เซมินารี
ประเมินผลการเรียนรู้ของท่าน 4


ประเมินผลการเรียนรู้ของท่าน 4

มัทธิว 14–20; มาระโก 6–10; ลูกา 10; 12; 14–18; ยอห์น 5–11

ภาพ
Newport Beach Seminary

บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านประเมินเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ รวมถึงการเรียนรู้และการเติบโตส่วนตัวที่ท่านได้รับระหว่างที่ท่านศึกษาพันธสัญญาใหม่

สวดอ้อนวอนให้นักเรียน เพื่อมุ่งเน้นที่นักเรียนแต่ละคนได้ดีขึ้น ให้สวดอ้อนวอนเพื่อพวกเขาโดยระบุชื่อ ทูลขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์เพื่อเข้าใจความต้องการของนักเรียนและรู้ว่าจะใช้กลยุทธ์การสอนใดช่วยตอบรับความต้องการเหล่านั้น ฟังการกระตุ้นเตือนว่าจะช่วยนักเรียนแต่ละคนได้อย่างไร

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนใคร่ครวญถึงการเติบโตทางวิญญาณที่พวกเขาได้รับระหว่างการศึกษาพันธสัญญาใหม่ การศึกษาพันธสัญญาใหม่ช่วยให้พวกเขารู้จัก รัก และรับใช้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์หรือไม่? พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่มีความหมายอะไรบ้าง?

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้นักเรียนประเมินเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้ ประเมินความสามารถในการอธิบายคำสอนในพันธสัญญาใหม่ หรือเจตคติ ความปรารถนา และความสามารถในการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การศึกษาของชั้นเรียนถึงมัทธิว 14–20; มาระโก 6–10; ลูกา 10; 12; 14–18; และยอห์น 5–11 อาจเน้นถึงความจริงนอกเหนือจากที่มีอยู่ในกิจกรรมต่อไปนี้ หากเป็นเช่นนั้น อาจปรับกิจกรรมให้มีความจริงเหล่านั้นด้วย

มาหาพระเยซูคริสต์และมาเป็นสานุศิษย์ของพระองค์

ใช้เวลาใคร่ครวญว่าท่านเติบโตเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูและแสวงหาที่จะมาหาพระองค์อย่างเต็มที่อย่างไรขณะศึกษาพันธสัญญาใหม่ วิธีการบางอย่างที่ท่านได้รับการกระตุ้นให้ทำสิ่งนี้คือ ความสามารถของท่านในการรับและทำตามการเปิดเผยส่วนตัว อธิบายบทบาทและพระสมัญญานามของพระเยซูคริสต์บางส่วน และในความพยายามของท่านที่จะแสวงหาสันติสุขในชีวิตนี้โดยผ่านพระเยซูคริสต์ จงแสวงหาที่จะรู้จากพระบิดาในสวรรค์ของท่านถึงวิธีที่ท่านเติบโตและพัฒนาในทางเหล่านี้ รวมถึงการกระทำใดๆ ที่ท่านควรทำต่อไปหรือปรับเปลี่ยนเพื่อจะได้ให้ความเป็นสานุศิษย์ของท่านต่อพระเยซูคริสต์หยั่งรากลึกต่อไป

เพิ่มความสามารถของท่านเพื่อรับการเปิดเผย

เริ่มชั้นเรียนโดยเปิดเพลงที่คุ้นเคยเบาๆ ควรจะเบาพอจนแม้แต่กับนักเรียนก็ทำเสียงรบกวนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผู้ที่นั่งใกล้แหล่งที่มาของเสียงมากที่สุดอาจไม่ได้ยินเสียงเพลง ขอให้นักเรียนระบุเพลงที่เปิดอยู่

ใช้เวลาสักครู่เพื่อฟังเสียงรอบตัวท่าน

  • ท่านได้ยินเสียงใดได้บ้างเฉพาะเมื่อตั้งใจฟังเท่านั้น?

  • ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อได้ยินบางอย่างเบามากและต้องการทราบว่าสิ่งนั้นคืออะไร?

นักเรียนอาจตอบว่าให้เข้าใกล้แหล่งที่มาของเสียงมากขึ้น พยายามอยู่นิ่งๆ เงียบๆ จดจ่อความคิดไปที่การฟัง หรือปิดกั้นเสียงรบกวนเบื้องหลัง ท่านอาจเขียนคำตอบของนักเรียนบนกระดานและจากนั้นขอให้นักเรียนใช้วิธีเหล่านั้นเพื่อระบุว่าเพลงที่เปิดคือเพลงอะไร

  • กิจกรรมนี้เหมือนกับการได้รับการเปิดเผยจากพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างไร?

