2023
“บ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป”
ตุลาคม 2023


“บ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป,” เลียโฮนา, ต.ค. 2023.

“บ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป”

ต่อไปนี้เป็นแนวคิดสําคัญหกข้อที่พึงจดจําเมื่อเราพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ในการพยายามเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์

ภาพ
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเอื้อมพระหัตถ์ของพระองค์

His Hand Is Stretched Out Still [พระหัตถ์ของพระองค์ยังคง​เหยียด​ออกมา] โดย ยองซุง คิม เอื้อเฟื้อโดย HavenLight

คําเทศนาที่ยิ่งใหญ่และน่าอัศจรรย์ใจที่สุดที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานคือพระชนม์ชีพที่ปราศจากบาปของพระองค์—คําเทศนาแห่งพระชนม์ชีพ พร้อมพระดำรัสเชิญที่สร้างแรงบันดาลใจนี้: “เจ้าควรเป็นคนอย่างไรเล่า? ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, แม้ดังที่เราเป็น” (3 นีไฟ 27:27)

“เจ้าต้องบ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:33)

คุณธรรมคือ “ความสุจริตและความดีเลิศทางศีลธรรม”1 การบ่มเพาะคุณธรรมเสมอไปเรียกร้องความพยายามอย่างต่อเนื่องพร้อมด้วยรายการที่ต้องทําซึ่งได้รับการดลใจ คํากริยา เป็น และ ทํา เป็นหลักคําสอนคู่กัน เป็น โดยไม่ ทํา—เหมือนศรัทธาที่ไร้การปฏิบัติหรือจิตกุศลโดยไม่ปฏิบัติศาสนกิจ—“ก็เป็นสิ่งที่ตายแล้ว” (ยากอบ 2:17) ในทํานองเดียวกัน ทํา โดยไม่ เป็น คนที่ “ให้เกียรติเราแต่ปากใจของพวก‍เขาห่าง‍ไกลจากเรา” (มาระโก 7:6) พระผู้ช่วยให้รอดทรงกล่าวโทษว่า ทํา โดยไม่ เป็น คือคนหน้าซื่อใจคด (ดู มัทธิว 23:23; มาระโก 7:6)

บ่อยครั้งผู้คนต้องทํารายการที่ต้องทําและทําเครื่องหมายให้ตนเองหลังจากทําอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จสมบูรณ์ แต่ท่านไม่สามารถมีเครื่องหมาย เป็น ได้ ตัวอย่างเช่น ท่านจะทําเครื่องหมายว่าการเป็นบิดามารดาเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อใด? ท่านไม่มีวันเสร็จสิ้น การเป็น มารดาหรือบิดา ซึ่งเป็นความพยายามชั่วชีวิต

เราบ่มเพาะ คุณธรรม แต่ละอย่าง (เป็น) ผ่านรายการที่ต้องทําซึ่งได้รับการดลใจจากการกระทําที่สอดคล้องกัน ถ้าฉันต้องการมีความรักมากขึ้น วันนี้ฉันจะปฏิบัติศาสนกิจอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ฉันมีความรักมากขึ้น? ถ้าฉันต้องการมีความอดทนมากขึ้น วันนี้ฉันจะทําอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุง?

เมื่อเราอยู่ตรงทางแยกของศีลธรรมในชีวิต เรามักจะถามตนเองว่า พระเยซูจะทรงทําอย่างไร? เมื่อเราทําสิ่งที่พระองค์จะทรงทํา เรากําลังบ่มเพาะคุณธรรมและ กำลังเป็น เหมือนพระองค์ ถ้าเราไป “ทําคุณประโยชน์” (กิจการของอัครทูต 10:38) ดังที่พระองค์ทรงทํา เราเติบโตในความรักและความเห็นอกเห็นใจ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติวิสัยของเรา

ภาพ
หิ่งห้อย

ผลกระทบของหิ่งห้อย

ความน่าอัศจรรย์ของหิ่งห้อยมักเห็นได้เฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น สิ่งอัศจรรย์เล็กๆ น้อยๆ ของธรรมชาตินี้ไม่มีใครมองเห็นได้ในเวลากลางวัน และต้องมีฉากหลังสีเข้มเพื่อให้มองเห็นแสงไฟของหิ่งห้อย เป็นสิ่งตรงกันข้ามที่เผยให้เห็นแสงของมัน

