คำสอนของประธานศาสนจักร
บทที่ 20: การผูกมิตรกับคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา


บทที่ 20

การผูกมิตรกับคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา

“ขอให้เรายื่นมือช่วยเหลือชายหญิงผู้มีไมตรีจิต ไม่ว่าพวกเขาจะมีความเชื่อในศาสนาใดและอาศัยอยู่ที่ใด”

จากชีวิตของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

เมื่อพูดที่การประชุมใหญ่ของผู้นำศาสนาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1994 ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวว่า

“เรามีความเชื่อหลากหลายด้านหลักคำสอน แม้เราจะยอมรับความต่างด้านศาสนา แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเราเห็นด้วยทุกอย่างในเรื่องความชั่วร้ายรวมทั้งปัญหาของโลกและสังคมที่เราอยู่ ในเรื่องความรับผิดชอบและโอกาสอันสำคัญยิ่งของเราที่จะพร้อมใจกันสนับสนุนคุณสมบัติเหล่านั้นในชีวิตส่วนตัวและในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวมซึ่งพูดถึงคุณธรรมและศีลธรรม การเคารพชายหญิงทุกคนในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า การที่เราต้องมีความสุภาพอ่อนน้อมในสัมพันธภาพของเรา และการปกปักรักษาครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคมตามที่พระเจ้าทรงกำหนด

“… เราทุกคนมีความปรารถนาในใจเราที่จะช่วยคนยากไร้ ยกฐานะคนทุกข์ยาก ให้การปลอบโยน ความหวัง และความช่วยเหลือแก่ทุกคนที่เดือดร้อนและเจ็บปวดจากสาเหตุใดก็ตาม

“เรายอมรับว่าจำเป็นต้องเยียวยาบาดแผลของสังคมและแทนที่การมองโลกในแง่ร้ายของยุคเราด้วยการมองโลกในแง่ดีและศรัทธา เราต้องยอมรับว่าเราไม่จำเป็นต้องโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์กัน เราต้องใช้อิทธิพลของเราลดเสียงเกรี้ยวโกรธและการโต้เถียงด้วยเจตนาร้าย

“… พลังของเราอยู่ที่อิสรภาพในการเลือกของเรา มีพลังแม้ในความหลากหลายมากมายของเรา แต่มีพลังยิ่งกว่านั้นในข้อบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายให้เราแต่ละคนทำเพื่อยกระดับจิตใจและเป็นพรแก่บุตรธิดาทั้งหลายของพระองค์ โดยไม่คำนึงถึงเผ่าพันธุ์หรือชาติกำเนิดหรือความแตกต่างด้านอื่น …

“ขอพระเจ้าทรงอวยพรเราให้พร้อมใจกันขจัดองค์ประกอบทั้งหลายของความเกลียดชัง ทิฐิมานะ การเหยียดผิว คำพูดตลอดจนการกระทำอันก่อให้เกิดความแตกแยกออกจากใจเราและสังคมของเรา คำพูดเหยียดหยาม การดูถูกชื้อชาติ การนินทาว่าร้าย การกระพือข่าวลือด้วยความประสงค์ร้ายไม่ควรมีอยู่ในหมู่พวกเรา

“ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรให้เราทุกคนมีสันติสุขที่มาจากพระองค์ ขอพระองค์ทรงอวยพรให้เรามีใจรู้คุณและตั้งใจจะอยู่รวมกันด้วยความเคารพกัน พร้อมใจกันเป็นพรแก่ชุมชนซึ่งเราโชคดีที่ได้อยู่”1

หนึ่งปีหลังจากให้ข่าวสารนี้ ประธานฮิงค์ลีย์พูดกับผู้นำทางโลกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาเป็นกลุ่มเล็ก—ประมาณ 30 คนเท่านั้น—แต่เป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลกว้างขวาง อาทิ ประธาน หัวหน้าบรรณาธิการ ผู้ผลิต และนักข่าวจากแหล่งข่าวใหญ่ๆ ในสหรัฐ ใน “การสนทนากันอย่างออกรสและเจืออารมณ์ขันบางครั้ง” ท่านให้ “ภาพรวมของขอบข่ายนานาชาติของศาสนจักร แสดงความเห็นเกี่ยวกับผู้สอนศาสนา งานด้านมนุษยธรรม และการศึกษา จากนั้นจึงตอบคำถาม … ท่านตอบคำถามแต่ละข้ออย่างตรงไปตรงมาและไม่ลังเลหรืออึกอักแม้แต่น้อย” ผู้ร่วมสนทนาแสดงความประหลาดใจพอสมควรกับความเป็นคนเปิดเผยของท่าน ซึ่งท่านตอบว่าสิ่งเดียวที่ท่านจะไม่พูดถึงคือรายละเอียดของศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหาร “ประตูเปิดกว้างกับเรื่องอื่นทุกเรื่องครับ” ท่านกล่าว

