2023
การให้อภัยหมายถึงและไม่ได้หมายถึงอะไร
ตุลาคม 2023


“การให้อภัยหมายถึงและไม่ได้หมายถึงอะไร”, เลียโฮนา, ต.ค. 2023

การให้อภัยหมายถึง และไม่ได้หมายถึง อะไร

การให้อภัยตนเองและผู้อื่นเป็นของประทานจากสวรรค์ที่นำมาซึ่งสันติสุขในใจ และทำให้เราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ในฐานะนักจิตบำบัด ผมพยายามช่วยเหลือผู้คนมากมายเมื่อพวกเขาต่อสู้กับสภาวการณ์และปัญหาที่น่าหนักใจในชีวิตรวมถึงการให้อภัย พวกเขาปรารถนาการให้อภัยจากผู้อื่น สังคม กฎหมาย หรือจากตัวพวกเขาเอง แต่อนิจจา การให้อภัยดูเหมือนจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก และในบางครั้งการแสวงหาก็ทำให้เกิดความเครียด ความกังวล หรือแม้แต่ความตื่นตระหนก เพราะเหตุใด?

การให้อภัยตนเองและผู้อื่นเป็นเรื่องยากโดยแท้จริง สิ่งนี้มักจะส่งผลให้เกิดความคับข้องใจ ซึ่งทำให้ยากที่จะได้ยินหรือรู้สึกถึงพระสุรเสียงของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพราะเราหมกมุ่นอยู่กับความคิดวิตกกังวล พระวิญญาณ “ทรงสัมผัสเราอย่างนุ่มนวลมากจนถ้าเราจดจ่ออยู่กับเรื่องหนึ่งเราอาจไม่รู้สึกเลย”1

การศึกษาและไตร่ตรองพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายจะเปิดเผยวิธีที่ท่านจะรู้และรู้สึกได้ถึงแก่นแท้ของการให้อภัย—และสิ่งที่ไม่ใช่แก่นแท้ เมื่อท่านเรียนรู้แนวคิดเหล่านี้ ท่านจะเริ่มตระหนักว่าการปลดปล่อยความขุ่นเคืองสามารถเป็นการรักษาอย่างลึกซึ้ง นำสันติสุขมาสู่ใจที่ต่อสู้ของท่าน2

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920-2007) ผู้รับใช้เป็นที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “ถ้าเราสามารถพบการอภัยในใจเราแก่ผู้ที่ทำให้เราเจ็บปวดและบาดเจ็บ เราจะก้าวขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นของความภาคภูมิใจในตนเองและความผาสุก”3

ภาพ
โจเซฟ สมิธพูดคุยกับวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส

Joseph Smith and William W. Phelps [โจเซฟ สมิธและวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส] โดย โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน แมคเคย์

การให้อภัยผู้ที่ทำร้ายเรา

ในช่วงปีแรกๆ ของศาสนจักร วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งขันของโจเซฟ สมิธ เขาเป็นหนึ่งในวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกลุ่มแรกที่ถูกส่งไปยังแจ็คสันเคาน์ตี้ มิสซูรีซึ่งพระเจ้าทรงเรียกเป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานที่นั่น

แต่เมื่อบราเดอร์เฟลพ์สเริ่มหลงผิด พฤติกรรมของเขาร้ายแรงจนพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยกับโจเซฟ สมิธว่าหากบราเดอร์เฟลพ์สไม่กลับใจ เขาจะต้องถูก “ปลดออกจาก” ตำแหน่ง4 เขาไม่ได้กลับใจและถูกปัพพาชนียกรรมในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1838

แม้ว่าวิลเลียมจะได้รับบัพติศมาอีกครั้ง แต่ปัญหาของเขากับศาสนจักรและผู้นำศาสนจักรยังคงมีอยู่ ในเดือนตุลาคม ปี 1838 เขาเป็นพยานปรักปรำศาสดาพยากรณ์และผู้นำคนอื่นๆ ของศาสนจักร การกระทำนี้ส่งผลให้โจเซฟ สมิธถูกกักขังในเดือนพฤศจิกายน ปี 1838

ห้าเดือนต่อมาศาสดาพยากรณ์ถูกจำคุกในคุกมิสซูรีสองครั้งรวมถึงคุกลิเบอร์ตี้ด้วย

ในปี 1840 วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สเกิดการเปลี่ยนแปลงในใจอย่างลึกซึ้งและเขียนจดหมายถึงศาสดาพยากรณ์เพื่อขอให้ท่านให้อภัย จดหมายที่โจเซฟเขียนตอบลงท้ายด้วยบทกวีสองบรรทัด