หิ่งห้อยและดวงดาวเป็นตัวอย่างตามธรรมชาติว่าจำเป็นต้องมีความมืดเพื่อจะเห็นแสงสว่างที่ซ่อนอยู่ในมุมมองที่มองเห็นได้ง่าย เพราะความสว่างของพระคริสต์มีอยู่ตลอดเวลา สมาชิกของศาสนจักรหลายคนจึงไม่รับรู้ถึงการสำแดงเดชานุภาพรายวันที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา บ่มเพาะคุณธรรม

ประจักษ์พยานเกี่ยวกับคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ส่วนใหญ่ได้มาจากการเปรียบเทียบกับสิ่งตรงกันข้าม หรือ “ลิ้มรสความขมขื่น, เพื่อ [เรา] จะรู้จักให้คุณค่าแก่ความดี” (โมเสส 6:55) ถ้าอาดัมกับเอวาไม่ตก พวกเขาจะ “ไม่มีปีติ, เพราะพวกเขาไม่รู้จักความเศร้าหมอง” (2 นีไฟ 2:23) ประธานบริคัม ยังก์สอนว่า “ข้อเท็จจริงทุกประการได้รับการพิสูจน์และแสดงให้ประจักษ์โดยสิ่งตรงกันข้าม”2

เด็กเรียนรู้โดยเปรียบเทียบกับสิ่งตรงกันข้าม: ใช่/ไม่ใช่, ขึ้น/ลง, เหนือ/ใต้, ใหญ่/เล็ก, ร้อน/เย็น, เร็ว/ช้า, และอื่นๆ การเปรียบเทียบทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น ในทํานองเดียวกัน การเข้าใจคุณธรรมเรียกร้องให้ศึกษาสิ่งตรงกันข้าม

ตัวอย่างเช่น เราทุกคนต้องการ มี สุขภาพดีแต่ความสํานึกคุณต่อสุขภาพและความปรารถนาจะดูแลสุขภาพมักเกิดขึ้นหลังจากคนๆ หนึ่งทนทุกข์กับสิ่งตรงกันข้ามของสุขภาพที่ดี เช่น ความเจ็บป่วย โรคภัย การบาดเจ็บ แม้แต่พระผู้ช่วยให้รอดก็ทรง “เรียนรู้ที่จะเชื่อฟังโดยการทนทุกข์ต่างๆ” (ฮีบรู 5:8)

บางครั้งคุณธรรมอธิบายได้ดีที่สุดในแง่ของสิ่งตรงกันข้ามเช่น “ปราศจากความหน้าซื่อใจคด” และ “ปราศจากมารยา” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:42) “ไม่ขุ่นเคืองง่าย” (โมโรไน 7:45) เป็นต้น

การบ่มเพาะคุณธรรมไม่เพียงเป็นความพยายามชั่วชีวิตในการพัฒนาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เท่านั้น แต่ยังเป็นความพยายามในการ “[ปฏิเสธตนเองจาก] ความอธรรมและโลกียตัณหา” ด้วย (ทิตัส 2:12; ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 16:26 ด้วย; โมโรไน 10:32) เมื่อเราพยายามพัฒนาคุณธรรมเหมือนพระคริสต์ คุณธรรมจะเติบโตเมื่อเราขจัดสิ่งตรงกันข้าม: เรา “ทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชน” เมื่อเรา “[กลายเป็น] วิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์” (โมไซยาห์ 3:19)

การประยุกต์ใช้ผลกระทบของหิ่งห้อยกับตัวอย่างคุณลักษณะเผยให้เห็นความจริง พลัง และ ประจักษ์พยาน ของแต่ละคุณลักษณะ:

  • รักตรงข้ามกับเกลียดชัง เป็นศัตรู ไม่เป็นมิตร

  • ความซื่อสัตย์ตรงข้ามกับความไม่ซื่อสัตย์ หลอกลวง หน้าซื่อใจคด

  • การให้อภัยตรงข้ามกับการแก้แค้น ขุ่นเคือง ขมขื่น

  • ใจดีตรงข้ามกับใจร้าย โกรธ โหดร้าย

  • อดทนตรงข้ามกับอารมณ์ร้อน หัวร้อน ไม่อดกลั้น

  • อ่อนน้อมตรงข้ามกับหยิ่งยโส อวดดี จองหอง

  • ผู้สร้างสันติตรงข้ามกับชอบทะเลาะวิวาท แบ่งแยก ยุแหย่

การเปรียบเทียบช่วยให้เราเห็นความเข้มแข็งของประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับคุณธรรมแต่ละข้อและประสบการณ์ทางวิญญาณที่เรามีในแต่ละวันด้วยมโนธรรมของเรา การเปรียบเทียบดังกล่าวเผยให้เห็นความสว่างของพระคริสต์ในมุมมองที่เรามองเห็นได้ง่าย

