การเรียกในคณะเผยแผ่
แหล่งช่วยสำหรับการจัดการ ความต้องการทางอารมณ์


แหล่งช่วยสำหรับการจัดการ ความต้องการทางอารมณ์

อารมณ์ที่รุนแรงเช่นซึมเศร้าหรือวิตกกังวลช่วยให้เรารู้ว่าเราเครียดมากเกินไป อ่าน “หลักธรรมโดยทั่วไปสำหรับการจัดการกับความเครียด” หน้า 17–22 เพื่อดูคำแนะนำทั่วไป นอกจากนี้ คำแนะนำด้านล่างอาจช่วยจัดการกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ

ภาพ
Four elder missionaries standing together talking.

ความรู้สึกคิดถึงบ้าน

  • ไม่ปล่อยให้มีเวลาว่าง โรคคิดถึงบ้านเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านไม่เคยจากบ้านบ่อยๆ ปล่อยให้ตนเองรู้สึกเศร้าสักสองสามนาทีจากนั้นลุกขึ้นมาวุ่นอยู่กับงาน วิธีดีที่สุดในการต่อสู้กับเรื่องนี้คือดึงความสนใจของท่านออกจากความกังวลหรือความสงสารตนเองโดยทำตัวให้วุ่นอยู่กับงานและรับใช้ผู้อื่น

  • นำของออกจากกระเป๋าและจัดของให้เข้าที่ อย่าดำเนินชีวิตโดยเก็บของไว้ในกระเป๋าเดินทาง จัดที่ส่วนตัว วางรูปภาพที่จะช่วยให้ท่านรู้สึกถึงพระวิญญาณและระลึกถึงเหตุผลที่ท่านต้องการรับใช้พระเจ้า ทำความสะอาดถังขยะและทำให้อพาร์ทเม้นท์เป็น “ของท่าน” ทำอาหารที่ท่านชอบ

  • จดรายการต่างๆ ที่ท่านยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง นึกถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว ความเข้มแข็งของท่าน และสิ่งที่ยังคงเหมือนเดิม ถึงแม้มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ตัวอย่างเช่น “ฉันมีอารมณ์ขัน คุณพ่อคุณแม่รักฉัน ฉันอยากรับใช้” เพิ่มสิ่งอื่นๆ ที่ท่านยังอยากทำถ้าท่านอยู่ที่บ้าน “ฉันยังตัดสินใจเองได้ ฉันยังเข้ากับคนอื่นได้ดี ฉันยังคงทำงานหนัก”

  • ทวบทวนเหตุผลที่ท่านออกมาทำงานเผยแผ่ ตั้งใจถวายงานเผยแผ่ของท่านให้เป็นของขวัญเพื่อน้อมขอบพระทัยพระผู้ช่วยให้รอด และเขียนพรของท่าน เตือนตนเองถึงสิ่งที่ผู้นำซึ่งสนับสนุนท่านหรือคนในครอบครัวที่ท่านรักจะบอกท่านเกี่ยวกับการรับใช้ของท่าน

  • ขอพรฐานะปุโรหิต

  • เก็บภาพที่ทำให้เสียสมาธิ เก็บภาพถ่ายหรือรูปภาพที่ทำให้ท่านเสียสมาธิไปจากความรู้สึกถึงพระวิญญาณหรือทำให้คิดถึงบ้าน ท่านอาจเลือกที่จะนำสิ่งเหล่านั้นออกมาอีกครั้งหลังจากท่านปรับตัวได้มากกว่านี้ ขอให้ครอบครัวเขียนหาท่านสัปดาห์ละครั้ง เฉกเช่นสานุศิษย์ของพระเยซูในสมัยโบราณ ท่านสามารถละ “แห” ไว้เบื้องหลัง (ดู มัทธิว 4:18–22) และจดจ่ออยู่กับงาน

  • อดทน โดยปกติการเริ่มปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่จะใช้เวลาประมาณหกสัปดาห์ อย่าเพิ่งตัดสินใจเรื่องใดก็ตาม และให้เวลาตนเองในการปรับตัว ทำงานไปทีละวัน (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 120)

ความรู้สึกซึมเศร้าหรือท้อแท้

  • ทบทวนพระคัมภีร์และเรื่องราวที่ยกระดับจิตใจ รวบรวมพระคัมภีร์ ประสบการณ์ส่วนตัว ถ้อยคำอ้างอิง และเรื่องราวของครอบครัวที่จะให้กำลังใจและยกระดับจิตวิญญาณท่าน เมื่อท่านอ่านเรื่องราวเหล่านี้ ให้นึกถึงชื่อของท่านแทนชื่อพวกเขา (ตัวอย่างเช่น: 2 นีไฟ 4; โมไซยาห์ 24:13–14; แอลมา 36:3; คพ. 4; 6; 31; สุภาษิต 3:5–6; ฮีลามัน 5:12; และ “ความยากลำบาก” ในแน่วแน่ต่อศรัทธา)

