เลียโฮนา
ฉันเป็นส่วนหนึ่งของที่บ้านได้หรือไม่ เมื่อครอบครัวฉันไม่ยอมรับพระกิตติคุณ
มีนาคม 2024


ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว

ฉันเป็นส่วนหนึ่งของที่บ้านได้หรือไม่ เมื่อครอบครัวฉันไม่ยอมรับพระกิตติคุณ

ฉันจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ต่อต้านศาสนจักรได้อย่างไร?

ภาพ
มือที่จับกัน

ฉันรู้ว่าการมีสมาชิกครอบครัวที่มีทัศนคติเชิงลบต่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นอย่างไร มันเป็นความรู้สึกที่เหงา ตึงเครียด หนักใจ ซึ่งทําให้เราสงสัยว่าเราเป็นที่รักหรือไม่

ครอบครัวของฉันส่วนใหญ่ไม่เชื่อในพระกิตติคุณ และพี่ชายคนหนึ่งพูดต่อต้านพระกิตติคุณอย่างเปิดเผย ถึงแม้ฉันจะพยายามรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบ้านตนเอง ฉันก็ยังคงพบปีติในแผนของพระบิดาบนสวรรค์สำหรับครอบครัว

นี่คือบางข้อที่ฉันเรียนรู้

ไม่ควรทำ: ตีตนออกห่าง

ในตอนแรก ฉันคิดว่าวิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกลำบากใจในการไม่เป็นส่วนหนึ่งคือการตัดสัมพันธ์กับครอบครัวที่ฉันรัก

ซึ่งไม่จริง

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตือนฉันว่าครอบครัวจําเป็นต่อแผนของพระองค์ พระองค์ทรงต้องการให้ฉันรักพวกเขาต่อไป กล่าวคือ พระองค์มิได้ทรงต้องการให้เราทนอยู่ต่อ หากสภาวการณ์ของเรานั้นเป็นอันตราย

แต่การอยู่ใกล้ชิดอาจเป็นเรื่องยากเมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

แทนด้วย: ความรัก

บางครั้งเรารู้สึกเหมือนถูกขับออกจากกลุ่มคนที่คิดลบต่อสิ่งที่เราเชื่อ

วันที่พี่ชายบอกฉันว่าเขาเกลียดฉันเพราะฉันเชื่อในพระกิตติคุณเป็นวันที่ยากที่สุดวันหนึ่งของฉัน เราอาจมีสมาชิกครอบครัวที่รักเราไม่ได้ แต่เราสามารถรับการปลอบโยนในถ้อยคําของเปโตรที่ว่า “ถ้าพวกท่านถูกด่าเพราะพระนามของพระคริสต์ พวกท่านก็เป็นสุข เพราะว่าพระวิญญาณแห่งพระสิริคือพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตกับพวกท่าน” (1 เปโตร 4:14)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เราเลือกความรัก (ดู ยอห์น 15:17) แม้ “ถ้าโลกนี้เกลียดชังพวกท่าน … เพราะท่านไม่ได้เป็นของโลก” (ยอห์น 15:18–19) การมุ่งที่จะรักสมาชิกครอบครัวเหล่านี้จะช่วยลดความรู้สึกเหงาได้

อาจมีความอยากยอมแพ้ แต่จําไว้ว่าความอดทนและความวางใจในพระผู้เป็นเจ้าสามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์ได้ พระองค์ทรงสามารถทําปาฏิหาริย์โดยผ่านท่าน

มันใช้เวลานาน แต่เมื่อฉันวางใจพระผู้เป็นเจ้าและแสดงความรักต่อพี่ชายด้วยความอดทน เขาก็เริ่มมองข้ามความเกลียดชังที่มีต่อศาสนจักร ความสัมพันธ์ของเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่คำสวดอ้อนวอนของฉันกำลังได้รับคำตอบทีละขั้นเมื่อฉันให้ความสำคัญกับความรักเป็นอันดับแรก