คุณธรรม ทุก ข้อที่มากไปจะกลายเป็นจุดอ่อน

ความอยากจะเสื่อมโทรมเมื่อมากไปและต้อง “[ควบคุม] ด้วยการพิจารณา, มิให้มากไป” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 59:20) ความลุ่มหลงจะกลายเป็นการบีบบังคับ ฉะนั้น “[จง] หักห้ามความลุ่มหลงทั้งปวงของลูก” (แอลมา 38:12) ความปรารถนาจะกลายเป็นเรื่องเร้าใจและน่าคลั่งไคล้ ดังนั้น “[จง] ยับยั้งตนในทุกสิ่ง” (1 โครินธ์ 9:25; แอลมา 7:23; 38:10; หลักคําสอนและพันธสัญญา 12:8)

เพื่ออธิบายเพิ่มเติม ต่อไปนี้เป็นคุณธรรมบางข้อที่นําไปสู่ความสุดโต่ง:

  • ความองอาจที่มากไปจะกลายเป็นการวางเขื่อง (ดู แอลมา 38:12)

  • ความขยันหมั่นเพียรจะกลายเป็นความเหนื่อยหน่ายหรือการวิ่งไปเร็วเกินกําลังของท่าน (ดู โมไซยาห์ 4:27)

  • ความซื่อสัตย์ที่มากไปจะกลายเป็นความโง่เง่าและไร้ไหวพริบ สิ่งนี้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับเด็กได้ แต่ไม่ใช่กับผู้ใหญ่ที่ขาดคุณธรรมของการมีน้ำใจ เมตตา และเห็นอกเห็นใจ

  • ความประหยัดที่มากไปจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว ตระหนี่ โลภ

  • ความอดกลั้นที่มากไปจะกลายเป็นความยินยอม หละหลวม ปล่อยให้ทำไป

  • ความรักที่มากไปจะกลายเป็นการผ่อนปรน ดื้อรั้น ไม่ให้อิสระ และใจง่าย

คุณธรรมทุกข้อต้องมีคุณธรรมหรือคุณธรรมเสริม การตรวจสอบและความสมดุลจากเบื้องบนเพื่อไม่ให้มากไป ตาชั่งแห่งความยุติธรรมเป็นสัญลักษณ์ของความสมดุลระหว่างความยุติธรรมกับความเมตตาฉันใด คุณธรรมทั้งปวงต้องมีดุลยภาพอันชาญฉลาดพร้อมกับคุณธรรมที่เสริมกันฉันนั้น

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) แบ่งปันข้อคิดนี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด “ในชีวิตท่าน ท่านดําเนินชีวิตด้วยคุณธรรมทั้งปวงและรักษาให้สมดุลอย่างสมบูรณ์”3

เมื่อผู้คนรู้สึกว่าชีวิตตนขาดความสมดุลหรือมีพฤติกรรมคลั่งไคล้หรือสุดโต่ง คงจะดีถ้าพิจารณาว่าคุณธรรมใดที่ขาดหายไปและจําเป็นต่อการฟื้นฟูความสมดุลในชีวิต ไม่เช่นนั้นคุณธรรมอาจเสื่อมลงและความเข้มแข็ง “จะกลายเป็นความหายนะของเราได้” ดังที่ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนไว้4

คุณธรรมโดยปราศจากคุณธรรมเสริมกันคือความจริงเพียงครึ่งเดียว

ความจริงเพียงครึ่งเดียวชักนําให้เข้าใจผิดเพราะเป็นความจริงเพียงบางส่วนหรืออาจเป็นจริงทั้งหมดแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจริงทั้งหมด ตัวอย่างบางข้อของความจริงเพียงครึ่งเดียวกับคุณธรรม:

