2016
เข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตาย: สัญญาณเตือนและการป้องกัน
ตุลาคม 2016


เข้าใจเรื่อง การฆ่าตัวตาย: สัญญาณเตือนและการป้องกัน

ภาพ
sitting at the edge of a dock

ภาพถ่าย © iStock/Thinkstock

เมื่อเควินอายุ 16 ปี พ่อแม่ของเขาหย่าร้าง ประมาณช่วงเดียวกันนั้นเขาเลิกใช้ยากันชัก ยาชนิดนี้ช่วยทำให้อารมณ์ของเขาคงที่ เขาไม่รู้ว่าเขาเป็นโรคไบโพลาร์ (อารมณ์สองขั้ว) เขาเริ่มหวาดระแวง อารมณ์คึกคัก และซึมเศร้าอย่างรุนแรง ดูเหมือนยาไม่ช่วยเลย จนถึงจุดที่เขารู้สึกเบื่อทุกอย่าง เขาตัดสินใจจบชีวิตโดยไม่ให้ใครรู้เจตนาของเขา

เควินพูดถึงวันที่เขาพยายามฆ่าตัวตายว่า “ผมร้องไห้ ผมแค่เหนื่อยมาก จิตตก ผมได้แต่มองดูผู้คน อยากให้ใครสักคนพูดว่า ‘คุณเป็นอย่างไรบ้าง’ มากเท่าที่ผมอยากได้ยินคนพูดอย่างนั้นผมได้ยินเสียง [ในใจผม] บอกว่า ‘คุณต้องตาย’ … ผมพร่ำบอกตัวเองว่าอย่า [ทำอย่างนั้น] แต่เสียงเหล่านั้นรุนแรงเหลือเกิน ผมสู้ไม่ไหว”1

น่าเศร้าที่ไม่มีใครสังเกตเห็นความทุกข์ของเขา โดยเชื่อว่าไม่มีใครสนใจห่วงใยเขา เขาจึงพยายามฆ่าตัวตาย—แต่รอดชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์

เรารู้สึกสักนิดไหมว่าเขาทุกข์และสิ้นหวังจนยากจะต้านไหว ร้องขอความช่วยเหลืออยู่เงียบๆ

การฆ่าตัวตายเป็นการทดลองอย่างหนึ่งที่ยากที่สุดในชีวิตมรรตัย ทั้งสำหรับคนที่ทนทุกข์กับความคิดจะฆ่าตัวตายและสำหรับสมาชิกครอบครัวที่ยังอยู่ เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ในความเห็นของข้าพเจ้า ไม่มีเวลาใดยากสำหรับครอบครัวมากไปกว่าเมื่อบุคคลที่พวกเขารักคิดสั้น การฆ่าตัวตายเป็นประสบการณ์ครอบครัวที่สูญสิ้น”2 ขณะพิจารณาความรุนแรงของการทดลองดังกล่าว ขอให้เราสนทนากันในเรื่องต่อไปนี้ (1) สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย รวมถึงสัญญาณเตือนและสิ่งที่เราจะทำได้เพื่อช่วยป้องกัน (2) สิ่งที่สมาชิกครอบครัวและชุมชนจะทำได้ และ (3) สิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องทำเพื่อเพิ่มความหวังและพลังศรัทธาในพระคริสต์ทั้งนี้เพื่อเราจะไม่สิ้นหวัง

เข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตาย

แต่ละปีมีคนจำนวน 800,000 กว่าคนทั่วโลกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย3 นั่นหมายความว่ามีคนในโลกจบชีวิตของตนเองทุก 40 วินาที จำนวนนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและผิดกฎหมายในบางประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงมีรายงานต่ำกว่าที่เป็นจริง การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุสำคัญอันดับสองของการเสียชีวิตในกลุ่มอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปี ในประเทศส่วนใหญ่ อัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่มอายุเกิน 70 ปี การฆ่าตัวตายส่งผลโดยตรงหรือไม่ก็โดยอ้อมต่อสังคมส่วนใหญ่ของเรา

สัญญาณเตือน

เมื่อเรื่องท้าทายของชีวิตเกินกำลังความสามารถที่เราจะเผชิญ เราจะเกิดความเครียดสุดขีด เมื่อทนกับความทุกข์ทางอารมณ์ไม่ไหว ระบบความคิดของบุคคลนั้นจะถูกบดบังและชักนำให้เขารู้สึกประหนึ่งความตายเป็นทางเลือกเดียว พวกเขาอาจรู้สึกว่าไม่มีใครช่วยได้ ซึ่งสามารถนำไปสู่การแยกตนเองจากสังคมและทุกข์หนักยิ่งกว่าเดิม รู้สึกอับจนหนทางและสิ้นหวัง สุดท้ายจึงชักนำให้คิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางเลือกเดียว

เมื่อมีคนแสดงให้เห็นสัญญาณเตือนที่รุนแรง ใดก็ตาม ดังต่อไปนี้4 เราควรขอความช่วยเหลือทันทีจากผู้ดูแลสุขภาพจิตหรือหน่วยบริการฉุกเฉิน เช่น ตำรวจ

  • ขู่จะทำร้ายหรือฆ่าตัวตาย

  • พยายามหาวิธีฆ่าตัวตาย

  • พูดหรือเขียนเรื่องความตาย กำลังจะตาย หรือการฆ่าตัวตาย

สัญญาณต่อไปนี้อาจเป็นสถานการณ์เร่งด่วนน้อยกว่า แต่เราไม่ควรรีรอที่จะยื่นมือออกไปและขอความช่วยเหลือให้คนที่แสดงสัญญาณเตือนต่อไปนี้

  • แสดงความสิ้นหวังและสูญเสียจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่

  • บันดาลโทสะ หรือโกรธ หรือหาทางแก้แค้น

  • มีพฤติกรรมบุ่มบ่าม

  • รู้สึกอับจนหนทาง

  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยามากขึ้น

  • ออกห่างเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือสังคม

  • รู้สึกวิตกกังวลหรือกระวนกระวายหรืออารมณ์เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

  • นอนไม่หลับหรือหลับตลอดเวลา

  • รู้สึกว่าพวกเขาเป็นภาระของผู้อื่น

ใช่ว่าทุกคนที่พยายามฆ่าตัวตายจะยอมให้คนอื่นรู้เจตนาของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นสัญญาณเตือนเหล่านี้ ฉะนั้นให้ระวังสัญญาณเหล่านี้!

แม้การขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เพื่อนและครอบครัวที่ห่วงใยอย่างแท้จริงมีพลังยิ่งนัก

การป้องกัน

ภาพ
elderly man with a cane

เมื่อมีคนคิดจะฆ่าตัวตาย ครอบครัวและเพื่อนมีบทบาทสำคัญยิ่ง ตามที่แอลมาสอน เราต้อง “แบกภาระของกันและกัน, เพื่อมันจะได้เบา; … โศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; แท้จริงแล้ว, และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน” (โมไซยาห์ 18:8, 9)

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ครอบครัวและเพื่อนจะช่วยได้

หยิบยื่นความช่วยเหลือและฟังด้วยความรัก ตามที่เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดแนะนำ “ไม่มีสิ่งใดทรงพลังเท่าแขนแห่งความรักที่สามารถโอบผู้กำลังประสบปัญหา”5 “เราต้องมองพวกเขา … ผ่านพระเนตรของพระบิดาบนสวรรค์” เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน “เมื่อนั้นเราจะรู้สึกถึงความอาทรห่วงใยของพระผู้ช่วยให้รอดที่มีต่อพวกเขา … มุมมองที่กว้างขึ้นนี้จะเปิดใจเรารับความผิดหวัง ความกลัว และความปวดร้าวใจของผู้อื่น”6

ช่วยอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าบุคคลนั้นกำลังประสบวิกฤตอันส่งผลต่อความปลอดภัยและความจำเป็นพื้นฐานของเขา ให้เสนอความช่วยเหลือที่ชัดเจน แต่ให้บุคคลนั้นเลือกเองว่าจะยอมรับหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนคิดจะฆ่าตัวตายเพราะตกงาน การช่วยเขาหาตำแหน่งงานที่เปิดรับจะมีทางเลือกให้เขาเลือกและช่วยให้เขาไม่รู้สึกอับจนหนทาง

ถามว่าพวกเขาคิดจะฆ่าตัวตายหรือไม่ เมื่อท่านเป็นห่วงคนที่ทุกข์ใจและแสดงสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย ให้ถามว่าเขาคิดจะฆ่าตัวตายหรือไม่ การทำเช่นนี้อาจรู้สึกอึดอัด แต่จะทราบได้ดีที่สุดจากการถามตรงๆ ว่าเขาคิดจะฆ่าตัวตายหรือไม่ นั่นอาจเปิดประตูให้บุคคลนั้นพูดเรื่องทุกข์ใจและข้อกังวลของตน