  • ทบทวนปิตุพรของท่านเพื่อการนำทาง มองหาวิธีที่ของประทานและจุดแข็งของท่านจะเอื้อประโยชน์ต่องาน

  • อย่าผัดวันประกันพรุ่ง การผัดผ่อนไม่ยอมทำสิ่งต่างๆ ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ แบ่งงานออกเป็นชิ้นย่อยๆ เริ่มต้นทำงาน เตือนตนเองว่า “สิ่งที่ฉันต้องทำในตอนนี้คือ ______” หรือ “ฉันจะทำสิ่งเหล่านี้สักสองสามนาทีและจากนั้นจะหยุดพักถ้าฉันต้องการ”

  • ฟังดนตรีหรือเพลงที่ได้รับอนุญาต เลือกดนตรีที่สงบเยือกเย็นถ้าท่านกำลังวิตกกังวล เลือกดนตรีที่มีจังหวะหรือรื่นเริงถ้าท่านรู้สึกหดหู่

  • อย่าปล่อยให้ความไม่พอใจพอกพูน ถ้าท่านรู้สึกไม่พอใจบางสิ่ง ขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิผู้อื่น ถ้าท่านไม่อยากพูดถึงสิ่งนั้นก็อย่าปล่อยให้ตนเองไม่พอใจ

  • ตั้งเป้าหมายที่เป็นจริงและวางแผนซึ่งเจาะจงวิธีที่ท่านจะทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ จัดการสิ่งที่ทำให้ท่านกังวลทีละอย่าง ความซึมเศร้าตอบสนองได้ดีต่อเป้าหมายและแผน (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, 159)

  • ปล่อยวางสิ่งที่ท่านควบคุมไม่ได้ อดีต สิทธิ์เสรีของผู้อื่น กฎ ดินฟ้าอากาศ การปกครองของรัฐบาล วัฒนธรรม ขีดจำกัดของท่าน หรือลักษณะนิสัยของผู้สอนศาสนาคนอื่นอยู่นอกเหนือการควบคุมของท่าน ให้ความสำคัญแก่สิ่งที่ท่านทำได้ เช่นพฤติกรรมของท่าน สัมพันธภาพในส่วนของท่าน การเลือกปัจจุบันของท่าน และเจตคติของท่าน

  • ยอมรับความเป็นจริงของกิจวัตรบางอย่างที่น่าเบื่อ ใช่ว่าชีวิตทุกด้านจะมีความหมายลึกซึ้งและน่าตื่นเต้น หลีกเลี่ยงการทำเรื่องเร้าใจ รุนแรง หรือขัดแย้งเพื่อรับมือกับความเบื่อ แทนที่จะทำเช่นนั้น ควรสำนึกคุณและชื่นชมสิ่งดีๆ ที่อยู่รอบข้างท่าน มองหาโอกาสปรับปรุงและรับใช้

  • หาสิ่งที่ทำให้ชื่นบาน ขณะที่ยังเคารพศักดิ์ศรีในการเรียกของท่าน ขอให้ท่านค้นพบอารมณ์ขัน ชื่นชมความสวยงามในโลก สังเกตความเมตตาของผู้อื่น และเบิกบานในการประทับอยู่ของพระวิญญาณ

  • ทำสิ่งพื้นฐาน ได้แก่ สวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ และรับใช้ จดจ่อที่ความสำนึกคุณ เมื่ออ่านพระคัมภีร์ ให้ตั้งใจมุ่งเน้นสิ่งที่จะประยุกต์ใช้ได้มากที่สุดกับท่าน ตัวอย่างเช่น อย่าจดจ่อมากเกินไปกับเรื่องที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระพิโรธต่อคนบาปถ้าท่านมีแนวโน้มว่าเป็นคนสมบูรณ์แบบ (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, viii )

  • อ่านแอลมา 26 และค้นหาสิ่งที่แอมันทำเมื่อเขาท้อแท้ อ่านหลักคำสอนและพันธสัญญา 127:2 ด้วยและสังเกตว่าโจเซฟ สมิธช่วยให้ตนเองพ้นจากความท้อแท้ได้อย่างไร อย่ากังวลเกี่ยวกับการซึมเศร้าซึ่งจะสร้างวัฏจักรที่ผิดพลาด เป็นเรื่องธรรมดาที่บางวันเราจะรู้สึกท้อแท้ เครียด หรือคิดถึงบ้าน ส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกเหล่านี้จะผ่านพ้นไป

ค.