ณ จุดหนึ่งในช่วงถามตอบ ไมค์ วอลเลซ นักข่าวอาวุโสของรายการโทรทัศน์ 60 Minutes กล่าวว่าเขาต้องการทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับประธานฮิงค์ลีย์ ประธานฮิงค์ลีย์หยุดคิดครู่หนึ่งและตอบว่า “ขอบคุณครับ ผมจะลองเสี่ยงสักครั้ง”2

ประธานฮิงค์ลีย์ยอมรับภายหลังว่าท่านมีความหวั่นใจอยู่บ้างกับการให้สัมภาษณ์ไมค์ วอลเลซผู้มีกิตติศัพท์ว่าเป็นนักข่าวที่ดุดัน ท่านอธิบายสาเหตุที่ท่านตกลงให้สัมภาษณ์ทั้งที่หวั่นใจว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่านั่นเป็นโอกาสที่จะนำเสนอแง่มุมบางอย่างที่ยืนยันวัฒนธรรมและข่าวสารของเราต่อคนหลายล้านคน ข้าพเจ้าลงความเห็นว่าการทำสุดความสามารถแม้สถานการณ์ไม่เป็นใจดีกว่าสถานการณ์เป็นใจแต่ไม่ทำอะไรเลย”3

การสัมภาษณ์ที่ครอบคลุมทุกหัวข้อนั้นมีการสนทนาดังนี้

คุณวอลเลซ: “คุณมองคนที่ไม่ได้เป็นมอรมอนอย่างไรครับ”

ประธานฮิงค์ลีย์: “มองด้วยความรักและความเคารพ ผมมีเพื่อนหลายคนไม่ได้เป็นมอรมอน ผมเคารพพวกเขา ผมมีความชื่นชมพวกเขามากที่สุด”

คุณวอลเลซ: “ทั้งที่พวกเขายังไม่เห็นแสงสว่างอย่างนั้นหรือครับ”

ประธานฮิงค์ลีย์: “ครับ ผมพูดกับทุกคนที่ไม่เป็นสมาชิกของศาสนจักรนี้ว่าเรายอมรับคุณธรรมและความดีงามทั้งหมดที่คุณมี จงนำมากับคุณและดูว่าเราจะเพิ่มให้ได้หรือไม่”4

เมื่อจบขั้นตอนการสัมภาษณ์ ประธานฮิงค์ลีย์กับไมค์ วอลเลซเป็นเพื่อนกัน คุณวอลเลซพูดถึงประธานฮิงค์ลีย์ว่าท่านเป็น “ผู้นำที่อบอุ่น ละเอียดรอบคอบ น่านับถือ และมองโลกในแง่ดี” ผู้ “สมควรได้รับความชื่นชมอย่างเต็มที่จากคนเกือบทั้งโลก”5

ภาพ
ผู้สอนศาสนากำลังรับใช้

ประธานฮิงค์ลีย์กระตุ้นให้เราร่วมมือกับคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา “ในอุดมการณ์ดีของชุมชน”

คำสอนของกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

1

เมื่อเราจดจำว่าทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราจะยื่นมือช่วยเหลือและพยุงผู้คนที่อยู่รอบข้างเรามากขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ในโลกที่มีความหลากหลายมาก คนของโลกทุกคนเป็นลูกของพระบิดาและมีความเชื่อทางศาสนาต่างกันไป เราต้องปลูกฝังความใจกว้าง ความสำนึกคุณ และความเคารพกัน6

ไม่จำเป็นต้องมีความขัดแย้งในแผ่นดินใดระหว่างคนหลายกลุ่มหลายพวก ขอให้มีการสอนในบ้านของผู้คนว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ของเรา และมีความเป็นบิดาแน่นอนฉันใด ย่อมสามารถมีและต้องมีความเป็นพี่น้องกันฉันนั้น7

