สถาบัน
บทที่ 7 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: พลังความเข้มแข็งของพระเยซูคริสต์


“บทที่ 7 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: พลังความเข้มแข็งของพระเยซูคริสต์” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (2021)

“บทที่ 7 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” สื่อการเรียนการสอนสำหรับครูเกี่ยวกับคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน

บทที่ 7 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน

พลังความเข้มแข็งของพระเยซูคริสต์

ภาพ
พระ‍หัตถ์​ของ​พระ‍องค์​​ยังคง​เหยียด​ออกมา โดย เอลิซาเบ็ธ เธเยอร์

ไตร่ตรองเป็นเวลาหนึ่งนาทีเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ท่านประสบปัญหาทางกาย ทางจิตใจ ทางอารมณ์ หรือทางวิญญาณ นึกถึงวิธีที่ทำให้ท่านรู้สึกอ่อนแอหรือไม่ดีพอ ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “เนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีฤทธานุภาพที่จะช่วย—บรรเทา—ความเจ็บปวดและความทุกข์ในมรรตัยทุกอย่าง” (“จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 62) ขณะที่ท่านศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ให้พิจารณาว่าพระเจ้าทรงช่วยอย่างไรและจะทรงช่วยต่อไปอย่างไรให้ท่านอดทนต่อความเจ็บปวดและเอาชนะความอ่อนแอในชีวิตท่าน

หมวดที่ 1

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยฉันเกี่ยวกับความเจ็บปวดและความทุกข์ของฉันได้อย่างไร?

ประธานแทด อาร์. คอลลิสเตอร์ อดีตประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญ ได้กล่าวถึงความกว้างของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดในรูปแบบต่อไปนี้:

ภาพ
ประธานแทด อาร์. คอลลิสเตอร์

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ … ทำให้เราสามารถกลับไปสู่ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า เป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น และได้รับความบริบูรณ์แห่งปีติ ทำได้โดยการมีชัยชนะเหนืออุปสรรคสี่ประการ

  1. ความตายทางร่างกาย

  2. ความตายทางวิญญาณอันเกิดจากอาดัมและบาปของเรา

  3. ความเจ็บปวดและความทุพพลภาพของเรา

  4. ความอ่อนแอและความไม่ดีพร้อมของเรา

(“การชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 85)

ในบทที่ 6 “การชดใช้อันไม่มีขอบเขตของพระเยซูคริสต์” เราจัดการกับอุปสรรคสองข้อแรก ตอนนี้เรามาพิจารณากันว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเอาชนะอุปสรรคที่สามและสี่ได้อย่างไร

ประมาณ 83 ปีก่อนคริสตกาล แอลมาผู้บุตรลาออกจากการเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา เพื่อที่เขาจะสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าไปทั่วทั้งแผ่นดิน ในเมืองกิเดียน แอลมาพยากรณ์ว่าพระผู้ไถ่จะประสูติบนแผ่นดินโลกและอยู่ท่ามกลางผู้คนของพระองค์ และพระองค์จะทรงประสบความเจ็บปวด ความทุกข์ และการล่อลวงของความเป็นมรรตัยทั้งหมด

ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน แอลมา 7:11–12 และมองหาเหตุผลที่พระเยซูคริสต์ทรงนำประสบการณ์มรรตัยมาสู่พระองค์เอง

ภาพ
พระคริสต์ในเกทเสมนี โดย ไฮริค ฮอฟแมนน์

จากคำสอนอันเป็นเอกลักษณ์ของพระคัมภีร์มอรมอน อธิการควบคุมเจราลด์ คอสเซกล่าวว่า:

ภาพ
อธิการเจราลด์ คอสเซ

นอกจากทรงแบกรับภาระบาปของเราแล้ว พระคริสต์ยังทรงรับเอาความโทมนัส ความทุพพลภาพ ความเจ็บปวด และความป่วยไข้ ตลอดจนความทุกข์ทั้งหมดที่มากับสภาพความเป็นมรรตัยของมนุษย์ไว้กับพระองค์ ไม่มีความรวดร้าว ไม่มีความเจ็บปวด หรือความโศกเศร้าใดๆ ที่พระองค์ไม่ทรงทนทุกข์เพื่อเรา [ดู แอลมา 7:11–12] (“พยานที่มีชีวิตของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 39)

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้:

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

ในชั่วขณะของความอ่อนแอเราอาจร้องว่า “ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่มีใครเข้าใจ” แต่พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบและเข้าพระทัยดี เพราะทรงรู้สึกและทรงแบกภาระของเราแต่ละคน เพราะการพลีพระชนม์ชีพอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ของพระองค์ (ดู แอลมา 34:14) พระองค์จึงเข้าพระทัยความรู้สึกได้อย่างถ่องแท้และทรงยื่นพระพาหุแห่งความเมตตามาให้เราได้ พระองค์ทรงเอื้อมมาสัมผัส ช่วยเหลือ เยียวยา และเพิ่มพละกำลังให้เราได้มากกว่าที่เราจะทำได้ ทรงช่วยให้เราทำสิ่งที่เราไม่อาจทำได้โดยอาศัยเพียงพลังของเราเอง (“ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 90)

ภาพ
ผู้หญิงกำลังครุ่นคิด
ภาพ
ไอคอน บันทึก

บันทึกสิ่งที่ท่านคิด

การที่ท่านทราบว่าพระผู้ช่วยให้รอดเข้าพระทัยความเจ็บปวดและความทุพพลภาพทั้งหมดของท่านอย่างสมบูรณ์จะช่วยท่านได้อย่างไร? ท่านรู้สึกว่าพระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาหา ปลอบโยน หรือเสริมสร้างท่านขณะที่ท่านประสบความท้าทายในชีวิตท่านเมื่อใด?

หมวดที่ 2

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยเหลือฉันเกี่ยวกับความอ่อนแอและความไม่สมบูรณ์ของฉันได้อย่างไร?

ในฐานะผู้เขียนคนสุดท้ายของพระคัมภีร์มอรมอน โมโรไนได้รวมการย่อความแผ่นจารึกของอีเธอร์ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องราวของชาวเจเร็ดและข้อความของพี่ชายเจเร็ด โมโรไนทึ่งในพลังจากข้อความของพี่ชายเจเร็ด และแสดงความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอที่เขารับรู้ได้ในงานเขียนของตนเองและในงานเขียนของศาสดาพยากรณ์คนอื่นๆ ในพระคัมภีร์มอรมอน

ภาพ
โมโรไนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ
ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน อีเธอร์ 12:23–27 และพิจารณาว่าโมโรไนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความไม่ดีพอของตน ไตร่ตรองว่าการตอบสนองของพระเจ้าจะเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร

ซิสเตอร์มิเชลล์ ดี. เครก ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญ สอนเกี่ยวกับการนำความอ่อนแอและความไม่ดีพร้อมของเราไปยังมุมมองนิรันดร์ว่า:

ภาพ
ซิสเตอร์มิเชลล์ ดี. เครก

แน่นอน เราทุกคนจะไปไม่ถึงศักยภาพแห่งสวรรค์ของเรา และมีความจริงในการตระหนักได้ว่าเราไม่ดีพร้อมหากเราทำ คนเดียว แต่ข่าวประเสริฐของพระกิตติคุณคือด้วยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า เรา จะ ดีพอ …

ความจริงที่น่าอัศจรรย์คือว่าความอ่อนแอของเราสามารถเป็นพรได้เมื่อทำให้เรานอบน้อมถ่อมตนและหันไปหาพระคริสต์ …

ปาฏิหาริย์ของพระเยซูมักจะเริ่มต้นที่ความต้องการ ความขัดสน ความล้มเหลวหรือความบกพร่อง (“ความไม่พอใจอย่างพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 54)

ภาพ
ไอคอน ไตร่ตรอง

ไตร่ตรองเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

ท่านเคยเห็นความอ่อนแอกลายเป็นพรด้วยความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่านหรือในชีวิตคนที่ท่านรู้จักเมื่อใด?

หมวดที่ 3

ฉันสามารถอัญเชิญพระคุณของพระเจ้าเข้ามาสู่ชีวิตฉันอย่างสมบูรณ์มากขึ้นได้อย่างไร?