ความรู้สึกตำหนิตนเอง

  • มุ่งเน้นสิ่งที่ท่านทำถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น คนที่ตั้งความหวังสูงมีแนวโน้มที่จะจดจ่ออยู่กับความอ่อนแอและความล้มเหลวของตนเอง จากนั้น แทนที่จะปรับปรุงพวกเขาอาจรู้สึกสิ้นหวัง เมื่ออ่านพระคัมภีร์ให้มุ่งเน้นส่วนที่ประยุกต์ใช้กับท่านได้มากที่สุดในฐานะผู้รับใช้ซึ่งเป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้า มองหาหลักฐานของความอดทน พระคุณ ความหวัง และพระเมตตาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อผู้ที่รักและปรารถนาจะรับใช้พระองค์ (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 10–11)

  • พูดถึงตนเองในทางที่ดี ดู “ตอบโต้ความคิดในแง่ลบ” หน้า 21

  • ตระหนักว่าทุกสิ่งที่ท่านทำไม่สามารถดีเกินระดับปกติ ท่านจะยังคงต้องการทำงานหนักเพื่อปรับปรุง แต่ไม่ว่าท่านจะทำบางอย่างได้ดีเพียงไร ท่านจะทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติในบางครั้ง นี่ไม่ใช่สาเหตุที่ต้องวิตก

  • ชมเชยตนเองเป็นพิเศษเมื่อต้องทำบางสิ่งที่ท่านไม่ชอบหรือทำได้ไม่ดี อย่าบอกตนเองว่าใช้ได้เท่านั้นถ้าท่านมีความสุขหรือท่านทำได้ดีมาก

  • ทำงานกับเป้าหมายสำคัญหนึ่งหรือสองอย่าง หลีกเลี่ยงธรรมเนียมปฏิบัติที่พยายามปรับปรุงหลายอย่างพร้อมกันทีเดียว การทำเช่นนี้อาจทำให้ท่านรู้สึกหนักใจและนำไปสู่ความล้มเหลว

  • ฟังพระวิญญาณ ไม่ใช่ทัศนะในทางลบ ถ้าท่านกำลังมีความคิดดูถูก เยาะเย้ย โกรธ ประชดประชัน พร่ำบ่น วิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งฉายาให้ใครก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ได้มาจากพระเจ้า จงปิดกั้นสิ่งเหล่านั้น

  • แสวงหาคำแนะนำที่ดี ขอประธานคณะเผยแผ่ของท่านและคนอื่นๆ ช่วยให้ท่านรู้ว่าท่านพยายามมากพอหรือมากเกินไปและยอมรับคำแนะนำของพวกเขา คนที่ชอบตำหนิตนเองหลายคนแยกแยะสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยออก

ความรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่คู่ควร

  • สนุกกับการเป็นมือใหม่เมื่อท่านเริ่มทำสิ่งใหม่ ท่านไม่ได้ถูกคาดหวังให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ การมีความสงสัย สนใจ อ่อนน้อมถ่อมตน และเต็มใจจะลองทำก็เพียงพอแล้ว ขอให้มีความสุข!

  • ทำสิ่งที่ท่านทำได้อย่างร่าเริงและให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทำส่วนที่เหลือ บางครั้งผู้สอนศาสนารู้สึกไร้ค่าหรืออับอายเมื่อคนอื่นดูจะประสบความสำเร็จมากกว่า ถ้าซาตานพยายามล่อลวงให้ท่านสงสัยตนเองหรือเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น จำไว้ว่านี่คืองานของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเลือกคนอ่อนแอและคนธรรมดาให้ทำงานนี้ พระองค์ทรงเลือกท่าน จงวางใจพระองค์ พระองค์วางพระทัยท่าน

  • นึกถึงความสำเร็จ ความกังวลอาจเป็นวิธีหนึ่งของการฝึกความคิดให้ล้มเหลว แทนที่จะฝึกความคิดว่าจะเกิดความผิดพลาดอะไรหรือกังวลอยู่ตลอดว่า “จะเป็นอย่างไร” ฝึกให้นึกถึงผลลัพธ์ในแง่ดีและวางแผนเพื่อให้ประสบความสำเร็จ จากนั้นถ้าสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปอย่างที่ท่านหวัง ให้นึกว่าท่านกำลังเรียนรู้จากความล้มเหลวและก้าวไปข้างหน้า