ถ้าเราอยากมีภาพมรดกอันสูงส่งนั้นอยู่ตรงหน้าเราเสมอ ภาพการเป็นพระบิดาของพระผู้เป็นเจ้าและภราดรภาพของมนุษย์ เราจะต้องใจกว้างมากขึ้นอีกนิด มีเมตตามากขึ้นอีกหน่อย โอบอ้อมอารีมากขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อพยุง ช่วยเหลือ และประคองคนเหล่านั้นในบรรดาพวกเรา เราน่าจะทำสิ่งเหล่านั้นซึ่งเห็นชัดว่าไม่เหมาะกับเราให้น้อยลง เราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าและเรารักพระองค์ จงทำอย่างนั้นมากขึ้นอีกนิด8

2

เราควรดำเนินชีวิตด้วยความเคารพ ความชื่นชม และความเป็นมิตรต่อคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา

“เราอ้างเอกสิทธิ์แห่งการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพตามการวินิจฉัยจากมโนธรรมของเราเอง, และยอมให้มนุษย์ทั้งปวงมีเอกสิทธิ์เช่นเดียวกัน, ให้พวกเขานมัสการโดยวิธีใด, ณ สถานที่ใด, หรือสิ่งใดก็ได้ที่พวกเขาจะนมัสการ” (หลักแห่งความเชื่อ 1:11)

เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งคือ—แม้เราเชื่อในการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าตามหลักคำสอนของเรา แต่เราไม่โอหังอวดดีหรือคิดว่าตนเป็นฝ่ายถูกหรือจองหอง แต่เราให้ผู้อื่นมีเอกสิทธิ์แห่งการนมัสการตามความปรารถนาของพวกเขา ปัญหาส่วนใหญ่ในโลกเกิดจากความขัดแย้งระหว่างศาสนา ข้าพเจ้ามีความสุขที่พูดได้ว่าข้าพเจ้าสามารถนั่งอยู่กับเพื่อนนิกายคาทอลิกและพูดคุยกับพวกเขา ข้าพเจ้าสามารถนั่งอยู่กับเพื่อนนิกายโปรเตสแตนท์และพูดคุยกับพวกเขา ข้าพเจ้าจะยืนปกป้องพวกเขาดังที่ศาสนจักรนี้ทำมาแล้วและจะทำต่อไปในการปกป้องพวกเขาในโลกนี้9

ข้าพเจ้าขอร้องคนของเราทุกที่ให้ดำเนินชีวิตด้วยความเคารพและชื่นชมคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความสุภาพและความนอบน้อมในหมู่คนที่ต่างความเชื่อและต่างปรัชญา เราต้องไม่เป็นพวกหัวรุนแรงที่สนับสนุนหลักคำสอนเรื่องการกดขี่ชนลุ่มกลุ่ม เราอยู่ในโลกของความหลากหลาย เราสามารถเคารพและต้องเคารพคนเหล่านั้นที่เราอาจไม่เห็นด้วยกับคำสอนของพวกเขา เราต้องเต็มใจปกป้องสิทธิ์ของผู้อื่นซึ่งอาจกลายเป็นเหยื่อของความคลั่งศาสนา

ข้าพเจ้าดึงความสนใจของท่านมาที่คำพูดกินใจเหล่านี้ของโจเซฟ สมิธในปี 1843

“หากแสดงให้เห็นแล้วว่าข้าพเจ้ายอมตายเพื่อ ‘มอรมอน’ ข้าพเจ้ากล้าประกาศต่อสวรรค์เบื้องบนว่าข้าพเจ้าพร้อมจะตายเพื่อปกป้องสิทธิ์ของเพรสไบทีเรียน แบปทิสต์ หรือคนดีในทุกนิกายเช่นเดียวกัน เพราะหลักธรรมเดียวกันกับที่เหยียบย่ำสิทธิ์ของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะเหยียบย่ำสิทธิ์ของโรมันคาทอลิก หรือของนิกายอื่นซึ่งอาจไม่เป็นที่นิยมชมชอบและอ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องตนเอง” (History of the Church, 5:498)10

เราต้องไม่รักแต่พวกพ้องของตนเอง เราต้องไม่คิดว่าเราเหนือกว่าผู้อื่น เราต้องไม่คิดว่าตนเป็นฝ่ายถูก เราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจกว้าง และเป็นมิตร เราสามารถจรรโลงศรัทธาของเราได้ เราสามารถปฏิบัติศาสนาของเราได้ เราสามารถยึดมั่นวิธีนมัสการของเราโดยไม่ทำให้ผู้อื่นขุ่นเคือง ข้าพเจ้าใช้โอกาสนี้ร้องขอความใจกว้างและความเป็นเพื่อนบ้าน ความเป็นมิตรและความรักต่อคนที่นับถือศาสนาอื่น11