ในงานเขียนของเขา นีไฟเป็นพยานว่าโมเสสนำลูกหลานอิสราเอลให้พ้นจากการเป็นเชลยด้วยเดชานุภาพและพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า นีไฟเขียนว่า “ดังที่พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์อยู่, ไม่มีนามอื่นใดประทานมาให้ภายใต้ฟ้าสวรรค์นอกจากจะเป็นพระเยซูคริสต์องค์นี้ … ซึ่งโดยพระนามนี้มนุษย์จะรับการช่วยให้รอดได้” (2 นีไฟ 25:20) นีไฟสอนผู้คนของเขาว่ามีเพียงพระคุณของพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่จะช่วยพวกเขาให้รอดได้ ไม่ใช่การเชื่อฟังกฎของโมเสสเพียงอย่างเดียว พระคุณคือ “ความช่วยเหลือหรือพลังจากสวรรค์ ประทานผ่านพระเมตตาและความรักมากมายของพระเยซูคริสต์” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระคุณ”)

ภาพ
พระคริสต์เสด็จเยือนชาวนีไฟ โดย มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ต
ภาพ
ไอคอน ศึกษา

ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าชั้นเรียน

อ่าน 2 นีไฟ 25:23, 29 มองหาบทบาทของท่านในการอัญเชิญพระคุณของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตท่าน

วลี “หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” (2 นีไฟ 25:23) อาจรู้สึกหนักใจ พิจารณาว่าคำกล่าวต่อไปนี้จากสมาชิกสองท่านแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสามารถช่วยให้เราเข้าใจความหมายของวลีนี้ได้อย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

เราไม่จำเป็นต้องมีความสามารถหรือความดีในระดับต่ำสุดระดับหนึ่งก่อนที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเหลือ—เรารับความช่วยเหลือจากสวรรค์นั้นได้ทุกโมงยามของทุกวัน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนบนเส้นทางแห่งการเชื่อฟัง แต่ข้าพเจ้ารู้ว่านอกเหนือจากการปรารถนาความช่วยเหลือของพระองค์ เราต้องออกแรง กลับใจ และเลือกพระผู้เป็นเจ้าเพื่อพระองค์จะทรงสามารถกระทำในชีวิตของเราให้สอดคล้องกับความยุติธรรมและสิทธิ์เสรีทางศีลธรรม (ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เป็นอิสระตลอดกาล เพื่อกระทำด้วยตนเอง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 19)

ภาพ
เอ็ลเดอร์อูลิส์เสส ซวาเรส

โดยผ่านพระคุณของพระองค์ พระเจ้าจะทรงช่วยเราแต่ละคนแบกกางเขนของเราและทำให้ภาระของเราเบาลง … โปรดอย่ายอมแพ้หลังจากเกิดความล้มเหลวและคิดว่าตัวท่านไม่สามารถทิ้งบาปและเอาชนะการเสพติดได้ ท่านมิอาจเลิกพยายามและอยู่ในความอ่อนแอกับบาปต่อไปได้! จงพยายามทำสุดความสามารถเสมอ โดยแสดงให้เห็นผ่านงานของท่านว่าท่านปรารถนาจะชำระล้างภาชนะภายในให้สะอาดตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน บางครั้งวิธีแก้ปัญหาบางอย่างมีมาหลังจากความพยายามต่อเนื่องหลายเดือน สัญญาในพระคัมภีร์มอรมอนที่ว่า “โดยพระคุณนั่นเองที่เราได้รับการช่วยให้รอด, หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” [2 นีไฟ 25:23] นำมาใช้ได้ในสภาวการณ์เหล่านี้ โปรดจำไว้ว่าของประทานแห่งพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอด “ไม่จำกัดเฉพาะ ‘หลังจาก’ เราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้วเท่านั้น เราอาจได้รับพระคุณก่อน ระหว่าง และหลังจากที่เราเพิ่มความพยายาม” [ดู Bruce C. Hafen, The Broken Heart: Applying the Atonement to Life’s Experiences (1989), 155–156] (อูลิส์เสส ซวาเรส, “แบกกางเขนของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 113–114)

ภาพ
ไอคอน สนทนา

แบ่งปันการเรียนรู้ของท่าน

ท่านอาจแบ่งปันสิ่งท่านเรียนรู้เกี่ยวกับวลี “โดยพระคุณนั่นเองที่เราได้รับการช่วยให้รอด, หลังจากเราทำทุกสิ่งจนสุดความสามารถแล้ว” (2 นีไฟ 25:23) กับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว ท่านคิดว่าท่านจะสามารถเชื้อเชิญพลังความเข้มแข็งของพระผู้ช่วยให้รอดมาสู่ชีวิตของท่านมากขึ้นได้อย่างไร เพื่อช่วยแก้ไขจุดอ่อนหรือความไม่ดีพอบางประการในปัจจุบันของท่าน?