เลียโฮนา
เพาะเมล็ดแห่งศรัทธาอีกครั้ง
มีนาคม 2024


“เพาะเมล็ดแห่งศรัทธาอีกครั้ง” เลียโฮนา, มี.ค. 2024

เพาะเมล็ดแห่งศรัทธาอีกครั้ง

บทเรียนจากผู้ที่กลับมามีศรัทธาอีกครั้ง

ภาพ
ลำต้นและใบไม้

ในโลกที่มักขยายเรื่องราวการสูญเสียศรัทธา บางครั้งทำให้ไม่มีใครสังเกตเห็นการเดินทางกลับมามีศรัทธาอีกครั้ง แต่เรื่องราวการกลับมาเปลี่ยนใจเลื่อมใสอีกครั้งแสดงให้เห็นว่าพี่น้องในพระกิตติคุณเอาชนะความสงสัยของตนหลังออกจากศาสนจักรไปแล้วได้อย่างไร เรื่องราวของพวกเขาแสดงให้เห็นสิ่งที่แอลมาสอนเกี่ยวกับการเพาะเมล็ด แอลมาพูดถึงกระบวนการศรัทธาที่ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คนที่พยายามเพิ่มพูนศรัทธาของตนเท่านั้น แต่ยังช่วยคนที่กำลังเกิดคำถามและข้อกังวลด้วย

  • ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่า “ศรัทธาไม่ใช่การมีความรู้อันสมบูรณ์” (แอลมา 32:21)

  • จากนั้นเรา “ใช้อนุภาคหนึ่งของศรัทธา” หรือใช้เพียงแค่ “ความปรารถนาที่จะเชื่อ” (ข้อ 27)

  • เราเพาะเมล็ด—พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า—ไว้ในใจเรา (ดู ข้อ 28)

  • ระหว่างทาง เราบำรุงเลี้ยงรากทางวิญญาณด้วยความอดทนและยอมรับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ในพระกิตติคุณเพื่อให้ต้นไม้ที่เพาะในพระคริสต์ “งอกงามไปสู่ชีวิตอันเป็นนิจ” (ข้อ 41)

“ศรัทธาไม่ใช่การมีความรู้อันสมบูรณ์ของสิ่งต่างๆ; ฉะนั้นหากท่านมีศรัทธาท่านย่อมหวังในสิ่งที่ไม่เห็น, ซึ่งจริง” (แอลมา 32:21)

ภาพ
อัลบา ฟอนเซกา

อัลบา ลูเซีย ฟอนเซกา สมาชิกศาสนจักรจากสหรัฐ เห็นเนื้อหาออนไลน์ที่ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของเธอ และเธอสูญเสียศรัทธาอย่างรวดเร็ว ตอนแรกเธอโยนเมล็ดแห่งศรัทธาทิ้งด้วยความสงสัย แต่จากนั้นเธอเริ่มพูดคุยกับสมาชิกที่ห่วงใยและมีความรู้ และตระหนักว่าความไม่เชื่อของเธอก่อให้เกิดคำถามเช่นกัน

“ความเข้าใจของฉันเรื่องแนวคิดพระกิตติคุณและประวัติศาสนจักรไม่กว้างเท่าที่ฉันคิดไว้” เธออธิบาย “นั่นทำให้ฉันถ่อมตนและช่วยให้ฉันตระหนักว่ายังมีอีกมากให้ฉันเรียนรู้และศรัทธาไม่ใช่การมาถึงจุดที่คำถามทุกข้อได้คำตอบ” อัลบาตระหนักว่า “สิ่งคุ้มค่าอื่นๆ ในชีวิต—เช่น ครอบครัว การศึกษา อาชีพ—ล้วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยง การเสียสละ ความไม่แน่นอน และความพยายามชั่วชีวิต ฉันกลับมาโบสถ์และยืนยันได้ว่าการรักษาศรัทธาคุ้มค่ากับความพยายามแบบนี้มากเช่นกัน”