ตัวอย่างของคำถามเช่นนั้นอาจได้แก่ “ฟังเหมือนมากเกินกว่าคนๆ หนึ่งจะจัดการไหว คุณคิดจะฆ่าตัวตายหรือเปล่า” หรือ “ด้วยความเจ็บปวดทั้งหมดนั้นที่คุณประสบ ผมสงสัยว่าคุณคิดจะฆ่าตัวตายหรือเปล่า” ถ้าพวกเขาไม่คิดจะฆ่าตัวตาย พวกเขาอาจจะบอกให้ท่านรู้

ถ้าท่านรู้สึกว่าพวกเขาไม่เปิดใจบอกท่านเกี่ยวกับความคิดจะฆ่าตัวตาย ให้อยู่ใกล้ชิดการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณเพื่อรู้ว่าต้องทำอะไร ท่านอาจได้รับการกระตุ้นเตือนให้อยู่กับเขาจนกว่าพวกเขาจะเปิดใจบอกท่าน

อยู่กับบุคคลนั้นและขอความช่วยเหลือ ถ้ามีคนบอกท่านให้รู้ว่าเขาคิดจะฆ่าตัวตาย ให้อยู่กับเขาและให้เขาพูดกับท่านเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เขาทุกข์ใจ ถ้าเขาพูดถึงวิธีการและเวลาที่จะฆ่าตัวตาย จงช่วยให้บุคคลนั้นติดต่อสายด่วนหรือแผนกฉุกเฉินด้านจิตเวชในท้องที่

ปฏิกิริยาต่อการฆ่าตัวตาย

ไม่ว่าเขาจะแสดงสัญญาณเตือนหรือไม่ บางคนก็ยังคิดสั้น เมื่อเผชิญกับประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากจากการฆ่าตัวตายของบุคคลที่พวกเขารัก สมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ยังอยู่มักประสบกับความทุกข์ระทมที่ลึกซึ้ง รุนแรง และซับซ้อน ปฏิกิริยาบางอย่างเหล่านั้นอาจได้แก่

  • อับอายและรู้สึกเสื่อมเสียชื่อเสียง

  • ตกใจมากและไม่เชื่อ

  • โกรธ โล่งอก หรือรู้สึกผิด

  • ปกปิดสาเหตุของการเสียชีวิต

  • แยกตนเองจากสังคมและสัมพันธภาพครอบครัวแตกสลาย

  • กระตือรือร้นและถึงกับหมกมุ่นกับการพยายามป้องกันการฆ่าตัวตาย

  • ปรารถนาจะเข้าใจอย่างยิ่งว่าเพราะอะไร

  • รู้สึกถูกทอดทิ้งและถูกปฏิเสธ

  • โทษผู้ตาย ตนเอง ผู้อื่น และพระผู้เป็นเจ้า

  • คิดจะฆ่าตัวตายมากขึ้นหรือรู้สึกอยากทำลายตนเอง

  • เครียดมากขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดและวันครบรอบการสิ้นชีวิต7

สิ่งที่ครอบครัวและชุมชนทำได้

ภาพ
woman sitting on bench

อย่าตัดสิน แม้การฆ่าตัวตายจะเป็นเรื่องร้ายแรง แต่เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดเตือนเราเช่นกันว่า “เห็นได้ชัดว่าเราไม่รู้สภาวะแวดล้อมทั้งหมดของการฆ่าตัวตายทุกครั้ง เฉพาะพระเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบรายละเอียดทั้งหมด และพระองค์คือผู้ที่จะทรงตัดสินการกระทำของเราที่นี่บนแผ่นดินโลก เมื่อ [พระเจ้า] ทรงพิพากษาเรา ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพระองค์จะทรงนำทุกอย่างมาพิจารณา อาทิ ลักษณะทางพันธุกรรมและทางเคมี สภาพจิตใจ ความสามารถทางปัญญา คำสอนที่เราได้รับ ประเพณีของบรรพบุรษ สุขภาพของเรา และอื่นๆ”8

ยอมรับและเคารพกระบวนการแสดงความโศกเศร้าของแต่ละคน คนเราโศกเศร้าต่างกันเพราะความสัมพันธ์ของพวกเขากับผู้ตายต่างจากคนอื่น ด้วยเหตุนี้จงยอมรับและให้เกียรติวิธีแสดงความโศกเศร้าของแต่ละคน

