2017
เราทำได้ดีกว่านี้: ต้อนรับผู้อื่นเข้าฝูง
กันยายน 2017


เราทำได้ดีกว่านี้: ต้อนรับผู้อื่น เข้าฝูง

สี่วิธีต่อไปนี้จะช่วยให้สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมารู้สึกเหมือนพวกเขาเป็นพวกเดียวกันกับท่าน

ภาพ
women at church

ภายในเดือนที่เมลลิสซา (ชื่อทั้งหมดเป็นนามสมมติ) รับบัพติศมาทางภาคตะวันตกของสหรัฐ เธอเป็นผู้สวดอ้อนวอนเปิดในการประชุมศีลระลึก เธอประหม่าเมื่อต้องสวดอ้อนวอนต่อหน้าสาธารณชนแต่ “รู้สึกมั่นใจมากว่าสามารถพูดกับพระบิดาบนสวรรค์ของดิฉันได้” เธอเล่า “อย่างไรก็ดี ดิฉันสวดอ้อนวอนมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะเป็นผู้สนใจ และรู้สึกได้ว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกำลังช่วยดิฉัน”

ด้วยเหตุนี้เธอจึงประหลาดใจเมื่อได้รับอีเมลจากสมาชิกวอร์ดคนหนึ่งบรรยาย “ละเอียดยิบ” ทุกอย่างว่าเธอสวดอ้อนวอนผิด เมลิสซารู้สึกอับอาย อึดอัด และท่วมท้นด้วยความความสงสัยจนเธอรู้สึกว่าต้องโทรหาอดีตผู้สอนศาสนาที่เคยสอนเธอ “เขายืนยันกับเธอทันทีว่าสมาชิกคนนี้ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์เธออย่างนั้น” เธอกล่าว “เขาบอกด้วยว่าฝ่ายอธิการจะไม่มีวันขอให้สมาชิกคนอื่นติติงดิฉันแบบนี้อย่างที่ดิฉันคิด”

เมื่อได้รับการยืนยันเช่นนั้น เมลิสซาจึงแข็งขันในวอร์ดเหมือนเดิม ยอมรับการเรียก และทำให้ศรัทธาของเธอเข้มแข็งต่อไป แต่ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเอาชนะความเจ็บปวดและความเชื่อมั่นที่หมดไปเพราะได้รับอีเมลที่ทำให้ท้อใจ

น่าเสียดายตรงที่เรื่องราวของเมลิสซาหาได้ไม่ยาก สมาชิกใหม่และสมาชิกที่กลับมาหลายคนประสบความท้าทายที่สำคัญแต่มักจะหลีกเลี่ยงได้จากการรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นพวกเดียวกันกับเรา บางครั้งแม้แต่คนที่มีประจักษ์พยานเข้มแข็งก็ยังซื่อสัตย์ได้ยากเมื่อพวกเขารู้สึกว่าเป็นคนนอก ในชุดวีดิทัศน์เมื่อเร็วๆ นี้ชื่อ Unity in Diversity ผู้นำศาสนจักรกล่าวถึงเรื่องนี้โดยกระตุ้นให้สมาชิกละเอียดอ่อน ใจกว้าง และแสดงความรักในปฏิสัมพันธ์ของเรามากขึ้น

เรื่องราวต่อไปนี้ช่วยอธิบายว่าเราในฐานะสมาชิกจะประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้อีกทั้งมอบมิตรภาพที่จริงใจและให้ความช่วยเหลือทางอารมณ์ให้คนที่หิวโหยการยอมรับด้วยใจจริงในศาสนจักรของพระเจ้าได้อย่างไร

เป็นเพื่อนในศาสนา

ภาพ
fellowshipping of the Saints

“เมื่อเงาของใครก็ตามทอดลงมาที่ประตูโบสถ์ พวกเขาควรได้รับการสวมกอด รู้สึกถึงความรัก และการหนุนใจทันที มีแรงบันดาลใจ … ให้ไปและเป็นคนดีขึ้นเพราะพวกเขารู้ว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขาและเพราะพวกเขามีเพื่อนในศาสนาเดียวกัน”