เราต้องไม่อารมณ์เสียขณะพูดถึงความต่างด้านหลักคำสอน ไม่มีที่สำหรับความเกรี้ยวกราด แต่เราไม่สามารถละทิ้งหรือยอมประนีประนอมความรู้นั้นซึ่งมาถึงเราผ่านการเปิดเผย การมอบกุญแจและสิทธิอำนาจโดยตรงภายใต้มือของผู้ถือกุญแจเหล่านั้นในสมัยโบราณ ขอเราอย่าลืมว่านี่คือการฟื้นฟูสิ่งซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดของโลกทรงสถาปนาไว้ …

เราสามารถเคารพศาสนาอื่น และต้องทำเช่นนั้น เราต้องยอมรับว่าพวกเขาทำความดีมากมาย เราต้องสอนลูกๆ ให้ใจกว้างและเป็นมิตรกับคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา12

เราต้องไม่ออกไปทำร้ายศาสนจักรอื่น เราต้องไม่ออกไปทำลายศาสนจักรอื่น เราไม่โต้เถียงกับศาสนจักรอื่น เราไม่โต้แย้งกับศาสนาจักรอื่น เราเพียงพูดกับคนที่นับถือศาสนาต่างจากเราหรือไม่มีศาสนาว่า “คุณนำความจริงที่คุณมีมากับคุณและให้เราดูว่าเราจะเพิ่มให้คุณได้หรือไม่”13

3

เราสามารถทำงานกับผู้อื่นในอุดมการณ์ดีได้โดยไม่ประนีประนอมหลักคำสอนของเรา

เราสามารถทำงานและร่วมงานกับผู้นับถือศาสนาอื่นได้ในภาระหน้าที่ต่างๆ ในการต่อสู้อันไม่สิ้นสุดกับความชั่วร้ายทางสังคมซึ่งคุกคามคุณค่าที่สำคัญต่อเราทุกคนมาก คนเหล่านี้นับถือศาสนาต่างจากเรา แต่พวกเขาเป็นมิตรสหาย เพื่อนบ้าน และผู้ร่วมงานของเราในอุดมการณ์ต่างๆ เรายินดีให้พลังสนับสนุนความพยายามของพวกเขา

แต่ในทั้งหมดนี้ไม่มีการประนีประนอมหลักคำสอน เราไม่จำเป็นและต้องไม่ประนีประนอมหลักคำสอน แต่มีมิตรภาพระดับหนึ่งขณะที่เราทำงานด้วยกัน14

ขอเราอย่าลืมว่าเราเชื่อในการเป็นคนมีเมตตาและในการทำดีต่อมนุษย์ทั้งปวง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าเราสามารถสอนลูกๆ ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอจนเราไม่กลัวว่าพวกเขาจะสูญเสียศรัทธาขณะพวกเขาถนอมน้ำใจและเป็นมิตรกับคนที่ไม่เชื่อหลักคำสอนของศาสนจักรนี้ … ขอให้เรามีส่วนร่วมในอุดมการณ์ดีของชุมชน อาจจะมีสถานการณ์ที่เราไม่สามารถอ่อนข้อเรื่องหลักธรรมในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาร้ายแรงทางศีลธรรม แต่ในกรณีเช่นนั้นเราสามารถไม่เห็นด้วยอย่างสุภาพโดยไม่อารมณ์เสีย เราสามารถขอบคุณความจริงใจของคนที่เรายอมรับจุดยืนของพวกเขาไม่ได้ เราสามารถพูดถึงหลักธรรมแทนที่จะโจมตีผู้อื่น

ในอุดมการณ์เหล่านั้นซึ่งยกระดับสภาพแวดล้อมของชุมชน และออกแบบไว้เพื่อเป็นพรแก่พลเมืองทุกคนของชุมชนนั้น ขอให้เราก้าวไปข้างหน้าและมีส่วนช่วย …