  • สิทธิ์เสรีที่ปราศจากความรับผิดชอบ คือสิ่งที่คอริฮอร์สอน: “ว่ามนุษย์ทุกคนมีชัยชนะตามกําลังของตน; และอะไรก็ตามที่มนุษย์ทําไปย่อมไม่เป็นความผิด” (แอลมา 30:17)

  • ศรัทธาที่ปราศจากงาน และ ความเมตตาที่ปราศจากความยุติธรรม เป็นแบบอย่างของสิ่งที่นีฮอร์สอน: “ว่ามนุษยชาติทั้งปวงจะได้รับการช่วยให้รอด … ; เพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทั้งปวง, และทรงไถ่คนทั้งปวงด้วย; และในที่สุดมนุษย์ทั้งปวงจะมีชีวิตนิรันดร์” (แอลมา 1:4)

  • ความยุติธรรมที่ปราศจากความเมตตา บรรยายไว้ในผลงานชิ้นเอกของวิกตอร์ อูว์โก เล มีเซราบล์ ในตัวละครชื่อชาแวร์ ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมก็ต่อเมื่อได้รับการกลั่นกรองด้วยความเมตตา มิฉะนั้นจะกลายเป็นความอยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้าม

  • ความรักและความเมตตาที่ปราศจากการพึ่งพาตนเอง มีให้เห็นในชีวิตของเฮเลน เคลเลอร์5 บิดามารดาของเธอมีความคาดหวังเพียงน้อยนิดจากลูกสาวที่ตาบอดและหูหนวก แอนน์ ซัลลิแวนครูสอนคนตาบอดและคนหูหนวกผู้แนะนําคุณธรรมเสริมของการพึ่งพาตนเองและช่วยให้เฮเลนเพิ่มพูนศักยภาพที่แท้จริงของเธอ

  • ความอดกลั้นที่ปราศจากความจริง และ ความรักที่ปราศจากกฎ ลดคุณค่า ประนีประนอม ทําให้มาตรฐานของพระเจ้าเสื่อมลงและส่งผลให้เกิดการละทิ้งความเชื่อโดยการหลอกลวงตนเอง (ดู 4 นีไฟ 1:27)

  • ในทางตรงกันข้าม กฎที่ปราศจากความรัก และ ความจริงที่ปราศจากความอดกลั้น เป็นแบบอย่างที่ชัดเจนจากพวกฟาริสีและส่งผลให้เกิดการละทิ้งความเชื่อเนื่องด้วยความจองหอง

  • การเป็นคนชอบธรรมโดยไม่กีดกัน (ดู ลูกา 15:1–7) จะนําไปสู่การยกยอความชอบธรรมของตนเอง อคติ และความหน้าซื่อใจคด

  • ศรัทธาและความหวังที่ปราศจากความอดทน (พระเจ้า “ย่อมประทานพรให้ท่านโดยทันที” [โมไซยาห์ 2:24] ทว่า “พระองค์ทรงทดลองความอดทนของพวกเขา” [โมไซยาห์ 23:21]) จะนําไปสู่ความสงสัยตนเองและการสูญเสียศรัทธาได้

คุณธรรมทุกอย่างเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวเว้นแต่จะถูกหักล้างด้วยคุณธรรมเสริมกันซึ่งจําเป็นต่อการเกื้อหนุนหลักคําสอน

พลังและความสำคัญของ และ

ในฐานะ “บิดาแห่งความขัดแย้ง” (3 นีไฟ 11:29) ซาตานใช้เล่ห์เพทุบายยั่วยุให้โกรธโดยทำให้คุณธรรมขัดแย้งกันด้วยความคิดแบบ “ตรงข้ามกับ” เช่น ความยุติธรรมตรงข้ามกับความเมตตา แต่พระเจ้าทรง “ให้คำปรึกษา … ด้วยความยุติธรรม, และ ด้วยพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้” (เจคอบ 4:10; เน้นตัวเอน) คุณธรรมสองข้อนี้ไม่ใช่สิ่งตรงกันข้ามแต่เสริมกัน เพื่อให้ได้ ความสมดุลที่สมบูรณ์ หลักคําสอนจึงถูกต้องและฉลาดกว่าที่จะกล่าวว่า:

  • ความยุติธรรม และ ความเมตตา (ตรงข้ามกับความยุติธรรมกับความอยุติธรรม)