เมื่อบุคคลที่เรารักตายจากเรา อารมณ์รุนแรงและแม้อารมณ์ที่ยากจะต้านไหวย่อมเกิดกับเราได้ แต่การแสดงความโศกเศร้าไม่ได้หมายความว่าขาดศรัทธา พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า “เจ้าจงอยู่ด้วยกันด้วยความรัก, ถึงขนาดที่เจ้าจะร่ำไห้เพราะการสูญเสียพวกเขาที่ตาย” (คพ. 42:45) ความโศกเศร้าเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเรารักผู้ตายและความสัมพันธ์กับเขามีความหมายต่อเรา

ขอความช่วยเหลือ เมื่อท่านโศกเศร้า ท่านจะรู้สึกว่าสถานการณ์ยากจะต้านไหว การขอความช่วยเหลือจะเปิดโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้อื่นได้รักและรับใช้ท่าน การยอมให้พวกเขาช่วยไม่เพียงเยียวยาท่านและเพิ่มพลังให้ท่านเท่านั้นแต่ให้พวกเขาด้วย

ติดต่อเสมอ บางคนทุกข์โศกอยู่คนเดียวและบางครั้งถึงกับแยกตนเอง ด้วยเหตุนี้จงติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนเสมอ ติดต่อสมาชิกครอบครัวที่ยังอยู่ ญาติ และเพื่อนเป็นระยะๆ เสนอความช่วยเหลือเพราะพวกเขาอาจไม่มาหาท่าน

พึ่งพาพระผู้ช่วยให้รอด สุดท้ายแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดคือแหล่งเยียวยาและสันติสุข “การชดใช้ของพระองค์ … ให้โอกาสเราเรียกหาพระองค์ผู้ทรงประสบความทุพพลภาพในมรรตัยทุกอย่างของเราเพื่อให้กำลังเราแบกรับภาระแห่งความเป็นมรรตัยได้ พระองค์ทรงรู้จักความทุกข์ทรมานของเรา และทรงอยู่ที่นั่นเพื่อเราเสมอ เช่นเดียวกับชาวสะมาเรียผู้ใจดี เมื่อพระองค์ทรงพบเราบาดเจ็บอยู่ข้างทาง พระองค์จะทรงพันแผลให้เราและดูแลเรา (ดู ลูกา 10:34)”9

ขอให้เราตระหนักว่าเราทุกคนต้องพึ่งพาพระเจ้าพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์อย่างสมบูรณ์ขณะที่เราพยายามทำส่วนของเรา เมื่อเราตระหนักด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ขอให้เราพยายามเข้าใจครอบครัวเราและเพื่อนบ้านที่ทุกข์ใจ ยื่นมือช่วยเหลือพวกเขาด้วยความรัก ปลูกฝังศรัทธาและความวางใจมากขึ้นในพระผู้ช่วยให้รอดผู้จะเสด็จกลับมา “เช็ดน้ำตาทุกๆ หยดจากตาของเขาทั้งหลาย และความตายจะไม่มีอีกต่อไป ความโศกเศร้า การร้องไห้ และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป” (วิวรณ์ 21:4)

อ้างอิง

  1. เควิน ไฮน์ส, ใน อแมนดา โบเวอร์, “A Survivor Talks About His Leap,” Time, May 24, 2006, Time.com.

  2. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, ใน เจสัน สเวนสัน, “Elder Ballard Offers Comfort and Counsel to Those Affected by Suicide,” Church News, Dec. 19, 2014, news.lds.org.

  3. ดูองค์การอนามัยโลก, Preventing Suicide: A Global Imperative (2014), 2.

  4. ดู เอ็ม. เดวิด รัดด์และคนอื่นๆ, “Warning Signs for Suicide: Theory, Research, and Clinical Applications,” Suicide and Life-Threatening Behavior, vol. 36, no. 3 (2006), 255–62.

  5. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, ใน “Sitting on the Bench: Thoughts on Suicide Prevention” (video), lds.org/media-library.

  6. เดล จี. เรนลันด์, “ผ่านพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 94.

  7. ดู จอห์น อาร์. จอร์แดน, “Is Suicide Bereavement Different? A Reassessment of the Literature,” Suicide and Life-Threatening Behavior, vol. 31, no. 1 (2001), 91–102.

  8. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “Suicide: Some Things We Know, and Some We Do Not,” Ensign, Oct. 1987, 8.

  9. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 64.