แทนด้วย: การเป็นผู้สร้างสันติ

แม้ว่าเราไม่ต้องการผลักไสครอบครัวของเราออกไป แต่เราควรถอนตัวเมื่อมีสัญญาณของความขัดแย้ง เมื่อความขัดแย้งสิ้นสุด เราสามารถลองใหม่ได้อีกครั้ง พระคริสต์มักจะทรงตอบสนองความขัดแย้งด้วยความเงียบ (ดู โมไซยาห์ 14:7) แต่ดังที่เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ (1932–2017) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “การโต้ตอบในวิถีแห่งความเป็นเหมือนพระคริสต์ไม่สามารถเขียนบทไว้ล่วงหน้าหรือมีสูตรตายตัว พระผู้ช่วยให้รอดทรงโต้ตอบในวิธีที่แตกต่างกันไในแต่ละสถานการณ์”1 ดังนั้น จงทําตามการทรงนําของพระวิญญาณ

การนิ่งเงียบ เหมือนพระผู้ช่วยให้รอดแสดงให้เห็นว่าท่านเต็มใจฟัง ท่านสามารถพยายามเข้าใจทัศนะของผู้อื่นขณะยึดมั่นมาตรฐานของท่าน

หลังจากฟังแล้ว ลองอธิบายความรู้สึกบางอย่างของท่าน เมื่อฉันบอกครอบครัวว่าสิ่งที่พวกเขาพูดทำให้ฉันเสียใจ พวกเขาตอบด้วยความรัก เราพูดคุยกันถึงวิธีที่จะเคารพกันมากขึ้นและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในอนาคต

ดังที่เอ็ลเดอร์วอลเตอร์ เอฟ. กอนซาเลซกล่าวเมื่อท่านเป็นสมาชิกแห่งสาวกเจ็ดสิบ “การสื่อสารที่ชัดเจนและด้วยความรักจะสามารถคลายความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้”2

ไม่ควรทำ: ละทิ้ง

ท่านอาจรู้สึกว่าทางเดียวที่จะเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของท่านได้คือละทิ้งศาสนจักร

ซึ่งไม่จริง

แทนด้วย: ใช้ศรัทธา

บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับพระกิตติคุณอาจพยายามทําให้ท่านรู้สึกผิดเพราะความเชื่อ เมื่อพี่ชายฉันออกจากศาสนจักร ครอบครัวเรารู้สึกเหมือนเขากําลังขอให้เราเลือกระหว่างเขากับศาสนจักร ครอบครัวของฉันส่วนใหญ่เลือกเขาและจากไปเช่นกัน

แม้จะกดดันเช่นนี้ ฉันก็เรียนรู้ที่จะพูดว่า “แต่ข้าพเจ้าก็ไม่อับอาย เพราะว่าข้าพเจ้ารู้จักพระองค์ที่ข้าพเจ้าเชื่อ” (2 ทิโมธี 1:12)

ฉันรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นใคร และฉันเลือกวางใจพระองค์ ศรัทธานั้นช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ฉัน

แทนด้วย : หาพี่น้องในพระคริสต์

ดังที่เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว “ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ท่านจะพบครอบครัวของคนที่ไม่ต่างจากท่านเท่าใดนัก”3

พี่น้องของท่านในพระคริสต์เข้าใจความรักที่ท่านมีต่อพระกิตติคุณและสามารถส่งเสริมให้ท่านใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น พวกเขาสามารถให้ความเป็นส่วนหนึ่งที่ท่านกําลังแสวงหา

ควรทำ: พึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

เอ็ลเดอร์กอนซาเลซสอนเช่นกันว่า: “แม้แต่พระผู้ช่วยให้รอดก็ทรงมีสมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้เชื่อแบบเดียวกับพระองค์ ในพระคัมภีร์ไบเบิลที่เราอ่านกล่าวว่า ‘แม้แต่พวกน้องๆ ของพระองค์ก็ไม่ได้วางใจในพระองค์’ (ยอห์น 7:5)”4

พระเยซูคริสต์เข้าพระทัยการต่อสู้ของท่าน หันไปขอการเยียวยาจากพระองค์ ใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสัญญาว่า “ความอยุติธรรมทั้งหลายในชีวิตจะแก้ไขได้ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์”5 แม้เราปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ความจริงคือเรามักจะไม่เข้ากับคนอื่นเมื่อเราเป็นผู้ติดตามพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเรียกเราว่าผู้คนอันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ด้วยเหตุผล (ดู 1 เปโตร 2:9; เฉลยธรรมบัญญัติ 14:2) แต่เนื่องด้วยความสัมพันธ์ตามพันธสัญญาของเรากับพระองค์ เราจะเป็นของพระองค์ตลอดไป และนั่นคือสิ่งสำคัญอย่างแท้จริง