—แคโรล เอฟ. แมคคองกี ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญ

เมลิสซาต้องการเพื่อนที่จริงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวอร์ดของเธอ เพื่อนที่เธอสามารถเข้าไปพูดคุยด้วยได้เมื่อต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ สามีเธอกับลูกสาวไม่ได้เข้าร่วมศาสนจักรกับเธอ

“การมาโบสถ์และเห็นทุกคนมีครอบครัวทำให้ดิฉันรู้สึกเหงาลึกๆ” เธอกล่าว ทุกคนเป็นมิตร แต่ความสุขของพวกเขาทำให้เธอรู้สึกประหนึ่ง “ดิฉันจะไม่มีวันได้ความสมบูรณ์แบบมอรมอนเพราะดิฉันเป็นคนเดียวที่มีปัญหา”

นอกจากอดีตผู้สอนศาสนาที่เคยสอนเธอแล้ว เมลิสซาได้รับพรที่มีซินดีเพื่อนทางออนไลน์ผู้แนะนำให้เธอรู้จักศาสนจักรครั้งแรกด้วย “ยากที่จะมองดูเมลิสซาเผชิญปัญหาในเขตท้องที่ของเธอขณะที่ดิฉันอยู่เฉยๆ” ซินดีอธิบาย “ดิฉันจึงสร้างกลุ่มเฟซบุ๊กส่วนตัวกับสมาชิกบางคนที่มีฐานมั่นคงมีความรัก ยินดีจะช่วยเหลือและเป็นเพื่อนกับเธอในแบบที่ดิฉันทำคนเดียวไม่ได้”

กลุ่มไม่เพียงทำให้เมลิสซารู้สึกเข้าพวกขณะปรับตัวในวอร์ดของเธอเท่านั้นแต่ตอบคำถามเกี่ยวกับวิถีชีวิตและข้อกังวลทางวัฒนธรรมด้วย “ดิฉันโตมากับเสื้อสายเดี่ยวและกางเกงขาสั้น” เมลิสซากล่าว เธอขอบคุณเพื่อนออนไลน์ที่ตอบเธอด้วยรูปเสื้อผ้าที่เธอหาซื้อได้จากร้านแถวบ้าน ด้วยเหตุนี้เเธอจึงขอคำแนะนำจากพี่น้องสตรีในวอร์ดเกี่ยวกับภาพยนตร์หลังจากเธอรู้สึกไม่สบายใจกับภาพยนตร์บางเรื่องที่เธอสะสมไว้

เมลิสซาชี้ให้เห็นว่าแง่มุมสำคัญของการเป็นเพื่อนคือเธอขอคำแนะนำ คำแนะนำที่ไม่ได้ขอเหมือนเป็นการก้าวก่ายไม่ใช่การเข้าพวก เป็นการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวที่สามารถทำให้ผู้ไม่พร้อมรับน้อยใจได้

ในที่สุด เมลิสซาก็ได้รับเรียกให้สอนในสมาคมสงเคราะห์ การเรียกของเธอให้โอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในวอร์ด เมลิสซาบอกเล่าปัญหายุ่งยากทั้งหลายของเธอกับพี่น้องสตรีไม่เฉพาะเรื่องการปรับตัวในฐานะสมาชิกใหม่เท่านั้นแต่ในการรับมือกับลูกที่เป็นออทิสติก ปัญหาสุขภาพส่วนตัว และ “อ้อ สุนัขของดิฉันกำลังจะตาย” ด้วย ประสบการณ์ของการมีพี่น้องสตรีคนอื่นๆ รับฟังและตอบรับด้วยปัญหายุ่งยากทั้งหลายของพวกเธอเองในชั้นเรียนและในการสนทนาส่วนตัวเป็นการเยียวยาอย่างดี ความสัมพันธ์เหล่านี้ช่วยให้เมลิสซารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเธอก็มีเพื่อนแท้ในศาสนา