“มาเถิด บราเดอร์ สงครามผ่านพ้นไปแล้ว

“‘เดิมทีเป็นเพื่อนกัน สุดท้ายก็เป็นเพื่อนกันอีก’”5

โจเซฟยกโทษให้บราเดอร์เฟลพ์สอย่างเต็มใจและต้อนรับเขากลับสู่มิตรภาพโดยสมบูรณ์

สี่ปีต่อมาเมื่อบราเดอร์เฟลพ์สรู้ว่าโจเซฟกับไฮรัมถูกกลุ่มคนร้ายฆ่า เขาเสียใจมาก การที่โจเซฟให้อภัยบราเดอร์เฟลพ์สอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาขณะเขียนคำร้องอันไพเราะและสะเทือนใจในเพลงสวด “สรรเสริญบุรุษ”6

การให้อภัยไม่ได้หมายถึงอะไร

เพื่อที่จะเข้าใจว่าการให้อภัยผู้อื่นหมายถึงอะไร การเข้าใจว่าการให้อภัยไม่ได้นำมาซึ่งสิ่งใดอาจเป็นประโยชน์

ประการแรก ท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อใจผู้ที่ได้รับการให้อภัยเมื่อกระบวนการให้อภัยเสร็จสมบูรณ์แล้ว ตัวอย่างเช่น หากท่านมีรองเท้าวิ่งคู่สวยคู่หนึ่งและข้าพเจ้าอยากได้มากจนขโมยไปจากท่าน ต่อมาไม่นาน ข้าพเจ้ารู้สึกผิดที่ขโมย จึงนำรองเท้าคืนให้ท่านและวิงวอนขออภัยจากท่าน ท่านตอบกลับด้วยการให้อภัย และข้าพเจ้าก็ไปตามทางของข้าพเจ้า แต่สมมติว่าข้าพเจ้ามาหาท่านในภายหลังและถามว่าข้าพเจ้าจะขอยืมรองเท้าคู่นั้นได้หรือไม่ ท่านกล่าวด้วยความลังเลใจว่าท่านอภัยให้ข้าพเจ้าแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าท่านจะรู้สึกว่าสามารถกลับมาไว้วางใจข้าพเจ้าได้อีก บ่อยครั้งที่การเยียวยาและเชื่อใจจะต้องใช้เวลา

ประการที่สอง ท่านไม่จำเป็นต้องให้อภัยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนผู้นั้นอันเนื่องมาจากสภาวการณ์ในชีวิต ในตัวอย่างรองเท้าที่ถูกขโมย เป็นเรื่องสำคัญที่จะไม่พูดกับข้าพเจ้าว่า “ไม่เป็นไรที่คุณขโมยรองเท้า ผมรู้ว่าคุณกำลังลำบาก” การให้อภัยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นการทำให้ผู้ก่อเหตุเลี่ยงความรับผิดชอบในการกระทำที่จำเป็นต้องได้รับการให้อภัยตั้งแต่แรก

ประการที่สาม การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายกำหนดว่าท่านรู้สึกอย่างไร การให้อภัยหมายถึงการตระหนักว่า ท่าน กำหนดความรู้สึกโดยการจัดการความคิดของท่านและโดยการเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระคริสต์ ยกตัวอย่างกรณีรองเท้าที่ถูกขโมยอีกครั้ง หากท่านบอกข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าได้รับการให้อภัย แต่ท่านยังไม่พอใจทุกครั้งที่เห็นข้าพเจ้า เช่นนี้จำเป็นต้องมีการให้อภัยที่ลึกซึ้งขึ้น

ประการที่สี่ การให้อภัยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ได้รับการให้อภัย การให้อภัยเป็นกระบวนการภายใน จำเป็นต้องมีการปลดปล่อยความไม่พอใจ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการยกระดับฐานะเป็นเพื่อนสนิทหรือมิตรสหาย สำหรับบางคนที่บังเอิญมาเจอกัน การรักพวกเขาแบบอยู่ห่างๆ จะเหมาะสมกว่า7

ประการที่ห้า การให้อภัยไม่จำเป็นต้องรับคำขอโทษจากผู้ได้รับการให้อภัย ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้น ประธานเฟาสท์สอนว่า “พวกเราส่วนมากต้องการเวลาที่จะทำให้เราผ่านพ้นความเจ็บปวดและการสูญเสีย เราสามารถหาเหตุผลทุกอย่างที่จะเลื่อนการให้อภัย หนึ่งในเหตุผลนี้คือการรอให้คนทำผิดกลับใจก่อนที่เราจะให้อภัยพวกเขา ดังนั้นการถ่วงเวลาจะทำให้เราสูญเสียความสงบและความสุขที่ควรจะเป็นของเรา การกระทำอันโง่เขลาที่เฝ้าแต่นึกถึงความเจ็บปวดอันยาวนานในอดีตไม่ทำให้มีความสุข”8

