2016
จงตามเรามา: สอนพื้นฐานที่บ้าน
มกราคม 2016


จงตามเรามา: สอน พื้นฐานที่บ้าน

ตอน 1

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

หลักสูตรวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน—จงตามเรามา—สอนหลักคำสอนพื้นฐานของพระกิตติคุณเดือนละหัวข้อ ต่อไปนี้เป็นวิธีเรียนรู้หลักธรรมคำสอนเหล่านั้นกับครอบครัวของท่าน

ภาพ
Family studying scriptures together in Cochabamba, Bolivia.

ขณะนั่งสังสรรค์ในครอบครัว คุณแม่เริ่มโดยถามลูกสองคนว่า “ลูกรู้สึกว่าได้รับการนำทางจากพระวิญญาณเมื่อใด”

ลูกสาววัย 17 ปีของเธอบ่นว่า “เดือนนี้หนูเรียนเรื่องพระวิญญาณมาสามครั้งแล้วนะคะ”

“ดีเลยจ้ะ ลูกจะช่วยได้มาก” คุณพ่อตอบ ทุกคนเงียบกริบเมื่อคุณพ่อกับคุณแม่นั่งรออย่างอดทนขณะลูกๆ ใคร่ครวญคำถาม

ในที่สุดลูกชายวัย 14 ปีก็เล่าประสบการณ์จากโรงเรียนวันนั้น

“ใช่เลย” คุณแม่ตอบ “นั่นทำให้แม่นึกถึงนีไฟทำตามพระวิญญาณเมื่อท่านไม่รู้ว่าจะไปเอาแผ่นจารึกจากเลบันอย่างไร”

ลูกสาวของเธอเล่าว่าเธอทำตามการกระตุ้นเตือนให้พูดกับหญิงสาวที่ดูเหงาๆ บนรถประจำทาง คุณพ่อชมเชยการตัดสินใจของเธอและเล่าประสบการณ์ที่เขาได้จากที่ทำงาน

พวกเขาจบการสนทนาโดยร้องเพลง “ให้พระวิญญาณทรงนำ” (เพลงสวด บทเพลงที่ 64)

วิธีสอนที่เรียบง่าย—เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับหลักคำสอนนี้—ทำให้การสังสรรค์ในครอบครัวประสบความสำเร็จ

บทความนี้ให้ตัวอย่างชีวิตจริงว่าผู้คนเรียนรู้หลักธรรมในหลักสูตรเยาวชนวันอาทิตย์ที่เรียงตามเดือนอย่างไร แน่นอนว่าตัวอย่างเหล่านี้ไม่ใช่วิธีเรียนรู้หลักคำสอนเหล่านี้เพียงวิธีเดียว ท่านสามารถแสวงหาการดลใจเพื่อให้รู้ความต้องการของครอบครัวท่าน

มกราคม พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์

สมาชิกในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์—พระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์—เป็นพระอติรูปสามพระองค์แยกจากกันแต่เป็นหนึ่งเดียวในจุดประสงค์และรัศมีภาพ

เยาวชนหญิงคนหนึ่งพูดถึงการเรียนเรื่องพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ดังนี้ “สำคัญต่อดิฉันที่สามารถรู้ด้วยตนเองว่าพระบิดาบนสวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอด และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นองค์สัตภาวะแยกจากกันและเจริญรอยตามกันในความเป็นหนึ่งเดียวกัน ดิฉันรับรู้ด้วยความสำนึกคุณว่าดิฉันสามารถเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าได้เพราะพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ไม่ใช่สสารที่ไม่แน่ชัดและเข้าใจไม่ได้แต่ทรงเป็นองค์สัตภาวะสูงส่งผู้ทรงรัก อวยพร นำทาง และรู้จักดิฉัน”

เพื่อสอนหลักคำสอนนี้ ท่านอาจจะลองสนทนาคำถามเช่น “เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์เกี่ยวกับการทรงงานด้วยกันในความเป็นหนึ่งเดียวกัน” หรือ “เราจะสามารถกระชับความสัมพันธ์ของเรากับสมาชิกในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ได้อย่างไร”

การเปรียบเทียบ ยอห์น 10:30 กับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:43 อาจกระตุ้นให้เกิดการสนทนาที่ดีและให้ข้อคิดเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวกัน

กุมภาพันธ์ แผนแห่งความรอด

แผนแห่งความรอดตอบคำถามพื้นฐานที่สุดของมนุษย์เช่น “ฉันเป็นใคร” และ “จุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร” การถามคำถามของเราเองและการค้นหาคำตอบสามารถเป็นวิธีที่ช่วยให้เรียนรู้เกี่ยวกับแผนแห่งความสุขของพระบิดาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น เยาวชนชายคนหนึ่งเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์ของเขาโดยถามว่า “คุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าเทียบกับคุณลักษณะที่ผมมีในชีวิตก่อนเกิด ที่ผมมีตอนนี้ และที่ผมหวังว่าจะมีในชีวิตหน้าอย่างไร” เขาจดคำตอบของคำถามเหล่านี้เมื่อเขาพบคำตอบในพระคัมภีร์และใช้สอนคนอื่นๆ เกี่ยวกับแผนแห่งความรอด

ลูกๆ ของท่านมีคำถามอะไรเกี่ยวกับแผนแห่งความรอด

มีนาคม การชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เราไม่เพียงเรียนเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เท่านั้นแต่เรียนเรื่องความหวังอย่างจริงใจของพระผู้ช่วยให้รอดด้วยว่าเราจะใช้การชดใช้ของพระองค์ในชีวิตเราอย่างไร

เพราะเราทุกคนโดดเดี่ยว ทำผิดพลาด และต้องการความเข้มแข็ง เราทุกคนจึงต้องเข้าใจและใช้การชดใช้ให้มากขึ้น ผู้ให้คำปรึกษาเยาวชนหญิงใช้วีดิทัศน์ช่วยให้ชั้นเรียนของเธอเข้าใจการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ของเยาวชนหญิงคนหนึ่ง

“เรากำลังดูเรื่อง ‘ไม่มีใครอยู่กับพระองค์’ (วีดิทัศน์ LDS.org) ขณะเสียงฟลุตบรรเลงท่วงทำนองเศร้า เสียงของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า ‘คำปลอบขวัญที่ดีมากอย่างหนึ่งของเทศกาลอีสเตอร์ปีนี้คือว่า เพราะพระเยซูทรงดำเนินบนเส้นทางอันโดดเดี่ยวยาวไกล เรา จึงไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น’

“ดิฉันรู้สึกละอายใจที่เรียกร้องการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด แต่ดิฉันรู้สึกถึงพระวิญญาณแรงกล้า และหวังว่าการชดใช้ของพระองค์จะปัดเป่าความรู้สึกผิดของดิฉัน พระเจ้าทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อดิฉัน พระองค์ไม่เสียพระทัยที่ทำเช่นนั้น และดิฉันจะไม่เสียใจเช่นกัน”

เพราะการชดใช้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดของความรอดของเรา เราจึงต้องสอนและเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ บางทีท่านอาจจะได้รับการนำทางให้สนทนาพระคัมภีร์หรือประจักษ์พยานของอัครสาวก เช่น “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” (เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) ท่านอาจสนทนาคำถามเช่น “ท่านเคยรู้สึกถึงอำนาจการเยียวยา การเพิ่มพลัง หรือพลังการไถ่ของการชดใช้เมื่อใด”

เมษายน สมัยการประทาน การละทิ้งความเชื่อ และการฟื้นฟู

ภาพ
Cups stacked in a pyramid.

ภาพถ้วย © moodboard/Thinkstock

การเข้าใจเรื่องการละทิ้งความเชื่อ—การตีตัวออกห่างจากพระกิตติคุณที่แท้จริง—ช่วยให้เราเข้าใจความจำเป็นของการฟื้นฟูพระกิตติคุณ ฐานะปุโรหิต และศาสนจักรของพระเยซูคริสต์

บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์ต่อไปนี้ช่วยผู้สอนศาสนาบางคนสอนผู้สนใจเกี่ยวกับการละทิ้งความเชื่อและการฟื้นฟู

“ผมกับคู่ใช้ถ้วยพลาสติกที่ติดป้ายองค์ประกอบต่างๆ ของศาสนจักรที่แท้จริง แล้วใช้ถ้วยเหล่านั้นสร้างปิระมิดขณะอธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงสถาปนาศาสนจักรของพระองค์อย่างไร

“ต่อจากนั้นเราอธิบายเรื่องการละทิ้งความเชื่อขณะดึงถ้วยที่เป็นตัวแทนของอัครสาวกออก และมองดูโครงสร้างทั้งหมดพังลงมา ขณะอธิบายเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเราสร้างหอสูงอีกครั้ง โดยแสดงให้เห็นว่าศาสนจักรในปัจจุบันจัดตั้งตามวิธีที่พระคริสต์ทรงจัดตั้งแต่ดั้งเดิม

“เป็นครั้งแรกที่ชายคนนี้เข้าใจ ในที่สุดการฟื้นฟูก็มีความหมายสำหรับเขาเมื่อเขาเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีการฟื้นฟู”

