท่าน ทรงฟังและประทานกำลังใจ จงจำไว้ว่า ความคิดที่ว่าหมดหนทาง ไร้ความหวัง คือคำติเตียนที่รุนแรงไม่ได้มาจากพระเจ้า

  • มุ่งเน้นไปที่ความสำนึกคุณ สังเกตสิ่งที่อยู่รอบข้างท่าน ให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม มองในแง่ดีเกี่ยวกับตนเองและโลกสักสองสามนาที สวดอ้อนวอนน้อมขอบพระทัยโดยเจาะจงบางสิ่งอย่างน้อยห้าข้อ

  • ทำไปทีละขั้น มองที่ปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ไขไปทีละขั้น เตือนตนเองว่า “สิ่งที่ฉันต้องทำในตอนนี้คือ ____” ตัวอย่างเช่น “สิ่งที่ฉันต้องทำในตอนนี้คือรอรถประจำทาง” หรือ “สิ่งที่ฉันต้องทำในตอนนี้คือค้นหาที่อยู่นี้”

  • ช่วยผู้อื่น ทุ่มเทพลังงานของท่านไปที่การรับใช้ผู้อื่น ยิ้มให้คนอื่น ช่วยเหลือพวกเขา และเสนอความช่วยเหลือ (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 183–184)

  • โต้แย้งต่อความคิดในแง่ลบ ตอนนี้หรือก่อนเข้านอน ให้เขียนความคิดในแง่ลบจากวันนี้ในกระดาษ แล้วเขียนความคิดนั้นใหม่ในเชิงที่ให้ความหวัง ตามความจริงและให้กำลังใจ (ดู ตัวอย่างด้านขวามือ)

ช่วยผู้สอนศาสนาคนอื่นที่เครียดมากเกินไป

  • สังเกตผู้สอนศาสนาที่กำลังประสบปัญหา ให้พวกเขาทราบว่าท่านเข้าใจว่าพวกเขากำลังประสบปัญหา ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าท่านจะทำงานกับพวกเขาและทำสิ่งนั้นด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ท่านสามารถประสบความสำเร็จด้วยกัน หากเหมาะสม แนะนำให้พวกเขาพักเป็นเวลาสั้นๆ เช่นเดินเล่นกับคู่ เปลี่ยนทิวทัศน์ หรือเปลี่ยนไปทำกิจกรรมที่ทำให้เครียดน้อยกว่าหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ สวดอ้อนวอนทูลขอความช่วยเหลือในใจหรือกับผู้สอนศาสนาคนนั้น

  • นึกถึงพันธสัญญาบัพติศมาของท่าน เราสัญญาว่า “เต็มใจจะแบกภาระของกันและกัน, เพื่อมันจะได้เบา; … และเต็มใจที่จะโศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; แท้จริงแล้ว, และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน, และยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา” (โมไซยาห์ 18:8–9) ประยุกต์ใช้พันธสัญญานี้โดย (1) แบ่งเบาภาระของผู้สอนศาสนา (2) แสดงความเห็นใจและปลอบโยน (3) เป็นพยานถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า

  • ถามคำถามสองสามข้อแต่อย่าบังคับให้ผู้สอนศาสนาพูด ลองถามว่า “คุณดูไม่มีความสุข เกิดอะไรขึ้น” หรือ “คุณเต็มใจจะเล่าให้ฟังไหมว่าเกิดอะไรขึ้น”

  • ฟังเพื่อทำความเข้าใจแล้วให้ความช่วยเหลือและกำลังใจ จนกว่าเขาจะรู้สึกว่าท่านเข้าใจเขา การให้คำแนะนำหรือเสนอทางแก้ไขมักจะไม่เกิดประโยชน์ ถามคำถามและช่วยให้บุคคลนั้นพบคำตอบของเขาเอง ขณะที่ท่านไม่ควรสวมบทบาทเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้สนใจหรือผู้สอนศาสนาที่เป็นเพศตรงข้ามแต่ท่านสามารถเป็นผู้ฟังที่เห็นอกเห็นใจผู้ที่ช่วยและสนับสนุนผู้สอนศาสนาคนอื่น (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 199–201)

    ภาพ
    Elder missionaries engaged in companion
  • จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ต้องตัดสินใจในตอนนี้ หลีกเลี่ยงประเด็นใหญ่ๆ (เช่น “ฉันไม่แน่ใจว่าฉันมีประจักษ์พยานไหม) และให้ความสำคัญกับการตัดสินใจเฉพาะหน้า ( “ตอนนี้ ขอให้เราตัดสินใจว่าเราจะรับมือกับบทเรียนถัดไปอย่างไร”) เสนอความช่วยเหลือ (“ฉันแสดงประจักษ์พยานได้ในตอนนี้”) เมื่อสิ่งต่างๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง ให้กลับมาที่ปัญหาใหญ่กว่าและมองหาวิธีแก้ปัญหา(“คุณคิดว่าประจักษ์พยานคืออะไร จะมีประจักษ์พยานได้อย่างไร คุณพยายามทำอะไร เราจะหาแนวคิดใหม่ๆ จากไหน) เตือนผู้สอนศาสนาว่าพระเจ้าจะทรงช่วยแก้ปัญหาเมื่อเวลาผ่านไปถ้าเราทำอย่างสุดความสามารถแล้วให้สิ่งนั้นขึ้นอยู่กับพระองค์

  • เตือนผู้สอนศาสนาถึงสิ่งที่เขาทำได้ดี (“ผมซาบซึ้งใจจริงๆ สำหรับความซื่อสัตย์สุจริตของคุณและการที่คุณปรารถนาจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้า”)

  • แสดงประจักษ์พยานของท่าน แสดงความเชื่อมั่นที่ท่านมีต่อความรักของพระผู้เป็นเจ้าและความเต็มใจที่จะช่วยเหลือ

  • ใช้ปัญญาขณะปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น ตำแหน่งของท่านศักดิ์สิทธิ์ จงทำตนให้น่าเชื่อถือ รักษาความลับ และอยู่กับคู่ของท่านตลอดเวลา

  • บอกให้ประธานคณะเผยแผ่ของท่านทราบถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น