  • สิทธิ์เสรี และ ความรับผิดชอบ

  • ศรัทธา และ งาน

  • การรักษาพันธสัญญา/ทางศาสนา (ภายนอก) และ การเป็นสานุศิษย์/ทางวิญญาณ (ภายใน)

  • ความเหมือนกัน และ ความยืดหยุ่น

  • ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และ ความหลากหลาย

  • ตัวบทกฎหมาย และ เจตนารมณ์ของกฎหมาย

  • ความคารวะ/ความเคร่งขรึม และ ปีติ/การเข้าสังคม

  • ความองอาจ และ ความอ่อนโยน

  • ความกล้าหาญ และ ดุลพินิจ

  • วินัย และ ความรักความเมตตา

  • ความยุติธรรมสําหรับคนทั้งปวง และ การไม่ประนีประนอม

  • ความสุภาพอ่อนน้อม และ ความหนักแน่น

  • “จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง” (มัทธิว 5:16) และ ไม่ “แสวงหาเกียรติจากมนุษย์” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:35)

  • และอื่นๆ

จิตกุศล—คุณธรรมสากล

หัวใจของพระบัญญัติข้อสําคัญสองข้อ—รักพระผู้เป็นเจ้าและรักเพื่อนบ้านของเรา—เป็นคุณธรรมแห่งจิตกุศล พระเยซูตรัสว่า “ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” (มัทธิว 22:40) เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ (1862–1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเรียกจิตกุศลว่า “พระบัญญัติข้อใหญ่และข้อต้นและครอบคลุมทุกสิ่ง” และตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพระบัญญัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด “บนพื้นฐานของความจริงอันเรียบง่ายทางคณิตศาสตร์ว่าทั้งหมดยิ่งใหญ่กว่าส่วนใด”6

“ทั้งพระบัญญัติอื่นๆ ก็รวมอยู่ในข้อนี้คือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ความรักไม่ทำอัน‌ตรายต่อเพื่อน‍บ้านเลย เพราะ‍ฉะนั้นความรักจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ธรรม‍บัญญัติสำเร็จอย่างครบ‍ถ้วน” (โรม 13:9–10) ความรักคือคุณธรรมที่ผลักดันมนุษยชาติจากกฎของโมเสสไปสู่กฎของพระกิตติคุณ

เพราะลักษณะทั่วไปของจิตกุศลที่ครอบคลุมคุณธรรมอื่นทั้งหมดจึงอาจกล่าวได้ว่าคุณธรรมเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบของจิตกุศล เพราะจิตกุศล “อดทนนาน” “มีใจปรานี” “ไม่อิจฉา” และ “ไม่หยิ่งผยอง” (ดู 1 โครินธ์ 13:4–8; โมโรไน 7:45)

ภาพ
เด็กหญิงตัวน้อยขว้างช้อน

เมื่อมารดาให้ช้อนกับลูกตัวน้อยของเธอ นี่เป็นกรณีศึกษาที่ลึกซึ้งเรื่องจิตกุศล มารดาแสดงความไว้วางใจ ความรัก ความหวัง ความอดกลั้น (สําหรับความยุ่งเหยิง) ความอดทน ความสงบ การโน้มน้าวใจ และอื่นๆ

พิจารณาตัวอย่างนี้: เมื่อมารดาให้ช้อนกับลูกน้อยของเธอ นี่เป็นกรณีศึกษาที่ลึกซึ้งเรื่องจิตกุศลหรือความรักเหมือนพระคริสต์ ลองนึกถึงคุณธรรมมากมายในสถานการณ์สมมตินี้: ความไว้วางใจ ความรัก ความหวัง การพึ่งพาตนเอง ความอดกลั้น (สำหรับความยุ่งเหยิงและการต่อต้าน) ความสุภาพอ่อนน้อม ความเมตตา ความอดทน ความสงบ ความหนักแน่น การโน้มน้าวใจ และอื่นๆ มารดา “ไม่ขุ่นเคืองง่าย, … ทนทุกสิ่ง, เชื่อทุกสิ่ง, หวังทุกสิ่ง, อดทนทุกสิ่ง ความรัก​ [ของเธอ] ไม่มีวันเสื่อมสูญ” (1 โครินธ์ 13:5, 7–8)

เราสํานึกคุณอย่างยิ่งต่อพระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงรักเรา ผู้ทรงมีจิตกุศลที่อดทนและอดกลั้นกับความยุ่งเหยิงที่เราทำในชีวิต!