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “พระเจ้าไม่ได้เรียกร้องศรัทธา ที่สมบูรณ์ เพื่อให้เราเข้าถึงเดชานุภาพ อันสมบูรณ์ ของพระองค์” แต่ท่านชี้ให้เห็นเช่นกันว่าศรัทธาของเราเรียกร้องให้เราพยายามต่อเนื่องเพื่อเติบโตต่อไป1 ถึงแม้ฐานรากเดิมของพระวิหารซอลท์เลคใช้การได้ดีมานานกว่าศตวรรษ แต่ตอนนี้ต้องบูรณะครั้งใหญ่ ประธานเนลสันอธิบาย บางครั้งเราเองก็ต้องเสริมรากฐานทางวิญญาณของเราเพื่อ “ต้านทานภยันตรายและแรงกดดันที่จะเกิดขึ้น”2 เฉกเช่นบางครั้งเราพบเจอเรื่องยากๆ เหมือนที่อัลบาเจอ ความปรารถนาจะได้รับความแน่นอนของเราสามารถนำเราจากความเชื่อไปสู่ความไม่เชื่อได้ ขณะมองข้ามความพยายามที่จำเป็นเพื่อเสริมและสร้างรากฐานทางวิญญาณของเรา

คนที่ศึกษาเรื่องราวการกลับมามีศรัทธาได้พบว่าจะช่วยได้ถ้ามองศรัทธาเป็นการเดินทางหลายขั้นตอนชั่วชีวิต3 เราอาจจะเริ่มด้วยความเชื่อเหมือนเด็กๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งศรัทธาเหมือนเด็กจะเจอคำถามและข้อกังวล ถึงแม้ศรัทธาที่ยังไม่ผ่านการทดลองของเราอาจเคยเป็นรากฐานทางวิญญาณมาดี แต่ตอนนี้เราต้องย้ายจากศรัทธาอันเรียบง่ายผ่านความซับซ้อนไปสู่ศรัทธาแบบผู้ใหญ่ที่สามารถต้านทานความท้าทายในอนาคตได้4 การละทิ้งศรัทธาอาจจะดูง่ายกว่า เกือบเหมือนการปลดเปลื้อง แต่รางวัลมากมายมาพร้อมกับการเดินทางของผู้ที่หันมาหาพระผู้เป็นเจ้าและบำรุงเลี้ยงเมล็ดแห่งศรัทธาต่อไป

การทดลองศรัทธาสำหรับแซมิวเอล ฮอกลันด์จากสวีเดนเริ่มขึ้นเมื่อสมาชิกครอบครัวตั้งคำถาม เขาผ่านช่วง “ตอบหนึ่งคำถามแล้วมาเจออีกหนึ่งคำถาม” เขาอธิบาย “ศรัทธาของผมสั่นคลอนทุกครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งผมตระหนักว่ากระบวนการนี้และความต้องการความแน่นอนของผมนั้นไม่ยั่งยืน” แทนที่จะพยายามตอบคำถามยิบย่อยทั้งหมด แซมิวเอลตัดสินใจศึกษาคำถามสำคัญๆ—คำถามที่สำคัญยิ่งต่อรากฐานอันมั่นคงในพระเยซูคริสต์ การค้นคว้าของแซมิวเอลร่วมกับการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์ ซึ่งเหมือนกับการค้นคว้าของอัลบา ได้สอนเขาว่าเขายังต้องเรียนรู้อีกมากและนำเขาให้มีความเชื่อแบบผู้ใหญ่มากขึ้น “ประสบการณ์ดังกล่าวเสริมสร้างศรัทธาของผมอย่างมาก” เขากล่าว “ทั้งยังสอนผมด้วยว่าคุณจะพบสิ่งที่คุณแสวงหาจริงๆ”

“หากท่านจะตื่นและปลุกพลังของท่าน, แม้มาสู่การทดลองคำพูดข้าพเจ้า, และใช้อนุภาคหนึ่งของศรัทธา, แท้จริงแล้ว, แม้หากท่านทำไม่ได้มากไปกว่าปรารถนาที่จะเชื่อ, ก็ขอให้ความปรารถนานี้เกิดผลในท่าน” (แอลมา 32:27)

“การใช้ศรัทธาอาจดูน่าหนักใจ” ประธานเนลสันยอมรับ “บางครั้งเราอาจสงสัยว่าเราจะสามารถรวบรวมศรัทธาได้มากพอจะรับพรที่เราต้องการอย่างยิ่งหรือไม่”5 แต่ถึงแม้ก้าวเล็กๆ ของศรัทธา ซึ่งเริ่มต้นด้วย “อนุภาคหนึ่งของศรัทธา” ก็สามารถ “เกิดผลในท่าน” และเริ่มการเกิดใหม่ทางวิญญาณได้

หลังจากล่องลอยทางวิญญาณในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย อแมนดา ฟรีแบร์นจากสหรัฐได้ทำตามขั้นตอนเล็กๆ ของการสวดอ้อนวอนซึ่งนำเธอให้ทำตามการกระตุ้นเตือนให้ไปเยือนบริเวณพระวิหารในท้องที่ “การรู้สึกถึงพระวิญญาณที่นั่นจุดประกายศรัทธาของฉันขึ้นมาอีกครั้ง” เธอกล่าว การกลับมาโบสถ์และยอมรับการเรียกให้สอนปฐมวัยทำให้ศรัทธาของเธอลึกซึ้งขึ้น และเธอเดินตามขั้นตอนที่ทำให้เธอน้อมรับพระกิตติคุณอย่างเต็มที่ ระหว่างทาง อแมนดาสังเกตว่า “ฉันพบคำตอบของคำถามที่ฉันต้องการอย่างยิ่ง”

ภาพ
แดน เอลส์เวิร์ธ

เมื่อถึงจุดหนึ่งแดน เอลส์เวิร์ธจากสหรัฐไม่แน่ใจว่าเขาเหลืออนุภาคหนึ่งของศรัทธาให้ใช้หรือเปล่า การเริ่มตรวจค้นทางวิชาการและประวัติศาสตร์ในพันธสัญญาเดิมบั่นทอนศรัทธาของเขาในพระคัมภีร์ไบเบิลและส่งผลต่อความเชื่อในพระคัมภีร์ทุกเล่ม แต่แดนไปโบสถ์ตลอดและตัดสินใจทดลองแผนการสวดอ้อนวอน อดอาหาร และรับใช้ในศาสนจักรเป็นเวลาหกเดือน บางครั้งเขาขอให้ลูกสาวที่ยังเด็กอ้อนวอนขอให้พ่อมีศรัทธาด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน แดนเริ่มมีประสบการณ์ทางวิญญาณและพบคำตอบของคำถามบางข้อที่กวนใจเขามากที่สุด วันหนึ่ง ขณะอยู่ที่ห้องสมุด เขารู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ลงไปดูหนังสือแถวหนึ่งและหยิบมาหนึ่งเล่ม ในนั้น เขาพบข้อคิดเห็นที่ชาญฉลาดแย้งหนังสือที่สั่นคลอนความเชื่อของเขาในพระคัมภีร์ไบเบิลตอนแรก แม้ประสบการณ์นี้ไม่ได้ตอบทุกคำถาม แต่สอนบทเรียนสำคัญบางบทให้แดน: “หนึ่ง ผมต้องถ่อมตนว่าผมสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากแค่ไหน และสอง มีวิธีหาความจริงตามด้วยเหตุผลอีกหลายวิธี อาทิ การกระตุ้นเตือนทางวิญญาณ ผลดีจากผลของพระวิญญาณ และแนวคิดที่ส่งเสริมความก้าวหน้าทางจิตใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ความเชื่อมั่นและศรัทธาแข็งแกร่งมากกว่าที่ผมเคยมี”

ภาพ
แซค มาร์แชลล์กับครอบครัว

สำหรับแซค มาร์แชลจากอังกฤษ ขั้นตอนเรียบง่ายของการดูวีดิทัศน์ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนเปิดจิตใจเขาให้คิดว่าพระคัมภีร์เล่มนี้น่าจะเป็นความจริง “ผมเคยอ่านในการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและอ่านด้วยตนเองแต่ไม่ได้ตั้งใจอ่านจริงๆ” เขาอธิบาย “แต่ผมเลิกแข็งขันในศาสนจักรตอนเป็นวัยรุ่น หลักฐานที่ผมเห็นในวีดิทัศน์จึงทำให้ผมตั้งใจอ่านพระคัมภีร์มอรมอนเป็นครั้งแรก” หลังจากทดลองพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า แซคเริ่มเปลี่ยนความสงสัยเป็นความเชื่อ ตอนนี้เขาพูดว่า “ศาสนจักรที่ผมเคยมองว่าเข้มงวด ตอนนี้ผมมองว่าให้อิสระแบบเดียวกับที่พระเยซูตรัสว่า ‘สัจจะจะทำให้ท่านเป็นไท’ [ยอห์น 8:32]”

“หากท่านละเลยต้นไม้, และไม่คิดถึงการบำรุงเลี้ยงมัน, ดูเถิดมันจะไม่แตกราก” (แอลมา 32:38)