วัตถุประสงค์สำคัญในเซมินารีคือ เพื่อช่วยให้ท่านเพิ่มความสามารถในการรับการเปิดเผยส่วนตัวจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

พิจารณาความต้องการของนักเรียนและพิจารณาว่าข้อมูลในย่อหน้าต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาหรือไม่

ในพระคัมภีร์มอรมอน นีไฟอธิบายว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็น “เสียงสงบแผ่วเบา” ที่เรารู้สึกมากกว่าได้ยิน ( 1 นีไฟ 17:45) เราจะปรับปรุงความสามารถของเราในการได้ยินหรือรู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ในใจเราได้เหมือนกับที่เราใช้ฟังเสียงที่เบา การเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าทางวิญญาณมากขึ้น มีใจสงบนิ่ง จดจ่อกับความคิด และปิดกั้นเสียงที่อยู่เบื้องหลัง ล้วนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความสามารถของเราที่จะรับรู้เสียงกระซิบของพระวิญญาณบริสุทธิ์

ใช้เวลาใคร่ครวญประสบการณ์ล่าสุดที่ท่านมีในการรับการเปิดเผยส่วนตัวจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านอาจทบทวนบันทึกที่ท่านเขียนไว้ในพระคัมภีร์หรือในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ท่านอาจทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้ท่านรับรู้หรือจดจำการเปิดเผยส่วนตัวที่ท่านได้รับด้วย จากนั้นบันทึกความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในความคิดและในใจท่าน

  • เมื่อไม่นานมานี้ท่านมีประสบการณ์อะไรบ้างในการได้รับการเปิดเผยส่วนตัว? ท่านรับรู้ได้อย่างไรว่าประสบการณ์เหล่านี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า?

  • ท่านเรียนรู้สิ่งใดบ้างจากการศึกษาพันธสัญญาใหม่ที่จะช่วยให้ท่านรับรู้ถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์?

  • ท่านอาจแบ่งปันความเข้าใจอะไรบ้างกับคนที่มีปัญหาในการรับรู้ถึงพระวิญญาณ?

หนึ่งในบทบาทหลักของพระวิญญาณบริสุทธิ์คือการเป็นพยานถึงพระบิดาและพระบุตร (ดู มัทธิว 16:17 ; ยอห์น 15:26 ; 3 นีไฟ 11:32)

  • พระวิญญาณทรงช่วยให้ท่านเข้าใจหรือรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?

  • ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และโอกาสรับการเปิดเผยส่วนตัวเป็นหลักฐานถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีต่อท่านอย่างไร?

กระตุ้นให้นักเรียนแสวงหาการเปิดเผยส่วนตัวต่อไปแม้ว่าพวกเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับรู้ถึงการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

อธิบายบทบาทและพระสมัญญานามของพระเยซูคริสต์

ให้ดูภาพขนมปังและแกะต่อไปนี้ ถามนักเรียนว่าพวกเขาสามารถอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสอนถึงพระองค์เองอย่างไร

ภาพ
Making Bread
ภาพ
Photographic illustration of Jesus Christ holding a white lamb in his arms.
  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้ขนมปังและแกะสอนเกี่ยวกับพระองค์เองอย่างไร?

ท่านอาจจำได้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนในคำอุปมาเช่น “เราเป็นอาหารแห่งชีวิต” (ดู ยอห์น 6:35, 41, 48, 51) “เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี” ( ยอห์น 10:11) และ “เราเป็นชีวิตและการเป็นขึ้นจากตาย” ( ยอห์น 11:25)

  • พระสมัญญานามเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระผู้ช่วยให้รอดและบทบาทของพระองค์ในชีวิตท่าน?

  • การเข้าใจพระอุปนิสัยและบทบาทของพระองค์ช่วยให้ท่านรักพระองค์มากขึ้นอย่างไร?

ขณะท่านศึกษาพันธสัญญาใหม่ ท่านอาจเก็บรายการในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านเกี่ยวกับบทบาทและพระสมัญญานามของพระเยซูคริสต์ หากท่านมีรายการนี้ ให้ใช้เวลาสองสามนาทีเพื่อทบทวนรายการ เพิ่มพระสมัญญานามหรือบทบาทที่ท่านอาจพลาดไป หากท่านยังไม่ได้สร้างรายการนั้น ท่านอาจต้องการเริ่มสร้างรายการนั้นเดี๋ยวนี้ โดยจดรายการบทบาทหรือพระสมัญญานามอะไรก็ตามที่ท่านนึกได้ หากท่านนึกไม่ออก ท่านอาจทบทวน “ พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก ” (ChurchofJesusChrist.org) หรือ “พระเยซูคริสต์” ใน คู่มือพระคัมภีร์

นักเรียนอาจสนุกกับการทำกิจกรรมต่อไปนี้กับคู่หรือในกลุ่มเล็ก เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาสร้างกับชั้นเรียน