ดังนั้น น่าแปลกใจหรือไม่ว่าเหตุใดพระคัมภีร์จึงระบุว่าจิตกุศลเป็น “ใหญ่ที่สุด” (1 โครินธ์ 13:13; โมโรไน 7:46) เป็น “ที่ยิ่งใหญ่กว่า” (1 โครินธ์ 12:31) และ “เหนือสิ่งอื่นใด” (1 เปโตร 4:8) โดยแท้แล้ว คําเชื้อเชิญให้ “สวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจ, เพื่อท่านจะเปี่ยมด้วยความรักนี้” (โมโรไน 7:48) เป็นคําเชื้อเชิญให้สวดอ้อนวอนขอคุณธรรมทั้งปวงและพยายามให้มี ความสมดุลที่สมบูรณ์ ในบรรดาคุณธรรมเหล่านี้ ถ้าปราศจากความสมดุล แม้จิตกุศลก็สามารถทําให้สุดโต่งได้ เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่มีความรักแต่ยินยอมพร้อมใจของเฮเลน เคลเลอร์

คุณธรรมเป็นของประทานแห่งพระวิญญาณ

ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา บทที่ 6 “ฉันจะพัฒนาคุณลักษณะเหมือนอย่างพระคริสต์อย่างไร?” ผู้สอนศาสนาเรียนรู้ว่า “คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า เกิดขึ้นเมื่อท่านใช้สิทธิ์เสรีอย่างชอบธรรม ทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงอวยพรท่านด้วยคุณลักษณะเหล่านี้เพราะท่านจะพัฒนาไม่ได้หากปราศจากความช่วยเหลือของพระองค์”7

การบ่มเพาะคุณธรรมให้สำเร็จต้องสร้างสมดุลระหว่างศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การสวดอ้อนวอน และ “ทําสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอํานาจของเราอย่างรื่นเริง” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 123:17)

โมโรไนสอนเราว่าความหวังของเราในการเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มีศูนย์กลางอยู่ในพระองค์: “จงมาหาพระคริสต์, และได้รับการทําให้ดีพร้อมในพระองค์, และปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง; และหากท่านจะ … รักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกําลังของท่าน, เมื่อนั้นพระคุณของพระองค์จึงเพียงพอสําหรับท่าน, เพื่อโดยพระคุณของพระองค์ท่านจะดีพร้อมในพระคริสต์” (โมโรไน 10:32)

ขอให้ คําเทศนาแห่งพระชนม์ชีพ ของพระเจ้าเป็นการสวดอ้อนวอนและภารกิจของเรา เมื่อเรา “บ่มเพาะคุณธรรม … เสมอไป” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 46:33; เน้นตัวเอน) “คุณธรรม [จะ] ประดับความนึกคิด [ของเรา] ไม่เสื่อมคลาย; เมื่อนั้นความมั่นใจของท่านจะแข็งแกร่งขึ้นในการประทับอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า; และหลักคําสอนแห่งฐานะปุโรหิตจะกลั่นลงมาบนจิตวิญญาณท่านดังหยาดน้ำค้างจากฟ้าสวรรค์” (หลักคําสอนและพันธสัญญา 121:45; เน้นตัวเอน)

อ้างอิง

  1. คู่มือพระคัมภีร์, “คุณธรรม, พรหมจรรย์, อานุภาพ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org

  2. Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe (1954), 433; ดู หน้า 76 ด้วย

  3. Ezra Taft Benson, An Enemy Hath Done This (1969), 52. ดู Spencer J. Condie, In Perfect Balance (1993) ด้วย

  4. ดู Dallin H. Oaks, “Our Strengths Can Become Our Downfall,” Liahona, May 1995, 10–23.

  5. เพราะอาการป่วยเมื่ออายุ 1 ขวบ เฮเลน เคลเลอร์จึงหูหนวกและตาบอดแต่เป็นนักการศึกษาและนักเขียนที่ประสบความสําเร็จ

  6. James E. Talmage, Jesus the Christ (1916), 551.

  7. สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2019), 122.

  8. ดู Polybius: The Histories, trans. W. R. Paton (1927), 5:183.