ขณะเดินก้าวเล็กๆ เพื่อบำรุงเลี้ยงศรัทธา เราต้องระวังวิธีคิดที่ขัดขวางและหยุดยั้งศรัทธาด้วย ในการศึกษาเรื่องราวการกลับมามีศรัทธาของสมาชิกศาสนจักรในประเทศต่างๆ เอริคและซาราห์ เดเวกเน ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์–ไอดาโฮสังเกตว่า “วิธีคิดของเราสำคัญพอๆ กับสิ่งที่เราคิด” ตัวอย่างเช่น การคาดหวังว่าความเลื่อมใสศาสนาจะเว้นเรารอดพ้นความลำบากใจและความท้าทายที่บีบคั้นหัวใจของชีวิตนั้นไม่เป็นความจริงและก่อให้เกิดสมมติฐานที่ไม่เป็นจริง พระเยซูคริสต์ทรงสัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้งเรา แต่ทรงเตือนว่า “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก” (ยอห์น 16:33) ซาราห์กล่าวว่าความท้าทายในชีวิตสามารถ “นำเราให้มองพระกิตติคุณในแง่ลบได้ บางครั้งเราทิ้งอุดมคติเมื่อพบเจออะไรก็ตามที่ต่ำกว่าอุดมคติ”

ดอน แบรดลีย์ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์อิสระของสหรัฐ เจอคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสนจักรในช่วงที่เขาอธิบายว่า “ผมแค่ไม่มีความสุขเลยและมีความเคลือบแคลงสงสัย การมองคนในแง่ร้ายจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ และผมสูญเสียศรัทธาและความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า” หลายปีต่อมา ดอนเริ่มทำให้ตนเกิดความหวังและความสำนึกคุณในชีวิตส่วนตัว

เขาเริ่มสำรวจผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของศาสนาที่จัดตั้งขึ้นด้วย “ผมไม่อาจปฏิเสธผลการศึกษาเหล่านั้นได้” ดอนเล่า “ผมรู้ตัวทีละนิดว่าผมได้เปลี่ยนความสงสัยเป็นการคิดเชิงวิพากษ์ และด้วยเจตคติที่มีความหวังมากขึ้นต่อชีวิต ผมจึงกลับมามีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์อีกครั้ง” ดอนกลับมาดูข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เคยฉุดรั้งเขา แต่ตอนนี้เนื้อหาเดียวกันนี้ทำให้เชื่อมั่นว่าโจเซฟ สมิธเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า

“หากท่านจะบำรุงเลี้ยงพระวจนะ, แท้จริงแล้ว, บำรุงเลี้ยงต้นไม้เมื่อเริ่มเติบโต, … ท่านจะเก็บเกี่ยวรางวัลแห่งศรัทธาของท่าน, และความขยันหมั่นเพียรของท่าน, และความอดทน, และความอดกลั้น” (แอลมา 32:41, 43)

แม้จะเต็มใจทดลองพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและมีกรอบความคิดที่เต็มไปด้วยความหวัง แต่การกลับมามีศรัทธาและมาโบสถ์เป็นกระบวนการที่น่ากังวลจนน่าหนักใจด้วย ความพยายามนี้ไม่เพียงต้องอาศัยความอดทน ความกล้าหาญ และความอ่อนน้อมถ่อมตนเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความรักจากมิตรสหายและสมาชิกในครอบครัวด้วย การยอมรับความช่วยเหลือจากเพื่อนที่จริงใจช่วยบำรุงเลี้ยงเมล็ดและช่วยให้เมล็ดแตกรากแทนที่จะเหี่ยวเฉาไป

ภาพ
ลีโอ ไวน์การ์

เมื่อลีโอ ไวน์การ์จากสหรัฐเกิดคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสนจักรเป็นครั้งแรก เขาเรียนรู้ความสำคัญของเพื่อนที่มีความเข้าอกเข้าใจ เขาอธิบายว่า “ประจักษ์พยานของผมถดถอย” ขณะที่เขาผ่านช่วงของ “ความเหงาและความสิ้นหวังอันมืดมนเมื่อผมไม่อยากสวดอ้อนวอน” วันหนึ่งลีโอรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ติดต่อศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสนจักร เขาไม่เพียงสนับสนุนให้ลีโอพิจารณาเส้นทางความสงสัยของตนอีกครั้งเท่านั้น แต่กลายเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งด้วย ประจักษ์พยานของลีโอกลับมาทีละนิดด้วยความช่วยเหลือจากครูพี่เลี้ยงของลีโอและการศึกษาอย่างมีความหวังนานหลายปี จนเขา​พบคำ​ตอบของ​คำ​ถาม​หลาย​ข้อ “ผมรู้สึกสำนึกคุณชั่วนิรันดร์ต่อพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ที่ทรงนำทางผมกลับมา” เขาอธิบาย “และสำหรับเพื่อนๆ ที่เป็นตัวแทนของพระองค์”