รวมทุกคนเข้ามาในกลุ่ม

ภาพ
members of the Church

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาผู้ติดตามพระองค์ให้ ‘รักซึ่งกันและกัน เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น’ (ยอห์น 13:34; เน้นตัวเอน) ด้วยเหตุนี้เราจึงดูว่าพระองค์ทรงรักเราอย่างไร … ถ้าเราทำให้พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของเรา เราควรพยายามเอื้อมไปรวมทุกคนเข้ามาในกลุ่มเสมอ”

—เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

โรเบิร์ตผู้สนใจคนหนึ่งในแคนาดาเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมต่างๆ ของแอลดีเอสหลายครั้ง เขาเคยค้นคว้าหลายศาสนาแต่ยังคงศึกษาศาสนจักรเพราะแรงบันดาลใจที่เขาพบในหลักคำสอนของศาสนจักรและพระคัมภีร์มอรมอน เขาเข้าชั้นเรียนสถาบันเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมและหาสภาพแวดล้อมทางสังคม “ที่ดีงามสดชื่น เป็นกันเอง และเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดี” เขากล่าว “ชาวมอรมอนเป็นคนน่ารักที่สุดในโลก”

โรเบิร์ตบอกว่าเขาเป็นคนเขินอายและต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นแต่เขากล่าวว่า “ผมมักจะยืนหลบมุม ไม่แน่ใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอย่างไร เพื่อนบางคนเป็นแอลดีเอสมานานและดูเหมือนไม่ต้องการคนอื่น” แต่ไม่ต้องทำอะไรมากเพื่อบรรเทาความรู้สึกแปลกแยกของเขา ระหว่างกิจกรรม เขาจำได้ “มีคนมาหาผมหลังอาหารค่ำและขอให้ผมอยู่ดูภาพยนตร์ ถ้าเขาไม่ขอผมคงกลับไปแล้ว แต่ผมอยู่และผมสนุกมาก ผมแค่ต้องรู้ว่าที่นั่นมีคนต้องการผม”

เหมือนเมลิสซา เขาขอบคุณเพื่อนแอลดีเอสผู้อธิบายหลักคำสอนแต่ไม่จู้จี้เกินไปว่าต้องดำเนินชีวิตตามนั้นอย่างไร เพื่อนๆ ที่ฟังมากกว่าตักเตือนเป็นเหมือน “คนที่เดินข้างคุณ แทนที่จะผลักหลังคุณให้คุณเดินเร็วขึ้น ส่วนใหญ่คุณก็แค่เดินสะดุด”

โรเบิร์ตพยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ยังไม่สำเร็จ เขาอึดอัดตรงที่คนใหม่อย่างเขารู้แก่ใจดีว่าเขาแตกต่างจากคนอื่นมาก “ไม่มีสมาชิกคนใดพูดกับผมเรื่องกลิ่นบุหรี่” เขากล่าว “แต่ถ้าเสื้อผ้าผมติดกลิ่นบุหรี่ ผมจะอยู่บ้านไม่ไปสถาบันหรือโบสถ์”

เราสามารถสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งได้มากขึ้นเมื่อเราทำให้คนใหม่ของศาสนจักรมั่นใจและรวมพวกเขาเข้ากลุ่ม เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเสียใจมากถ้ามีคนที่เปราะบางมากมาพูดว่า … ‘ดิฉันอยากอยู่ที่นี่’ จากนั้นก็ถูกเมินเฉยหรือไม่มีใครสนใจ นั่นน่าเศร้า … เราต้องเป็นคนดีกว่านั้น” (“Is There a Place for Me?” [วีดิทัศน์], lds.org/media-library)

ให้ตัวท่านออกไปอยู่ที่นั่น

“เมื่อท่านเลือกให้ตัวท่านออกไปอยู่ที่นั่น ท่านกำลังเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่น … ท่านจะมองหาคนที่นั่งอยู่ข้างนอก นั่งแยกจากคนอื่นได้ไหม … เมื่อท่านเปิดใจให้ผู้อื่น ท่านจะเห็นว่าเราทุกคนเป็นพวกเดียวกัน”