มีอีกหลายวิธีที่ใช้อธิบายวัฏจักรของสมัยการประทาน การละทิ้งความเชื่อ และการฟื้นฟู ท่านอาจจะอ่านข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้และทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณให้สร้างงานของท่านเองเพื่อใช้อธิบายสิ่งที่ท่านเรียนรู้ (ตัวอย่างเช่น ดู อาโมส 8:11–12; 1 นีไฟ 13; คพ. 136:36–38; โมเสส 5:55–59)

พฤษภาคม ศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผย

พระเจ้าทรงเอาพระทัยใส่อย่างลึกซึ้งเรื่องการสื่อสารกับเรา เราได้รับการนำทางจากพระองค์ในชีวิตเราผ่านการเปิดเผยที่พระองค์ประทานแก่ศาสดาพยากรณ์และแก่เราเป็นส่วนตัว

เรามักจะเข้าใจหลักธรรมพระกิตติคุณได้ดีขึ้นถ้าเราเปรียบหลักธรรมกับวัตถุสิ่งของและประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน เยาวชนหญิงคนหนึ่งเล่าว่าการเปรียบเทียบช่วยให้เธอยอมรับการเปิดเผยอย่างไร

“ดิฉันเรียนเรื่องการเปิดเผยผ่านศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดเรื่องวิญญาณของการเปิดเผยและอธิบายเรื่องนี้ผ่านการเปรียบเทียบกับแสงไฟบางครั้งการเปิดเผยเกิดขึ้นทันทีและชัดเจนเหมือนเปิดไฟในห้องมืด บ่อยกว่านั้นคือการเปิดเผยเกิดขึ้นทีละน้อย ค่อยๆ สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ขึ้น เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าววว่า บ่อยที่สุดคือการเปิดเผยเหมือนแสงสว่างในวันที่มีหมอกลง ‘มีแสงสว่างมากพอให้ท่าน … มองเห็นชัดพอจะเดินเข้าไปในความมืดครึ้มสองสามก้าว’ (ใน “Patterns of Light: Spirit of Revelation” [video], LDS.org) การเปรียบเทียบเช่นนี้ แม้จะเรียบง่าย แต่มีผลลึกซึ้งต่อดิฉันเพราะดิฉันตระหนักว่าการเปิดเผยมีให้เสมอถ้าดิฉันใช้เวลาสังเกต”

เมื่อเราใช้เวลาศึกษาการเปรียบเทียบ อุปมา และสัญลักษณ์ เราจะเข้าใจหลักคำสอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิธีสอนเหล่านี้ช่วยให้เราเรียนรู้มากขึ้นเมื่อเรายอมให้พระวิญญาณเปิดเผยมุมมองใหม่ต่อเรา

มิถุนายน ฐานะปุโรหิตและกุญแจฐานะปุโรหิต

ภาพ
Statue depicting the restoration of the Melchizedek Priesthood. Temple Square in Salt Lake City, Utah.

ฐานะปุโรหิตเป็นหัวข้อสำคัญสำหรับทุกคน ฐานะปุโรหิตคือเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าและสามารถเป็นพรต่อเราทุกคน เราแต่ละคนมีบทบาทสำคัญในงานฐานะปุโรหิต

บางคนไม่คุ้นเคยกับหน้าที่ ตำแหน่ง และประวัติของฐานะปุโรหิต แบบสอบถามเป็นวิธีเรียนแนวคิดเหล่านี้ให้สนุก

ท่านสามารถใช้คำถามต่อไปนี้บางข้อและเชื้อเชิญลูกๆ ให้ค้นหาคำตอบในพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ท่านต้องการให้เรียนรู้

  • ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนมีตำแหน่งและหน้าที่อะไรบ้าง ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมีตำแหน่งและหน้าที่อะไรบ้าง

  • กุญแจฐานะปุโรหิตคืออะไร ใครถือกุญแจฐานะปุโรหิต เหตุใดกุญแจจึงจำเป็น

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างตำแหน่ง สิทธิอำนาจ และพลังอำนาจของฐานะปุโรหิต

  • ฐานะปุโรหิตเป็นพรทั้งต่อชายและหญิงอย่างไร

ท่านสามารถหาคำตอบได้ในหนังสืออ้างอิงเช่น หลักธรรมพระกิตติคุณ (2009) และ แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004) ในพระคัมภีร์ เช่น หลักคำสอนและพันธสัญญา 13, 20 และ 107

ท่านสามารถหาคำตอบของคำถามสุดท้าย “ฐานะปุโรหิตเป็นพรทั้งต่อชายและหญิงอย่างไร” ในพระคัมภีร์แต่สำคัญที่สุดคือการใคร่ครวญว่าหลักคำสอนนี้มีผลต่อเราเป็นส่วนตัวอย่างไร