“ถ้าเพื่อนและครอบครัว … ก้าวออกจากศาสนจักร จงรักพวกเขาต่อไป” ประธานเนลสันแนะนำ “ท่านจะไม่ตัดสินการเลือกของผู้อื่นและท่านไม่สมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะท่านมีศรัทธาด้วย”6

ภาพ
เลติเทีย รูล

ความกลัวการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนั้นทำให้เลติเทีย รูล สมาชิกในอังกฤษห่างเหินจากพระกิตติคุณร่วม 20 ปี บ่อยครั้งเธออยากกลับมา แต่ “แค่เดินผ่านประตูก็กลัวเพราะรู้สึกว่าถูกตัดสินและเหมือนฉันใช้ชีวิตไม่เหมาะไม่ควร” การวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเธอใกล้ตายทำให้เธอกล้าเดินก้าวยากๆ นั้น สมาชิกพบเธอด้วยความอบอุ่นและความรัก ช่วยให้เธออยากมีส่วนร่วมในพระกิตติคุณอีกครั้ง

“เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน, และเมื่อมันเริ่มพองก็เช่นเดียวกันจงบำรุงเลี้ยงมันโดยศรัทธาของท่าน และดูเถิด, มันจะกลายเป็นต้นไม้, งอกงามอยู่ในท่านจนถึงชีวิตอันเป็นนิจ” (แอลมา 33:23)

เมื่อแอลมาจบคำเทศนา เขาอธิบายชัดเจนว่าแม้การพยายามบำรุงเลี้ยงเมล็ดจะสำคัญยิ่ง แต่นั่นไม่ใช่เมล็ด เราเพาะเมล็ดจริงเมื่อเรา “เริ่มเชื่อในพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ว่าพระองค์จะเสด็จมาไถ่ผู้คนของพระองค์, และว่าพระองค์จะทรงรับทุกขเวทนาและสิ้นพระชนม์เพื่อชดใช้บาปของพวกเขา” (แอลมา 33:22)

ไมเคิล ออรัสจากเยอรมนีเรียนรู้บทเรียนสำคัญเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของพระกิตติคุณหลังจากเขาหลงผิดสมัยเป็นเยาวชน “สิ่งดีๆ และความสัมพันธ์มากมายมีอยู่ในพระกิตติคุณ แต่ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เท่านั้นจะค้ำจุนประจักษ์พยานของเรา” เขาอธิบาย “คุณพ่อกับผมศรัทธาคลอนแคลนอยู่ช่วงหนึ่งเนื่องจากเกิดคำถามหลายอย่าง แต่กลับมาเมื่อเราวางรากฐานศรัทธาในพระเยซูคริสต์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด”

ประธานเนลสันรับรองกับเราว่า “พระผู้ช่วยให้รอดทรงใกล้ชิดท่านมากที่สุดตอนที่ท่านเผชิญหรือปีนภูเขา ด้วยศรัทธา7 พระเยซูทรงสัญญาด้วยพระองค์เองว่า “เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค” (มัทธิว 28:20) พระองค์จะทรงดำเนินไปกับเรา รักเรา “ด้วยความรักนิรันดร์” (เยเรมีย์ 31:3) และประทานชีวิตให้เราอย่างครบบริบูรณ์มากขึ้น (ดู ยอห์น 10:10) คนที่เต็มใจเพาะเมล็ดนี้จะพบว่าแม้แต่ศรัทธาเล็กน้อยของพวกเขาก็สามารถกลายเป็น “ต้นไม้, งอกงามอยู่ในท่านจนถึงชีวิตอันเป็นนิจ” ได้โดยผ่านพระผู้ช่วยให้รอด (แอลมา 33:23)

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในยูทาห์ สหรัฐอเมริกา