  • อย่าพยายามควบคุมสิ่งที่ท่านทำไม่ได้ การพยายามควบคุมสิ่งที่ท่านควบคุมไม่ได้จะทำให้ท่านยิ่งรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมอะไรได้ และเพิ่งความกังวลให้ท่าน จงทุ่มเทพลังงานทำสิ่งที่ท่านทำได้

  • ถาม “ผลลัพธ์อันเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคืออะไร” ถ้าผลลัพธ์อันเลวร้ายที่สุดคือบางสิ่งที่ทำให้ท่านยังดำเนินชีวิตได้หรือบางสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยให้ท่านเอาชนะได้ ทำต่อไปโดยไม่ต้องกลัว

  • พยายามทำอะไรให้ช้าลง 10 เปอร์เซ็นต์ถ้าท่านมีแนวโน้นว่าเร่งรีบมาก ท่านอาจจะทำงานได้มีประสิทธิผลมากขึ้นถ้าท่านสงบลงกว่าเดิม

  • รับใช้ ขณะที่ท่านรับใช้คู่ของท่าน ผู้สนใจ สมาชิก เพื่อนบ้าน หรือคนยากไร้และคนขัดสน ท่านจะนึกถึงตนเองน้อยลงและมีความสุขมากขึ้น (ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา, หน้า 183–184)

รู้สึกหงุดหงิดหรือโกรธง่าย

  • ให้เวลาสมองของท่านควบคุมอารมณ์ของท่าน ส่วนของสมองที่ใช้เหตุผลและมีวิจารณญาณที่ดีช้ากว่าส่วนของสมองที่โกรธ ออกไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสักสองสามนาที และหายใจยาวๆ เพื่อให้เวลาสมองส่วนเหตุผลได้ทำงาน

  • อย่าเพิ่มเชื้อให้ความโกรธ ผู้คนมักจะรู้สึกโกรธเมื่อพวกเขาเลือกจะมองผู้อื่นว่าเป็น (1) การคุมคาม (2) อยุติธรรม หรือ (3) ขาดความเคารพ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ดูว่าท่านจะนึกถึงคำอธิบายที่เป็นจิตกุศลกว่านี้สำหรับพฤติกรรมของพวกเขาได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น บางทีพวกเขาอาจจะเหนื่อย ไม่ได้รับข้อมูล รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือคิดว่าพวกเขามีประโยชน์ เลือกที่จะไม่เติมเชื้อไฟให้ความโกรธ

  • จงสงบ สงสัยใคร่รู้ และมีใจกรุณา สงสัยใคร่รู้ในความคิดความรู้สึกของผู้อื่น ถามคำถาม ตั้งใจฟัง บอกผู้อื่นถึงสิ่งที่ท่านคิด ท่านได้ยินมา และถามว่าท่านเข้าใจถูกไหม ถ้าไม่ พยายามอีกครั้ง

  • ต่อต้านนิสัยที่จะตำหนิติเตียน หรือทำให้ผู้อื่นหรือตนเองอับอาย แทนที่จะทำเช่นนั้น ให้หาว่าปัญหาคืออะไรและขอให้คนอื่นช่วยแก้ปัญหา ไม่ว่าใครจะเป็นคนผิด

  • เต็มใจขอโทษและถามว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง การขอโทษเป็นเครื่องหมายของความเข้มแข็งทางวิญญาณ ไม่ใช่เครื่องหมายของความอ่อนแอ

  • ยิ้มและเต็มใจหัวเราะตนเอง มองดูกระจกว่าท่านมีหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อท่านโกรธ

  • รับใช้ผู้ที่ท่านมีแนวโน้มว่าจะขุ่นเคือง ประยุกต์ใช้คำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอด “จงรักศัตรูของเจ้า, จงอวยพรคนที่สาปแช่งเจ้า, จงทำดีต่อคนที่เกลียดเจ้า, และสวดอ้อนวอนให้คนที่ใช้เจ้าอย่างดูหมิ่นและข่มเหงเจ้า;” (3 นีไฟ 12:44)

  • ดูแลตนเองให้ดี แน่ใจว่าท่านรับประทานอาหารได้ดี นอนหลับ ออกกำลังกาย และสวดอ้อนวอนเพื่อท่านจะมีแหล่งช่วยทางอารมณ์เพื่อรับมือกับความคับข้องใจ

รู้สึกเหนื่อยอ่อนหรือหมดแรงจูงใจ

  • มุ่งเน้นข้อดีของท่าน ท่านมีคุณค่า พรสวรรค์ ประสบการณ์ และของประทานอะไรบ้างที่ท่านนำมาสู่คณะเผยแผ่ สัปดาห์นี้ท่านจะใช้ข้อดีเหล่านั้นในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างไร ถ้าท่านมีปัญหาในการมองเห็นข้อดีของท่าน ขอให้ผู้อื่นช่วยบอก