—จีน เอ. บิงแฮม ประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญ

หลังจากเอลซาเข้าร่วมศาสนจักรในเนเธอร์แลนด์ เธอประสบความสัมพันธ์ที่จริงใจกับพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก แต่ในฐานะสาวโสด เธอรับมือกับความเหงาเช่นกันเมื่อสมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆ รู้สึกอึดอัดใจกับความเชื่อใหม่ทางศาสนาและนิสัยของเธอ “เรื่องดีที่สุดที่สมาชิกทำเพื่อดิฉัน” เธอกล่าว “คือยอมเป็นเพื่อนกับดิฉันนอกโบสถ์ บางคนไปพระวิหารเพื่อทำบัพติศมากับดิฉันทั้งที่พวกเขารับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว ดิฉันต้องปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกนอกเหนือจากวันอาทิตย์เพื่อให้มีพลังอดทนจนถึงที่สุด”

เอลซารู้สึกเหมือนปัญหาใหญ่ที่สุดของเธอในฐานะผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่คือ “ความคาดหวังให้เข้าใจทุกอย่างทันที” เธอกล่าว “ทั้งตัวย่อ เหตุการณ์ การเรียกทั้งหมด นั่นทำให้ตื่นเต้นนิดหน่อย และบางครั้งดิฉันกังวลเมื่อมีคนตัดสินว่าดิฉันเรียนรู้ช้า” นอกจากนี้ เหมือนอีกหลายๆ คน เธอประสบความวิตกทางสังคมที่ “ดิฉันสบายกว่าถ้าได้นั่งอยู่หลังห้องนมัสการและไม่ต้องพูดคุยกับใคร” คนหมู่มากทำให้เธอกลัว และเธอสงสัยว่าคนอื่นตัดสินเธอหรือไม่ที่เธอขาดการมีส่วนร่วม “ไม่ใช่ดิฉันไม่อยากมีส่วนร่วมในบทเรียนหรือร้องเพลงสวดดังๆ หรือกล่าวคำสวดอ้อนวอนต่อหน้าสาธารณชน” เธออธิบาย “ดิฉันแค่กลัวว่าดิฉันอาจจะร้องไห้โฮต่อหน้าคนเหล่านี้ที่ดิฉันไม่รู้จักเลย”

ซิสเตอร์แมคคองกีกล่าวว่า “ดิฉันรู้จักคนที่มาโบสถ์ทุกวันอาทิตย์เพื่อรับแรงบันดาลใจและแรงหนุนใจแล้วก็เดินจากไปเพราะรู้สึกว่าถูกตัดสินและไม่มีใครรัก—ไม่มีใครต้องการ เหมือนไม่มีที่ให้พวกเขาที่โบสถ์ เราต้องไม่ทำอย่างนั้น”

เอลซากล่าวว่าสมาชิกที่ไม่ชอบตัดสินช่วยเธอมากที่สุด “พวกเขาฟังปัญหาที่ดิฉันแก้ไม่ตกและไม่รุกล้ำชีวิตส่วนตัวของดิฉัน พวกเขาทำหน้าที่ด้วยความจริงใจและความอดทนขณะดิฉันเรียนรู้ด้วยตนเองว่าการเป็นสมาชิกต้องทำอย่างไร” แม้จะกังวลแต่เธอก็ไปกับผู้สอนศาสนาและพยายามช่วยสมาชิกใหม่กับผู้สนใจ “ดิฉันรู้ว่าคนใหม่รู้สึกอย่างไร” เธออธิบาย “และไม่อยากให้ใครหันหลังให้ของประทานแห่งพระกิตติคุณที่ช่วยให้ดิฉันพ้นจากความสิ้นหวัง”

ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เป็นสานุศิษย์

ภาพ
members of the Church

“คนเรามีของประทานและทัศนะต่างกัน ประสบการณ์ พื้นเพ และความท้าทายสารพัดอย่างที่ผู้คนประสบจะแสดงให้เราเห็นว่าอะไรสำคัญจริงๆ ในพระกิตติคุณของพระคริสต์ ส่วนอื่นที่ได้มาและเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่าหลักคำสอนจะลื่นหลุดไป เราสามารถฝึกเป็นสานุศิษย์ได้จริงๆ”

—เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ถึงแม้จะเคยวิพากษ์วิจารณ์ศาสนจักรมาก่อน แต่จิมเข้าร่วมเพราะเขาได้รับ “ประจักษ์พยานทางวิญญาณที่ชัดแจ้งจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเป็นพยานถึงความจริงและหลักคำสอนของพระกิตติคุณ” แต่ความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดอย่างหนึ่งของเขาคือการปรับตัวรับวัฒนธรรมแอลดีเอส

หลังบัพติศมา เขาพบว่าคนส่วนใหญ่ยอมรับว่าพฤติกรรมในหมู่สมาชิกเป็นเรื่องของวัฒนธรรมไม่ใช่หลักคำสอน “แม้จะเป็นแบบนี้ในทุกศาสนาที่จัดตั้งขึ้น” เขาอธิบาย “แต่ผมรู้สึกว่าถ้าผมไม่ปฏิบัติอย่างมั่นใจ ผมจะถูกกล่าวหาว่าไม่น้อมรับพระกิตติคุณอย่างเต็มที่ ผมไม่ได้มีปัญหากับพระกิตติคุณหรือหลักคำสอนแต่มีกับระดับการปฏิบัติที่รู้สึกว่าเป็นเพียงวัฒนธรรม”

ดังที่เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันอธิบาย เราจำเป็นต้องให้ผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่ ผู้สนใจ และคนอื่นๆ ช่วยเราทิ้งธรรมเนียมปฏิบัตินอกหลักคำสอนที่สั่งสมกันมานานและกลายเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริง

เอ็ลเดอร์โอ๊คส์พูดถึงประโยชน์ของการปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีพื้นเพต่างจากเราและกระตุ้นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายให้หลีกเลี่ยงการจดจ่อกับความต่างแต่เริ่มโดยถามว่า “คุณมาจากไหน ค่านิยมพื้นฐานของคุณคืออะไร คุณต้องการบรรลุผลสำเร็จในเรื่องใด” ความใจกว้างและการยอมรับเช่นนี้จะช่วยให้คนใหม่ในแวดวงของเรารู้สึกว่าเรารวมพวกเขาเข้ากลุ่ม เราหนุนใจ เรารักพวกเขา และช่วยให้พวกเขาพร้อมแสวงหาความรอดภายในกายของพระคริสต์

เฉกเช่นผู้นำศาสนจักรในปัจจุบัน อัครสาวกเปาโลกังวลเรื่องความแตกแยกในศาสนจักรสมัยโบราณของพระคริสต์ ท่านกระตุ้นสมาชิกด้วยความคิดเห็นที่จริงจังให้หลีกเลี่ยงการทำให้เพื่อนวิสุทธิชนขุ่นข้องหมองใจเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติที่สุดท้ายแล้วไม่สำคัญแต่อย่างใด โดยอธิบายว่า “ความรู้นั้นทำให้ลำพอง … แต่ความรักเสริมสร้างขึ้น” (1 โครินธ์ 8:1) ท่านขอร้องไม่ให้ “มีความแตกแยกในพวกท่าน” และจดจ่อกับ “พระเยซูคริสต์และการที่พระองค์ทรงถูกตรึงที่กางเขน” ไม่ใช่ด้านที่สมาชิกต่างกัน (1 โครินธ์ 1:10; 2:2)

ทุกวันนี้อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันกระตุ้นให้เราหาความเป็นหนึ่งเดียวในความต่าง โดยขอให้เรามีที่ให้สมาชิกแต่ละคนของศาสนจักรของพระคริสต์อันเป็นส่วนสำคัญของจุดประสงค์ในการบรรลุถึง “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อและในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า … เต็มถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:13)