… จงสอนคนที่ท่านรับผิดชอบให้รู้ความสำคัญของการเป็นพลเมืองดี กระตุ้นให้พวกเขามีส่วนร่วมโดยจำไว้ว่าในการปรึกษาหารือกันนั้น เสียงเบาๆ ของการใช้เหตุผลอย่างแท้จริงจะโน้มน้าวใจได้มากกว่าเสียงเอะอะโวยวายของการคัดค้าน เมื่อยอมทำหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าว คนของเราจะเป็นพรแก่ชุมชนของพวกเขา ครอบครัวของพวกเขา และศาสนจักร15

ภาพ
สตรีสวมกอดกัน

“ความอ่อนโยนของเราอาจเป็นการโต้แย้งที่โน้มน้าวให้ยอมรับสิ่งที่เราเชื่อได้มากที่สุด”

เราต้องไม่ยอมจำนนต่ออิทธิพลของความชั่วร้าย เราสามารถและต้องธำรงมาตรฐานซึ่งศาสนจักรนี้สนับสนุนนับตั้งแต่จัดตั้ง มีวิธีที่ดีกว่าวิธีของโลก ถ้านั่นหมายถึงการยืนเดียวดาย เราก็ต้องยืน

แต่เราจะไม่เดียวดาย ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่ามีหลายล้านคนทั่วโลกผู้โศกเศร้ากับความชั่วร้ายที่พวกเขามองเห็นอยู่ทั่วไป พวกเขารักคนมีคุณธรรม คนดี และคนจิตใจดี พวกเขาจะเปล่งเสียงและให้พลังปกป้องคุณค่าเหล่านั้นซึ่งคู่ควรให้ผดุงไว้และปลูกฝัง16

ขอให้เราสวดอ้อนวอนขอพลังแห่งความดีงาม ขอให้เรายื่นมือช่วยเหลือชายหญิงที่มีไมตรีจิต ไม่ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาใดและอยู่ที่ใด ขอให้เรายืนหยัดต่อต้านความชั่วร้าย ทั้งที่บ้านและต่างแดน … เราทุกคนสามารถเป็นอิทธิพลเพื่อความดีในโลกนี้ได้17

4

เมื่อเราปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรัก ความเคารพ และความอ่อนโยน เราแสดงให้เห็นว่าเราเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์

ขณะที่เราดำเนินพันธกิจที่เด่นชัดของเรา เราทำงานภายใต้พระบัญชาของพระเจ้าผู้คืนพระชนม์ผู้ตรัสไว้ในสมัยการประทานสุดท้ายและท้ายสุดนี้ นี่เป็นอุดมการณ์อันล้ำเลิศและหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์ เราแสดงประจักษ์พยานและเป็นพยานถึงพระองค์ แต่เราต้องไม่ทำเช่นนั้นด้วยความโอหังอวดดีหรือคิดว่าตนเป็นฝ่ายถูก

ตามที่เปโตรกล่าวไว้ เราเป็น “พงศ์พันธุ์ที่ทรงเลือกสรร เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นประชากรอันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า” เพื่อเหตุใดหรือ เพื่อเราจะ “ประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียก [พวกเรา] ให้ออกมาจากความมืดเข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์” (1 เปโตร 2:9) …

… ขอให้เราเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระคริสต์ โดยถือปฏิบัติกฎทองคำ โดยปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นที่เราอยากให้พวกเขาปฏิบัติต่อเรา ขอให้เราเสริมสร้างศรัทธาของเราและศรัทธาของบุตรธิดาของเราขณะมีมารยาทต่อคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา ความรักและความเคารพจะเอาชนะองค์ประกอบทุกอย่างของความเกลียดชัง ความอ่อนโยนของเราอาจเป็นการโต้แย้งที่โน้มน้าวให้ยอมรับสิ่งที่เราเชื่อได้มากที่สุด18

ข้าพเจ้าต้องการเสนอแนะให้ท่านพัฒนาเจตคติของความโอบอ้อมอารีเพื่อช่วยคนที่ไม่ใช่คนของเรา ให้กำลังใจพวกเขา นำพวกเขาอย่างมีมารยาทและอ่อนโยนจนนำไปสู่การคบค้าสมาคมเหล่านั้น ซึ่งทำให้พวกเขาเห็นโปรแกรมอันดีงามของศาสนจักรได้

ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีของเอ็ดวิน มาร์คแฮมที่ว่า

เขาขีดวงกลมกีดกันฉันด้วยข้อกล่าวหา

คนนอกคอก คนขบถ เหยียดหยามต่างๆ นานา

แต่ฉันชนะใจด้วยรักและเชาวน์ปัญญา

เราขีดวงกลมเชิญเขาเข้ามา!19

เราไม่จำเป็นต้องโอ้อวด [ศาสนาของเรา] หรือโอหังอวดดีแต่อย่างใด เพราะนั่นเป็นการปฏิเสธพระวิญญาณของพระคริสต์ผู้ที่เราพยายามทำตาม พระวิญญาณองค์นั้นหาวิธีแสดงออกในใจและจิตวิญญาณ ในท่าทีที่ไม่โอ้อวดและสงบเสงี่ยมของชีวิตเรา

เราทุกคนเคยเห็นคนที่เราเกือบอิจฉาเพราะพวกเขาปลูกฝังท่าทีที่พูดถึงความงามของพระกิตติคุณที่รวมไว้ในความประพฤติของพวกเขาโดยไม่ต้องพูดสักคำ

เราสามารถลดเสียงลงได้สามสี่เดซิเบล เราสามารถทำความดีกับคนที่ทำไม่ดีกับเรา เรายิ้มได้ทั้งที่ความโกรธอาจจะง่ายกว่ามาก เราสามารถใช้การควบคุมตนเองและวินัยในตนอง โดยไม่สนใจคำปรามาสใดๆ20

เราเข้าใจจริงหรือ เราเข้าใจความสำคัญอย่างยิ่งของสิ่งที่เรามีหรือไม่ นี่เป็นผลรวมของคนหลายรุ่น บททิ้งท้ายในปรากฏการณ์ทั้งหมดของประสบการณ์มนุษย์

แต่สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เราอยู่ในฐานะเหนือกว่าผู้อื่น ตรงกันข้าม นั่นควรทำให้เราเจียมตน ทั้งหมดนั้นวางหน้าที่รับผิดชอบที่เราหนีไม่พ้นว่าเราต้องแสดงความห่วงใยคนทั้งปวงในพระวิญญาณของพระอาจารย์ผู้ทรงสอนว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 19:19) เราต้องขจัดความคิดที่ว่าตนเป็นฝ่ายถูกและเอาชนะความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเล็กๆ น้อยๆ …

คนรุ่นเราเป็นผลเก็บเกี่ยวสุดท้ายของคนทั้งหมดที่ล่วงหน้าไปก่อนเรา การมีคนรู้ว่าเราเป็นสมาชิกของศาสนจักรเท่านี้ยังไม่พอ ภาระผูกพันที่จริงจังตกอยู่กับเรา ขอให้เราเผชิญหน้าและทำภาระผูกพันนี้

เราต้องดำเนินชีวิตในฐานะผู้ติดตามที่แท้จริงของพระคริสต์ด้วยจิตกุศลต่อคนทั้งปวง โดยตอบแทนความชั่วด้วยความดี สอนวิถีของพระเจ้าโดยแบบอย่าง และทำการรับใช้มากมายที่พระองค์ทรงวางไว้ให้เราจนสำเร็จลุล่วง21

จากคำสวดอ้อนวอนอุทิศศูนย์การประชุมใหญ่ในซอลท์เลคซิตี้ ยูทาห์ ขอให้พวกข้าพระองค์ผู้เป็นของศาสนจักรของพระองค์เป็นผู้มีไมตรีจิตและสุภาพอ่อนน้อม รักษามาตรฐานและการปฏิบัติที่พวกข้าพระองค์ทราบ และยอมให้ผู้อื่นมีเอกสิทธิ์แห่งการนมัสการใคร “สถานที่ใด, หรือสิ่งใดก็ได้ที่พวกเขาจะนมัสการ” [หลักแห่งความเชื่อ 1:11] ขอทรงอวยพรพวกข้าพระองค์ให้เป็นเพื่อนบ้านที่ดีและช่วยเหลือทุกคน ขอให้พวกข้าพระองค์ยกมือที่อ่อนแรงและให้กำลังเข่าที่อ่อนล้าของคนทุกข์ยาก [ดู คพ. 81:5] ขอให้พวกข้าพระองค์ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบด้วยความชื่นชมและเคารพกัน22

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษาและสอน

คำถาม

  • ในความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น เหตุใดการจดจำว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นประโยชน์ (ดู หัวข้อ 1) เราจะบ่มเพาะนิสัยให้ตัวเราชื่นชมและเคารพผู้อื่นมากขึ้นได้อย่างไร ผู้ใหญ่จะสอนเด็กให้ชื่นชมและเคารพผู้อื่นได้อย่างไร