  • ทำไปทีละขั้น เตือนตนเองว่า “สิ่งที่ฉันต้องทำในตอนนี้คือ ______”

  • ทำให้สนุก ขณะที่ยังเคารพศักดิ์ศรีในการเรียกของท่าน ตั้งเป้าหมายที่น่าสนใจด้วยตนเอง และแข่งขันให้บรรลุเป้าหมาย ใช้ความคิดสร้างสรรค์และฉลองกับตนเองเมื่อประสบความสำเร็จ

  • อย่าตั้งเป้าหมายส่วนตัวหลายอย่างมากเกินไปในคราวเดียว ตั้งเป้าหมายส่วนตัวหนึ่งหรือสองอย่างในแต่ละครั้ง (เช่นร่าเริงมากขึ้นหรือเป็นระเบียบมากขึ้น) อย่างคาดหวังความสมบูรณ์แบบ และวางแผนที่จะช่วยให้ท่านกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้งเมื่อท่านมีวันโชคร้าย เตือนตนเองบ่อยๆ ว่าเหตุใดท่านจึงต้องการเปลี่ยน

  • บอกเป้าหมายของท่านให้คู่และประธานคณะเผยแผ่ทราบ พวกเขาสามารถสนับสนุนและให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อท่านได้

  • ตระหนักว่าแรงจูงใจเกิดขึ้นหลังจากลงมือทำ การเริ่มต้นมักเป็นส่วนที่ยากที่สุด บอกตนเองว่า “ทำแค่ 10 นาที” เมื่อท่านต้องเริ่มทำบางอย่างที่ไม่อยากทำ หลังจากท่านเริ่มทำแล้วท่านจะรู้สึกว่ามีแรงจูงใจมากขึ้น

ห่วงใยคนในครอบครัวที่ท่านรัก

  • ศึกษาหลักคำสอนและพันธสัญญา 31:1–6 ในยุคต้นๆ ของศาสนจักร ผู้สอนศาสนาได้รับเรียกให้จากคนที่พวกเขารักไปในสภาพการณ์ที่ยากลำบาก สวดอ้อนวอนอุทิศถวายพรจากการรับใช้ของท่านให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ท่านรัก ให้เกียรติพวกเขาโดยการรับใช้พระเจ้าอย่างสุดใจ วางใจว่าพระเจ้าจะประทานพรท่านและพวกเขาตามเวลาและพระประสงค์ของพระองค์

  • เขียนถึงครอบครัวท่านทุกสัปดาห์ แบ่งปันประจักษ์พยาน ประสบการณ์และเรื่องราวที่ดีของท่าน บอกพวกเขาบ่อยๆ เมื่อท่านเห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าในชีวิตท่าน สวดอ้อนวอนให้พวกเขา จำวันเกิดและเหตุการณ์พิเศษ

  • คาดหวังว่าจะมีการท้าทายบางอย่างมาถึงคนที่ท่านรัก การท้าทายส่วนใหญ่นี้จะเกิดขึ้นไม่ว่าท่านจะรับใช้งานเผยแผ่หรือไม่ คนที่ท่านรักมีสิทธิ์เสรีและอาจตัดสินใจในสิ่งที่ทำให้ท่านกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านเคยเป็นผู้นำหรือผู้ไกล่เกลี่ยที่บ้าน สิ่งนี้อาจเป็นพรให้ชีวิตพวกเขาที่ต้องแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เคารพการเลือกของพวกเขา แสดงความรักและความเชื่อมั่นในคนที่ท่านรักต่อไป

รู้สึกอ้างว้าง

  • ใส่ใจผู้อื่น ถามว่าพวกเขารับมือกับความอ้างว้างอย่างไร ถามถึงประสบการณ์และความรู้สึกของพวกเขาเพื่อท่านจะเข้าใจพวกเขามากขึ้น

  • แบ่งปันมากขึ้น เรารู้สึกอ้างว้างเมื่อเรารู้ว่าไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีใครเห็นคุณค่าว่าแท้ที่จริงเราเป็นใคร

  • เขียนบันทึกประจำวันของท่านอย่างน้อยการเขียนบันทึกจะช่วยให้เป็นที่เข้าใจด้วยตัวท่านเอง

  • นิยามคำว่า “อ้างว้าง” นิยามว่าความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมใดของท่านที่เข้ากับนิยามนี้ จากนั้น บรรยายถึงสิ่งเหล่านี้อย่างเจาะจง