การให้อภัยตนเอง

ความสามารถในการให้อภัยผู้อื่นเริ่มต้นด้วยความสามารถของเราในการให้อภัยตนเอง แต่บางคนก็พบว่าการให้อภัยตนเองเป็นเรื่องท้าทาย หากพวกเขายังคงลงโทษตนเองด้วยความคิดเชิงลบเกี่ยวกับบาปที่พวกเขากลับใจ พวกเขากำลังกีดขวางเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะชำระพวกเขาจากผลกระทบเชิงลบของการลงโทษตนเอง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “มีบางอย่างที่พวกเราหลายคนไม่ได้ทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อภัยและลืมความผิดพลาดในชีวิตก่อนหน้านี้—ทั้งความผิดพลาดของเราเองและความผิดพลาดของผู้อื่น นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี นั่นไม่ใช่ชาวคริสต์ การทำเช่นนั้นถือเป็นการต่อต้านความยิ่งใหญ่และอานุภาพแห่งการชดใช้ของพระคริสต์ การฝังใจกับความผิดพลาดที่แล้วมาเป็นความเลวร้ายที่สุดของการกลิ้งเกลือกอยู่กับอดีตซึ่งเราต้องยุติและตัดใจ”9

หรือดังคำที่มักกล่าวกันว่า “เมื่อมารย้ำเตือนให้ท่านคิดถึงอดีต จงเตือนให้เขาคิดถึงอนาคต!”

ในการบำบัด ผู้ป่วยมักถามข้าพเจ้าว่า “แต่จริงๆ แล้วฉันต้องทำอย่างไรเพื่อให้อภัยตนเอง?”

ประการแรก เราต้องยอมรับความจริงที่ว่าพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพราะบาปของเราแล้ว ดังที่เราเรียนรู้ใน แอลมา 7:13 “พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้ายังทรงรับทุกขเวทนาตามเนื้อหนังเพื่อพระองค์จะทรงรับเอาบาปของผู้คนของพระองค์, เพื่อพระองค์จะทรงลบการล่วงละเมิดของพวกเขาตามพระพลานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระองค์” การลงโทษตนเองเป็นความพยายามที่ไม่ก่อให้เกิดผลและเป็นอันตราย!

ประการที่สอง เราต้องไม่เพียงเชื่อ ใน พระผู้ช่วยให้รอด แต่ต้องเชื่อ พระองค์ ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราสามารถเชื่อพระองค์ได้อย่างแท้จริงเมื่อตรัสว่า

“เพราะดูเถิด, เรา, พระผู้เป็นเจ้า, ทนทุกข์กับสิ่งเหล่านี้เพื่อทุกคน, เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ทนทุกข์หากพวกเขาจะกลับใจ;

“แต่หากพวกเขาจะไม่กลับใจ พวกเขาต้องทนทุกข์แม้ดังเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16 –17)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนให้เราให้อภัย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:9) ดังนั้นการไม่ให้อภัยตนเองหรือผู้อื่นอาจทำให้เรามีข้อสันนิษฐานผิดๆ ว่าความทุกข์ทรมาน ของเรา สามารถไถ่เราได้ดีกว่าความทุกขเวทนาของพระเจ้า ความคิดที่เย่อหยิ่งนี้ทำให้เราตกอยู่ในอันตรายจากการติดตามปฏิปักษ์แทนที่จะวางใจในเดชานุภาพแห่งการเยียวยาของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

เราต้องไม่คาดหวังว่าจะลืมสิ่งที่เราทำผิด แต่เราสามารถลืมความเจ็บปวดจากความไม่พอใจและการลงโทษตนเองได้ในท้ายที่สุด เราเรียนรู้จาก แอลมา 36:19 ว่าแอลมาผู้บุตรสามารถก้าวข้ามอดีตของเขาได้: “พ่อจำความเจ็บปวดของพ่อไม่ได้อีก; แท้จริงแล้ว, พ่อไม่ปวดร้าวด้วยความทรงจำถึงบาปของพ่ออีก”

การสามารถให้อภัยเป็นของประทานจากสวรรค์และไม่สามารถประเมินค่าได้ โดยรางวัลที่ได้คือสันติสุขในใจที่ให้เราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นในท้ายที่สุด

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

อ้างอิง

  1. Boyd K. Packer, “The Candle of the Lord,” Ensign, Jan. 1983, 53.

  2. ดู คริสติน เอ็ม. ยี, “มงกุฎแทนขี้‍เถ้า: เส้นทางเยียวยาแห่งการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 36–38.

  3. เจมส์ อี. เฟาสท์, “อำนาจเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 85.

  4. History, 1838–1856 [Manuscript History of the Church], vol. B-1, 781, josephsmithpapers.org.

  5. ถอดความจากบทกวีของ Charles Wesley “An Epistle to the Reverend Mr. George Whitefield”; ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 398.

  6. ดู “สรรเสริญบุรุษเพลงสวด บทเพลงที่ 14.

  7. “และพระองค์ก็ ไม่ได้ ตรัสว่า ‘เพื่อจะยกโทษให้อย่างสมบูรณ์ เจ้าต้องกลับเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษภัยหรือกลับไปสู่สภาวการณ์เลวร้ายที่เป็นอันตราย’” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พันธกิจในเรื่องการคืนดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 79)

  8. เจมส์ อี. เฟาสท์, “อำนาจเยียวยาของการให้อภัย,” 84.

  9. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “สิ่งดีเลิศจะตามมา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2010, 19.