  • ทบทวนคำแนะนำของประธานฮิงค์ลีย์เกี่ยวกับสัมพันธภาพของเรากับคนที่นับถือศาสนาต่างจากเรา (ดู หัวข้อ 2) เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังแสดงความโอหังอวดดีหรือคิดว่าตนเป็นฝ่ายถูกในสัมพันธภาพเหล่านี้ เราจะแสดงความเป็นเพื่อนและความรักมากขึ้นต่อคนที่มีความเชื่อต่างจากเราได้อย่างไร

  • เหตุใดจึงสำคัญที่สมาชิกศาสนจักรจะทำงานร่วมกับผู้อื่นในอุดมการณ์ดี (ดู หัวข้อ 3) มีแบบอย่างอะไรบ้างของความพยายามเช่นนั้น เราจะเป็นอิทธิพลดีมากขึ้นในชุมชนของเราได้อย่างไร

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์จากคำสอนของประธานฮิงค์ลีย์ในหัวข้อ 4 ท่านเคยเห็นความรักและความเคารพเอาชนะความรู้สึกเกลียดชังอย่างไร เหตุใดความประพฤติของเราต่อผู้อื่นจึงเป็น “ข้อพิสูจน์ที่น่าจูงใจให้ยอมรับสิ่งที่เราเชื่อได้มากที่สุด” ระบุวิธีที่ท่านจะสามารถยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่น

ข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

มัทธิว 7:12; ลูกา 9:49–50; ยอห์น 13:34–35; 1 ยอห์น 4:7–8; คพ. 1:30; 123:12–14; หลักแห่งความเชื่อ 1:13

ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

“เมื่อท่านรู้สึกถึงปีติสุขซึ่งมาจากการเข้าใจพระกิตติคุณ ท่านย่อมต้องการนำสิ่งที่ท่านเรียนรู้ไปใช้ ขอให้พยายามอย่างหนักที่จะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเข้าใจของท่าน การกระทำดังกล่าวจะทำให้ศรัทธา ความรู้ และประจักษ์พยานของท่านเข้มแข็งขึ้น” (สั่งสอนกิตติคุณของเรา [2004], 19)

อ้างอิง

  1. Teachings of Gordon B. Hinckley (1997), 663–64.

  2. ใน เชอรี แอล. ดิว, Go Forward with Faith: The Biography of Gordon B. Hinckley (1996), 537–38.

  3. “Remember … Thy Church, O Lord,” Ensign, May 1996, 83.

  4. “This Thing Was Not Done in a Corner,” Ensign, Nov. 1996, 51.

  5. ไมค์ วอลเลซ, ใน กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, Standing for Something: Ten Neglected Virtues That Will Heal Our Hearts and Homes (2000), viii.

  6. “The Work Moves Forward,” Ensign, May 1999, 5.

  7. “Four Simple Things to Help Our Families and Our Nations,” Ensign, Sept. 1996, 7.

  8. “Messages of Inspiration from President Hinckley,” Church News, Oct. 5, 1996, 2.

  9. Discourses of President Gordon B. Hinckley, Volume 2: 2000–2004 (2005), 417.

  10. “This Is the Work of the Master,” Ensign, May 1995, 71; ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 371.

  11. “Remarks at Pioneer Day Commemoration Concert,” Ensign, Oct. 2001, 70.

  12. “We Bear Witness of Him,” Ensign, May 1998, 4.

  13. Discourses of President Gordon B. Hinckley, Volume 2, 350.

  14. “We Bear Witness of Him,” 4–5.

  15. Teachings of Gordon B. Hinckley, 131.

  16. “จงยืนหยัดและไม่หวั่นไหว,” การประชุมอบรมผู้นำทั่วโลก, 10 ม.ค. 2004, 23.

  17. “The Times in Which We Live,” Ensign, Nov. 2001, 74.

  18. “We Bear Witness of Him,” 5.

  19. “Four B’s for Boys,” Ensign, Nov. 1981, 41; อ้างอิง Edwin Markham, “Outwitted,” ใน The Best Loved Poems of the American People, sel. Hazel Felleman (1936), 67.

  20. “แต่ละคนต้องเป็นคนที่ดีขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 125.

  21. “อรุณรุ่งของวันที่สดใสกว่า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 103.

  22. คำสวดอ้อนวอนอุทิศศูนย์การประชุมใหญ่, ใน “สหัสวรรษที่ยิ่งใหญ่,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 99.