  • เขียนการ์ดขอบพระทัยพระผู้ช่วยให้รอด โดยมุ่งเน้นที่บทบาทหรือพระสมัญญานามของพระองค์อย่างน้อยหนึ่งอย่าง รวมถึงประสบการณ์ใดๆ ก็ตามที่ท่านเคยมีซึ่งท่านรับรู้ว่าพระองค์ทรงทำให้บทบาทนั้นเกิดสัมฤทธิผลในชีวิตท่านและแสดงความสำนึกใคุณ

หากนักเรียนสร้างภาพตัดแปะในบทเรียนก่อนหน้านี้ ท่านอาจข้ามกิจกรรมถัดไปที่แนะนำ

  • สร้างภาพข้อมูลที่อธิบายบทบาทหรือพระสมัญญานามของพระผู้ช่วยให้รอด รวมถึงข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ที่นำไปใช้ได้และเหตุผลที่บทบาทหรือพระสมัญญานามเหล่านี้มีความหมายต่อท่าน ท่านอาจแบ่งปันบนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อทำเสร็จแล้ว

  • เขียนคำพูดสั้นๆ หรือเตรียมบทเรียนขนาดเล็กเกี่ยวกับบทบาทหรือพระสมัญญานามของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่ท่านอาจสอนในการประชุมพิเศษของเซมินารี ในบทเรียนสำหรับกิจกรรมยามค่ำที่บ้าน หรือในชั้นเรียนของโบสถ์ รวมถึงความหมายของบทบาทหรือพระสมัญญานามและประสบการณ์ใดๆ ที่ท่านเคยได้รับเมื่อพระองค์ทรงทำให้บทบาทนั้นเกิดสัมฤทธิผลในชีวิตท่าน

รู้สึกถึงความปรารถนาที่เพิ่มขึ้นในการแสวงหาสันติสุขในพระคริสต์

หากใช้โสตทัศนูปกรณ์ในบทเรียนที่อ้างถึงในย่อหน้าต่อไปนี้ ท่านอาจให้ดูโสตทัศนูปกรณ์เดียวกันเพื่อช่วยให้นักเรียนระลึกถึงบทเรียนเหล่านั้น แทนที่จะอ่านย่อหน้า ท่านอาจถามนักเรียนถึงสิ่งที่พวกเขาจำได้จากบทเรียนเหล่านั้น

จากการศึกษาพันธสัญญาใหม่ ท่านน่าจะเคยมีโอกาสเรียนรู้และนึกถึงสันติสุขซึ่งเกิดขึ้นได้จากพระเยซูคริสต์ ยกตัวอย่างเช่น ท่านอาจจำพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้เรามาหาพระองค์เมื่อเรารู้สึกมีภาระหนัก (ดู มัทธิว 11:28–30) หรือพระเยซูทรงดำเนินบนน้ำและทรงช่วยดึงเปโตรขึ้นมาเมื่อเขาเริ่มจมน้ำ (ดู มัทธิว 14:26–33) ท่านอาจมีโอกาสวาดภาพในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านโดยเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนเกี่ยวกับ มาระโก 4:35–41 ที่สนทนาถึงพระเยซูคริสต์ทรงสงบพายุบนทะเลแห่งกาลิลี หากท่านจดบันทึกใดๆ ไว้ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านจากบทเรียนเหล่านี้ ท่านอาจทบทวนบันทึกเหล่านั้น

ไตร่ตรองและตอบคำถามต่อไปนี้ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านเพื่อท่านจะได้ติดตามความก้าวหน้าทางวิญญาณของท่านได้

  • ความปรารถนาของท่านที่จะค้นพบสันติสุขในพระคริสต์เปลี่ยนไปอย่างไรขณะท่านศึกษาพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์?

  • ท่านรู้สึกว่าสันติสุขในพระคริสต์เพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่? ถ้าใช่ ท่านคิดว่าอะไรมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงนี้?

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของสันติสุข?

  • ท่านคิดว่าเหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการมอบสันติสุขของพระองค์แก่ท่าน?

เชื้อเชิญนักเรียนที่เต็มใจให้แบ่งปันความคิด ความประทับใจ หรือคำถามบางอย่างของพวกเขา เปิดโอกาสให้นักเรียน “ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับข้อสงสัย [ของพวกเขา] เท่าที่จำเป็น” ขณะเดียวกันกระตุ้นให้พวกเขาไม่ “ให้ข้อสงสัยเหล่านั้นมาขวางไม่ให้ศรัทธากระทำสิ่งอัศจรรย์” (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 94)

ท่านอาจแสดงประจักษ์พยานว่าการศึกษาพระชนม์ชีพและคำสอนของพระเยซูคริสต์ในพันธสัญญาใหม่ช่วยเพิ่มศรัทธาอย่างไร การแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวและประจักษ์พยานอาจเป็นประโยชน์